Skip to main content
sharethis

งานนโยบายสโมฯ มช. จี้ประธาน สโมฯ มช. เปิดประชุมองค์การนักศึกษา มช. พร้อมถ่ายทอดสดสู่สาธารณะ คลายปม ‘ขณะวิจิตรสิ้น’ ขีดเส้นตาย 29 ต.ค. นี้ ชี้เพื่อเป็นการไม่แสดงออกถึงการนิ่งนอนใจ

26 ต.ค. 2564 เพจเฟซบุ๊กงานนโยบาย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยแพร่หนังสือถึงประธานสโมสรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สโมฯ มช.) เรื่อง ขอความอนุเคราะห์เปิดประชุมวิสามัญองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อ.มช.) เป็นการด่วน ในกรณีที่นักศึกษาภาควิชาสาขาศิลปะสื่อ และการออกแบบ คณะวิจิตรศิลป์ (Media Art and Design) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถูกผู้บริหารคณะและมหาวิทยาลัยปิดกั้นการจัดแสดงงานศิลปนิพนธ์และการเข้าใช้หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยให้เป็นการประชุมแบบถ่ายทอดสดสู่สาธารณะภายในวันที่ 29 ต.ค. นี้

หนังสือดังกล่าวระบุว่า เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ ‘ขณะวิจิตรสิ้น’ ที่มีการเตะถ่วงกระบวนการอนุมัติการจัดแสดงผลงานของนักศึกษาสาขาศิลปะสื่อ และการออกแบบ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สร้างความเดือดร้อนแก่นักศึกษาจากสาขาดังกล่าวเป็นอย่างมากจนมีการยกระดับการเรียกร้องด้วยวิธีการต่างๆ ตั้งแต่การยื่นเอกสารข้อเรียกร้องแก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย การรวมตัวหน้าห้องประชุมคณะผู้บริหาร การรวมตัวชุมนุมเพื่อรอการตอบรับ การเข้ายึดพื้นที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมเพื่อจัดแสดงผลงาน การจัดการเสวนาเชิงวิชาการเพื่อสร้างความตระหนักในความสำคัญในเสรีภาพของศิลปะ เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเป็นที่จับตามองโดยสื่อและสังคมเป็นอย่างมากถึงความล้าหลัง ไร้ประสิทธิภาพ ไร้วิสัยทัศน์ ไร้ความเป็นธรรมของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“งานนโยบาย สโมฯ มช. ได้ตั้งข้อสังเกตต่อการแสดงออกของ อ.มช. ต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างน่าอัปยศ ทั้งความล่าช้าในการดำเนินงานต่อเหตุการณ์ การเข้าร่วมการประชุมกับคณะผู้บริหารที่ไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะโดยไม่มีผู้ประสบปัญหาโดยตรงเข้าร่วมด้วย การไม่ร่วมลงนามสนับสนุนข้อเรียกร้องของนักศึกษา ตลอดจนการไม่แสดงจุดยืนเคียงข้างนักศึกษาแบบเปิดเผย จึงมีความประสงค์ให้เปิดการประชุมวิสามัญโดยมีการถ่ายทอดสดสู่สาธารณะ เพื่อให้มีการตอบคำถาม ชี้แจง และสร้างมาตรการจัดการปัญหาของนักศึกษาในครั้งต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม” หนังสือระบุ

นอกจากนั้นยังย้ำว่า การประชุมดังกล่าวจะต้องมีนักศึกษาสาขาศิลปะสื่อฯ ผู้ประสบปัญหาโดยตรง นายกสโมสรนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ สมาชิกสภานักศึกษาจากคณะวิจิตรศิลป์ นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัย ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัย และสมาชิกองค์การนักศึกษาคนอื่น ๆ เข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้ กรุณาพิจารณา เตรียมการ และประกาศกำหนดการประชุมที่ไม่ช้าไปกว่าวันศุกร์ที่ 29 ต.ค. 2564 เพื่อเป็นการไม่แสดงออกถึงความนิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว

การส่งหนังสือดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังบ่ายวานนี้ (25 ต.ค. 2564) นักศึกษาสาขาวิชา Media Arts and Design คณะวิจิตรศิลป์และเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) นำรายชื่อ 1,700 รายชื่อยื่นหนังสือถึงสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมาธิการการศึกษา พิจารณาถอดถอนศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรองศาสตราจารย์อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์

นศ.วิจิตรศิลป์ มช. เรียกร้องผู้บริหารคณะสอบสวนกรณีขนย้ายผลงานศิลปะของ นศ.

รองนายก สโมฯ มช. ท้วง อ.มช.ไม่ยืนเคียงข้างนักศึกษา

ก่อนหน้านั้นวานนี้ (25 ต.ค. 2564) นาวินธิติ จารุประทัย รองนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงบทบาทขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อ.มช.) และสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สโมฯ มช.) ที่ไม่ได้ปกป้องสิทธิของนักศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น เช่น กรณี “ขณะวิจิตรสิ้น” กรณีการเรียกร้องให้ลดค่าเทอมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และการยืนเคียงข้างนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง แม้ว่าสมาชิก สโมฯ มช. เข้าไปทวงถามก็กลับบอกว่า ช่วงนี้กำลังติดโปรเจ็กต์ ช่วงนี้กำลังติดงาน และยังไม่ได้แสดงถึงความใส่ใจต่อนักศึกษาด้วยกันที่กำลังประสบปัญหาอีกทั้งยังทราบกันในภายหลังว่ามีการเข้าไปคุยกับผู้บริหารโดยที่ไม่มีนักศึกษาจากสาขาศิลปะสื่อเข้าไปคุยด้วย แต่กลับมาชี้แจงว่านักศึกษาที่ขอใช้สถานที่ส่งเอกสารไม่ครบ

“ปัญหาก็คือมันไม่ใช่ปัญหาที่มหาวิทยาลัยจะต้องตอบคำถามนักศึกษา Media อีกต่อไปแล้ว มันเป็นปัญหาที่มหาวิทยาลัยและพวกคุณ สโมสรนักศึกษา มช. ต้องตอบคำถามนี้ต่อสังคม” นาวินธิติสะท้อน และเขาเห็นว่า อ.มช. ที่ควรจะมาติดตามปัญหาที่เกิดกับนักศึกษาแต่กลับไม่ได้ทำหน้าที่สมกับความไว้วางใจของนักศึกษาด้วยกันและยืนยันหลักการเสรีภาพของศิลปะที่ควรจะเป็นในโลกแห่งประชาธิปไตย ที่พวกเราแสดงออกเต็มที่ว่าพวกเราสมาทานหลักการเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ในกระแสการเมืองที่กำลังเข้มข้นและเต็มไปด้วยเยาวชนที่ออกมาชูสามนิ้วต้านเผด็จการและการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของผู้มีอำนาจกดขี่

รองนายกสโมสรยังวิจารณ์การทำงานขององค์กรนักศึกษาใน มช. ทั้งสองว่าที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาทำนองนี้หลายครั้งแล้วในการไม่เข้ามาช่วยเหลือปัญหาของนักศึกษา เช่น ที่นักศึกษาขอให้ทางมหาวิทยาลัยลดค่าธรรมเนียมซึ่งมีนักศึกษาร่วมลงชื่อถึง 16,000 คน ไม่แสดงออกต่อการประกาศเปิดเรียนออนไลน์หรือออนไซต์ที่ไม่ชัดเจนของมหาวิทยาลัย ตลอดจนการที่มหาวิทยาลัยออกประกาศให้นักศึกษาต้องฉีดวัคซีนทั้งที่ยังไม่มีทางเลือกในการฉีดวัคซีนที่เพียงพอและเหมาะสมต่อร่างกายของนักศึกษาที่แตกต่างกัน ไปจนถึงการไม่ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112จากการแสดงออกทางการเมืองอย่างเพียงพอ

“ตลอดจนการออกแถลงการณ์รำลึกวีรชนคนหกตุลา 2519 แต่กลับอ้างว่าจำใจต้องเข้าร่วมงานรำลึก 5 ปีการเสียชีวิตของบุคคลคนหนึ่งที่คุณก็รู้ว่ามีบทบาทแค่ไหนในการกำจัดชีวิตไม่ต่ำกว่า 40 คนในเวลานั้น จนมาถึงขณะวิจิตรสิ้นครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่อาจทราบได้ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพียงภายในครึ่งปีการศึกษา พวกเราก็ยังไม่เคยแสดงออกให้เห็นว่าเรามีองค์การนักศึกษาไว้เพื่อเหตุผลอันใดกันแน่ นอกจากการอุ้มชูระบบอันเน่าเฟะที่ถูกออบแบบมาเพื่อกดหัวนักศึกษา ลบล้างประวัติศาสตร์ขององค์การนักศึกษาที่เคยมีในช่วงประชาธิปไตยอันเบ่งบานหลังปี 2516 การมีอยู่ของพวกเราดำรงอยู่เพื่อเหตุผลใดกันแน่” นาวินธิติ ตั้งคำถามต่อองค์กรตัวเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net