สลัมสี่ภาค เชียงใหม่ ร้อง รมว.คมนาคม-พม. ค้านไล่รื้อที่ดินขึ้นแฟลต ชี้ขาดการมีส่วนร่วม-ไม่สอดคล้องวิถีชุมชน 

เครือข่ายสลัมสี่ภาค เชียงใหม่ ยื่นหนังสือถึง รมว.คมนาคม-พม. ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ คัดค้านแนวความคิดใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยสร้างแฟลตที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย ชี้ขาดการมีส่วนร่วม-ไม่สอดคล้องวิถีชุมชน 

25 ต.ค. 2564 รายงานข่าวแจ้งว่า เครือข่ายสลัมสี่ภาค จังหวัดเชียงใหม่ 10 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนป่าแพ่งคลองเงิน ชุมชนทิพเนตร ชุมชนกำแพงงาม ชุมชนหลังวัดโลกโมฬี ชุมชนสามัคคีพัฒนา ชุมชนรถไฟสามัคคี ชุมชนทานตะวัน ชุมชนป่าตัน เครือข่ายที่อยู่อาศัยเมืองเชียงใหม่ และเครือข่ายคนไร้บ้าน ได้เดินทางที่ไปที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือถึงศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ผ่านผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ คัดค้านแนวคิดการใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยสร้างแฟลตที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย โดยมี จิราพร เชาวน์ประยูร พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.เชียงใหม่ เป็นผู้รับหนังสือแทน

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2564 ได้มีบันทึกความร่วมมือระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และการแถลงข่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในวันที่ 9 ต.ค. 2564 ที่จะนำที่ดินของ รฟท. สร้างเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยกลุ่มต่างๆนั้น โดยเครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายชุมชนคนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟ (ชมฟ.) และเครือข่ายริมรางเมืองย่าโม ซึ่งมีสมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่ในที่ดินของ รฟท. มีความกังวล และไม่เห็นด้วยที่ พม. จะมีนโยบายทางเดียวที่จะแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย

“กลุ่มผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทยมีความหลากหลาย ทั้งวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และรายได้ ที่แตกต่างกัน แต่ทาง พม. กำลังจะใช้การแก้ปัญหารูปแบบเดียวกับกลุ่มคนที่หลากหลาย ซึ่งเป็นวิธีคิดที่อันตราย หากมีการย้ายกลุ่มคนเหล่านั้นขึ้นแฟลต แล้วไม่สามารถดำรงชีพได้ ทำมาหากินไม่เหมือนเดิม เรื่องเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในครั้งเมื่อ กคช. ดำเนินการสร้างแฟลตแก้ปัญหาชุมชนแออัดมาตั้งแต่ปี 2516 แต่ปัจจุบันยังคงมีชุมชนแออัดคงอยู่นั้นเป็นรูปธรรมแสดงให้เห็นที่ชัดเจนแล้วว่าการสร้างแฟลตแล้วนำเอาคนที่มีความหลากหลายทางวิถีชีวิตไม่สามารถแก้ปัญหาได้” หนังสือระบุ

หนังสือดังกล่าวยังระบุว่า เราเห็นด้วยที่กระทรวงคมนาคมมีแนวความคิดในการแบ่งปันที่ดินเพื่อนำมาเป็นที่อยู่อาศัย แต่ไม่เห็นด้วยที่รูปแบบการทำที่อยู่อาศัยที่จะจัดทำโดยไม่ถามความต้องการของประชาชนว่าสามารถอยู่ได้หรือไม่ได้ มีเพียงความต้องการอพยพคนให้ขึ้นไปอยู่บนแฟลตเท่านั้น นั้นคือการย้ายปัญหา ไม่ใช่การแก้ปัญหา ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้กระทรวงคมมนาคม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 3 ข้อ ได้แก่

1) ต้องไม่ใช้แนวทางการสร้างแฟลตตามบันทึกข้อตกลง (8 ต.ค. 2564) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย และการเคหะแห่งชาติ มาเป็นแนวทางเดียวในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนแออัดบนที่ดินการรถไฟฯ 2) ให้การรถไฟฯ นำมติคณะกรรมการรถไฟฯ วันที่ 13 ก.ย. 2543 ที่ใช้แก้ไขปัญหาชุมชนแออัดของเครือข่ายสลัมสี่ภาค มาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนแออัดบนที่ดินการรถไฟทั่วประเทศ( 39,848 หลังคาเรือน) และ 3) ให้ใช้แนวทางการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับวิถีอาชีพ การดำรงชีวิตของชุมชนผู้มีรายได้น้อย โดยรูปแบบการอยู่อาศัยอาจเป็นรูปแบบบ้านมั่นคงแนวราบ บ้านแถว อาคารสูง หรืออาคารสูงผสมอาคารแนวราบ ทั้งนี้ต้องให้ชุมชนแออัดเจ้าของปัญหามีส่วนกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาและรูปแบบที่อาศัยด้วย โดยผ่านกลไกคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับการรถไฟฯ กระทรวงคมนาคม  รวมถึงกระทรวง พม. ในอนาคตด้วย

น้ำทิพย์ เปาป้อ ผู้แทนชุมชนกำแพงงาม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า วันนี้เราส่งตัวแทนมาขอให้แก้ไขปัญหาเบื้องต้น อย่างน้อยเป็นเรื่องที่ชาวบ้านควรจะได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาทุกอย่าง เรื่องที่ดิน เรื่องอาชีพ ชาวบ้านจะต้องมีส่วน เพราะว่าชาวบ้านเสียภาษี แต่รัฐจะใช้ภาษีแบบไหน ฉะนั้นข้อเสนอวันนี้เป็นไปเพื่อความยั่งยืนและความเป็นมนุษย์ของชุมชน 

“เราต้องการการแก้ไขปัญหาให้มนุษย์มีอาชีพและมีบ้านที่ดี พวกเราเป็นส่วนหนึ่งของเมือง พวกเราพัฒนาเมือง เพราะว่ามีพวกเราเหล่านี้เมืองถึงพัฒนา พวกเราหาเช้ากินค่ำ หารายวัน วันนี้เราไม่มีรายได้ แต่ภาษีนั้นต้องเสียให้รัฐทุกวัน ไฟฟ้า น้ำประปา ท่านช่วยใคร ท่านไม่ได้ช่วยเรานะ แต่เราช่วยท่าน อยากจะถามกับคุณว่าที่ดินเป็นที่ที่เราต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทย ทุกวันนี้เราร้องเพลงชาติให้ใครฟัง ก็ร้องให้พวกเราฟัง แต่เราจะรักชาติแบบไหน ชาติให้เราแบบไหน คุณจะให้เราแบบไหน แล้วลูกหลานเราจะอยู่อย่างไร จะต้องอยู่ในที่บุกรุกไปตลอดชีวิตหรือ ถ้าให้เราไปอยู่แฟลตเราจะอยู่ได้อย่างไร แล้วพ่อแม่เราล่ะ ผู้สูงอายุจะเป็นอย่างไร ทุกอย่างมันเป็นเงินเป็นทองหมด” ผู้แทนชุมชนกำแพงงามกล่าว

ด้าน จิราพร เชาวน์ประยูร พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.เชียงใหม่ ในนามผู้แทนผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ ได้รับหนังสือไว้ และกล่าวว่า ความทุกข์ร้อนของประชาชนโดยการรวมกลุ่มกันทั่วประเทศ 36 จังหวัด 3 หมื่นกว่าครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากภาครัฐ ไม่ว่าจะกระทรวงการคมนาคมหรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันนี้เป็นการรวมกันของเครือข่ายสลัมสี่ภาคที่จะยื่นกันทั่วประเทศ 

“อยากจะให้ฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยทำร่วมกันในทุกๆ จังหวัดที่มีทางรถไฟ ไม่อยากให้เป็นการที่ประชาชนที่อยู่อาศัยไม่ได้มีส่วนร่วม ดิฉันในนามของจังหวัดเชียงใหม่จะรับหนังสือที่ท่านยื่นมาเพื่อส่งต่อไปยังท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง” จิราพรกล่าว

จากการสำรวจชุมชนในที่ดินของ รฟท. พบว่ามี 36 จังหวัด 397 ชุมชน 39,484 หลังคาเรือน (เฉพาะเป็นจำนวนชุมชนแออัดผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น) ซึ่งการเคลื่อนไหวของเครือข่ายสลัมสี่ภาคในวันนี้จัดขึ้นทั้งหมด 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี ตรัง และสงขลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท