บาร์เบโดสเลือกประธานาธิบดีเป็นประมุขแทนตำแหน่งควีนเอลิซาเบธ

หลังจากประเทศบาร์เบโดสในเครือจักรภพอังกฤษ ประกาศถอนพระราชินีเอลิซาเบธออกจากการเป็นประมุขของประเทศเมื่อปีก่อน และในสัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเขาจัดโหวตในสภาเพื่อแต่งตั้งประธานาธิบดีคนแรกขึ้นมาเป็นประมุขแทน รัฐบาลบาร์เบโดสได้ถือว่าการเลือกประธานาธิบดีครั้งนี้เป็นหมุดหมายใหม่สู่ "หนทางของการเป็นสาธารณรัฐ"

Sandra Mason ประธานาธิบดีแห่งบาร์เบโดส (ที่มา: Caricom)

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา สภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาของบาร์เบโดส ร่วมกันโหวตเลือกให้ ซานดรา เมสัน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศด้วย 2 ใน 3 จากคะแนนเสียงทั้งหมด เรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งที่ประเทศเกาะแคริบเบียนที่อยู่ภายใต้เครือจักรภพอังกฤษอย่างบาร์เบโดสจะละทิ้งอดีตของตนในฐานะประเทศอาณานิคมได้

รัฐบาลบาร์เบโดสแถลงว่าการโหวตตั้งประธานาธิบดีใหม่ให้ตัวเองในครั้งนี้นับเป็นหลักไมล์สำคัญของ "หนทางไปสู่สาธารณรัฐ"

บาร์เบโดสเป็นประเทศที่มีประชากรไม่ถึง 300,000 คน แม้ว่าจะได้รับอิสรภาพและปกครองตนเองเมื่อพ.ศ. 2509 หลังจากเคยตกเป็นอาณานิคมอังกฤษมาตั้งแต่พ.ศ.2168 แต่ยังคงสายสัมพันธ์กับราชวงศ์อังกฤษและอยู่ในเครือจักรภพ จนถูกเรียกว่าเป็น "ลิตเติลอิงแลนด์" จากความจงรักภักดีที่มีต่อราชวงศ์ของอังกฤษ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเริ่มมีการเรียกร้องอธิปไตยและการปกครองตนเองอย่างเต็มรูปแบบ ต่อมาในปี 2563 พวกเขาก็ประกาศว่าจะถอดถอนพระราชินีเอลิซาเบธออกจากเป็นประมุขแห่งรัฐบาร์เบโดสและเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐจนนำมาสู่การโหวตเลือกประธานาธิบดีครั้งนี้

เมสันจะเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันครบรอบ 55 ปีการเป็นอิสระจากสหราชอาณาจักรในวันที่ 30 พ.ย.2564 เมสเคยทำงานเป็นนักกฎหมายมาก่อนและยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ทำงานในศาลอุทธรณ์ของบาร์เบโดส อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการตั้งแต่ปี 2561

นายกรัฐมนตรีของบาร์เบโดส มีอา มอตต์ลีย์ กล่าวถึงการโหวตเลือกประธานาธิบดีในครั้งนี้ว่าเป็น "ช่วงเวลาของก้าวแรกในการพัฒนาต่อไปข้างหน้า" สำหรับบาร์เบโดส มอตต์ลีย์ยังกล่าวถึงเมสันอีกว่าเธอเป็นผู้หญิงบาร์เบโดสที่มีลักษณะเฉพาะตัวและความมุ่งมั่นแรงกล้าที่สะท้อนถึงตัวตนของพวกเราโดยไม่พยายามแสร้งเป็นอย่างอื่นที่เธอไม่ได้เป็น

วาซิม โมวลา จากแอตแลนติกเคาน์ซิลสถาบันคลังสมองในสหรัฐฯ กล่าวว่าการเลือกประธานาธิบดีนี้จะเป็นประโยชน์ต่อบาร์เบโดสทั้งกิจการภายในและกิจการต่างประเทศ เพราะมันทำให้บาร์เบโดสซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาเล็กๆ มีความชอบธรรมมากขึ้นในการเป็นผู้เล่นการเมืองระดับโลก รวมถึงกลายเป็นเครื่องมือในการแสดงถึง "การร่วมใจของคนในชาติในเชิงชาตินิยม" ได้ด้วยซึ่งจะเป็นประโยชน์กับรัฐบาลปัจจุบันเอง

โมวลาวิเคราะห์อีกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบแคริบเบียนอาจจะชื่นชมในเรื่องนี้แต่ก็ไม่แน่ว่าจะทำตาม เพราะพวกเขาต้องคอยชั่งตวงผลประโยชน์ว่ามันจะเหมาะสมกับผลประโยชน์ของแต่ละประเทศเองหรือไม่

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีมอตต์ลีย์ยังกล่าวอีกว่าการกลายเป็นสาธารณรัฐก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการแสดงออกเชิงประณามเจ้าอาณานิคมอังกฤษของบาร์เบโดส และทางบาร์เบโดสจะยังคงความสัมพันธ์กับราชวงศ์อังกฤษต่อไป

บาร์เบโดสเป็นประเทศที่รู้จักดีในฐานะบ้านเกิดของนักร้องริฮานนา ซึ่งปัจจุบันเธอได้เป็นทูตโปรโมทส่งเสริมบาร์เบโดสในด้านการศึกษา, การท่องเที่ยว และการลงทุน ประเทศบาร์เบโดสเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมีนักท่องเที่ยวมาเยือนก่อนหน้านี้มากกว่า 1 ล้านรายต่อปีในช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดโรคระบาด COVID-19

'บาร์เบโดส' ประเทศในเครือจักรภพ ประกาศถอดควีนอลิซาเบธจากการเป็นประมุข ตั้งประเทศเป็นสาธารณรัฐ, 17 ก.ย. 64

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

Barbados elects first-ever president, replacing British monarchy, Aljazeera, 21-10-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท