สะท้อนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ผ่านเรือดำน้ำ AUKUS กับ ดุลยภาค ปรีชารัชช

สนทนากับ 'ดุลยภาค ปรีขารัชช' รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา และอาจารย์สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในประเด็นเกี่ยวกับเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ AUKUS และยุทธศาสตร์ความร่วมมืออินโด-แปซิฟิก

  • ทำความเข้าใจความร่วมมือ AUKUS ผ่านกรอบความร่วมมือในอดีตระหว่างสหรัฐฯ และประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก อินเดีย และโอเชียเนีย รวมถึงความร่วมมือ SEATO ที่ไทยเคยเข้าร่วมในสมัยจอมพลถนอ กิตติขจร
  • รู้จักมหายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific) ซึ่งเป็นภาพใหญ่ที่ไทยและอาเซียนต้องเตรียมตัวรับมือ
  • หากอาเซียนต้องการยกระดับสถานะการต่อรองด้านความมั่นคงในเวทีนานาชาติ อาจต้องร่วมมือกันจัดตั้ง "กองทัพร่วม" เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้ทัดเทียมชาติมหาอำนาจ
  • แนะกองทัพเรือไทย คิดจะซื้อเรือดำน้ำเพื่อความมั่นคงต้องดู 'กาลเทศะ' และฟื้นความเชื่อมั่นให้ประชาชนก่อน
  • นโยบาย 'การทูตสองหน้า' อาจพาประเทศสู่ความสมดุลด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ โดยไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่าง 'จีน' หรือ 'สหรัฐฯ'

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ความตึงเครียดทางทะเลเกิดขึ้นทั่วโลกหลังจาก 3 ชาติมหาอำนาจพันธมิตรหน้าเก่าอย่างออสเตรเลีย (AUS) สหราชอาณาจักร (UK) และสหรัฐอเมริกา (US) ประกาศความร่วมมือฉบับใหม่ที่ชื่อว่า “AUKUS” ซึ่งเป็นโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่พร้อมมาโลดแล่นใต้ผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้ทั่วโลกตั้งข้อสังเกตว่านี่คือแผนการใหม่ที่สหรัฐฯ เตรียมงัดมาสู้เพื่อคานอำนาจกับจีน

ความร่วมมือ AUKUS นำมาซึ่งประเด็นข้อถกเถียงหลายอย่าง ทั้งท่าที่ของฝรั่งเศสที่ออกตัวแรงถึงขั้นเรียกทูตกลับประเทศเพราะรู้สึกเหมือนถูกสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ‘หักหลัง’ หรือแม้แต่เพื่อนบ้านของออสเตรเลียอย่างนิวซีแลนด์ก็ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย เพราะนิวซีแลนด์ยืนยันที่จะเป็น ‘เขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์’ แม้กระทั่งสังคมไทยเองก็ตั้งคำถามว่าโครงการเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ AUKUS นี้จะส่งผลให้กองทัพเรือไทยเปิดไพ่ “ของมันต้องมี” เปิดทางซื้อเรือดำน้ำเพิ่มอีกสักลำหรือไม่

ประชาไทชวน ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาและอาจารย์สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมสนทนาถึงเรื่อง AUKUS เพื่อวิเคราะห์ถึงจุดประสงค์ของความร่วมมือนี้คืออะไร ส่งผลอย่างไรต่อไทยและอาเซียน รวมถึงประเด็น “ความคุ้มค่า” หากกองทัพเรือไทยเปิดไพ่ลับลุยซื้อเรือดำน้ำขึ้นมาจริงๆ

ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช
 

ย้อนดูความร่วมมือเก่าของสหรัฐฯ และพันธมิตร ก่อนเข้าใจ 'AUKUS'

ดุลยภาค กล่าวว่า การผนึกกำลังระหว่างสหรัฐฯ กับชาติมหาอำนาจอื่นๆ เพื่อขยายอิทธิพลทางการทหารในเขตเอเชียแปซิฟิกนั้นมีมาก่อนหน้านี้ในยุคสงครามเย็น ซึ่ง 2 ความร่วมมือเดิมที่รวมตัวละครคู่ขัดแย้งรอบนี้ไว้ คือ สนธิสัญญาแอนซัส (ANZUS) ซึ่งเป็นความร่วมมือพันธมิตรทางการทหารระหว่างสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการบริเวณขอบมหาสมุทรแปซิฟิก และอีกหนึ่งความร่วมมือ คือ องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) ซึ่งมีรัฐมหาอำนาจเข้าร่วม เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ไทย และฟิลิปปินส์ โดยชาติมหาอำนาจที่ปรากฎชื่ออยู่ในความร่วมมือทั้ง 2 นี้ล้วนเป็นผู้เล่นหน้าเดิมในความร่วมมือใหม่อย่าง AUKUS ทั้งสิ้น

“สิ่งที่น่าสนใจก็คือพัฒนาการการก่อรูปทางการทหาร โดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็น มีตัวแบบสำคัญก็คือ SEATO กับ ANZUS ซึ่งครอบคลุมอาณาบริเวณที่เรียกว่าเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific) แต่ว่ามันคลุมมหาสมุทรอินเดียด้วย จนกระทั่งระยะต่อมา เราก็มีศัพท์เทคนิคด้านอาณาบริเวณและยุทธศาสตร์ศึกษาเกิดขึ้น คือคำว่า อินโดแปซิฟิก (Indo-Pacific) ซึ่งหมายถึง 2 ภูมิภาคมาประกบกัน หนึ่งคือภูมิภาคมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกา ส่วนตรงกลางก็จะเป็นพวกประเทศและดินแดนที่เป็นเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น เกาะกวม หมู่เกาะมาร์แชลล์ หมู่เกาะโพลีนีเชีย และเมลานีเซีย สองคือภูมิภาครอบมหาสมุทรอินเดีย ใช้มหาสมุทรอินเดียเป็นตัวตั้งแล้วรวมรัฐต่างๆ เข้ามา"

สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของออสเตรเลีย ขณะกำลังเยี่ยมชมโถงนิทรรศการความร่วมมือ ANZUS ในอาคารเพนทากอน ที่ทำการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เมื่อ พ.ศ.2561
(ภาพจาก  U.S. Secretary of Defense)
 

"พอแนวคิดมันเติบโต และเด่นชัดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่ชินโซะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวสุนทรพจน์ และการประกาศยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ คำว่า ‘อินโดแปซิฟิก’ มาแรงมากๆ ทำให้เกิดวงจตุรมิตร (QUAD) คือ 4 มหาอำนาจมารวมตัวกัน มีสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย พอวงนี้ก่อตั้งขึ้นล่าสุดก็มี AUKUS เกิดขึ้น ซึ่งก็จะมีสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลียเพิ่มขึ้นมา จากเดิมออสเตรเลียกับสหรัฐฯ เป็นจตุรมิตรในอินโดแปซิฟิกอยู่แล้วซึ่ง AUKUS ที่เพิ่มอังกฤษเข้ามาน่าสนใจเพราะว่า อังกฤษกับสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรทางทหารกันตั้งแต่ยุค SEATO แต่ว่าออสเตรเลียกับสหรัฐฯ ก็เป็นพันธมิตรกันตั้งแต่ยุค ANZUS ผมว่าการมองแบบมันมันทำให้เกิดความน่าสนใจในการจับกลุ่มเรื่องภูมิภาคทางยุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้นถ้าเราพูดถึงเรื่อง AUKUS ผมอยากให้ย้อนดูการก่อรูปของ SEATO และ ANZUS ด้วย ในแง่อาณาบริเวณและทางยุทธศาสตร์ มันเกิดบริเวณใหม่ขึ้นมาที่มีนัยสำคัญ”

ผู้นำประเทศในกลุ่ม SEATO ร่วมกันถ่ายรูปที่หน้าอาคารรัฐสภากรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์
เนื่องในโอกาสการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม SEATO เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2509 (ภาพจาก manhhai)
(จากซ้ายไปขวา) เหงียนกาวกี่ ประธานาธิบดีเวียดนามใต้, แฮรอลด์ โฮลต์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย, พักจองฮี ประธานาธิบดีเกาหลีใต้, เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์, คีท โฮลีโอค นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์, จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีไทย และลินดอน บี จอห์นสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
 

ถ้าครองทะเลจีนใต้ได้ ก็ครองมหาสมุทรอินเดียได้

ดุลยภาคกล่าวว่าหากจะเข้าใจความร่วมมือ AUKUS ที่ส่งผลต่อสถานภาพของอาเซียนแล้ว ต้องทำความเข้าใจคอนเซ็ปต์ที่สำคัญของนักยุทธศาสตร์ทหารเรือก่อน คือ เรื่อง Oceanic Power หรือสมุททานุภาพ

“สมุททานุภาพส่งเสริมการครองอำนาจทางทะเล ต้องมีเรือรบที่มีแสนยานุภาพ ปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพ มีอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างแล้วก็มีรัฐมหาอำนาจที่กระทำตัวเป็นผู้ครองทะเล แต่ขณะเดียวกันก็ผูกโยงกับเรื่องของการครองเส้นทางโลจิสติกส์ การไหลเวียนของระบบเศรษฐกิจผ่านการขนส่งสินค้าและบริการทางทะเล รวมถึงท่าเรือต่างๆ การประกอบกันของสิ่งเหล่านี้ เราเรียกว่าเป็นพลังพิเศษอย่างหนึ่ง คือ สมุททานุภาพ ซึ่งรัฐมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ก็ดี อังกฤษก็ดี เขาคิดเรื่องนี้”

ดุลยภาคกล่าวว่าจริงๆ แล้วมีทฤษฎีอำนาจทางทะเลหรือสมุททานุภาพของอัลเฟรด ธาเยอร์ มาฮาน (Alfred Thayer Mahan) ก่อรูปมาก่อนแล้ว ซึ่งประเทศที่ใช้แนวคิดพวกนี้ในการขยายกำลังแสนยานุภาพก็เช่นสหรัฐฯ ที่เห็นได้ชัดว่าสหรัฐฯ ทำตามแบบอังกฤษในสมัยล่าอาณานิคม และเมื่อนำคอนเซ็ปต์นี้มาวางในยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกจะเห็นชัดเลยว่าจะต้องกระทบกับสายโซ่ยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของจีนที่ล่วงล้ำเข้าในน่านน้ำทะเลจีนใต้อย่างแน่นอน

“ทะเลจีนใต้เป็นยุทธภูมิที่มีนัยสำคัญมาก เพราะว่าหากเราย้อนไปดูงานเขียนของ 'นิโคลัส สปีกแมน' (Nicholas Spykman) นักภูมิศาสตร์ชื่อดังผู้ประพันธ์หนังสือเรื่อง Geography of Peace หรือภูมิศาสตร์ว่าด้วยสันติภาพ ในห้วงทศวรรษที่ 1940 โดยประมาณ เขาพูดถึงเขตสมุทรศาสตร์ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่เรียกว่า ‘เอเชียติกเมดิเตอร์เรเนียน’ (Asiatic Mediterrenian) หรือทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแห่งเอเชีย ซึ่งหมายถึงทะเลขอบทวีปหรือ Marginal Sea เช่น ทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออก ทะเลเหลือง และทะเลญี่ปุ่น ซึ่งนักภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์คนนนี้บอกว่าเปรียบประดุจดั่งเมดิเตอร์เรเนียนของเอเชีย เป็นเส้นเลือดหลักของการไหลเวียนด้านการค้าและพาณิชย์นาวี รวมถึงมีพื้นที่ครอบคลุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ใครก็ตามที่ควบคุมเมดิเตอร์เรเนียนแห่งเอเชียตรงนี้ได้ก็จะได้เปรียบ นอกจากนี้ สปีกแมนยังคาดการณ์ไปถึงพฤติกรรมของจีนว่าจีนก็พยายามจะควบคุมผืนน้ำในทะเลแห่งนี้ และจะสามารถคุกคามอำนาจของสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นได้ในทางยุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้น การเตือนของสปีกแมนถือเป็นการให้ภาพดินแดนที่เป็นแกนกลางสำคัญของหน่วยที่เรียกว่า ‘อินโดแปซิฟิก’ ในเวลาต่อมา”

แผนภาพเอเชียติกเมดิเตอร์เรเนียน หรือ Rimland ตามทฤษฎีของนิโคลัส สปีกแมน (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

“ถ้าเราดูภาพใหญ่ เอามหาสมุทรอินเดียมาตั้ง ตัวเอเชียติกเมดิเตอร์เรเนียนจะอยู่ทางฟากสมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ผืนน้ำที่สำคัญคือทะเลจีนใต้ ซึ่งมันเป็นผืนน้ำที่ต่อลงมาถึงพื้นสมุทรของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วไหลไปชนช่องแคบมะละกา ซึ่งตรงนั้นเป็นข้อต่อไปสู่มหาสมุทรอินเดีย สปีกแมนจึงบอกว่าใครที่ครอบครองทะเลจีนใต้และเอเชียติกเมดิเตอร์เรเนียนได้ จะมีฐานกระโจนทางยุทธศาสตร์ที่ร่นเข้าไปในมหาสมุทรอินเดียได้ด้วย”

ต่างรัฐต่างมุมมองกับ ‘อินโด-แปซิฟิก’ แต่อาเซียนขอเป็นศูนย์กลาง

ดุลยภาคกล่าวว่ารัฐมหาอำนาจให้คำนิยามของ ‘มหายุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก’ ในขอบเขตที่แตกต่างกันไป เช่น สหรัฐฯ นับตั้งแต่ขอบตะวันตกของสหรัฐฯ ข้ามสมหาสมุทรแปซิฟิกไปชนขอบตะวันออกของอินเดีย ซึ่งมีความหมายตรงกับนิยามของกองบัญชาการกองทัพภาคอินโดแปซิฟิกของกองทัพสหรัฐฯ

“แต่ก่อนเขามี US Pacific Command บริเวณก็ตามนี้เลย แล้วตอนหลังเขาเปลี่ยนเป็นชื่อ Indo-Pacific Command กองบัญชาการตั้งอยู่ที่ฮาวาย อันนี้คือการกำหนดยุทธบริเวณ เพราะฉะนั้น ขอบเขตของอินโดแปซิฟิกในทางนโยบายต่างประเทศ หรือในนโยบายป้องกันประเทศ สหรัฐฯ มองว่าเท่ากัน แต่ถ้าเราไปถามอินเดียหรือญี่ปุ่นจะแตกต่างกัน อย่างญี่ปุ่นจะใหญ่โตมาก เขาเอามหาสมุทรแปซิฟิกทั้งหมดเลย ด้านตะวันออกทับกับออสเตรเลียและสหรัฐฯ กำหนดขอบเท่ากัน แต่ว่าขอบตะวันตกของญี่ปุ่นจะไปถึงฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา อันนี้ก็แล้วแต่นิยามหรือผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์”

