นักวิชาการร่วมถก งาน ‘ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง’ ต่อการดันเพดานวิชาการ รื้อสร้างบทบาทกษัตริย์ในการเมืองไทย 

Common School ชวนนักวิชาการดังร่วมเสวนาในวาระครบรอบ 20 ปี ‘ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง’ ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในฐานะงานที่เป็นหมุดหมายแรกที่ศึกษาบทบาทสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย จนกลายเป็น ‘แกะดำ’ ในงานนักวิชาการรุ่นเดียวกัน ตลอดจนคุณูปการ ‘ดันเพดานงานวิชาการ’ และอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่  

อาสา คำภา (ซ้าย-บน) แพทริก โจรี (ขวา-บน) ปราการ กลิ่นฟุ้ง (ซ้าย-ล่าง) และ ธนภาษ เดชภาวุฒิกุล (ขวา-ล่าง)

เนื่องในวาระครบรอบ 20 ปี นับตั้งแต่หนังสือประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ซึ่งหนังสือรวมบทความราวปี 2535-2544 ที่เขียนโดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ มารวบรวมเป็นหนังสือ และวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2544 เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 64 Common School จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ ‘ฐานะทางประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง’ ชวนนักวิชาการดังอย่าง อาสา คำภา ผู้เขียนหนังสือ “กว่าจะครองอำนาจนำ” โดยมีแพทริก โจรี นักวิชาการต่างประเทศจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ และธนภาษ เดชภาวุฒิกุล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มาร่วมเสวนา ปและเปิดเผยให้เห็นว่า ‘ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง’ มีคุณูปการและความสำคัญต่อประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยอย่างไร   

  • แพทริก โจรี : “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” มีคุณูปการสำคัญต่อการรื้อโครงสร้าง-วิจารณ์บทบาทของสถาบันกษัตริย์ในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางการเมืองใน 20 ปีให้หลัง
  • อาสา คำภา : มองว่างานสมศักดิ์ เป็นทั้ง ‘แกะดำ’ และผลักดันเพดานประวัติศาสตร์นิพนธ์ เนื่องจากเป็นงานที่นำเสนอบทบาท พคท. ในการเมืองไทย และวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในห้วงที่ ร.9 มีอำนาจนำ โดยเฉพาะการระบุว่า ‘สถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งในผู้เล่นการเมืองไทย’  
  • ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ยังเป็นงานที่มีอิทธิพลต่องานวิจัยประวัติศาสตร์ที่ศึกษาบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทยในยุคหลัง 2544-2554 อาทิ งานของณัฐพล ใจจริง รวมถึงคนรุ่นใหม่

หมุดหมายแรกของการวิจารณ์ 'สถาบัน' สู่การเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางการเมืองใน 20 ปีให้หลัง  

แพทริก โจรี นักวิชาการต่างประเทศ กล่าวถึงหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง’ ว่าเป็นงานชิ้นหนึ่งที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อสังคมไทยสมัยใหม่ และเป็นสัญลักษณ์ของความเห็นของคนกลุ่มหนึ่งต่อบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ในห้วงเวลาปัจจุบัน และอาจจะมีอิทธิพลมากกว่า ‘โฉมหน้าศักดินาไทย’ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ นักวิชาการไทยในอดีต อีกด้วย 

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้งานชิ้นนี้โดดเด่นในช่วงปัจจุบัน มาจากการพัฒนาเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ซึ่งส่งผลให้เกิดสื่อ และพื้นที่ถกเถียงพูดคุยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์ เว็บบอร์ด กระทู้ บล็อก เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ซึ่งรัฐไม่สามารถควบคุมเรื่องเล่าบทบาทและประวัติศาสตร์พระมหากษัตริย์ ได้ทั้งหมด แม้ว่าจะออก พ.ร.บ. หรือกฎหมายใหม่ออกมา และส่งผลทำให้เรื่องเล่าแบบ ‘ราชาชาตินิยม’ หรือเรื่องเล่าที่ทำให้พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง หรือเป็นวีรบุรุษของประวัติศาสตร์ชาติกำลังเสื่อมถอยลง

ขณะที่เมื่อนึกย้อนถึงห้วงเวลาที่ ‘ประวัติศาสตร์เพิ่งสร้าง’ ซึ่งเป็นหนังสือที่รวมบทความตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539-2544 เขียนโดยสมศักดิ์ เจียมธีระสกุล เพิ่งถูกปีพิมพ์ปี พ.ศ. 2544 ยังไม่มีนักวิชาการประวัติศาสตร์ไทยคนไหนทำงานวิจัยเชิงประจักษ์ต่อบทบาทสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทยสมัยใหม่เลย แม้ว่าในช่วงดังกล่าวแวดวงวิชาการไทยจะอยู่ในยุคที่มีเสรีภาพมากกว่าหลังรัฐประหารปี 2549 

แพทริก โจรี เสนอว่า สาเหตุสำคัญที่อาจทำให้นักวิชาการไม่สนใจทำงานวิจัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์นั้น เนื่องมาจากนักวิชาการส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าสถาบันเป็นปัญหา และเป็นช่วงที่พระมหากษัตริย์ช่วง ร.9 ครองอำนาจนำ (Hegemony) ในสังคมไทย

การครองอำนาจนำครั้งนี้เพิ่งจะถูกสร้างได้ไม่นานหลังสงครามเย็น (ราว พ.ศ. 2532) และเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ (narrative) ก็เป็นส่วนสำคัญต่อการครองอำนาจนำของพระกษัตริย์ในตอนนั้น แต่การปรากฏตัวของงาน ‘ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง’ ถือเป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยชิ้นแรกที่พยายามรื้อสร้างความ ‘เป็นอำนาจนำ’ ของพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่   

“ผมคิดว่านี่คือความหมายของชื่อหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของ hegemony ของสถาบันกษัตริย์เพิ่งจะสร้างขึ้น’ ชื่อหนังสือเป็นการตั้งความหวัง เพราะว่าเมื่อเราเห็นประวัติศาสตร์ที่เป็น hegemony ของสถาบันกษัตริย์เพิ่งสร้างขึ้น ก็สามารถที่จะรื้อสร้างมันลงมาได้ ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ อาจารย์สมศักดิ์ทำในหนังสือเล่มนี้” แพทริก โจรี กล่าว 

‘แกะดำ’ งานวิชาการ สู่การดันเพดานประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย

อาสา คำภา ผู้เขียนหนังสือ “กว่าจะครองอำนาจนำ” กล่าวถึง 2 ประเด็นด้วยกัน คือ พล็อตประวัติศาสตร์ช่วงกระแสศึกษาบทบาทกษัตริย์ตกต่ำ และมรดกและอิทธิพลต่อนักวิชการรุ่นหลัง 2544 ของประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง

อาสา กล่าวเสริมต่อจากประเด็นของ แพทริก โจรี ว่า งานบทความในประวัติศาสตร์เพิ่งสร้างของสมศักดิ์นั้น ถูกเขียนในช่วงที่งานวิชาการที่เน้นการวิเคราะห์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ยังอยู่ในระดับต่ำ (พ.ศ. 2520-ต้น 2540) 

สมศักดิ์ เคยวิเคราะห์ว่า การศึกษาบทบาทของสถาบันกษัตริย์อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการหายไปของกรอบแนวคิด (master concept) ‘ศักดินา’ หลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. หรือที่สมศักดิ์ เรียกว่า ‘ช่วงเวลาแห่งการคืนดีกับสถาบัน’ จนทำให้สถาบันไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่มีการพูดถึงอีกต่อไป 

อาสา ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งนี้สะท้อนผ่านงานครบรอบการก่อตั้ง 50 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใน พ.ศ. 2527 ในปีนั้นธรรมศาสตร์มีการนำวัฒนธรรมเชิดชูคณะราษฎรกลับมา อย่างปรีดี พนมยงค์ ซึ่งก็มีวัฒนธรรม ‘พ่อปรีดี’ และสร้างอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ การเชิดชูป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตลอดจนสัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นองคมนตรี  มีการนำประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 2519 กลับมาพูดอีกครั้ง เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่อีกทางหนึ่งก็สะท้อนบรรยากาศการประนีประนอมกับฝ่ายจารีตนิยม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวัฒนธรรมเชิดชูรัฐบุรุษประชาธิปไตยอย่างปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร จะกลับมาอีกครั้ง แต่ก็อยู่ภายใต้พระราชอำนาจนำของ ร.9 หากไปดูภาพโมเสกในโถงหอสมุดปรีดี พนมยงค์ ในธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จะพบว่า มีทั้งภาพปรีดี อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และพระบรมมหาราชวังในภาพเดียวกัน ซึ่งสะท้อนการรวมเรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน 

งานประวัติศาสตร์ในช่วงก่อนปี 2540 มีลักษณะเด่นอยู่ 2 อย่าง คือ ไม่พูดถึงบทบาทกษัตริย์ในการเมืองไทยอย่างชัดเจน และไม่มีที่ทางให้กับ พคท. ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเลย 

แม้แต่งานที่โดดเด่นในประวัติศาสตร์กระแสรอง เช่น งานของชาญวิทย์ เกษตรสิริ ซึ่งเป็นนักวิชาการสายเสรีนิยม หรืองานของผาสุก พงษ์ไพจิตร งานเหล่านี้จะเน้นการพูดถึงบทบาทความสัมพันธ์ ชาวนา นักศึกษา ธุรกิจ และทหาร เป็นหลัก ส่วนสถาบันจะดำรงอยู่อย่างไกลๆ แต่เมื่อใดที่เกิดวิกฤตการณ์ สถาบันกษัตริย์จะลงมาแก้ปัญหา และจะกลับขึ้นไปบนหิ้ง ซึ่งอาสา มองว่า นี่เป็นเรื่องเล่าทางการเมืองที่สำคัญของราชาชาตินิยม และเข้ากับกรอบโครงเทพนิยายปกรณัม ซึ่งเป็นพล็อตที่สมศักดิ์เรียกว่า ช่วงกระแสต่ำของการศึกษาสถาบันกษัตริย์ 

ขณะที่งานประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างของสมศักดิ์ จะนำเสนอตรงข้ามจนเรียกว่าเป็น ‘แกะดำ’ ของวงวิชาการ คือ นำเสนอบทบาท พคท. ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในฐานะ ‘ตัวแสดงทางการเมือง’ อย่างในงาน สมศักดิ์จะชี้ให้เห็นว่า ร.7 ไม่ได้เป็นกษัตริย์นักประชาธิปไตย พอลงมาเล่นเกมการเมืองก็เพลี้ยงพล้ำให้กับคณะราษฎร หรือการรับรู้ว่า ร.9 เป็นกษัติรย์ที่ยิ่งใหญ่นี่ เป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นมา เป็นความรับรู้ใหม่ นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้งานของสมศักดิ์นั้นแหวกขนบจากช่วงเวลาดังกล่าว เป็นแกะดำทางวิชาการ 

ท่ามกลางความขาดแคลน และความไม่รู้ การเกิดขึ้นของประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างในปี พ.ศ. 2544 มันจึงกระแทกการรับรู้โดยเริ่มจากนักเรียนประวัติศาสตร์ และนักรัฐศาสตร์ ซึ่งทำให้เปลี่ยนมุมมองต่อสถาบันกษัตริย์ในฐานะการเป็นความดีสูงสุด ความจริง และความดีงาม 

อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกๆ มุมมองที่สมศักดิ์เสนอไม่ได้ส่งผลต่อสังคมโดยฉับพลัน และต้องใช้เวลา ต้องอาศัยแรงกระเพื่อมช่วยผลักดัน ยิ่งเป็นคนไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทย จะอ่านงานนี้ลำบากมาก แต่สุดท้ายแล้ว ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ก็ได้นำพล็อตอันแหวกขนบเข้าไปในประวัติศาสตร์นิพนธ์การเมืองไทย เป็นชุดคำอธิบายซึ่งอยู่ขั้วตรงข้ามกับประวัติศาสตร์ฝ่ายขวา หรือฝั่งสถาบัน อยู่หมวดหมู่เดียวกับงานของชาญวิทย์ หรือราชาชาตินิยมของธงชัย วินิจจะกูล 

ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ในฐานะหมุดหมายแรกๆ ในการพูดสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย ยังมีอิทธิพลต่องานวิชาการในช่วงหลัง 2544-2554 มีนักวิชาการหลายคนหยิบเอาไอเดียและแนวคิดการศึกษาบทบาทสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทยไปศึกษาในเชิงลึก ไม่ว่าจะเป็นงานของณัฐพล ใจจริง หรือแม้แต่งานวิจัยของอาสา คำภา เองเคยได้รับแนวคิดจากบทความ ‘เราสู้’ ซึ่งเป็น 1 ในบทความในงานประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างของสมศักดิ์เช่นกัน 

ไม่ใช่แค่แวดวงวิชาการเท่านั้น แนวคิดของสมศักดิ์ ยังมีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ที่กำลังต่อสู้เรียกร้องการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง อย่างกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งภายหลังกลายเป็นข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 64 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

ไลฟ์สดยูทูบ ฐานะทางประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท