นักศึกษา มช. ยื่น 1,700 ชื่อ ถอดอธิการฯ และคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ ปมปิดกั้นเสรีภาพแสดงศิลปนิพนธ์

นักศึกษา มช. ยื่น 1,700 รายชื่อนักศึกษา อาจารย์ บุคลากร และประชาชนทั่วไป ขอถอดถอนอธิการบดีมหาวิทยาลัยและคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ หลังเกิดกรณีการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาสาขาวิชา Media Arts and Design ขึ้นภายในมหาวิทยาลัย

รายงานสดโดย ทีม Lanna Project

25 ต.ค. 2564 วันนี้ เวลา 13.30 น. นักศึกษาสาขาวิชา Media Arts and Design คณะวิจิตรศิลป์และเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) นำรายชื่อ 1,700 รายชื่อยื่นหนังสือถึงสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมาธิการการศึกษา พิจารณาถอดถอนศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรองศาสตราจารย์อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์

หลังชุมชนนักศึกษาอธิปไตย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการเปิดให้นักศึกษา อาจารย์ บุคลากร และประชาชนทั่วไปร่วมลงชื่อผ่านระบบออนไลน์ เพื่อสนับสนุนการตรวจสอบพิจารณาถอดถอนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ หลังเกิดกรณีการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาสาขาวิชา Media Arts and Design ขึ้นภายในมหาวิทยาลัย

ทนงศักดิ์ เชื้อเจ็ดตน หัวหน้าสำนักงานสภามหาวิทยาลัย (เสื้อสีเทา) และอรัญ กันธิยะ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย (เสื้อสีเหลือง) ตัวแทนมารับมอบหนังสือ

นักศึกษากว่า 60 คนไปรวมตัวกันที่ใต้ตึกสำนักงานสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาคารยุทธศาสตร์ฯ เพื่อรอยื่นหนังสือต่อศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย นายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยทางมหาวิทยาลัยได้ส่ง อรัญ กันธิยะ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย และทนงศักดิ์ เชื้อเจ็ดตน หัวหน้าสำนักงานสภามหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนมารับมอบหนังสือจากนักศึกษา ทนงศักดิ์ ชี้แจงว่านายกสภาฯ เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่กรุงเทพ พร้อมยืนยันว่าตนไม่มีอำนาจตัดสินใจ แต่จะนำเรื่องเรียนไปยังนายกสภาฯ ขอให้นักศึกษาเชื่อมั่น เพราะตนก็เชื่อมั่นในตัวนักศึกษา

โดยข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อของนักศึกษามีดังนี้

1. ดำเนินการให้เกิดการประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาถอดถอนคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ต่อสาธารณะ โดยกรรมการสอบสวนจะต้องได้รับการตรวจสอบ ไม่ให้มีผลประโยชน์ร่วมต่อฝ่ายนักศึกษาและคณะผู้บริหารทั้งหมดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งนี้ นักศึกษาและประชาชนทั่วไปจะต้องได้รับสิทธิ์ในการคัดค้านคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนภายในระยะเวลาที่ถูกกำหนดอย่างเป็นธรรม

2. ดำเนินการให้เกิดการประกาศข้อกำหนดสำหรับการคัดเลือกคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชุดต่อไปผ่านการเลือกตั้งโดยนักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยแท้จริงแก่การบริหารมหาวิทยาลัยในอนาคต ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนการคัดเลือกคณะผู้บริหารชุดถัดไป

3. ดำเนินการให้เกิดการตรวจสอบประเด็นปัญหาอื่นอันเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ พร้อมทั้งประกาศนโยบายตรวจสอบการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในทุกภาคส่วนให้เป็นไปตามหลักสิทธิเสรีภาพที่พึงมีตามหลักประชาธิปไตยสากลนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อรับประกันความปลอดภัยจากการแสดงความคิดเห็น การดำเนินการของนักศึกษา อาจารย์ ตลอดจนบุคลากรในทุกรูปแบบ และพิทักษ์ไว้ซึ่งเสรีภาพทางวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รายละเอียดในหนังสือของนักศึกษา

ตัวแทนจากสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธนาธร วิทยเบญจางค์, สุภวรา ทองเอก และนาวินธิติ จารุประทัย

นาวินธิติ จารุประทัย รองนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงบทบาทขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อ.มช.) และสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ส.มช.) ที่ไม่ได้ปกป้องสิทธิของนักศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น เช่น กรณีขณะวิจิตรสิ้น กรณีการเรียกร้องให้ลดค่าเทอมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และการยืนเคียงข้างนักศึกษาที่ถูกดำนเนินคดีทางการเมือง ซึ่งหลังจากนั้น ธนาธร วิทยเบญจางค์ รองนายก ส.มช. ในฐานะนักศึกษาที่ถูกดำนเนินคดีมาตรา 112 ได้ประกาศลาออกจาก ‘กลุ่มนักศึกษาวันใหม่’ ซึ่งเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งใน ส.มช. ก่อนจะถอดเสื้อสูทสีน้ำเงินของ ส.มช. แล้วใช้ไฟจากเทียนเผาตราสัญลักษณ์ มช. บนอกเสื้อข้างซ้าย พร้อมทั้งประกาศขอลาออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มพรรควันใหม่ ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นส.มช. ในปีนี้

นอกจากนี้อภิสิทธิ์ วะลับ นักศึกษาสาขาวิชา Media Arts and Design ได้กล่าวถึงประเด็นการเลือกตั้งผู้บริหารว่า ตนเห็นปัญหานี้มานานแล้ว ถึงแม้จะสามารถไล่คณบดีคนนี้ออกได้ก็จะมีผู้ได้รับการแต่งตั้งใหม่เข้ามาที่ไม่ได้มีส่วนร่วมของการศึกษา รวมถึงกระบวนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็ขาดความโปร่งใส

“การตั้งกรรมการสอบมันเกิดขึ้นจากการที่เขาแต่งตั้งคนที่เป็นพวกเขาเขาเองมาตรวจสอบ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันขาดความสุจริต ความโปร่งใส ปัญหานี้มันเป็นปัญหาที่นักศึกษาหลายๆ คนต้องประสบเพราะว่าการบริหารที่เป็นเหมือนเดิมซ้ำๆ มันทำให้ปัญหาต่างๆ ไม่ถูกแก้ไข เหมือนปัญหาที่เกิดขึ้นกับสาขา Media Art and Design ที่เป็นปัญหาอย่างยาวนานมากๆ แล้ว ถ้าใครได้ติดตามคือช่วงต้นปีก็มีเหตุการณ์การรื้อถอนงานของนักศึกษา หรือเอางานของนักศึกษาไปทิ้ง คณบดีคนนี้มีกิริยาและการวางตัวที่ไม่เหมาะสม เราต้องการให้คุณมาตรวจสอบหน่อยว่าตอนนี้เราเดือดร้อนมากๆ แล้ว”  อภิสิทธิ์กล่าว

ด้าน ธัชพรรณ ตรีทอง นักศึกษาสาขาวิชา Media Arts and Design เสริมว่า นักศึกษาต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการเข้าใช้หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมมติว่าต้องใช้หอศิลป์ ต้องจ่ายเงินเองเป็นหมื่น แล้วเก็บทุกวัน สมมติเช่า 7 วัน 10 วัน ก็ต้องจ่ายเงินทุกวันเป็นหมื่น ค่าเทอมก็เป็นหมื่น ซึ่งเป็นความไม่เป็นธรรมต่อนักศึกษาที่ต้องจ่ายค่าเทอม รวมถึงการปิดกั้นด้วยการล็อกโซ่คล้องกุญแจไม่ให้นักศึกษาเข้าไปใช้พื้นที่จัดแสดงงานศิลปนิพนธ์

“เก็บทำไมนักหนา หอศิลป์มันลงท้ายว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนูก็นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เหมือนกัน ทำไมถึงไม่มีสิทธิในการใช้พื้นที่ตรงนี้ เก็บเงินเอกชน เอกชนจะมาใช้พื้นที่ก็เก็บเงิน นักศึกษาจะมาใช้พื้นที่ก็เก็บเงินเหมือนกัน งั้นก็ไม่ต้องจ่ายค่าเทอมก็ได้ในเมื่อใช้อะไรก็ต้องเสียเงิน ส่วนตรงที่ปิดล็อกประตู ข้างในมันไม่ได้มีแค่หอศิลป์ แต่มันมีตึกเรียนของพวกหนูอยู่ด้วย ก็คือตึกเรียนของ Media Art and Design อยู่ในนั้น การล็อกประตูก็คือหนูไม่ได้ใช้ห้องเรียน แล้วหนูก็ไม่ได้ใช้หอศิลป์ด้วย” ผู้แทนนักศึกษาวิจิตรศิลป์กล่าว

ธัชพรรณ ตรีทอง และ อภิสิทธิ์ วะลับ ตัวแทนนักศึกษาจากสาขาวิชา Media Arts and Design

ก่อนจบกิจกรรม นักศึกษาได้ยื่นหนังสือถึง ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ผ่านไปยังประธานกรรมาธิการการศึกษา และ เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู พรรคก้าวไกล ไปยังประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ซึ่งยืนยันว่าจะนำเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเข้าสู่ กมธ. ในวันที่ 1 พ.ย. นี้

ทัศนีย์กล่าวว่า ตนจะเป็นตัวแทนนำไปยื่นถึงประธานกรรมาธิการการศึกษา ได้มีโอกาสมาฟังเหตุการณ์ตั้งแต่ต้น เรื่องนี้คงต้องไปยื่นที่สภาฯ จะนัดท่านประธาน กมธ. การศึกษา แล้วยื่นผ่านสำนักข่าวสภาฯ เพื่อที่จะเข้าสู่ กมธ. ต่อไป

 

“ปัญหามันเกิด ต้องได้รับการแก้ไข ข้อเรียกร้องต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องคณะวิจิตรศิลป์ ที่ว่ามีการไม่ให้เด็กๆ แสดงนิทรรศการ ผลเสียที่เกิดขึ้นคงจะต้องมีการเข้า กมธ. และเชิญมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าไปชี้แจง ทั้งสองฝ่ายว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะถ้าให้ กมธ. นัดมาชี้แจงคิดว่าคงได้รับความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย อีกเรื่องคือเรื่องการเลือกตั้งในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ต้องเข้า กมธ. เพราะคิดว่าต้องทำในมหาวิทยาลัยทุกที่” ส.ส. พรรคเพื่อไทยย้ำ

สำหรับรายชื่อบุคคลเข้าร่วมถอดถอนผู้บริหารทั้ง 2 คนทั้งรวมแล้วประมาณ 1,700 รายชื่อ ประกอบด้วยคณาจารย์ประมาณ 10 คน ผู้มีตำแหน่งในองค์การนักศึกษาปีนี้และปีก่อนๆ 34 คน นักศึกษาปัจจุบัน 1,027 คน ศิษย์เก่า 379 คน ประชาชน 278 คน และมีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยอีก 5 คน โดยในหนังสือได้ระบุว่าต้องมีความคืบหน้าที่ชัดเจนภายในวันที่ 31 ต.ค. อย่างไรก็ตาม ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาภาควิชา Media Art and Design ผู้ร่วมจัดกิจกรรมทวงคืนหอศิลป์ มช. เมื่อวันที่ 16 ต.ค. นั้นยังฝากว่า จากเหตุการณ์ที่พวกตนไปทวงคืนหอศิลป์จากผู้บริหาร ฝากติดตามเคสนี้ด้วยว่าอาจจะมีการเล่นงานกลับหรือการลงโทษ ซึ่งตอนนี้ได้ยินข่าวลือมาว่าเขาไปแจ้งความเอาผิดแล้ว ขอให้ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท