Skip to main content
sharethis

ครม.อนุมัติร่างพ.ร.ฎ.ควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ....ของกระทรวงดิจิทัลฯ ให้ อำนาจ สพธอ.กำกับธุรกิจแพลตฟอร์มทุกประเภททั้งในและนอกประเทศที่เปิดบริการในไทย ยกเหตุคุ้มครองทั้งผู้ให้บริการและผู้บริโภค สร้างความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจแพลตฟอร์ม 

วานนี้ (25 ต.ค.64) เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลเผยแพร่ข่าวที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการของร่างพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. .... และให้ดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งร่างกฎหมายนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เป็นผู้เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา

ทั้งนี้สาระสำคัญของกฎหมายคือการกำหนดนิยามของ “บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ที่เปิดให้บริการในประเทศไทยโดยครอบคลุมทั้งผู้ประกอบธุรกิจในและนอกประเทศต้องแจ้งการประกอบธุรกิจในประเทศไทยกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และหากผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในร่างพ.ร.ฎ.และข้อกำหนดที่ สพธอ.ประกาศ เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งห้ามประกอบธุรกิจจนกว่าจะปฏิบัติตาม และร่างพ.ร.ฎ.ยังกำหนดนิยามของ “ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล” ด้วย

ในส่วนคำนิยามของ “ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล” ร่างพ.ร.ฎ.ระบุไว้ว่าคือบุคคลธรรมดาที่กระทำการเชิงพาณิชย์หรือวิชาชีพ หรือนิติบุคคลที่เสนอสินค้า บริการหรือทรัพย์สินต่อผู้บริโภคโดยผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการค้า ธุรกิจ งานฝีมือหรือวิชาชีพ ไม่ว่าผู้ประกอบการและผู้บริโภคนั้นจะเป็นสมาชิกหรือมีบัญชีของบริการแพลตฟอร์มหรือไม่ก็ตาม

ทั้งนี้เมื่อดูจากเอกสารประกอบการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.ฎ.นี้ของ สพธอ.เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2564 “ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล” ถือเป็นผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเช่นเดียวกับผู้บริโภค

อีกทั้งในร่างกฎหมายยังกำหนดให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งมีอำนาจในการกำหนดลักษณะหรือประเภทของธุรกิจบริการแพลตฟอร์ม รับแจ้งการประกอบธุรกิจและทำทะเบียน จัดช่องทางรับเรื่องร้องเรียน รวมถึงประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ สพธอ.ควบคุมดูแลมีระบุไว้ในเอกสารประกอบการประชุมรับฟังความคิดเห็นเช่นกันว่า สพธอ.มีอำนาจในการออกหลักเกณฑ์ที่เป็นข้อกำหนดและเงื่อนไขในการให้บริการระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้ปรระกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทน ค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการให้บริการที่ชัดเจนและเป็นธรรม และยังรวมไปถึงการจัดรายการสินค้าและการประเมินความพึงพอใจของผู้บริโภค อีกทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การระงับข้อพิพาทและการตรวจสอบสินค้าด้วย ทั้งนี้สพธอ.อาจยกเว้นหลักเกณฑ์บางอย่างกับธุรกิจที่มีขนาดเล็กที่มีพนักงานหรือลูกจ้างน้อยกว่า 5 คน และมีมูลค่าธุรกรรมบนบริการหรืองบแสดงฐานะการเงินรายปีไม่เกิน 1,800,000 บาท

ทั้งนี้ในข่าวที่ประชุม ครม.ระบุอีกว่าร่างพ.ร.ฎ.ควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบนี้ตราขึ้นเนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ใช้บริการมากขึ้นทั้งบริการขนส่ง เช่น Grab หรือ Robinhood ขายสินค้าหรือบริการ ไปจนถึงด้านการเงินอย่าง truemoney wallet และ rabbit LINE Pay จึงต้องมีการกำกับดูแลให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม และคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net