“ขจัดการเลือกปฏิบัติ” จากหลักการสู่ความพยายามให้เป็นกฎหมาย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันจากการเลือกปฏิบัติใด อันเป็นการล่วงละเมิดปฏิญญานี้ และจากการยุยงให้มีการเลือกปฏิบัติดังกล่าว” (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน/Universal Declaration of Human Rights –UDHR)

แม้ประเทศไทยจะเป็น1ในประเทศที่ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ปี2491 แต่ในทางปฏิบัติ ยังปรากฏการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นมากมายในประเทศไทย ซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งที่ปรากฏมากในประเทศไทยคือ “การเลือกปฏิบัติต่อบุคคล” ด้วยเหตุแห่งความแตกต่างของบุคคล

ซึ่ง “เหตุแห่งความแตกต่างของบุคคล” นั้นคือ ความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ภาษา เพศ เพศสภาพ เพศวิถี อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ การเป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี (HIV) การป่วยโรคเอดส์ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม อาชีพ การทำงาน การศึกษาอบรม ศาสนา หรือความเชื่อ ความคิดเห็นทางการเมือง เป็นต้น

นับตั้งแต่การทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี2540ขึ้นมา ซึ่งภาคประชาสังคมไทย (รวมถึง คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย-ครป. ซึ่งเป็นองค์กรประสานเครือข่าย30องค์กรประชาชน) ได้ร่วมกันรณรงค์จนรัฐสภายอมผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ได้ในที่สุด ภาคประชาสังคมก็ยังพยายามในการขับเคลื่อนให้เกิดองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ในอดีตตอนช่วงที่ยังใช้รัฐธรรมนูญ2540 องค์กรนี้คือ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา) ที่กลายเป็นบรรทัดฐานที่ต้องมี แม้รัฐธรรมนูญ2540จะสิ้นสุดลงจากการทำรัฐประหาร แต่รัฐธรรมนูญ2550และ2560 ซึ่งเกิดมาโดยคณะรัฐประหารก็ยังคงให้มี กสม. และผู้ตรวจการแผ่นดินไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็โดนปรับเปลี่ยนรายละเอียดในหลายๆข้อจนเสียเจตนารมณ์เดิม

นอกจากนี้ภาคประชาสังคมยังขับเคลื่อนให้เกิดพระราชบัญญัติอีกมากมายเพื่อให้เกิดกลไกต่างๆมาส่งเสริมความเท่าเทียม คุ้มครองสิทธิมนุษยชน ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.)

แม้เราจะมีกลไกมากมาย แต่การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างก็ยังเกิดขึ้นมาตลอดโดนไม่มีท่าทีที่จะลดลงหรือหมดไป เพราะโดยอำนาจที่คณะกรรมการต่างๆดังที่กล่าวถึงไว้ที่มีตามพระราชบัญญัติต่างๆ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (ว่าด้วย กสม.) ยังมีช่องโหว่ มีข้อจำกัดการทำงาน หรือบางกรณีก็อาจเกิดจากการสรรหากรรมการตามกระบวนการกฎหมาย ทำให้ได้บุคคลที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องการเลือกปฏิบัติดีเพียงพอที่จะมาอยู่ในตำแหน่ง มาแล้วก็ทำงานไม่เป็น บางคนสมัครเข้ารับการสรรหาเพื่อสนองความต้องการของผู้มีอำนาจที่ไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือบางทีก็เข้ามาหาประโยชน์หาค่าตอบแทน อย่างที่ผู้เขียนมักพูดอยู่บ่อยๆว่า “เหมือนตั้งองค์กร/คณะกรรมการต่างๆมาเป็นศาลาพักใจของพวกอดีตข้าราชการ ทหาร ตำรวจวัยเกษียณ” หลายกรณีก็มีปัญหาในทางปฏิบัติเพราะการกำหนดผู้แทนกระทรวงต่างๆที่อยู่ในคณะกรรมการตามกฎหมายหลายฉบับ ก็มักมาทำหน้าที่โดยขาดความรู้ ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของกลไกคณะกรรมการที่ตนเข้ามา ไม่ปรับเปลี่ยนทัศนคติเก่าๆ หรือไม่มีความเข้าใจเรื่องการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และเรื่องสิทธิมนุษยชนเลย

ด้วยเหตุนี้ จึงนำมาสู่การที่ภาคประชาสังคม นำโดยคุณสุภัทรา นาคะผิว อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในฐานะปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ร่วมกับนักวิชาการด้านกฎหมาย เครือข่ายภาคประชาชน 10 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เครือข่ายคนพิการ เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ เครือข่ายพนักงานบริการ เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายผู้ใช้ยา เครือข่ายเด็กและเยาวชน เครือข่ายผู้หญิง และเครือข่ายแรงงาน ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. ..... ฉบับประชาชน 12,000 รายชื่อ ร่วมกันเสนอขึ้นมา (ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 133 ระบุให้ใช้รายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า10,000 รายชื่อเข้าชื่อกันเสนอกฎหมายได้) เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆที่ทำให้เกิดการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยช่องโหว่ของกฎหมายต่างๆ และให้การขจัดการเลือกปฏิบัติมีความชัดเจน บังคับใช้ได้เป็นรูปธรรม

นัยยะสำคัญอย่างแรกของกฎหมายฉบับนี้ คือการกำหนดชัดเจนว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะปลอดจากการถูกเลือกปฏิบัติ และการระบุนิยามการปฏิบัติที่เข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติให้มีรายละเอียดชัดเจนเป็นรูปธรรมตามหลักการสิทธิมนุษยชน ไม่เป็นเพียงคำพูดลอยๆอีกต่อไป

ที่สำคัญคือ มีการกำหนดความรับผิดชอบและบทลงโทษหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลที่กระทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ เว้นแต่ได้มี “การดำเนินการที่สมเหตุสมผล” (หมายถึง การดำเนินการ การป้องกัน การเปลี่ยนแปลง การปรับปรุงแก้ไข หรือเยียวยาอย่างเหมาะสม โดยไม่ก่อภาระอันเกินควรหรือเกินสัดส่วน เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติ)

ทั้งมีการกำหนดให้นิติกรรมทางแพ่ง กฎ และคำสั่งทางปกครองที่เข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติจะต้องเป็นโมฆะ นำมาบังคับใช้ไม่ได้

ที่ก้าวหน้าไปกว่ากฎหมายคุ้มครองสิทธิฉบับอื่นๆที่เคยมีมาในเรื่องการตรวจสอบเหตุ ซึ่งที่ผ่านมากฎหมายต่างๆมักกำหนดให้คณะกรรมการตามกฎหมายทำงานเชิงรับ คือการที่ต้องให้ “ผู้เสียหาย” ร้องเรียนเข้ามาที่คณะกรรมการ ซึ่งในหลายกรณีที่ผ่านมา ข้อจำกัดนี้ทำให้หลายๆกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมไม่ได้ถูกดำเนินการพิจารณา ให้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้สู้คดีต่อไป (ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงในการช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งที่มีปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน นำเรื่องเข้าสู่ กสม. แต่สุดท้ายเมื่อครอบครัวของนักเรียนผู้เสียหายไม่พร้อมแบกรับภาระที่ต้องหยุดงานและเดินทางไกลจากต่างจังหวัดเข้ามาให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการชุดที่เกี่ยวข้อง เรื่องร้องเรียนที่ผู้เขียนเป็นคนยกร่างจึงเป็นอันตกไปจากการดำเนินการ) นี่คือการไม่เข้าใจภาวะความเป็นชายขอบ ที่บุคคลกลุ่มเปราะบางมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิ อำนาจ ความยุติธรรมที่ตนพึงควรได้รับ

แต่สำหรับร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติฉบับประชาชนนี้ ได้เปิดช่องให้สามี ภริยา บิดา มารดา ญาติ ผู้ปกครอง ผู้ดูแล ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาลบุคคลที่ได้รับความเสียหาย หน่วยงานรัฐ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนี้ (ร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล)หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง องค์กรภาคประชาสังคม รวมถึง “บุคคลอื่นใด” สามารถเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อ “คณะกรรมการคุ้มครองและช่วยเหลือบุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติซึ่งถูกเลือกปฏิบัติ (คชป.)” แทนตัวผู้เสียหายจากการถูกเลือกปฏิบัติได้

ซึ่ง คชป. เป็นคณะกรรมการที่ปฏิบัติงานเต็มเวลา มีหน้าที่รับเรื่อง ตรวจสอบข้อร้องเรียน และดำเนินการให้เกิดการดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ทำหน้าที่กึ่งตุลาการ

ร่างกฎหมายนี้ยังระบุอีกว่าหากเกิดกรณีที่มีการถอนคำร้อง หรือมีการไกล่เกลี่ย (ตามกฎหมายฉบับนี้)ขึ้นมา ก็ไม่มีผลในการตัดอำนาจของ คชป. ที่จะดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยการเลือกปฏิบัตินั้นต่อไปได้

และ คชป. ยังมีอำนาจในการกำหนดมาตรการชั่วคราวเพื่อบรรเทาทุกข์แก่บุคคลผู้ถูกเลือกปฏิบัติ จนกว่า คชป.จะมีข้อวินิจฉัยได้อีกด้วย

ร่างกฎหมายยังกำหนดให้มี “คณะกรรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล” เป็นคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งที่ทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติงาน ตลอดจนข้อเสนอปรับปรุงกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี 

นอกจากคณะกรรมการ2ชุดดังกล่าวแล้ว อีกกลไกสำคัญตามร่างกฎหมายฉบับนี้ คือการให้มี “สภาส่งเสริมความเท่าเทียมและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล” ที่คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลจะเลือกตัวแทนของประชาชนโดยยึดหลักความสมดุลในเรื่องของภูมิภาค และความแตกต่างหลากหลายของบุคคล (ตามนิยามในร่างกฎหมายดังที่ผู้เขียนได้ลงรายละเอียดไว้ในตอนต้นของบทความนี้) ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลไกสำคัญที่สำคัญในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบุคคลที่เป็นประชากรกลุ่มเปราะบางอันมีแนวโน้มที่จะเผชิญการถูกเลือกปฏิบัติ ด้วยการให้บุคคลที่อยู่ในกลุ่มผู้มีความแตกต่างหลากหลายได้เข้ามาเป็นผู้จัดทำข้อเสนอแนะต่อคณะกรรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ทำการสำรวจ ศึกษา วิจัย รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทั้งยังมีอำนาจในการเรียกประชุมร่วมระหว่าง สภาส่งเสริมฯ กับคณะกรรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และ คณะกรรมการ คชป. อีกด้วย ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงให้ประชากรกลุ่มเปราะบางได้ยกระดับขึ้นมาเป็นพลเมือง (Citizen) ที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมความเท่าเทียมและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ปกป้องสิทธิมนุษยชนของตนเองและผู้อื่น

 และร่างกฎหมายยังกำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เป็นหน่วยงานรองรับการทำงานของทั้งคณะกรรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล, คณะกรรมการ คชป. และ สภาส่งเสริมฯ อีกด้วย ซึ่งหมายถึงว่า มีพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเต็มเวลารองรับการทำงานเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลโดยเฉพาะ

ในมุมมองของผู้เขียน เห็นว่าหากร่างกฎหมายนี้สามารถผ่านกระบวนการออกมาเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ได้สำเร็จ โดยไม่เผชิญการถูกตัดตอนส่วนใดส่วนหนึ่งออกไปจนเสียเจตนารมณ์ของการที่ภาคประชาชนร่วมกันทำร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา นี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ในการทำให้ผู้ที่เป็นประชากรที่มีความแตกต่างหลากหลายอันมีความเปราะบางทางสังคม ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของตนเอง ตามหลักการสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ที่ว่า

“Help them to help themselves” (ช่วยเหลือให้พวกเขาช่วยเหลือตนเองได้ และช่วยเหลือผู้อื่นต่อไปได้) อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในนิยามของการเลือกปฏิบัติ และสามารถขจัดการเลือกปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

จึงสมควรอย่างยิ่งที่ภาคประชาชนเรา จะต้องร่วมกันติดตาม เรียกร้องเพื่อให้ร่างกฎหมายนี้ สามารถออกมาเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ได้สำเร็จ เรียกร้องให้ สส. สว. ทั้งหลายผ่านกฎหมายนี้ โดยไม่มีการตัดทอนส่วนที่เป็นสาระสำคัญที่ภาคประชาชนร่วมกันนำเสนอ ตลอดจนติดตามให้กลไกที่อยู่ในร่างกฎหมายฉบับนี้สามารถทำงานได้สมดังเจตนารมณ์ต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท