‘ภาคี Saveบางกลอย-นาวิลิต’ บริจาคอาหารช่วยบางกลอย หลังพบชาวบ้านป่วยจากโรคขาดสารอาหาร  

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาคี Saveบางกลอย พร้อมด้วยกลุ่มนาวิลิต ซึ่งเป็นกลุ่มภาคประชาชน ร่วมกันบริจาคอาหารและผักช่วยเหลือชาวบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี หลังพบว่ามีผู้ป่วยเรื้อรังจากโรคขาดสารอาหาร 34 ราย และโรคอื่นๆ ที่ไม่สามารถระบุได้ 33 ราย รวมเกือบ 70 ราย ผู้ประสานงานภาคีเผยเร่งประสานหน่วยงานอื่นๆ เข้าช่วยเหลือด้านการแพทย์ด้วย  

ภาพเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 64 ภาคี Saveบางกลอย และนาวิลิต ช่วยกันบริจาคอาหารให้ชาวบ้าน

26 ต.ค. 64 ภาคี Save บางกลอย รายงานเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 64 ระบุว่า สืบเนื่องจากวันที่ 18-19 ต.ค. 64 ภาคีเซฟบางลอย ร่วมด้วย “นาวิลิต” กลุ่มประชาชนอิสระ นำเข้าสาร ปลาแห้ง กระเทียม หัวหอม พริก กุนเชียง แฟง และผ้าอนามัย ขึ้นไปบริจาคให้แก่ชาวบ้าน หมู่บ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี ที่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาวิกฤตขาดแคลนอาหาร โดยมี 74 ครัวเรือน จาก 104 ครัวเรือนไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ จนต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยการบริจาคอาหารยาวนานมาหลายเดือน ขณะที่มีรายงานจากพื้นที่ด้วยว่า หลายคนประสบอาการป่วยจากโรคขาดสารอาหาร 

ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ อัญชลี อิสมันยี ผู้ประสานงาน ภาคี Save บางกลอย ถึงสาเหตุที่ทำให้ชาวบางกลอย ต้องพึ่งพิงการบริจาคอาหารจากภายนอกมาเป็นระยะเวลาหลายเดือนนั้น อัญชลี กล่าวว่า ปัญหาความขาดแคลนอาหารของบางกลอยมีที่มาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เนื่องจากตั้งแต่รัฐพาคนจากบางกลอยบนลงตั้งหมู่บ้านที่บางกลอยล่าง รัฐมีการสัญญากับชาวบ้านว่าจะจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านทุกคน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวบ้านเดินทางลงมาที่หมู่บ้านบางกลอยล่างแล้วนั้น รัฐกลับไม่ได้มีการจัดสรรที่ดินให้กับชาวบ้านทุกครัวเรือน ขณะที่บางครัวเรือนที่ได้รับที่ดินนั้น พบว่าที่ดินดังกล่าวมีลักษณะเป็นดินปนหิน ไม่สามารถทำการเกษตร หรือเพาะปลูกได้อย่างใจ แม้จะพืชผลบางชนิดที่สามารถเพาะปลูกได้ แต่ผลผลิตก็ไม่ดี และขายไม่ได้ราคา เนื่องจากดินไม่มีคุณภาพ 

อัญชลี อิสมันยี ผู้ประสานงานภาคี Saveบางกลอย

เมื่อดินไม่สามารถเพาะปลูกได้ ชาวบ้านหลายคนต้องเดินทางเข้าตัวเมืองเพื่อทำงานอาชีพรับจ้าง เพื่อประทังชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเดินทางเข้าไปทำงานในตัวเมืองได้อย่างเคย ไม่มีเงินซื้ออาหาร จนทำให้ปัญหาขาดแคลนอาหารรุนแรงยิ่งขึ้น

ผู้ประสานงานบางกลอย กล่าวต่อว่า แม้ว่าชาวบ้านบางรายจะมีรายได้จากการทำงานทอผ้าที่โรงทอผ้าของหมู่บ้าน แต่รายได้กลับไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต เนื่องจากชาวบ้านได้รายได้เพียง 120 บาทต่อวันเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำซึ่งควรจะได้ที่ 300 บาทต่อวัน ประกอบกับ พ.ร.บ.อุทยานฯ และ พ.ร.บ.ป่าไม้ ในปัจจุบันที่บังคับให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการดำรงชีวิตได้ จึงทำให้ชุมชนบางกลอยล่างเกิดวิกฤติการขาดแคลนอาหารไปถึงความเจ็บป่วยของชาวบ้าน

ผู้ประสานงานของ ภาคี Save บางกลอย กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากอาการป่วยขาดสารอาหารยังไม่ดีขึ้น และยังไร้หน่วยงานรัฐที่เข้าไปตรวจสุขภาพและดูแลชาวบ้านแล้ว ยังมีโรคระบาดใหม่ที่ชาวบ้านป่วยในอาการเดียวกันเกินครึ่งหมู่บ้าน โดยชาวบ้านไม่สามารถบอกได้ว่าตนเองป่วยเป็นอะไร เนื่องจากผู้ที่ป่วยอาการเดียวกันทางโรงพยาบาลก็ไม่กล้ารับรักษาเนื่องจากไม่ทราบว่าโรคนี้คืออะไร โดยอาการคือ มีไข้สูง ปวดหัว ไอ อาเจียน ผื่นแดง เหน็บชา ไปถึงชักกระตุก ช็อก จนหยุดหายใจ

การดำเนินการของทีมภาคี Saveบางกลอยในอนาคตนั้น อัญชลี ระบุว่า เบื้องต้น จะมีการพยายามติดต่อประสานงานกลุ่มแพทย์อาสาต่างๆ ขึ้นไปตรวจให้ชาวบ้านก่อน เพราะสิ่งที่ชาวบ้านต้องการนอกจากอาหารตอนนี้คือการรักษาและการเข้าถึงระบบสาธารณสุข เพราะอยากทราบว่าอาการป่วยของตัวเองเป็นอย่างไรบ้าง หลังจากนี้ภาคีฯ จะร่วมกับกลุ่มนาวิลิต ช่วยกันบริจาคอาหาร   

ผู้ประสานงานภาคีฯ ระบุต่อว่า ตอนนี้ชาวบ้านบางกลอยกำลังช่วยเหลือทางภาคีฯ ในการเก็บข้อมูลบันทึกว่า อาหารที่ได้รับบริจาคจะเพียงพอจนถึงเมื่อไร และครัวเรือนไหนต้องการอะไรบ้าง เพื่อความสะดวกต่อการจัดการเรื่องอาหาร และคำนวณงบประมาณต่อไป

ภาพเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 64 ภาคี Saveบางกลอย และนาวิลิต ช่วยกันบริจาคอาหารให้ชาวบ้าน

อย่างไรก็ตาม ผู้ประสานงานของภาคีฯ ตั้งข้อสังเกตว่า การขอเข้าพื้นที่หมู่บ้านบางกลอยนั้นก็มีความยากลำบากมากกว่าเมื่อก่อน เนื่องจากทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานยังคงมีกฎระเบียบที่เข้มงวดในการอนุญาตให้คนเข้าไปในพื้นที่ แม้ว่าทางอุทยานฯ จะอนุญาตให้คนเข้าไปบริจาคของให้ชาวบ้านได้ แต่การขอเข้าไปทำสื่อหรือข่าว กลับพบว่ามีความยากลำบาก เพราะเจ้าหน้าที่จะไม่ค่อยอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่

“อย่างล่าสุดที่ขึ้นไป ด้วยตัวระเบียบมันก็ยุ่งยากอยู่แล้ว บางทีก็ไม่เข้าใจว่าทำไมการจะเข้าหมู่บ้านหนึ่งถึงยุ่งยากขนาดนี้ ต้องขออนุญาต และก็จะเจอข้ออ้างเรื่องโควิด-19 ต้องโยนไปที่หน่วยงานนั้น หน่วยงานนี้ ล่าสุด อุทยานบอกไม่ให้เข้า เพราะว่าหมู่บ้านปิด แต่ผู้ใหญ่บ้านระบุว่า ยินดีต้อนรับทางภาคีฯ” ผู้ประสานงานภาคีฯ กล่าว พร้อมระบุว่า การดำเนินการอนุญาตตามขั้นตอนราชการมีความล่าช้าเกินไป และมีความยุ่งยากซับซ้อนอีกด้วย  

ขณะที่เมื่อสอบถามถึงเรื่องงบประมาณในการช่วยเหลือชาวบ้านในระยะยาว อัญชลี สะท้อนว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อกังวล เนื่องจากมีประชาชน และกลุ่มภาคประชาสังคม ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือชาวบ้านบางกลอยจากหลายส่วน แต่ในระยะยาวต้องประเมินสถานการณ์อีกที

“จริงๆ เราไม่ได้ชอบกระบวนการรับบริจาคเท่าไร อย่างที่คนทำงานในกระบวนการพัฒนาสังคม ก็จะพบว่ามันเป็นเรื่องที่ฉาบฉวย และไม่ยั่งยืน แต่ว่าปัญหาของพี่น้องบางกลอย เรามีกำลังทำเพียงเท่านี้ เราไม่รู้ว่าปัญหานี้จะยืดเยื้อยาวนาน แต่เป็นไปได้ ก็อยากจะให้ถึงวันที่เราไม่ต้องรับบริจาคเร็วที่สุด และพี่น้องบางกลอยเขาก็รู้สึกว่าตัวเองสูญเสียคุณค่า และศักดิ์ศรีของตัวเองไปเหมือนกัน เขาเจ็บปวด เขารู้สึกว่าการรับบริจาคของจากสังคมตลอดเวลาทำให้ชาวบ้านมองตัวเองเป็นคนพิการ”

“เราเอง (ภาคี Saveบางกลอย) พยายามบอกว่ามันไม่ใช่ความผิดของเขา และมันเป็นเรื่องที่สังคมต้องช่วยกันดูแล ไม่ใช่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มันไม่ใช่ความผิดที่เขามาเจ็บมาป่วย หรือความผิดที่เขาดูแลตัวเองไม่ได้” อัญชลี ทิ้งท้าย 

ทั้งนี้ จากรายงานล่าสุดของภาคี Saveบางกลอย ต่อสถานการณ์ความป่วยไข้ของชาวบ้านบางกลอย เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 64 เปิดเผยว่า ขณะนี้มีชาวบ้านหมู่บ้านบางกลอยป่วยหนักหลายราย จำนวนคนป่วยตอนนี้ คือ 33 คน ประกอบด้วย เด็ก 15 คน ผู้ใหญ่ 18 คน ซึ่งยอดนี้ยังไม่รวมผู้ป่วยจากภาวะขาดสารอาหารที่มีปัญหามายาวนาน โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีอาการไข้สูง มีผื่น บางรายมีไข้สูงและเหน็บชากล้ามเนื้อ ชาวบ้านรายหนึ่งถึงขั้นช็อกหมดสติ หัวใจหยุดเต้น แต่สามารถปั๊มหัวใจกลับมาได้ ชาวบ้านกล่าวว่า พวกเขามีอาการคล้ายโรคมาลาเรียแต่หนักกว่า นอกจากนี้ ยังพบการแพร่ระบาดคล้ายโรคระบาด คือ สามารถติดต่อกันในครอบครัวคนใกล้ชิด แล้วลามออกมาสู่ชุมชน 

"ปัญหาสำคัญตอนนี้คือยังไม่มีหน่วยงานการแพทย์ใดเข้ามาดูแลรับผิดชอบและวินิจฉัยโรคที่ชาวบ้านป่วยรอบนี้ให้ชัดเจนตามสิทธิด้านสาธารณสุขที่ชาวบ้านควรได้รับ จึงทำให้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาโรคระบาดครั้งนี้ได้อย่างตรงจุด" ข้อความบนโพสต์ของภาคี Save บางกลอย

ส่วนปัญหาการป่วยจากภาวะขาดสารอาหารเองก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือแก้ไข โดยมีผู้ป่วยทั้งหมด 34 คน ซึ่งก็ยังไม่มีใครกลับมาแข็งแรง 

จึงเท่ากับว่า ตอนนี้มีจำนวนผู้ป่วยภายในชุมชนบ้านบางกลอยเกือบ 70 คน และที่น่าเป็นห่วงคือมีเด็กทารกที่ป่วยด้วย

และที่น่าเศร้าใจที่สุด คือ ในขณะที่ชาวบ้านเดือดร้อนด้านสุขภาพโรคภัย ไร้สาธารณสุขใดเหลียวแลขนาดนี้ กรมอุทยานฯ กลับยังมีพฤติกรรมเข้าข่ายจำกัดเสรีภาพสื่อไม่ให้เข้าพื้นที่เพื่อทำข่าว ปฏิเสธทีมงานถ่ายทำสารคดีโดยกล่าวอ้างมาตรการป้องกันโควิด19 ในขณะที่อนุญาตให้คุณวราวุธ ศิลปอาชา พร้อมทีมงานเกือบ 20 ชีวิตเข้าพื้นที่ได้ อีกทั้งมีขั้นตอนระเบียบซับซ้อนในการขออนุญาตถ่ายทำนำความจริงในชุมชนออกมาสู่สาธารณะ 

ในฐานะภาคประชาชน สามารถช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยการช่วยกันแชร์ภาพความเดือดร้อนนี้ของชาวบ้านออกไปให้สังคมได้รับรู้และร่วมกันตั้งคำถามถึงการสาธารณสุขไทยในทุกระดับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท