Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ เพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม เมื่อ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็เกิดดราม่าในโลกโซเชียลตามมาทันที

ว่ากันว่าประเพณีแบกพระเกี้ยวเป็น “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” ร่วมสมัยกับ “การรื้อฟื้นประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้า” ที่เพิ่งสร้างขึ้นในยุคเผด็จการทหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์นี่เอง

ดังที่เราทราบกัน รัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งหัวหน้าคณะรัฐประหารในราชกิจจานุเบกษา โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเป็นครั้งแรก และกลายเป็นประเพณีเซ็นต์รับรองรัฐประหารครั้งต่อๆ มา

ดังนั้น ประเพณีกษัตริย์เซ็นต์รับรองรัฐประหารโดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จึงเป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างที่ตามมาด้วยการสร้างประวัติศาสตร์อื่นๆ ในสมัยเผด็จการทหาร เช่น การยกเลิก “วันชาติ” ที่แต่เดิมเป็นวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อันเป็นวันระลึกถึงความสำคัญของการเริ่มต้นสร้าง “ชาติของประชาชน” หรือการสร้าง “ชาติที่เป็นประชาธิปไตย” โดยคณะราษฎร เปลี่ยนมาเป็นวันชาติในวันเดียวกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมที่กลายมาเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” ในที่สุด

ว่าโดยภาพรวม ประวัติศาสตร์ประเพณีแบกพระเกี้ยว, การรื้อฟื้นประเพณีหมอบคลาน, การรื้อฟื้น “ศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม” แบบยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาใหม่ และอื่นๆ ที่เน้นการเชิดชู “อุดมการณ์ราชาชาตินิยม” ก็เกิดขึ้นในยุคเผด็จการสฤษดิ์ และมีพัฒนาการเรื่อยมา

ในบรรดาวิวาทะเรื่องประเพณีแบกพระเกี้ยว ข้อโต้แย้งของ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” น่าสนใจมากที่สุด เพราะขณะที่คณะกรรมการ อบจ. มองว่าพระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ของศักดินา และประเพณีดังกล่าวเป็นการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม แต่บวรศักดิ์ยืนยันว่าไม่ขัดกับหลักความเสมอภาคแต่อย่างใด ขอคัดเหตุผลของเขามาให้อ่านบางส่วนดังนี้ (อ่านทั้งหมดได้ใน https://www.matichon.co.th/politics/news_3009415)

“ เธอบอกว่ากิจกรรมนั้น “ค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน” เธออ้างหลักความเสมอภาค (equality) เห็นได้ชัดว่าเธอสับสนระหว่างการแบ่งงานกันทำตามหลัก division of labour กับความเสมอภาค

การที่เธอทำหน้าที่นิสิต และนิสิตอื่น ๆ เลือกเธอไปทำหน้าที่นายกสโมสร เธอและนิสิตที่เลือกเธอก็ยังเป็นนิสิตเสมอกัน ต่างกันตรงที่เธอถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่นายกสโมสรจนกว่าจะพ้นวาระ ถ้าตรรกะเธอถูกเธอก็ต้องบอกว่านิสิตที่เลือกเธอไม่เสมอภาคกับเธอหรอก เพราะเธอเป็นถึงนายกสโมสร นิสิตคนอื่นจะเท่ากับเธอได้อย่างไร? คนอเมริกันเลือกไบเดนเป็นประธานาธิบดี ถ้าเขาใช้ตรรกะเธอ เขาจะเลือกไบเดนไปทำไม ถ้าเห็นว่าไบเดนมีทำเนียบขาวอยู่ฟรี มีการ์ดตั้งเป็นร้อย มีเงินเดือนและผลประโยชน์อื่นอีกมาก

แต่เขาเลือกประธานาธิบดีเขาเพราะเขารู้ว่านั่นคือการแบ่งงานกันทำ ไม่ใช่เลือกเพราะเขาต้องการสนับสนุนความเชื่อที่ว่าคนไม่เท่ากัน การเป็นพระมหากษัตริย์ก็คือการแบ่งหน้าที่และแบ่งงานกัน เหมือนที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในอัคคัญสูตร ว่าพราหมณ์ไม่ได้เกิดจากปากพระพรหมดอก แต่ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คือการแบ่งหน้าที่กันทำ ไม่มีใครเหนือกว่าใคร ลองคิดดูว่าถ้านิสิตจุฬาฯ ทุกคนเป็นนายกสโมสรได้เหมือนเธอ เนติวิทย์ อะไรจะเกิดขึ้น??? ”

คำอธิบายเปรียบเทียบของบวรศักดิ์สะท้อนความ “สับสน” ในระบบความคิดอย่างเหลือเชื่อ เป็นการอ้างเหตุผลเปรียบเทียบแบบตรรกวิบัติแบบโยงมั่ว เพราะการแบ่งงานกันทำบนหลักความเสมอภาคในระบอบเสรีประชาธิปไตยกับในระบบวรรณะที่พูดถึงในไตรปิฎกย่อมแตกต่างราวฟ้ากับเหว ถึงแม้พุทธะปฏิเสธความเชื่อเรื่องพระพรหมสร้างโลกและระบบวรรณะ แล้วบอกว่าระบบวรรณะเป็นเพียงการแบ่งงานกันทำ ก็ไม่สามารถหักล้างข้อเท็จจริงที่ว่าระบบวรรณะถูกกำหนดโดยชาติกำเนิดที่แบ่งชนชั้นสูง-ต่ำชัดเจนทั้งในอดีตและปัจจุบัน

พูดให้ชัดคือ กว่าสองพันปีคำสอนของพุทธะไม่เคยเปลี่ยนแปลงระบบวรรณะในอินเดียได้จริง แม้ในยุคสมัยใหม่ ดร.อัมเบดการ์จะอ้างคำสอนพุทธะสนับสนุนข้อเสนอยกเลิกระบบวรรณะ แต่ก็ไม่สำเร็จ

ในสังคมอินเดียสมัยใหม่ หากคนวรรณะต่ำจะมีสิทธิทางการเมืองและอื่นๆ ได้ ก็เพราะรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยรับรองสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองเอาไว้ ความเชื่อทางศาสนาไม่อาจช่วยอะไรได้มากนัก นอกจากปลอบประโลมจิตใจของบรรดาผู้ถูกกดขี่ ขณะที่ฝ่ายชนชั้นผู้กดขี่กลับยิ่งอาศัยความเชื่อทางศาสนาสนับสนุนสถานะและอำนาจของพวกเขาให้วิเศษสูงส่งกว่าชนชั้นล่างเสมอมา

ประวัติศาสตร์สังคมไทยก็เช่นกัน ศาสนาพุทธ พราหมณ์ ผีต่างสถาปนาศักดินาเจ้า ศักดินาพระ และพวกขุนนางให้วิเศษสูงส่งกว่าบรรดาไพร่ ทาสเสมอมา จึงเป็นเรื่องประหลาดที่พลเมืองไทยในบริบทโลกสมัยใหม่จะยังคงถูกตรึงอยู่กับประวัติศาสตร์บุญคุณของศักดินา

หลักการแบ่งงานกันทำตามบรรทัดฐานของสังคมสมัยใหม่ เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดี การเลือกตั้งนายกสโมสรตามที่บวรศักดิ์ยกตัวอย่าง ย่อมแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับบรรทัดฐานของระบบวรรณะและระบบศักดินา เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีและนายกสโมสรยึดหลัก “ความเสมอภาค” (equality) ตามระบอบเสรีประชาธิปไตยซึ่งยึดแนวคิดปรัชญาเสรีนิยม (liberalism) ที่ถือว่าเราทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน ดังนั้น ทุกคนที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์เดียวกันย่อมมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีหรือนายกสโมสรได้เสมอภาคกัน เมื่อใครได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนั้นแล้ว เขาย่อมมีอำนาจหน้าที่และสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย/กฎระเบียบกำหนดไว้

แต่ประธานาธิบดีหรือนายกสโมสรจะมีสถานะ, อำนาจ และอภิสิทธิ์ใดๆ ขัดต่อหลักสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานต่างๆ ของเราทุกคนไม่ได้ เช่น เสรีภาพทางการเมือง, เสรีภาพแห่งมโนธรรม, เสรีภาพทางศาสนา, เสรีภาพทางความคิดเห็น, เสรีภาพในการพูด, การแสดงออก, การชุมนุม, เสรีภาพจากการถูกจับกุมคุมขังโดยพลการ, สิทธิที่จะได้รับการประกันตัว หรือได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคตามกฎหมายบนหลักนิติรัฐ เป็นต้น

เมื่อบวรศักดิ์นำกรณีประธานาธิบดีมาเปรียบเทียบกับกษัตริย์ว่าเป็นการ “แบ่งงานกันทำ” เหมือนกัน ปัญหาที่บวรศักดิ์จงใจละเว้นไม่พูดถึง ก็คือ ปัญหาที่ว่าตามความเป็นจริงในระบบการเมืองการปกครองแบบไทย สถานะ, อำนาจ และอภิสิทธิ์ต่างๆ ของสถาบันกษัตริย์ถูกจำกัดอยู่ภายใต้หลักสิทธิ เสรีภาพที่เท่าเทียมตามระบอบเสรีประชาธิปไตยหรือไม่ หรือจริงไหมว่าสถานะ, อำนาจ และอภิสิทธิ์ต่างๆ ของสถาบันกษัตริย์ไม่ขัดหลักเสรีภาพทางการเมือง, เสรีภาพแห่งมโนธรรม, เสรีภาพทางศาสนา, เสรีภาพทางความคิดเห็น, เสรีภาพในการพูด, การแสดงออก, การชุมนุม, เสรีภาพจากการถูกจับกุมคุมขังโดยพลการ, การได้รับสิทธิประกันตัวหรือได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคตามกฎหมายบนหลักนิติรัฐตามระบอบเสรีประชาธิปไตย นี่คือปัญหาที่บวรศักดิ์จงใจละเว้นที่จะพูดตรงไปตรงมา

แนวคิดปรัชญาเสรีนิยมที่จะช่วยให้เราเข้าใจข้อถกเถียงเรื่องนี้ชัดเจนขึ้น คือแนวคิดเรื่อง “หลักความยุติธรรม” ทางสังคมและการเมืองในระบอบเสรีประชาธิปไตยของจอห์น รอลส์ ที่เสนอว่า หลักความยุติธรรมพื้นฐานในสังคมเสรีประชาธิปไตยมี 2 ประการ คือ

1. หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม (the principle of equal liberty) ถือว่าพลเมืองทุกคนต้องมีสิทธิในเสรีภาพพื้นฐานต่างๆ เท่าเทียมกัน (ซึ่งได้แก่เสรีภาพทางการเมืองและอื่นๆ ดังที่ว่ามาแล้ว)

2. หลักความแตกต่าง (the difference principle) คือหลักการที่กำหนดว่า ความแตกต่างด้านต่างๆ ยอมให้มีได้ภายใต้เงื่อนไขที่คาดหวังได้อย่างสมเหตุสมผลว่าจะเกิดประโยชน์แก่ทุกคน เช่น ต้องมีระบบที่เปิดกว้างและเป็นธรรมกับทุกคนในการเข้าสู่ตำแหน่งสาธารณะต่างๆ และความก้าวหน้าในหน้าที่การงานต่างๆ โดยไม่มีใครมีอภิสิทธิ์โดยชาติตระกูล, เชื้อชาติ, เพศ, ศาสนาเป็นต้น (อย่างที่มีกันได้ปกติในระบบวรรณะ, ระบบศักดินาเป็นต้น) และหากรัฐจะให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่คนกลุ่มใดแตกต่างจากคนอื่นๆ ต้องให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ แก่กลุ่มคนที่ตกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบมากที่สุดในสังคม เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้น มีโอกาสที่ดีขึ้น สามารถใช้เสรีภาพตามข้อ 1 ได้เท่าเทียมกับคนอื่นๆ หรือมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับคนอื่นๆ มากขึ้น

ดังนั้น หลักความยุติธรรมในระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ถือว่าสมาชิกทุกคนของสังคมคือ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” (free and equal citizens) ต้องไม่มีตำแหน่งประมุขของรัฐ, ผู้นำรัฐบาล หรือตำแหน่งใดๆ ที่มีสถานะ อำนาจ และอภิสิทธิ์ต่างๆ ที่ขัดหลักเสรีภาพที่เท่าเทียม และการปฏิบัติที่แตกต่างจะทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นการสนับสนุนประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และยกระดับคุณภาพชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มคนที่เสียเปรียบให้เท่าเทียมกัมกับคนอื่นๆ เท่านั้น ไม่ใช่ทุ่มเทงบประมาณมหาศาลและให้อภิสิทธิ์ต่างๆ ทางกฎหมายและผลประโยชน์อื่นๆ เพื่อคนส่วนน้อยที่มั่งคั่งและมีอำนาจล้นฟ้าอยู่แล้ว

ในทางปฏิบัติ เพื่อจะทำให้สังคมมีความยุติธรรมได้จริง จำเป็นต้องกำหนดระบบโครงสร้าง ตั้งแต่การสร้างรัฐธรรมนูญให้เป็นเสรีประชาธิปไตย กำหนดอำนาจ บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของสถาบันต่างๆ ทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม และอื่นๆ ให้สอดคล้องกับหลักเสรีภาพที่เท่าเทียมและหลักความแตกต่างดังกล่าวนั้นด้วย

ข้อเสนอหลากหลายในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยุติการสืบทอดอำนาจเผด็จการ, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่, ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและหลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบ, ปฏิรูปกองทัพ, ศาล, ปฏิรูปเศรษฐกิจสู่รัฐสวัสดิการ, ปฏิรูปการศึกษาให้ตอบสนองต่ออุมการณ์ประชาธิปไตยมากขึ้น, แยกศาสนาจากรัฐ, การเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมทางเพศ และอื่นๆ ล้วนแต่มีนัยยะสำคัญต่อการสร้างสัมคมที่ยุติธรรมบนหลักเสรีภาพที่เท่าเทียม และการสร้างสวัสดิการเพื่อประโยชน์สุขของพลเมืองดังกล่าวแล้ว

ข้อเสนอยกเลิกประเพณีแบกพระเกี้ยว ก็ย่อมสอดคล้องกับหลักความเสมอภาคแห่งสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในระบอบเสรีประชาธิปไตยอย่างชัดเจน เพราะในระบอบเสรีประชาธิปไตย นอกจากในระดับโครงสร้างต้องไม่มีอำนาจใดๆ ขัดหลักเสรีภาพที่เท่าเทียมแล้ว ในทางวัฒนธรรมก็ต้องไม่เน้นวัฒนธรรมศักดินานิยม หรือการเชิดชูบูชาสัญลักษณ์อื่นใดที่ขัดหลักความเสมอภาคด้วย

ไม่เช่นนั้นในสังคมเสรีจะเกิดกระแสคิดบัญชี “อยุติธรรมทางเชื้อชาติ” โดยสมาชิกสภานครนิวยอร์กเรียกร้องให้ย้ายรูปปั้นโทมัส เจฟเฟอร์สัน อดีตประธานาธิบดีผู้ร่าง “คำประกาศอิสรภาพอเมริกา” ออกจากศาลากลาง เพราะเหตุที่เขามีประวัติครอบครองทาสชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันมากกว่า 600 รายดอกหรือ และกระแสทำนองเดียวกันนี้ยังลามมาถึงนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ เรียกร้องให้เคลื่อนย้ายและยกเลิกสัญลักษณ์ที่ขัดกับหลักเสรีภาพและความเสมอภาค (ดู https://today.line.me/th/v2/article/LNGpjV?fbclid=IwAR0-hezgWrKWddvCQcoykEUEvY3TMet-TCxldfS4XZU4S_MIwuWbbFJYvYs)

แน่นอนว่าใน “ทางปรัชญา” นิยามและข้อถกเถียงเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคมีหลากหลายและซับซ้อน แต่การยืนยันเสรีภาพและความเสมอภาคโดยทั่วไป ย่อมหมายถึง การปฏิเสธเผด็จการอำนาจนิยมทุกรูปแบบ ไม่ว่าเผด็จการแบบระบบศักดินา สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ศาสนจักร รัฐศาสนา เผด็จการทหาร และเผด็จการรูปแบบอื่นๆ ที่ขัดกับหลักเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก การชุมนุม และอื่นๆ

ถามว่านิสิตที่ลงมติยกเลิกประเพณีแบกพระเกี้ยวมี "วาระทางการเมือง" ไหม คำตอบคือ "มี" แต่เป็นวาระทางการเมืองที่เป็นการต่อสู้เพื่อสร้างวัฒนธรรมยึดมั่นและเคารพหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคและประชาธิปไตยในประชาคมมหาวิทยาลัย ควบคู่กับการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสร้างประชาธิปไตยในระดับชาติให้เป็นจริง

ขณะเดียวกัน ข้อโต้แย้งของบวรศักดิ์ก็เห็นได้ชัดว่ามี "วาระทางการเมือง" เช่นกัน แต่เป็นวาระทางการเมืองที่ตรงข้ามกับนิสิตที่ออกแถลงการณ์ดังกล่าว

 

ที่มาภาพ: https://pantip.com/topic/30110389

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net