COVID-19: 24 ต.ค. 64 ไทยติดเชื้อเพิ่ม 9,351 ราย เสียชีวิต 56 ราย

24 ต.ค. 64 ไทยติดเชื้อเพิ่ม 9,351 ราย เสียชีวิต 56 ราย - 5 จังหวัดภาคใต้ ยอดรวมป่วย COVID-19 รายใหม่ 2,527 คน จับตาสงขลา นครศรีฯ ปัตตานี ติดเชื้อเกิน 500 คน 

24 ต.ค. 2564 ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 9,351 ราย สะสม 1,850,482 ราย รักษาหาย 10,098 ราย สะสม 1,850,482 ราย เสียชีวิต 56 ราย สะสม 18,755 ราย ฉีดวัคซีน (23 ต.ค. 2564) สะสม 70,279,624 โดส

รมควบคุมโรค รายงานภาพรวมการตรวจหาเชื้อด้วย Antigen test kit (ATK) พบผลเป็นบวก (ติดเชื้อ) เพิ่ม 4,163 คน ยอดสะสม 248,397 คน ส่วนข้อมูลการฉีดวัคซีนสะสม 70,279,624 โดส เป็นการฉีดเข็มที่ 1 สะสม 39,881,514 คน เข็มที่ 2 สะสม 28,276,165 คน และเข็มที่ 3 สะสม 2,122,425 คน

5 จังหวัดภาคใต้ ยอดรวมป่วย COVID-19 รายใหม่ 2,527 คน

สำหรับ 10 อันดับที่มียอดติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพ 929 คน สงขลา 682 คน นครศรีธรรมราช 582 คน ปัตตานี 511 คน ยะลา 487 คน เชียงใหม่ 461 คน สมุทรปราการ 294 คน ชลบุรี 289 คน ขอนแก่น 269 คน และนราธิวาส 265 คน ทั้งนี้ 5 จังหวัดภาคใต้ ยอดรวมป่วย COVID-19 รายใหม่ 2,527 คน จับตาสงขลา นครศรีฯ ปัตตานี ติดเชื้อเกิน 500 คน

จังหวัดปัตตานี เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่ ตั้งเป้าครบ 70% ภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ โดยล่าสุดมียอดผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 331,515 คน หรือ 46.04% และเข็มที่ 2 จำนวน 186,255 คน หรือ 25.86% จากจำนวนประชากรทั้งหมดของปัตตานี 720,000 คน

ในวันนี้ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ทางสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี รับวอล์กอินฉีดวัคซีนไฟเซอร์ กระตุ้นเข็ม 3 ให้กับประชาชนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็ม จำนวน 2,000 คน โดยมีประชาชนทยอยเดินทางเข้ามารับฉีดวัคซีนตั้งแต่เช้า

ปลัด ศธ. เชื่อเปิดเทอม 1 พ.ย. ไร้ปัญหา

นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการเปิดภาคเรียน 1 พ.ย. นี้ ว่าหลักเกณฑ์การพิจารณาเปิดภาคเรียนนั้น ได้มอบให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากบางพื้นที่ แม้อยู่ในเขตพื้นที่สีแดง (ปัจจุบันมีพื้นที่สีแดง 23 จังหวัด) เช่น จ.นครราชสีมา แต่อำเภอที่มีโรงเรียนอยู่กลับเป็นพื้นที่สีขาว ดังนั้น ต้องให้ในแต่ละพื้นที่เป็นผู้พิจารณาเอง ขณะนี้ไม่น่าห่วงเรื่องของการเปิดภาคเรียน เพราะการเปิดเรียนสามารถทำได้ตามปกติ แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการและรูปแบบการเปิดภาคเรียนมากกว่าว่าจะเปิดแบบไหน เรียนออนไลน์ หรือออนไซต์ จากการติดตามพบว่า บางพื้นที่มีเงื่อนไข เช่น จ.นราธิวาส กำหนดให้สัดส่วนครูต้องได้รับวัคซีน 100% จึงจะเปิดภาคเรียนได้ ก็คาดว่าการเปิดภาคเรียนใน จ.นราธิวาส จะทำได้ประมาณ 15 พ.ย. ซึ่งในส่วนนี้คำนวณตามระยะเวลาการรับวัคซีนในเข็มที่ 2 ที่ต้องห่างจากเข็มแรกประมาณ 3 สัปดาห์ ส่วนเกณฑ์การเปิดภาคเรียนในพื้นที่อื่นๆ พื้นฐานกำหนดให้ครูต้องมีการรับวัคซีนอย่างน้อย 85% หรือรับ 2 โดส หรือบางที่จะกำหนดให้นักเรียนรับวัคซีน หรือผู้ปกครองรับวัคซีนด้วยก็ได้

นายสุภัทร กล่าวว่า ส่วนการฉีดวัคซีนในเด็กนักเรียน 2.2 ล้านคน ที่ผ่านมาก็เรียบร้อยดี ไม่พบปัญหา มีแค่รายเดียวที่มีอาการแพ้ แต่ภายหลังก็พบว่ามีอาการไส้ติ่งอักเสบร่วมด้วย ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้น ส่วนปัญหาน้ำท่วม เชื่อว่าไม่มีผลกระทบกับการเปิดเทอม เพราะขึ้นอยู่กับรูปแบบ อาจมีเรื่องของการรับวัคซีนที่อาจช้าลงเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องของการขนส่ง ซึ่งก็ช่วยไม่ได้ แต่วัคซีนที่จัดสรรไปให้กับเด็กคือวัคซีนที่ดีที่สุด และปลอดภัย โดยขณะนี้ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีการลงทะเบียนฉีดวัคซีนไปแล้ว 60-65% ทั้งนี้ ต้องหวังพึ่งผู้นำศาสนาร่วมให้ความรู้ความเข้าใจ เพราะการจะบังคับหรือเอามาตรการสาธารณสุขไปเปลี่ยนวิถีชีวิต คงไม่สามารถทำได้ แต่ในบางพื้นที่ เมื่อมีการฉีดวัคซีนเด็ก ผู้ปกครองก็สมัครใจร่วมรับวัคซีนด้วยเช่นกัน ต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจ

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS | สำนักข่าวไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท