Skip to main content
sharethis

ประชุมอาเซียนวันแรกไร้เงาตัวแทนเมียนมาร์ หลังกองทัพพม่าบอยคอต ปัดข้อเสนออาเซียน ไม่ส่งตัวแทนที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองเข้าร่วมประชุม นายกกัมพูชาเผยเมียนมาร์เลือกสละสิทธิ์เอง ขณะที่ชาติสมาชิกอื่นหนุนการตัดสินใจของบรูไนไม่เชิญมินอ่องหล่าย

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนประจำปี ครั้งที่ 38 เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 64 (ภาพจาก กระทรวงการต่างประเทศ)

27 ต.ค. 64 สำนักข่าว Myanmar Now รายงานเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 64 ระบุว่า ผู้นำกลุ่มชาติสมาชิกองค์การประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ยกเว้นเมียนมาร์ เข้าร่วมประชุมผู้นำสูงสุดอาเซียน ครั้งที่ 38 ด้วยระบบประชุมทางไกล โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลามเป็นองค์ประธานการประชุม 

ในที่ประชุมมีการพูดคุยถึงกรณีการไม่เข้าร่วมประชุมของตัวแทนจากประเทศเมียนมาร์ และอาเซียนกล่าวอย่างชัดเจนว่า ใครเป็นผู้รับผิดชอบต่อกรณีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ 

ช่วงระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุม ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชา กล่าวหาต่อกรณีกองทัพพม่าบอยคอตไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมอาเซียน หลังจากกองทัพประกาศเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 64 โดยระบุว่า กองทัพจะไม่ยอมรับคำเชิญของอาเซียนที่ให้ส่งตัวแทนที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองเข้าร่วมประชุม  

“วันนี้ อาเซียนไม่ได้ไล่ประเทศเมียนมาร์ออกจากการกรอบความร่วมมือของอาเซียน แต่เมียนมาร์เลือกสละสิทธิ์ของตัวเองโดยการบอยคอต แม้ว่าเราพยายามให้เขาส่งตัวแทนที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองเข้าร่วมประชุม” นายกกัมพูชา กล่าว 

ก่อนหน้านี้ อาเซียนเคยประกาศว่าไม่อนุญาตให้ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า เข้าประชุมผู้นำครั้งนี้ เนื่องจากกองทัพพม่าไม่สามารถปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ ที่เคยตกลงร่วมกับชาติสมาชิกอาเซียนเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 64

ต่อมา แม้ว่าประเทศบรูไน ประธานอาเซียน พยายามส่งคำเชิญถึง ชานเอ (Chan Aye) เลขาธิการถาวรแห่งกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา เป็นผู้แทนพม่าเข้าร่วมประชุมดังกล่าว แต่ข้อเสนอก็ถูกปฏิเสธโดยทางการพม่า 

วันนาหม่องลวิน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ แห่งรัฐบาลเฉพาะกาลของเมียนมาร์ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 64 ร้องเรียนอาเซียนต่อกรณีนี้ว่า การให้กองทัพพม่าส่งตัวแทนที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองเข้าร่วมประชุม ถือเป็นการลดระดับตัวแทนและจำกัดบทบาทของกองทัพพม่าต่อการหารือในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน อีกทั้ง ไม่สอดคล้องกับกฎบัตรอาเซียน และกระบวนการและแบบอย่างของกลุ่มที่มีมาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ รมต.ต่างประเทศพม่า กล่าวเสริมด้วยว่า ตัวแทนเมียนมาร์ถูกปฏิเสธสิทธิที่พึงมีโดยชาติสมาชิกอาเซียนอื่นๆ อีกด้วย 

นอกจากนี้ แถลงการณ์ของเมียนมาร์ยืนยันว่า ผู้แทนประเทศเมียนมาร์ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 38 และ 39 และการประชุมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 ต.ค.นี้ ต้องเป็นระดับประมุขของรัฐ หรือผู้นำรัฐบาล หรือผู้แทนระดับรัฐมนตรีเท่านั้น   

วันนาหม่องลวิน (ขวา) ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี (รมต.) กระทรวงการต่างประเทศเมียนมาร์ จับมือกับนายกษิต ภิรมย์ (ซ้าย) รมต.กระทรวงการต่างประเทศไทย ระหว่างเยือนประเทศไทย หลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 (ภาพจาก กระทรวงการต่างประเทศ)  
 

ในฐานะประธานอาเซียนในปีหน้า (พ.ศ. 2565) ฮุนเซน กล่าวถึงความเป็นไปได้ถึงทางตันในการแก้ปัญหาวิกฤตเมียนมาร์จะดำเนินต่อไป หากกองทัพพม่ายังไม่เปลี่ยนจุดยืน 

“เมื่อถึงเวลาที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า ผมไม่ทราบว่าปัญหาของเมียนมาจะดำเนินต่อไปหรือไม่ ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า อาเซียน ลบ 1 แต่ไม่ใช่เพราะอาเซียน แต่เป็นเพราะเมียนมาร์เขาทำตัวเอง” ฮุนเซน กล่าว 

ขณะที่ผู้นำคนอื่นกล่าวว่า พวกเขาหนุนการตัดสินใจของประเทศบรูไน ที่ส่งสัญญาณถึงเมียนมาร์ เรื่องความล้มเหลวต่อการลดระดับวิกฤตการเมืองเมียนมาร์ นับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 64   

“มาเลเซียสนับสนุนการตัดสินใจของประธานอาเซียนอย่างเต็มที่ต่อประเด็นปัญหาผู้แทนจากประเทศเมียนมาร์” อิสมาลี ซาบรี ยาคอบ นายกฯ มาเลเซีย โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 64  

โมซออู รองรัฐมนตรี (รมต.) กระทรวงการต่างประเทศแห่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Myanmar Now กล่าวว่า ผู้นำชาติอาเซียนเข้าใจว่าวิกฤตการเมืองเมียนมาร์ไม่สามารถแก้ปัญหาจากภายในได้ แต่นี่คือปัญหาระดับภูมิภาค  

“อาเซียนมีประสบการณ์มากมาย เมื่อพูดถึงเมียนมาร์ ชาติสมาชิกบางคนเข้าใจว่า ถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาของเมียนมาร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของอาเซียนได้” โมซออู กล่าว 

โมซออู กล่าวว่า ชาติสมาชิกอาเซียนบางคนเข้ามาเจรจากับรัฐบาล NUG และประเทศเหล่านั้นก็เข้าใจว่า NUG ต้องการเป็นตัวแทนของชาวเมียนมาร์ และแก้ปมปัญหาที่เกิดขึ้น

เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาล NUG ประกาศแต่งตั้ง โบหล่ะติน ในฐานะทูตอาเซียน เพื่อเร่งพบปะและทำงานร่วมกับองค์กรระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ โบหล่ะติน วัย 63 ปี พันธมิตรเก่าแก่ของพรรคสันนิตบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ปัจจบุันเขาอาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐฯ และเคยเป็นสมาชิกรัฐบาลผสมแห่งชาติของสหภาพพม่า ซึ่งเป็นรัฐบาลผลัดถิ่นก่อตั้งโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1990 หรือ พ.ศ. 2533 แต่ไม่เคยได้มีโอกาสเข้ารับตำแหน่งทำงานเลยสักครั้ง เนื่องจากถูกขัดขวางโดยอดีตผู้นำเผด็จการทหารพม่า

ขณะที่เว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศไทย รายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 64 นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงกรณีวิกฤตการเมืองเมียนมาร์ว่า ไทยต้องการเห็นสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมาร์และการกลับคืนสู่กระบวนการประชาธิปไตย และสนับสนุนให้อาเซียนมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมาร์ผ่านการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ โดยไทยเห็นว่า บทบาทของผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเรื่องเมียนมาร์จะสามารถช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและบรรยากาศสำหรับการหารือที่สร้างสรรค์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ได้ นอกจากนี้ ไทยหวังว่าการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมยังคงดำเนินต่อไป และมีการกระจายความช่วยเหลือไปยังประชาชนทุกฝ่าย ซึ่งไทยได้สนับสนุนความช่วยเหลือด้านมนุยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาร์ผ่านทางช่องทางอาเซียน และทวิภาคี นายกรัฐมนตรียังย้ำถึงความสำคัญของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนควรช่วยกันธำรงไว้ ด้วยการช่วยกันให้สมาชิกครอบครัวอาเซียนสามารถอยู่ร่วมกันพร้อมหน้าครบถ้วนดังที่เคยเป็น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

รัฐบาล NUG แสดงความยินดีต่อการตัดสินใจของอาเซียนที่ไม่เชิญ ‘มินอ่องหล่าย’ เข้าร่วมประชุม

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Myanmar Regime Shuns ASEAN Summit, Citing Limited Participation

Myanmar junta gets little sympathy at ‘ASEAN-minus-one’ summit

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net