Skip to main content
sharethis

อันโตนิโอ กูแตร์เรซ เลขาธิการแห่งสหประชาชาติ (UN) ประกาศแต่งตั้ง โนลีน เฮเซอร์ เป็นผู้แทนพิเศษ UN ด้านพม่าคนใหม่ สานต่อภารกิจคลี่คลายวิกฤตการเมืองเมียนมาร์ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้

โนลีน เฮเซอร์ ขณะกล่าวสุนทรพจน์ เนื่องในวันครบรอบ 60 ปี สงครามเกาหลี เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2556 (ภาพจาก Korea.net / Korean Culture and Information Service ถ่ายโดย JEON HAN)

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 64 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อันโตนิโอ กูแตร์เรซ เลขาธิการแห่งสหประชาชาติ (UN) ประกาศแต่งตั้ง โนลีน เฮเซอร์ เป็นผู้แทนพิเศษเลขาธิการยูเอ็นด้านพม่าคนใหม่ 

เฮเซอร์ จะรับช่วงต่อจาก คริสทีเนอ ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ (Christine Schraner Burgener) ผู้แทนพิเศษด้านพม่าคนปัจจุบัน ซึ่งเตรียมจะลงจากตำแหน่งในวันที่ 6 พ.ย.ที่จะถึงนี้ หลังทำงานมานานกว่า 3 ปีครึ่ง โดยบูร์เกเนอร์ ใช้เวลาช่วง 9 เดือนหลังสุดหมดไปกับการจัดการปัญหาวิกฤตการเมืองประเทศพม่า หลังกองทัพทำรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา จนทำให้สถานการณ์ของพม่าตอนนี้ตกอยู่ในห้วงเวลาแห่งความวุ่นวาย และความรุนแรง มีพลเรือนเสียชีวิตแล้วกว่า 1,100 ราย อีกหลายพันคนถูกคุมขังจากการต่อต้านการทำรัฐประหาร และ 250,000 คนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น 

ผู้แทนพิเศษเลขาธิการยูเอ็นด้านพม่าคนใหม่ ชาวสิงคโปร์ จะไม่ได้เพียงแค่ต้องสืบทอดภารกิจหลักเท่านั้น แต่เธอยังต้องสานต่อภารกิจที่บูร์เกเนอร์ทำค้างไว้ และยังไม่ประสบความสำเร็จคือ การพยายามโน้วน้าวกองทัพพม่าให้ยอมเจรจา เพื่อหาทางคลี่คลายวิกฤตการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ 

ในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 64 ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ กล่าวว่า กองทัพพม่ายังไม่พร้อมสำหรับการประนีประนอม เพราะว่าทางกองทัพยังคงไม่ตอบสนองต่อ “ข้อเสนอการเจรจา” ของเธอเลย 

“ฉันมั่นใจคนที่รับตำแหน่งต่อจากฉันจะพยายามอย่างดีที่สุด” ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ กล่าว 

สำหรับเฮเซอร์ ขณะนี้เธออายุ 73 ปี เป็นนักสังคมศาสตร์ และเคยมีประวัติการทำงานในสหประชาชาติมาอย่างโชกโชน เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ทำงานในฐานะเลขาธิการบริหารด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) เมื่อปี พ.ศ. 2550-2557  

ในช่วงที่เป็นหัวหน้า ESCAP เธอมีประสบการณ์ทำงานใกล้ชิดกับองค์การประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน และรัฐบาลเมียนมาร์ ในความพยายามฟื้นฟูประเทศเมียนมาร์ หลังประสบภัยพิบัติธรรมชาติจากพายุไซโคลนนาร์กิส เมื่อปลายปี พ.ศ. 2551 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายแก่พม่าอย่างสาหัส และคร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 130,000 ราย    

เฮเซอร์ เคยเป็นอดีตหัวหน้าที่ปรึกษาพิเศษของนายบัน คีมูน ในกระบวนการสร้างสันติภาพ และการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในประเทศติมอร์เลสเต้ นอกจากนี้ เธอเคยเป็นผู้อำนวยการกองทุนสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาสตรี หรือ UNIFEM เมื่อปี พ.ศ. 2537-2550

เฮเซอร์ เป็นคนที่มีความสัมพันธ์ดีกับอดีตผู้นำรัฐบาลทหารพม่าอย่าง เต็งเส่ง ไม่น้อย โดยหลังจากทหารพม่าปล่อยตัว อองซานซูจี จากการกักบริเวณในบ้านพัก เมื่อปลายปี 2553 เฮเซอร์ ได้ยกระดับการเจรจากับนายพลพม่า เพื่อการพัฒนาประเทศ โดยเธอกล่าวว่า “เราสามารถพาคนมีความสามารถมาทำงานกับพวกคุณได้” อ้างอิงจากหนังสือ “ผ่าพม่า เปิดประวัติศาสตร์ปกปิด” เขียนโดยถันมยิ้ดอู

จากนั้น เฮเซอร์ เชิญ โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวสหรัฐฯ และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เยือนเมียนมาร์ เพื่อเจรจากับตัวแทนภาคประชาสังคม และเจ้าหน้าที่รัฐบาล รวมถึงเต็งเส่ง นายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่กี่เดือนต่อมา เต็งเส่ง จะได้รับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีแห่งประเทศพม่า ขณะที่ตอนนั้นถันมยิ้ดอูมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีเต็งเส่ง 

เฮเซอร์ มีความสัมพันธ์อันดีกับอองซานซูจีอีกด้วย ตอนที่มีข่าวว่าเธอจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทนพิเศษเลขาธิการ UN ด้านพม่าคนใหม่นั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนจากพรรค NLD แสดงความรู้สึกยินดี และหวังว่า เฮเซอร์ จะสามารถผ่าทางตันแก้ไขวิกฤตการเมืองพม่าได้

 

แปลและเรียบเรียงจาก

UN Chief Names Singaporean as Myanmar Special Envoy 

Veteran Diplomat Noeleen Heyzer Appointed UN Special Envoy to Myanmar

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net