Skip to main content
sharethis

'ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ' เชิญชวนทุกคนในสังคมไทย ร่วมทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากขึ้น ในแคมเปญ #คนที่สามจังหวัดเป็นยังไงบ้าง ผ่านเว็บไซต์ howareyoupatani.com

24 ต.ค. 2564 ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ (Peace Resource Collaborative – PRC) รายงานว่าปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อตัวขึ้นมาอย่างยาวนาน หากนับเวลาที่รัฐไทยเริ่มใช้กฎหมายด้านความมั่นคงกับผู้คนในพื้นที่ เราอาจนับได้ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2547 ที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อควบคุมสถานการณ์ ก่อนจะยกเลิกการใช้ และปรับมาเป็นพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในเดือน ก.ค. 2548 ที่ถูกขยายการใช้งานมาตลอดจนถึงปัจจุบัน

กว่า 17 ปีแล้วที่คนในพื้นที่ถูกบังคับให้ใช้ชีวิตอยู่กับความ ‘ผิดปกติ’ ที่ถูกทำให้กลายเป็นความ ‘ปกติ’ และข่าวสารความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ การบังคับใช้กฎหมายที่อาจมองได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิ การต่ออายุกฎหมาย ฯลฯ กลายเป็นเพียงหัวข้อข่าวเล็กๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์

อย่างไรก็ตาม ความเคยชินเหล่านี้ ไม่ได้หมายความว่าคนนอกพื้นที่ จะเข้าใจ หรือรับรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาเสมอไป

วันที่ 25 ต.ค. 2564 นี้ เป็นวันครบรอบ 17 ปีของเหตุการณ์สลายการชุมนุมในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ที่สร้างความสูญเสียในชีวิตของผู้คนในพื้นที่ และเป็นเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดฯ ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ ขอเชิญชวนทุกคนมาทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา ผ่านการรับ ‘ฟัง’ ‘เสียง’ ของผู้คนทั้ง 10 ที่ถูกนำมาบอกเล่าด้วยน้ำเสียงจริงๆ ที่เจือด้วยความรู้สึกจริงของพวกเขา

รับฟัง และทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ ว่า 17 ปีที่ผ่านมา #คนที่สามจังหวัดเป็นยังไงบ้าง ด้วยกัน ทาง https://howareyoupatani.com ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และพูดคุยร่วมกันว่าหลังจากนี้ เราจะร่วมกันหาทางออกด้วยสันติภาพอย่างไร ผ่านแฮชแท็กได้ทั้งทาง Facebook และ Twitter

พร้อมร่วมวงสนทนาจาก กลุ่มพลังคลับ และ PRC พร้อมแขกรับเชิญพิเศษ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นักสิทธิมนุษยชน และผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เวลา 20.00 น. ของวันที่ 25 ต.ค. 2564 นี้ ทาง Twitter Spaces (https://twitter.com/thaiunityclub) และ 26 ต.ค. นี้ ทาง Clubhouse (https://www.clubhouse.com/event/xerqgNyG)

 

เกี่ยวกับองค์กร

ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ (Peace Resource Collaborative – PRC) ตั้งขึ้นในปี 2557 (2014) จากการริเริ่มของ 8 สถาบันวิชาการด้านสันติภาพจากทั้งในและต่างประเทศ คือ 1) มูลนิธิเบิร์คฮอฟ 2) ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3) ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4) สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล 5) สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า 6) สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ 7) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และ 8) สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งศูนย์ฯมาจากการทำงานโครงการ “พื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน” (Insider Peacebuilder’s Platform – IPP) ร่วมกันของ 8 สถาบันข้างต้นตั้งแต่ปี 2554 (2011) ซึ่งมีแก่นความคิดหลักว่า การพยายามสร้างสันติภาพท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรงนั้น จำเป็นต้องมีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยต่างก็มีมุมมอง ความคิดความเชื่อ ความรู้สึก และความต้องการที่จะจัดการกับความขัดแย้งนั้นๆ แตกต่างกันไปตามภูมิหลังและประสบการณ์ของแต่ละคน ซึ่งอาจส่งผลให้ความพยายามสร้างสันติภาพดังกล่าว ต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายของโครงการจึงต้องการสร้างพื้นที่กลางให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทั้งทางชาติพันธุ์วัฒนธรรมและความเห็นทางการเมืองเหล่านั้น ได้มีโอกาสมาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูล ตลอดจนประสบการณ์ในการสร้างสันติภาพร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีบนฐานความรู้ทางวิชาการ

จากการทำงานโครงการ IPP มาระยะหนึ่ง ทางคณะทำงานร่วม 8 สถาบันได้เห็นความจำเป็นของการมีองค์กรที่ทำหน้าที่รวบรวม ผลิต และเผยแพร่ความรู้ด้านสันติภาพอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการและตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆในวงที่ขยายกว้างขึ้น จึงกลายเป็นที่มาของการตั้ง “ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ” (PRC) ขึ้นในเวลาต่อมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net