‘อินโดนีเซีย-มาเลเซีย’ ต้องรับมือหนักในยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก

ส่วนอาเซียนนั้น เห็นว่าอินโดแปซิฟิกเป็นคอนเซ็ปต์และยุทธศาสตร์การขยายอิทธิพลของรัฐมหาอำนาจ ซึ่งอาเซียนมองว่าควรทำอย่างไรไม่ให้ตัวเองตกเป็นเขตอิทธิพล หรือเขตประลองกำลังของมหาอำนาจเหล่านั้น อาเซียนจึงประกาศว่าเราต้องเป็น ‘ศูนย์กลางด้านความมั่นคง’ หรือ ASEAN Centrality ซึ่งรัฐที่ขับเคลื่อนนโยบายนี้ คือ อินโดนีเซีย

“อินโดนีเซียมียุทธศาสตร์วางตัวเองเป็น Global Maritime Fulcrum คืออินโดนีเซียเป็นรัฐหมู่เกาะที่แวดล้อมไปด้วยมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก จึงต้องขยายอำนาจทางการทหารและทางทะเล ต้องมีบทบาททางการทูตมากขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของ 2 มหาสมุทรนี้ และพยายามผลักดันให้อาเซียนให้ความสำคัญกับนโยบาย ASEAN Centrality ดังนั้น มันจะมี 3 วงของอินโดแปซิฟิกทับซ้อนกันอยู่ คือ วงมหาสมุทรแปซิฟิก วงมหาสมุทรอินเดีย และวงตรงกลางคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ถ้าว่ามองให้ลึกลงไปอีกจะเห็นว่าแกนกลางจริงๆ ของ ASEAN Centrality อยู่ที่อินโดนีเซีย”

แผนภาพยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกตามแนวคิดของสหรัฐฯ ประกอบไปด้วย 3 วงหลัก คือ ประเทศในกลุ่มมหาสมุทรแปซิกฟิก (วงสีน้ำเงิน) ประเทศในกลุ่มมหาสมุทรอินเดีย (วงสีแดง) และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (วงสีเขียว)
ซึ่งเป็นศูนย์กลางของยุทธศาสตร์ความร่วมมือดังกล่าว (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

ดุลยภาคกล่าวว่าอินโดนีเซียพยายามปรับรูปโฉมทางภูมิศาสตร์ให้อินโดแปซิฟิกมีขนาดเล็กและกระชับขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อผลประโยชน์ของอินโดนีเซียและอาเซียนที่สัมพันธ์กับแนวคิดใจสมุทรโลกของโจโก วีโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ส่วนนวัตกรรมด้านความมั่นคงของอาเซียน เช่น กำหนดให้อาเซียนเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ เป็นเขตสันติภาพ และความเป็นกลางแม้อินโดนีเซียพยายามขับเคลื่อนส่วนนี้และชูนโยบายความเป็นกลาง แต่ก็หวาดกลัวอยู่ลึกๆ ว่าจะถูกคุกคามจากมหาอำนาจอื่นๆ ด้วย

“อินโดนีเซียกลัวจีน แม้ว่าทะเลจีนใต้ที่จีนพยายามจะแผ่กรรมสิทธิ์ลงมาจะไม่ชนเขตอินโดนีเซียตรงๆ เหมือนกรณีของเวียดนาม แต่ว่ามันชนเขตเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย รวมถึงทะเลสำคัญที่อยู่ทางเหนือ คือ ทะเลนาตูนา มีเรือประมงจีนเข้าไปตักตวงทรัพยากรในแถบนั้น อินโดนีเซียก็ไม่สบายใจ แต่ขณะเดียวกันอินโดนีเซียก็มองไปที่ออสเตรเลีย ซึ่งกำลังจะมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จากความร่วมมือ AUKUS แม้อินโดนีเซียพยายามกระชับความร่วมมือกับออสเตรเลียในกรอบอินโดแปซิฟิกตามประเพณีและมารยาททางการทูต แต่เบื้องลึกแล้วอินโดนีเซียก็ไม่ไว้ใจออสเตรเลีย เพราะเป็นเพื่อนบ้านติดกัน มีการวิเคราะห์อำนาจกำลังรบเชิงเปรียบเทียบของทั้ง 2 ประเทศอยู่บ่อยๆ สำหรับออสเตรเลียแล้วอินโดนีเซียคือเพื่อนบ้านขนาดใหญ่ที่คุกคามออสเตรเลีย ส่วนอินโดนีเซียก็มองว่าแมเกำลังทหารของออสเตรเลียจะไม่เยอะเท่ากับปริมาณทหารของอินโดนีเซีย แต่อาวุธยุทโธปกรณ์หรือหลักนิยมทางการทหารของออสเตรเลียนั้นทันสมัยมาก ผมว่าอินโดนีเซียก็มีความกระอักกระอ่วนใจอยู่บ้าง”

“ส่วนความกังวลของมาเลเซีย แม้จะไม่โดดเด่นเท่าอินโดนีเซีย แต่ก็ต้องระวังเรื่องการคุมพื้นที่ช่องแคบมะละกา ถ้าเรือรบต่างๆ จะขนย้ายกำลังจากอินเดีย อังกฤษ หรือฝรั่งเศสเข้าไปในทะเลจีนใต้หรือแนวมหาสมุทรแปซิฟิก ก็ต้องผ่านช่องแคบมะละกาหรือช่องแคบอื่นๆ ที่ติดกับอินโดนีเซีย แต่หลักๆ มันจะผ่านช่องแคบมะกะลาของมาเลเซีย ซึ่งเขาต้องหวั่นไหวเป็นธรรมดา แม้แต่สิงคโปร์ก็ด้วย ถ้าเกิดความขัดแย้งทางทะเลและมีการปะทะทางการทหาร มาเลเซียก็ลำบากใจอยู่เหมือนกัน เพราะว่าพื้นที่ประเทศแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ฝั่งคาบสมุทรมลายูที่คลุมช่องแคบมะละกา กับฝั่งกาลิมันตัน หรือทางเหนือของเกาะบอร์เนียว ซึ่งแยกห่างกัน เพราะฉะนั้นมาเลเซียต้องรีบพัฒนากองทัพเรือให้เข้มแข็งเพื่อจะปกป้องภูมิศาสตร์ที่มันเป็น 2 ส่วนตรงนี้ให้มันมีเอกภาพขึ้น”

'AUKUS' กับรอยร้าวของฝรั่งเศสและนิวซีแลนด์

แม้ว่านิวซีแลนด์จะมีความสัมพันธ์ด้านการทหารมาอย่างยาวนานร่วมกับออสเตรเลียและสหรัฐฯ แต่นิวซีแลนด์มีนโยบายเฉพาะว่าผลักดันเรื่องเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งสวนทางกับแนวทางของออสเตรเลีย จึงเห็นท่าทีของนิวซีแลนด์ที่ไม่ยินดีนักกับความร่วมมือ AUKUS

“ออสเตรเลียโอเคมากกับอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องของอาวุธนิวเคลียร์ แต่ว่านิวซีแลนด์ไม่ตอบรับ อยากให้เป็นเขตสันติภาพและความเป็นกลาง เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งนิวซีแลนด์เคยถอนหรือลดระดับความร่วมมือใน ANZUS ด้วยถ้านิวซีแลนด์มีทิศทางอีกแบบหนึ่ง ออสเตรเลียมีทิศทางอีกแบบหนึ่ง มันจะกระทบต่อระบบความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคแปซิฟิก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอินโดแปซิฟิก ที่ลากคลุมพื้นที่เมลานีเชีย ไมโครนีเซีย และโพลีนีเซีย ซึ่งหลายจุดเป็นฐานทัพลอยน้ำของสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ส่วนเคสของฝรั่งเศส ผมมองว่าเขาไม่พอใจในเรื่องที่ว่าใครจะเป็นเจ้าหลักในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์หรือการซื้อขายยุทโธปกรณ์ แต่ผมว่าฝรั่งเศสก็ยังต้องเกาะกลุ่มอยู่กับค่ายของสหรัฐฯ และพันธมิตรอยู่ เพราะมีกรอบผูกโยงกันมาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่สมัย SEATO มาจนถึง NATO หรืออื่นๆ ความสัมพันธ์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกระหว่างยุโรปกับสหรัฐฯ มันตัดทิ้งไม่ได้ แม้จะมีขัดแย้งกันบ้างก็ตาม”

เอ็มมานูเอล มาครง (ซ้าย) ประธานาธิบดีฝรั่งเศสและโจ ไบเดน (ขวา) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
พบกันในการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ที่เมืองคอร์นวอลล์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2564
(ภาพจากทำเนียบขาว)
 

นอกจากความร่วมมือทางการทหารที่ยาวนานระหว่างฝรั่งเศสและสหรัฐฯ แล้ว ดุลยภาคกล่าวว่าฝรั่งเศสเองก็มีผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจงในความร่วมมืออินโดแปซิฟิกที่ใหญ่โตมาก เพราะฝรั่งเศสพยายามเชื่อมโยงพื้นที่ให้เข้ากับอดีตอาณานิคม ตั้งแต่ทวีปแอฟริกามาสู่ชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ และลากยาวลงไปถึงทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีดินแดนของฝรั่งเศสที่เรียกว่า ‘เฟรนช์พอลินีเชีย’ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ฝรั่งเศสยึดเป็นศูนย์กลางของกรอบความร่วมมืออินโดแปซิฟิก จึงไม่น่าแปลกใจที่ฝรั่งเศสดูกระตือรือร้นด้านการทหารและเรือดำน้ำในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ร่วมกับสหรัฐฯ

'AUKUS' ไม่สะท้าน เพราะอินโดแปซิฟิกคือแหล่งรวมรัฐนิวเคลียร์

ดุลยภาคกล่าวว่าแม้ช่วงหลังสงครามเย็นจะมีข้อตกลงลดการถือครองอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างชาติมหาอำนาจ แต่ความเป็นจริงทางการเมืองนั้น จรรยาบรรณหรือหลักการเหล่านี้สามารถควบคุมพฤติกรรมรัฐได้เพียงระดับหนึ่ง เพราะการซุ่มพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ยังคงดำเนินต่อไป

“โลกยุคหลังสงครามเย็นและในบางอาณาบริเวณที่สร้างข้อตกลง (agenda) เรื่องการเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ไม่ควรมีภาพแบบกรณีของ AUKUS ให้เห็น แต่เมื่อมองในแง่ของกำลังรบเชิงเปรียบเทียบ มองในแง่ของนักยุทธศาสตร์การทหารก็ปกติ เป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้”

แต่สิ่งที่ดุลยภาคอยากให้มองมากกว่าความร่วมมือ AUKUS คือ ประเทศที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรอบอินโดแปซิฟิกนั้น ล้วนเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย จีน เกาหลีเหนือ รัสเซีย (ไซบีเรีย) สหรัฐฯ และล่าสุดคือออสเตรเลีย จนอาจเรียกได้ว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นแหล่งรวมรัฐแสนยานุภาพด้านอาวุธนิวเคลียร์เอาไว้ทั้งสิ้น ซึ่งดุลยภาคเสนอว่าหากต้องการลดลดความตึงเครียดทางยุทธศาสตร์จริง แต่ละประเทศอาจต้องคุยเรื่องระบบตรวจสอบป้องกันการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์หรือขีปนาวุธ

'กองทัพร่วมอาเซียน' สร้างอำนาจต่อรองกับชาติมหาอำนาจ

เพราะอินโดแปซิฟิกไม่ใช่เพียงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แต่มีเรื่องความมั่นคงรวมอยู่ด้วย ซึ่งอาเซียนเป็นพื้นที่ศูนย์กลางที่มหาอำนาจ (ซึ่งถือครองอาวุธนิวเคลียร์) ต่างพยายามเข้ามาสร้างอำนาจต่อรองให้กับตนเอง ดุลยภาคจึงเสนอทางออกของอาเซียนเรื่องความมั่นคงว่าควรจัดตั้ง ‘กองทัพร่วม’ เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และเพิ่มศักยภาพด้านความมั่นคงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการแยกกันซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธหรือแยกกันดูแลตนเอง

“ถ้าจะพูดเรื่องการป้องกันความมั่นคงที่มีเอกภาพจริงๆ ผมมองมาที่ระบบบังคับบัญชาร่วม หรือระบบกองทัพร่วม ซึ่งอาเซียนยังไม่มี เช่น NATO ที่มีโครงสร้างบังคับบัญชาจากตัวแทนรัฐสมาชิก มีการระดมสรรพกำลังจากกองทัพประเทศต่างๆ เข้ามาเป็นกองทัพขององค์กร มีหลักยุทธศาสตร์ร่วมกัน แต่อาเซียนของเรามีแค่การประชุมร่วมรัฐมนตรีกลาโหม มีการคุยกันเรื่องความร่วมมือสายงานด้านการเมืองความมั่นคงในฐานะหนึ่งในสามเสาหลักของอาเซียน แต่เราไม่มีกองทหารอาเซียน เราไม่มีการแบ่งว่ากองทัพไทยรับผิดชอบจุดนี้ กองทัพอินโดนีเซียดูผืนทะเลด้านนั้น”

ก็อาจจะมีบ้างที่พูดว่า ‘ก็จำเป็นนะ เพราะว่ามหาอำนาจเขาเริ่มต่อสู้กันแล้ว เริ่มเข้มข้นขึ้นแล้ว’ แต่พื้นที่มันยังห่างไกลจากประเทศไทย และต่อให้เรามียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่เนื้อในเราไม่มีมหายุทธศาสตร์ เราก็อยู่แค่การป้องกันตัวเองกับมีอิทธิพลเล็กๆ น้อยๆ บ้างตามแนวของประเทศเพื่อนบ้านแค่นั้น ไม่คิดว่าเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักพอที่จะเอามาหนุนเรื่องการขยายแสนยานุภาพทางทะเลของไทย

ดุลยภาคกล่าวว่ากองทัพของอาเซียนยังแบ่งแยกกันตามขอบเขตประเทศ ทำงานแยกกันเป็น 10 รัฐ แต่ถ้ารวมตัวเป็นกองทัพอาเซียนเพียงหน่วยเดียวได้ เราจะมีประชากรเพิ่มขึ้น มีพื้นที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งจำนวนทหารและยุทโธปกรณ์ก็เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้สถานะของอาเซียนเทียบเคียงกับประเทศกึ่งมหาอำนาจ และมีกำลังในการต่อรองด้านความมั่นคงสูงขึ้น ซึ่งถ้าทำได้ การต่อรองกับจีนเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ก็อาจจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น

“แต่ในความเป็นจริง การบูรณาการระดับภูมิภาคยังไปไม่ถึงตรงนั้น เรายังไม่มีนโยบายต่างประเทศร่วม ยังไม่มีนโยบายการศาลร่วม นโยบายป้องกันประเทศร่วมแนวทางการบูรณาการในภูมิภาคของเราเป็นเรื่องของพหุนิยมหรือภารกิจนิยม  ฟังก์ชันความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไรก็ไปตามนั้น สื่อสารติดต่อรับรู้กันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ถึงกับกำหนดให้มันมีรัฐธรรมนูญอาเซียน ซึ่งมีรูปแบบคล้ายๆ สหพันธรัฐ (แบบสหภาพยุโรป) ที่มีรัฐบาลกลางและรัฐบาลของแต่ละประเทศเป็นรัฐบาลประจำมลรัฐ แล้วก็จะมีกองทัพที่ผูกขาดโดยรัฐบาลกลาง กองทัพที่อยู่ในแต่ละประเทศก็รับผิดชอบกันไป คล้ายๆ ตำรวจในแต่ละมลรัฐ ซึ่งคอนเซ็ปต์แบบนี้ เรายังไปไม่ถึง”

ทดลองออกแบบระบบบังคับบัญชาร่วมอาเซียน

ดุลยภาคกล่าวว่ากองทัพในประเทศสมาชิกอาเซียนมีจุดเด่นและจุดด้อยแตกต่างกัน หากสามารถร่วมมือจัดตั้งระบบกองทัพร่วมขึ้นมาได้จริงๆ แล้วนั้น นอกจากจะมีอำนาจต่อรองเพิ่มแล้ว ยังมีข้อได้เปรียบทางยุทธิวิธีการรบ เพราะทหารแต่ละประเทศก็มีแนวทางการรบที่แตกต่างกันไป

“ถ้าเราพูดถึงการตั้งระบบบังคับบัญชาร่วม ต้องนิยามก่อนว่าพื้นที่การป้องกันจะอยู่ตรงไหน ถ้าเรานิยามว่าอยู่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนเดิม เราก็ไม่ต้องคิดมากถึงการไปปฏิบัติทางยุทธศาสตร์วงกว้างแบบในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เราก็เน้นแต่ผืนน้ำ กับภาคพื้นทวีปที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พอ แล้วเราก็มาแบ่งภาคทหารข้างในว่าจะใส่กำลังเข้าไปตรงจุดไหนในพื้นทวีปกับพื้นสมุทร พื้นทวีปก็จะมีไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และคาบสมุทรมลายูบางส่วน ส่วนที่เหลืออย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พวกนี้เป็นพื้นสมุทร แต่ถ้าเป็นนิยามใหม่ว่าอาเซียนสะบั้นขาดออกจากอินโดแปซิฟิกไม่ได้ ก็จะต้องแบ่งให้กว้างขวางใหญ่โตขึ้น เช่น ขอบตะวันตกของศูนย์บัญชาการอาจคลุมถึงศรีลังกา บังกลาเทศ และชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย คลุมอ่าวเบงกอล ด้านตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นไปถึงแถวกวางตุ้ง เซินเจิ้น อาจจะไปถึงฮ่องกงและไต้หวัน ด้านใต้อาจจะลงมาถึงออสเตรเลีย หรือหมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ที่เป็นของสหรัฐฯ ระบบกองทัพร่วมอาเซียนต้องชนและร่วมกับกองทัพในอินโดแปซิฟิก รวมถึงกองทัพจีน ต้องแลกเปลี่ยนข่าวสาร ติดต่อเยี่ยมเยือนทางการทูตทหารเรือกับกองทัพอินเดียและญี่ปุ่นด้วย โลกยุทธศาสตร์มันก็จะใหญ่ขึ้น ส่วนการกำหนดว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุดของประเทศไหนจะขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของอาเซียน อาจใช้วิธีโหวตเลือกปีละครั้ง หมุนเวียนขึ้นมา แต่ผมคิดว่าไทยและอินโดนีเซียจะเป็นจุดยุทธศาสตร์หลักของแนวคิดนี้”

เรือดำน้ำ AUKUS ยังห่างไกลความมั่นคงทางทะเลของไทย

ดุลยภาคมองว่าพื้นที่การลาดตระเวนของเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ภายใต้ความร่วมมือ AUKUS จะอยู่บริเวณเอเชียติกเมดิเตอร์เรเนียน หรือขอบมหาสมุทรแปซิฟิก ในแนวของประเทศฟิลิปปินส์และขึ้นเหนือไปเป็นหลัก เพราะวิเคราะห์ดูแล้ว สหรัฐฯ ต้องการจะแหย่จีน ส่วนทะเลอ่าวไทยนั้นยังถือว่าห่างไกลกับพื้นที่ลาดตระเวน เพราะเป็นทะเลปิดและไม่มีพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่พิพาทต่างๆ ในทะเลจีนใต้ รวมถึงประเทศไทยไม่มีมหายุทธศาสตร์ทางทะเลที่จะขยายอิทธิพลออกไปไกลเกินชายฝั่งของประเทศ ดังนั้นจึงไม่น่าเป็นห่วงเรื่องเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ AUKUS เท่าไรนัก

แต่ว่ามันต้องดู 'กาละเทศะ' ด้วยว่าการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในช่วงที่ประเทศมีปัญหาทางเศรษฐกิจมาก เงินรายได้ต่างๆ ก็เป็นเงินภาษีของประชาชน แล้วการจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใสตรวจสอบได้แค่ไหน ตรงนี้เป็นเรื่องที่กองทัพต้องชี้แจง การใช้ภาษีแจงไม่ชัด สื่อสารไม่ดี ประชาชนไม่เข้าใจสารที่กองทัพสื่อ กองทัพก็ต้องรับสภาพเหมือนกัน เรื่องความมั่นคงจึงต้องเอาไว้ก่อน เพราะตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือเศรษฐกิจฝืดเคือง คนตกงาน สุขภาพคนย่ำแย่ อันเป็นผลมาจากโควิด-19

“เวลาดูพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ของรัฐไทย แผนที่ประเทศไทยในปัจจุบันแบ่งเป็น 4 กองทัพภาค ทหารบกใส่ไปในภาคพื้นชายแดน ทหารเรือก็วางแนวชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แต่ถ้าเราดูการป้องกันประเทศของจีน เขามีสายโซ่ยุทธศาสตร์ 2 ชั้น ชั้นที่หนึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งจีน ส่วนชั้นที่ 2 มองข้ามไปถึงแถวทะเลญี่ปุ่น ลากไปถึงเกาะสำคัญของสหรัฐฯ กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมันไปไกลกว่าเขตอธิปไตยทั่วไปของจีน นี่คือคิดแบบมีมหายุทธศาสตร์จึงต้องวางกำลังออกนอกประเทศ ทำให้จีนเขาเข้าไปมีความขัดแย้งกับรัฐอื่นๆ เยอะ เพราะเขาส่งทหารไปประจำการไกลเกินไป แต่ว่าก็ไม่แปลก เพราะว่าปฏิกิริยาแบบนี้มันก็เป็นปฏิกิริยาตอบโต้ทางธรรมชาติที่เกิดจากพฤติกรรมการทำแบบนี้ก่อนของสหรัฐฯ”

“เวลาที่สหรัฐฯ แบ่งภาคทหารทั่วโลก เขาเอาลูกโลกมาตั้งแล้วผ่าออกเป็นภาคต่างๆ แม้กระทั่งอินเดียและเรา (ไทย) อยู่ในภาคทหารอินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ แต่ว่าถ้าเป็นโซนตะวันออกกลางจะเป็น Central Command หรือกองบัญชาการส่วนกลาง ภาคทหารในทวีปแอฟริกาเขาก็มี สหรัฐฯ จะใช้วิธีแบบแบบนี้ นี่คือคนที่จะเป็นเจ้าโลก ต้องผ่าโลกทั้งหมดแล้วก็ใส่กองกำลังเข้าไป ทำให้สหรัฐฯ เข้าไปแทรกแซงอยู่ในอุณหภูมิความขัดแย้งที่ร้อนระอุในหลายภูมิภาค เพราะว่าเขามีฐานทัพลอยน้ำ เขาวางกำลังไปทั่ว”

Vangaurd เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของสหราชอาณาจักร ใช้งานตั้งแต่ พ.ศ.2536-ปัจจุบัน (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

“ส่วนเรื่อง AUKUS ก็เป็นมหายุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสที่พยายามเข้ามากล้ำกรายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้งหนึ่งหลังยุคอาณานิคม รวมถึงออสเตรเลีย หรือคาวบอยแห่งเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ เป็นมัธยะอำนาจ (มีอำนาจในระดับกลาง) แต่ก็พยายามจะครอบครองอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงทางทหารมากขึ้น ผมคิดว่า AUKUS เป็นเรื่องของกลุ่มประเทศพวกนี้มากกว่า ส่วนของไทยไม่ต้องกังวล ไทยไม่มีมหายุทธศาสตร์ ไทยก็อยู่แค่ตรงนี้ ความขัดแย้งใน AUKUS ไม่ได้แพร่สะพัดไหลเข้ามาถึงอ่าวไทย ส่วนภัยคุกคามทางมหาสมุทรอินเดีย ผมว่าก็เป็นเรื่องของอินเดียซะมากกว่า ที่พยายามโยกกำลังข้ามมาที่มหาสมุทรแปซิฟิก แต่ว่าอินเดียกับไทยความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพเรือมันดีอยู่แล้ว มีการทูตทหารเรืออยู่ แต่ว่าก็ต้องจับตาดูอินเดีย เพราะเขามีเกาะยุทธศาสตร์คือเกาะอันดามันและนิโคบาร์ซึ่งอยู่ใกล้กับเกาะเล็กๆ ของพม่าแล้วอยู่ใกล้กับภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตราในอินโดนีเซีย แล้วอินเดียยังมีกองบัญชาการภาคตะวันออกไกลอยู่ที่เมืองพอร์ตแบลร์ ทำให้อินเดียเดินการทูตทหารเรือ ส่งเรือรบเข้ามาเยี่ยมชายฝั่งของรัฐอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย แต่ก็จะเป็นความสัมพันธ์ในกลุ่มทหารเรือที่ค่อนข้างเป็นมิตรและสันติมากกว่า”

ยก AUKUS อ้างซื้อเรือดำน้ำไม่ได้ เพราะ 'น้ำหนักเบา'

หากมีคนยกเหตุผลว่าความร่วมมือเรือดำน้ำ AUKUS อาจเป็นภัยคุกคามต่อพื้นที่ทางทะเลไทยในอนาคต และต้องการเรียกร้องให้จัดซื้อเรือดำน้ำเพิ่ม ในกรณีนี้ ดุลยภาคมองว่าเหตุผลนี้ ‘น้ำหนักเบา’ เกินไป

“ก็อาจจะมีบ้างที่พูดว่า ‘ก็จำเป็นนะ เพราะว่ามหาอำนาจเขาเริ่มต่อสู้กันแล้ว เริ่มเข้มข้นขึ้นแล้ว’ แต่พื้นที่มันยังห่างไกลจากประเทศไทย และต่อให้เรามียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่เนื้อในเราไม่มีมหายุทธศาสตร์ เราก็อยู่แค่การป้องกันตัวเองกับมีอิทธิพลเล็กๆ น้อยๆ บ้างตามแนวของประเทศเพื่อนบ้านแค่นั้น ไม่คิดว่าเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักพอที่จะเอามาหนุนเรื่องการขยายแสนยานุภาพทางทะเลของไทย”

หากคิดจะซื้อเรือดำน้ำก็ขอให้ดู 'กาลเทศะ'

ดุลยภาคกล่าวว่าการซื้อเรือดำน้ำเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของนักการทหาร เพื่อใช้ป้องปรามและข่มกำลังประเทศอื่นไม่ให้โจมตีดินแดนตามอำนาจอธิปไตย ไม่จำเป็นต้องซื้อมาเพื่อเตรียมการสู้รบในศึกสงคราม แต่การจัดซื้ออาวุธในยุคปัจจุบันซึ่งไม่ได้อยู่ในช่วงสงครามโลกหรือสงครามเย็น ก็ขอให้พิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจและสังคมด้วยว่าจำเป็นเร่งด่วนแค่ไหนที่จะจัดซื้อเรือดำน้ำหรืออาวุธยุทโธปกรณ์

“ทหารคิดอย่างนี้ มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอานุภาพอาจจะไม่จำเป็นต้องรบ เพราะใช้ข่มขู่ป้องปรามศัตรูที่จะเข้าโจมตี ทำให้ไม่มีสงครามเกิดขึ้น ก็คือเขาก็คิดว่าซื้อ (อาวุธ) มันทำให้ไม่ต้องรบ สมมติว่ามีเรือดำน้ำประเทศเพื่อนบ้านเข้ามากล้ำกรายที่น่านน้ำในทะเลอ่าวไทย เราก็มีเรือดำน้ำที่สูสีกัน ฝ่ายตรงข้ามเห็นก็ไม่กล้าชิงจู่โจมก่อน เพราะเขากลัวการถูกตอบโต้ขนานใหญ่ หรือคู่ศัตรูที่เขาโจมตี มีกำลังรบสูสีกัน เขาอาจจะไม่กล้าลงทุนรบ เพราะเขาไม่รู้ว่าจะชนะเราหรือเปล่า คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดเรื่องนี้บ่อยๆ ซึ่งนี่ก็เป็นการคิดแบบนักการทหาร” ดุลยภาคกล่าว พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์สู้รบระหว่างทหารไทย-กัมพูชาในศึกเขาพระวิหารช่วง พ.ศ.2551-2553 ซึ่งอาวุธของกองทัพไทยมีศักยภาพสูงกว่ากองทัพกัมพูชา ทำให้กองทัพกัมพูชาต้องยุติการโจมตี เพื่อป้องกันความเสียหายรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น

“แต่ว่ามันต้องดูกาละเทศะด้วยว่าการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในช่วงที่ประเทศมีปัญหาทางเศรษฐกิจมาก เงินรายได้ต่างๆ ก็เป็นเงินภาษีของประชาชน แล้วการจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใสตรวจสอบได้แค่ไหน ตรงนี้เป็นเรื่องที่กองทัพต้องชี้แจง การใช้ภาษีแจงไม่ชัด สื่อสารไม่ดี ประชาชนไม่เข้าใจสารที่กองทัพสื่อ กองทัพก็ต้องรับสภาพเหมือนกัน เรื่องความมั่นคงจึงต้องเอาไว้ก่อน เพราะตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือเศรษฐกิจฝืดเคือง คนตกงาน สุขภาพคนย่ำแย่ อันเป็นผลมาจากโควิด-19”

 

ดุลยภาคกล่าวว่าแผนการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยนั้นวางไว้ว่าจะต้องมีมากกว่า 1 ลำ โดยลำแรกที่ซื้อจากจีนมาแล้วจะเอาเข้ามาประจำการที่บริเวณอ่าวไทย ส่วนอีกลำที่ชะลอการจัดซื้อออกไปน่าจะนำมาประจำการแถบทะเลอันดามัน เพราะกองทัพเรือพม่าก็มีเรือดำน้ำที่ซื้อจากอินเดียมาประจำการบริเวณนั้นแล้วเช่นกัน แต่ความตึงเครียดทางทะเลฝั่งอันดามันยังไม่น่ากังวล เพราะพม่าเองก็มีปัญหาภายใน จึงไม่น่าเกิดเหตุการณ์ตึงเครียดในเร็วๆ นี้

ถ้าไม่ซื้อเรือดำน้ำ แต่ขอซื้อ 'ระบบตรวจจับขีปนาวุธ'

“ผมคิดว่าใครจะยิงขีปนาวุธใส่ไทย ต้องตรวจสอบตรงนี้ก่อน ซึ่งผมว่าไม่ค่อยมี เพราะว่าไทยเราก็ไม่ได้เป็นศัตรูอะไรกับใคร” ดุลยภาคกล่าว พร้อมบอกต่อไปว่าเรามีระบบพันธมิตรร่วมทางยุทธศาสตร์อยู่แล้ว จับกลุ่มกันแล้วให้รัฐมหาอำนาจบางรัฐเข้ามาช่วยเหลือก็ทำได้

“รัฐที่ควรหวาดวิตกกับเรื่องขีปนาวุธน่าจะเป็นรัฐที่มีปัญหาอ่อนไหว เปราะบางด้านการเมืองและความมั่นคงมากกว่าประเทศไทย เช่น เวียดนาม ตอนนี้เวียดนามพยายามดำเนินนโยบายสมดุล กระชับความสัมพันธ์กับจีน แต่ก็โยกไปหาสหรัฐฯ มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีความขัดแย้งกับจีนเรื่องทะเลจีนใต้ พลังชาตินิยมของเวียดนามก็สูง เขารับไม่ได้เหมือนกันกับชาตินิยมจีนและพร้อมจะตอบโต้ ผมว่าเวียดนามอาจจะคิดเรื่องระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศหรือขีปนาวุธจากอุปกรณ์ติดตั้งของจีน ซึ่งขยับเข้าใกล้แนวชายแดนของเวียดนามมากขึ้น อะไเวียดนามมีประสบการณ์ช่วงสงครามเย็นที่จีนเคยทำสงครามสั่งสอนในช่วงที่เวียดนามบุกกัมพูชา นอกจากนี้ เวียดนามมีการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ แต่หลายคนก็ไม่กล้ายืนยันว่าเป็นไปเพื่อพลังงานโดยสันติหรือใช้สำหรับทางการทหารด้วย เพราะเวียดนามเขาก็มีภารกิจโดยเฉพาะของเขา”

ทหารพม่า (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

“อีกรัฐหนึ่งที่น่ากังวลก็น่าจะเป็นพม่า ตอนนี้ทหารพม่าต้องระมัดระวังตัวเพราะว่ามีมหาอำนาจการเมืองโลกบางประเทศที่ไม่สนับสนุนคณะรัฐประหารที่กรุงเนปิดอว์ กองทัพพม่าต้องคิดถึงระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ เพราะว่ากองทัพเรือกับกองทัพอากาศพม่าอ่อนแอ แต่เขาจะเข้มแข็งเรื่องของกองทัพบก เขาต้องพัฒนาพสุธานุภาพ รถถัง ยุทโธปกรณ์ที่จะช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางการรบของทหารบก ต้องมีระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ เช่น การวางโครงข่ายอุโมงค์ใต้ดิน เพื่อทำสงครามกองโจร ซึ่งกองทัพพม่าทำมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ตั้งแต่ย้ายเมืองหลวงไปกรุงเนปิดอว์ ช่วงนั้น จอร์จ ดับเบิลยู บุช ปรธานาธิบดีสหรัฐฯ บอกว่าพม่าเป็นด่านหน้าแห่งทรราช เป็นรัฐเผด็จการทหารที่ต้องเอาลง ต้องส่งกองกำลังเข้าไปปราบ ซ้ำยังมีภาพชะตากรรมของอิรักกับอัฟกานิสถานตามมาหลอกหลอน ทหารพม่าจึงกลัว ทั้งขุดอุโมงค์ ซื้อขีปนาวุธ ซื้อจรวดหลายลำเพื่อยิงจากพื้นสู่อากาศ เผื่อมีเครื่องบินรบผ่านมาก็จะได้สอย ป้องกันตัวได้จากภาคพื้นดิน”

ดุลยภาคกล่าวว่าสำหรับรัฐไทยนั้นยังไม่มีสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงหรือแรงบีบคั้นทางยุทธศาสตร์ที่ทำให้ต้องหยิบยกประเด็นนี้มาพูดจนทำให้สังคมตกใจ แต่การเตรียมการต่อสู้ทางอากาศยาน วางระบบป้องกัน หรือวางพื้นที่ยุทธศาสตร์นั้นขึ้นอยู่กับว่าในอนาคตไทยจะยกพื้นที่ยุทธศาสตร์บางส่วนให้กับมาหาอำนาจหรือเปล่า เพราะไทยมีความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงซึ่งเป็นมรดกที่สหรัฐฯ มาทิ้งไว้ตั้งแต่สมัยสงครามเย็นแล้ว ถึงแม้ตอนนี้ดุลยภาคจะมองว่ายังไม่จำเป็นที่ไทยต้องเร่งให้ความสำคัญกับระบบตรวจจับขีปานาวุธ แต่ก็ไม่ขอยืนยันว่าภัยความมั่นคงต่างๆ จะไม่เกิดขึ้นในอนาคต

'การทูต 2 หน้า' พาประเทศไทยรอดพ้นวิกฤติมหาอำนาจ

ดุลยภาคมองว่ารัฐไทยมีวัฒนธรรมยุทธศาสตร์อย่างหนึ่งเรื่องนโยบายต่างประเทศหรือนโยบายป้องกันประเทศ นั่นคือ การประนีประนอมทางยุทธศาสตร์ ซึ่งสัมพันธ์กับการถ่วงดุลอำนาจหรือการไม่เลือกข้าง

“เลือกก็ได้ แต่ว่ามันมีการเดินเกมใต้ดินที่ทำให้เวลาเลือกผิดแล้วเราไม่ได้รับผลกระทบมาก (หัวเราะ) ไทยเราถ่วงดุลอำนาจเยอะในสมัย ร.4-ร.5 แล้วในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เราก็เลือกข้าง แต่ว่าพอฝ่ายอักษะหรือญี่ปุ่นแพ้ เรามีเสรีไทยทำการทูตใต้ดิน ก็พลิกเกม เราไม่ถูกโจมตีหรือจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามแบบสูงลิ่วอย่างที่ควรจะเป็น มันมีการผ่อนสั้นผ่อนยาวด้วยการใช้การทูตบนดินกับใต้ดิน”

“หรือในช่วงสงครามเย็น ทั้งๆ ที่เราก็เป็นฐานทัพให้สหรัฐฯ เข้าไปโจมตีเพื่อนบ้านในอินโดจีน แต่พอเลิกสงคราม ถอนทหารออกไป เราก็เปลี่ยนเกม ไม่ให้เพื่อนบ้านเข้ามาแก้เผ็ดเรา เราก็มีสูตรแก้เยอะแยะ เช่น เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าในสมัยของชาติชาย ชุณหะวัณ ลืมเรื่องอุดมการณ์ความขัดแย้งทางการทหารไป ผมว่าเรามีความพริ้วไหวทางนโยบายต่างประเทศผสมนโยบายป้องกันประเทศ”

“ในประวัติศาสตร์การทูต เรามีความพริ้วไหว แต่ปัจจุบันผมไม่รู้นะว่ามรดกทางประวัติศาสตร์ตรงนี้ยังขับเคลื่อนอยู่ หรือนักนโยบายต่างประเทศไทยยังมีความพลิ้วไหว กระฉับกระเฉง เหมือนแบบที่ทำให้เราอยู่รอดปลอดภัยในอดีตหรือเปล่า แต่ผมก็ยืนยันได้ว่านโยบายต่างประเทศแบบถ่วงดุลอำนาจกับวัฒนธรรมยุทธศาสตร์ที่เน้นการประนีประนอมกับมหาอำนาจ ผ่อนสั้นผ่อนยาว ไม่เลือกข้างหรือจะเลือกบ้าง แต่ก็มีกิจกรรมการทูตอื่นๆ หนุนนำให้มันเป็น 2 หน้าได้เป็นการทูต 2 หน้าได้ ผมว่าเรามีความฉลาดหลักแหลม”

ถ้าต้องเลือกข้างระหว่าง 'พญามังกร' และ 'พญาอินทรี'

การเดินเกมการทุต 2 หน้านั้นอาจจะไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัวได้ในทุกสถานการณ์ หากสถานการณ์บีบบังคับให้เราต้องเลือกระหว่างจีนหรือสหรัฐฯ จริงๆ ดุลยภาคมองว่าไทยก็จำเป็นต้องเลือก โดยวิเคราะห์ตามเหตุและผล ซึ่งก็แล้วก็ยังถือว่า ‘เลือกยาก’ อยู่ดี

“ถ้าเราเลือกจีน หมายความว่าเราแคร์เรื่องการเชื่อมต่อทางภูมิศาสตร์และผลประโยชน์การค้าการลงทุนและโลจิสติกส์เป็นอันดับ 1 แต่ถ้าเราเลือกสหรัฐฯ หมายความว่าเราแคร์เรื่องพันธมิตรทางการทหารหรือเรื่องยุทธศาสตร์ทางทะเลเป็นตัวตั้ง เพราะฉะนั้นเวลาผมดูประเทศไทยจริงๆ แล้ว มันก็ยังเลือกยากอยู่ เรามีทั้งบกและทะเล เรามีทั้งการค้าและการทหาร”

ส่วนอีกหนึ่งข้อเสนอหากไทยอยู่ในสถานะ ‘ต้องเลือก’ ระหว่างค่ายพญามังกรกับค่ายพญาอินทรี คือ การประกาศให้ประเทศเป็นรัฐกันชนเหมือนในอดีตที่เราเคยทำ แต่ดุลยภาคเชื่อว่าน่าจะมีนวัตกรรมทางยุทธศาสตร์อื่นๆ มาเสริมทางออกนี้มากกว่าข้อเสนอของตน

“การเป็นพันธมิตรทางการทหารกับสหรัฐฯ อาจจะออกมาให้รูปแบบเดิมคือสหรัฐฯ เป็นแกนกลาง เป็นจุดศูนย์กลางของกระดุมล้อม แล้วเราก็เป็นบริวาร แต่ถ้าเราเป็นพันธมิตรทางการทหารกับจีน มันจะออกมาเป็นแบบไหน ตรงนี้จีนก็ยังให้ภาพไม่ชัดเหมือนกัน หรือถ้าเราจะเป็นสร้างระบบพันธมิตรร่วมในระดับอาเซียน กองทัพจะเข้มแข็งพอไหม สายบังคับบัญชาจะเป็นแบบไหนก็พูดยาก แต่รัฐสมาชิกในอาเซียนบางรัฐ เช่น ฟิลิปปินส์ ก็ยังไม่สามารถตัดขาดจากสัมพันธ์พิเศษกับสหรัฐฯ ได้ เขาจะตัดสัมพันธภาพกับสหรัฐฯ มาโฟกัสที่กองทัพร่วมอาเซียนอย่างเดียวก็ไม่ได้อีก แต่ผมว่าพอมีแนวทางอยู่บ้าง”

 

“จริงๆ แล้ว ความร่วมมือ AUKUS โฟกัสอยู่ที่ขอบมหาสมุทรแปซิฟิก อาจจะเริ่มเข้ามาที่ทะเลจีนใต้บ้าง แต่ยังไม่ถึงขั้นที่ไทยจะต้องประหวั่นพรั่นพรึง และ AUKUS มันเป็นพันธมิตรทางทหารของกลุ่มแองโกลแซกซอน (ชนชาติผิวขาวที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ) AUKUS เป็นเรื่องเล็กๆ ท่ามกลางพันธมิตรทางการทหารที่ใหญ่กว่าซึ่งอยู่ในร่มอินโดแปซิฟิกหรือ NATO และถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์เปรียบเทียบตั้งแต่สมัย SEATO หรืออะไรต่างๆ ที่ผมยกมาก็มีให้เห็นอยู่แล้ว ส่วนใหญ่มันไปได้ระยะหนึ่งแล้วก็เลิกกันไป แต่ว่า AUKUS ผมก็ไม่แน่ใจ แต่ถ้าออสเตรเลียเป็นศูนย์กลางของความตึงเครียด หลายๆ อย่างมันก็จะไปอยู่ที่โลกแปซิฟิกใต้ ซึ่งผมว่ารัฐที่น่าจะหวั่นไหวมากที่สุดในอาเซียนคืออินโดนีเซีย ไม่ใช่ประเทศไทย”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท