Skip to main content
sharethis

ประชุมใหญ่ ‘เพื่อไทย’ ที่ขอนแก่นคึกคัก ‘หมอเลี๊ยบ’ นั่งเก้าอี้ ผอ.พรรคเพื่อไทยคนใหม่ สานเจตนารมณ์ไทยรักไทย-พลังประชาชน สร้างฝันพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยเทคโนโลยี ด้านจิราพร สานต่อนโยบาย ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ชี้รัฐต้องหนุนสร้างระบบนิเวศน์ที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ไม่กดทับความคิด ปชช. 

 

28 ต.ค. 64 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานวันนี้ (28 ต.ค.) พรรคเพื่อไทย จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดขอนแก่น ในหัวข้อ “พรุ่งนี้เพื่อไทย : เพื่อชีวิตใหม่ของประชาชน” ซึ่งจะเป็นการปลุกความหวัง คืนความฝันให้พี่น้องประชาชนอีกครั้ง พร้อมชวนนักการเมืองวัยเก๋า และทีมคนรุ่นใหม่ ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ด้านการเมืองในมิติต่างๆ 

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย

เวลาประมาณ 9.30 น. นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ หมอเลี๊ยบ ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความฝันตลอดระยะเวลา 20 ปีบนเส้นทางการเมืองว่า แต่ละคนมีความฝัน ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกัน และอาจมีใน 2 แบบ หนึ่งคือฝันเพื่ออนาคตตัวเอง และสองคือฝันเพื่ออนาคตงดงามของเพื่อนมนุษย์ ซึ่งคนที่ฝันเพื่ออนาคตเพื่อนมนุษย์ที่รู้จักมาในชีวิตมี 2 คน คนแรก คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ที่มีความฝันจะสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คนไทย ทุกวันนี้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท เปลี่ยนชีวิตคนไทยไปกว่า 40 ล้านคน และส่งต่อความฝันให้คนทั้งโลกนับพันล้านคน และคนที่สอง ดร.ทักษิณ ชินวัตร ฝันอยากหยิบยื่นโอกาสชีวิตที่ดีให้คนอื่น เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจึงไม่ใช่แค่ตาต้องดูดาว แต่เท้าต้องติดดิน กินคั่วแมงกุดจี่ และ 2 คนนี้ แม้ฝันจะต่างกันแต่สิ่งที่เหมือนกันคือ การฝันโดยใช้หัวใจ การใช้หัวใจสร้างความฝันย่อมเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนส่วนใหญ่ไปตลอดกาล  
.
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่าน่าเสียดายที่ความฝันที่เป็นจริงเมื่อ 20 ปีที่แล้วต้องสะดุดหยุดลง เพราะรัฐประหารปี 2549 และ 7 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็จมดิ่งสู่หลุมดำแห่งทุกข์ซ้ำเติมชีวิตคนไทย  แต่ด้วยเพราะพรรคเพื่อไทยสืบทอดเจตนารมณ์ของพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน หนึ่งปีที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยจึงปรับเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยความเชื่อว่า ถ้าพรรคไม่สามารถเปลี่ยนตัวเองได้ก็ย่อมไม่สามารถไปซ่อมหรือสร้างเพื่อการเปลี่ยนแปลงพัฒนาประเทศไทย จึงรวมพลังปัญญาของทุกคนที่มีอุดมการณ์เพื่อประชาชน ปรับเปลี่ยนเพื่อไทยให้กลับมาสร้างฝันที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง
.
นพ.สุรพงษ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ยังมีวิกฤตรออยู่ข้างหน้า แต่ทรัพยากรสำคัญที่สุดที่จะช่วยกันฝ่าวิกฤตคือ ‘คน’ ถ้าคนไทยมีปัญญา มีสุขภาพดี มีรายได้อย่างเท่าเทียม ประเทศจะก้าวข้ามวิกฤตได้ ดังนั้น ประชาชนควรได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะและปัญญาตลอดชีวิต ต้องกล้าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ กล้าทำไม่กลัวล้มเหลว เพราะมีหลักประกันรายได้พื้นฐาน มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ล้มป่วยไม่ตาย เพราะโรคที่ป้องกันและควบคุมได้ 
.
“ความฝันตลอด 20 ปี คือการได้ทำโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค ได้เริ่มต้นเดินหน้าสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง แต่เมื่อ 20 ปีผ่านไป เทคโนโลยีการแพทย์และสุขภาพได้เปลี่ยนแปลง เราสามารถนำเทคโนโลยีมาพัฒนาคุณภาพการบริการประชาชนได้ดีขึ้นอีกและจากบทเรียนโควิดทำให้เราเห็นจุดอ่อนของระบบบริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร จึงมีความฝันที่จะพัฒนาระบบสาธารณสุขขึ้นไปอีกระดับ” ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทยกล่าว 
.
นพ.สุรพงษ์ ชี้ว่า จะต้องเริ่มต้นที่การกระจายอำนาจและการกระจายทรัพยากรทางสาธารณสุข ที่ยังไปไม่ได้ไกลอย่างที่ควรจะเป็น โดยนำ ‘การแพทย์ทางไกลหรือเทเลเมดิซีน’ มาใช้ในการให้คำปรึกษาเพื่อดูแลผู้ป่วยด้วยโรคพื้นฐานที่ไม่ซับซ้อนที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยไม่ต้องเดินทางไกลมาโรงพยาบาลอำเภอหรือโรงพยาบาลจังหวัด ใช้ระบบข้อมูลอัจฉริยะเพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินทุกคนใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งได้โดยไม่ต้องเรียกหากระดาษ ส่วนในระดับประเทศต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ เพื่อสร้างเครือข่ายระบบบริการสาธารณสุขครบวงจร เริ่มจากโรงพยาบาลตำบลใกล้บ้านต่อเชื่อมกับโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ที่มีศักยภาพเท่าโรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ ภายในรัศมีไม่เกิน 100 กิโลเมตร โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเข้ามารักษาในกรุงเทพมหานครอีก
.
นพ.สุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีปัญหาแตกต่างออกไป เมื่อเกิดการระบาดของโควิดกลับพบว่าผู้ป่วยโควิดเข้าไม่ถึงการบริการตรวจรักษาพยาบาลเบื้องต้น  เพราะไม่มีระบบการรักษาพยาบาลแบบปฐมภูมิที่สมบูรณ์ ถ้าเปรียบเทียบกับต่างจังหวัด 50 เขตของกรุงเทพมหานครคือ 50 อำเภอ และทุกเขตต้องมีโรงพยาบาลขนาด 100 เตียงเช่นเดียวกับในต่างจังหวัด ดังนั้น จึงควรเริ่มต้นกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารโรงพยาบาลในรูปแบบองค์การมหาชน สำหรับการป้องกันและควบคุมโรค โดยเฉพาะโควิด นอกจากการเร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังต้องเร่งพัฒนาระบบการตรวจคัดกรองด้วยเทคโนโลยีล้ำยุคเช่น DNA Nudge และระบบ AI ปัญญาประดิษฐ์ต่อยอดจากฐานข้อมูลดิจิทัล เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของนักระบาดวิทยา และ อสม.
.
“ความฝันทั้งหมดนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าเราไม่มีรัฐบาลที่มาจากประชาชน รัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ดังนั้น เราทุกคนต้องช่วยกันผลักดันความฝันของเราที่เคยร่วมฝันกันไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้วอีกครั้ง ถามตัวเองว่า ยังมีความฝันอะไรที่เรายังไม่ได้ทำและมาเปลี่ยนความฝันให้เป็นความจริงเพื่อประชาชน” ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย กล่าวสรุป 

ซอฟต์พาวเวอร์ทางรอดของประเทศ 

“ไทยต้องเป็นมหาอำนาจสร้างคุณค่า” จิราพร ชี้ซอฟต์พาวเวอร์คือทางรอดประเทศ ต้องสร้างระบบนิเวศน์เอื้อให้เรียนรู้ คิดนอกกรอบ ไม่กดทับความคิดประชาชน

นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย

เมื่อเวลา 11.00 น. นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย กล่าวบนเวทีหลักการเสวนาว่า ประเทศเกาหลีใต้ตั้งใจเลือกใช้แนวคิดซอฟต์พาวเวอร์ หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรม ยกระดับเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ของประเทศจนสำเร็จ ซึ่งน่าเสียดายที่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว รัฐบาลพรรคไทยรักไทยเคยสร้างซอฟต์พาวเวอร์มาก่อนเกาหลีใต้ ผ่านโครงการ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ใช้อาหารไทยเชื่อมให้คนทั้งโลกด้วยแนวคิด ‘สอนให้ฝรั่งทานข้าว คนไทยอิ่มทั้งชาติ’ ทำให้เกิดธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศจำนวนมาก การส่งออกวัตถุดิบอาหารไทยเติบโต ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น 200% นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) ซึ่งมีทั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งแรกของประเทศไทย (Museum Siam) อุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เป็นต้น 

นางสาวจิราพร กล่าวอีกว่า ในอีก 80 ปีข้างหน้า ประชากรทั่วโลกจะหายไปเกือบครึ่ง การบริโภค การผลิตสินค้าและบริการจะลดลงด้วย ประเทศไทยควรเตรียมการรับมือด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาผลิตสินค้ามีคุณภาพ สร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ เพื่อให้ประเทศไทยไม่ต้องมุ่งเน้นเป็นมหาอำนาจในการผลิต แต่ต้องเป็นมหาอำนาจในการสร้างคุณค่า ด้วยการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยซึ่งมีคุณค่าซ่อนอยู่มากมาย เช่น เชฟร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ เป็นคนอีสาน 90% ปลาร้าส่งออกไปยังประเทศในยุโรป สร้างมูลค่านับร้อยล้านบาท สินค้า และบริการต่างๆ ของคนไทย มีศักยภาพไปไกลระดับโลกได้ และไปมาแล้ว แต่ส่วนใหญ่ไปด้วยต้นทุนและศักยภาพของตัวเอง ไม่ได้รับการวางนโยบายเพื่อสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลไทย

นางสาวจิราพร กล่าวว่า ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยที่อยากเห็น ต้องมีรากของความเป็นไทย แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความเป็นสากลของโลกผสมอยู่” (Originality & Universality) การจะทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์จนนำไปสู่การเกิดซอฟต์พาวเวอร์ที่มีพลัง ต้องให้บทบาทเอกชนเป็นตัวนำ โดยที่รัฐมีหน้าที่สนับสนุนและคอยอำนวยความสะดวก ซึ่งหัวใจสำคัญคือ การสร้างระบบนิเวศน์ประเทศที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ มีองค์ความรู้ใหม่ๆ จนเกิดความคิดสร้างสรรค์ และมีพื้นที่ให้นำความคิดสร้างสรรค์นั้นมาทำได้จริง ดังนั้น ประเทศไทยต้องกล้าลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์พร้อมกับการปฏิรูประบบการเรียนรู้ของประเทศครั้งใหญ่ด้วย 

“เศรษฐกิจสร้างสรรค์จะไม่มีทางเกิดขึ้น ถ้ายังมีผู้นำที่มีแต่สร้างความขัดแย้ง และมีความคิดล้าหลังแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นางสาวจิราพร กล่าว

ทั้งนี้ ในเวลา 10.30 น. มีการแสดงดนตรีหมอลำอีสาน ชุด “อีสานฟิวชั่น” พร้อมด้วยการเดินแฟชั่นโชว์ ‘ครามสกล’ โดย ส.ส. และสมาชิกพรรคเพื่อไทย เพื่อนำเสนอมุมมองใหม่ของความเป็นอีสาน พลังแห่งภูมิปัญญา วิทยาศาสตร์ และซอฟต์พาวเวอร์ พร้อมสานต่อนโยบายโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)

ภาพบรรยากาศกิจกรรมเดินแฟชั่นโชว์ "ครามสกล" โดย ส.ส.พรรคเพื่อไทย
 

ทั้งนี้ สำหรับโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP เป็นโครงการในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลไทยรักไทย ที่นำโดย ดร.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อให้ชาวบ้านผลิตสินค้าที่มีอัตลักษณ์ จากทรัพยากรและวัฒนธรรมให้เป็นของดีประจำท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้แก่คนในชุมชน ขณะที่ผ้าที่นำมาใช้ตัดเป็นเครื่องแต่งกายสำหรับเดินแฟชั่นโชว์ คือ ผ้าครามจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นสินค้าวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านที่สร้างชื่อเสียงให้กับ จ.สกลฯ เป็นอย่างมาก  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net