สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-28 ต.ค. 2564

เห็นชอบในหลักการให้มีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้สูงขึ้นจากเดิม

28 ต.ค. 2564 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนลูกจ้างบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด จำนวน 50 คน เดินทางไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อติดตามผลการประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในการช่วยเหลือลูกจ้าง บจก.บริลเลียนท์ฯ กรณีขอให้แก้ไขระเบียบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ให้ขยายอัตราการจ่ายเงินกองทุน ว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ต้อนรับกลุ่มตัวแทนลูกจ้าง และชี้แจงทำความเข้าใจผลการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ซึ่งตนในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ได้จัดประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 14/2564

“คณะกรรมการได้พิจารณาถึงหลักการและเหตุผล จึงมีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้สูงขึ้นจากเดิม โดยมอบอนุกรรมการฯ จัดประชุมศึกษาแนวทางและอัตราการปรับเพิ่มที่เหมาะสม และวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 พร้อมนำเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาในการประชุม ครั้งที่ 15/2564 ภายในเดือนเดียวกัน ทั้งนี้ ได้พบกลุ่มตัวแทนลูกจ้างเพื่อชี้แจงมติคณะกรรมการให้รับทราบโดยจะเร่งดำเนินการแก้ไขระเบียบดังกล่าวและนำเสนอเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด ซึ่งกลุ่มตัวแทนลูกจ้างมีความพึงพอใจ โดย น.ส.ธนพร วิจันทร์ แกนนำได้กล่าวขอบคุณรัฐบาล กระทรวงแรงงาน คณะกรรมการกองทุนฯ ซึ่งเป็นผู้แทนจากสภาองค์การนายจ้าง สภาองค์การลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้ทำงานช่วยเหลือลูกจ้าง บจก.บริลเลียนท์ฯ อย่างเต็มที่ และปรบมือขอบคุณและให้กำลังใจการทำงานในครั้งนี้” นายบุญชอบ กล่าว

ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ให้ความช่วยเหลือกรณีลูกจ้างบริษัท บริลเลียนท์ฯ ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 1,388 คน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 เนื่องจากนายจ้างปิดกิจการและไม่ได้รับเงินชดเชย ซึ่งผลการดำเนินการให้ความช่วยเหลือนั้น ได้จ่ายเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างให้แก่ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับจำนวน 1,231 คน เป็นเงินจำนวน 22,321,856 บาท และจ่ายเงินประกันการว่างงานแก่ลูกจ้าง เป็นเงินจำนวน 65,540,768 บาท หากมีการปรับแก้ระเบียบตามมติคณะกรรมการฯ ในวันนี้ นอกจากจะส่งผลให้ลูกจ้างของบริษัท บริลเลียนท์ฯ ได้รับเงินสงเคราะห์เพิ่มขึ้นจากเดิมแล้ว ลูกจ้างของบริษัทอื่นที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยและเงินอื่นตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานจะได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะได้เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการฯ และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ดูแล ช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนในทุกกลุ่มอาชีพโดยเร่งด่วนต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 28/10/2564

ผู้ว่าการการนิคมฯ สั่งตั้งชุดตรวจสอบเหตุถังเก็บสารแนฟทาระเบิดที่ระยอง

จากเหตุการณ์ถังเก็บแนฟทา (วัตถุดิบ) TK 401C ความจุ 90,000 ลบ.ม. ซึ่งเป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรม บริษัท มาบตาพุดแทงค์ เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งตั้งอยู่บนถนนไอ -8 ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง เกิดการระเบิดเมื่อเวลา 15.30 น.วานนี้ (26 ต.ค.) จนทำให้จนมีคนงานได้รับบาดเจ็บ 3 ราย และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติมาบตาพุด เป็นที่เรียบร้อย

โดยก่อนเกิดเหตุทราบว่า ได้มีคนงานบริษัทรับเหมา จำนวน 5 คน เข้าไปเก็บพวกเศษแนฟทาภายในถังเปล่าซึ่งอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุงจนเกิดไฟลุกและมีเสียงดังคล้ายระเบิด ทำให้คนงานถูกไฟไหม้ตามร่างกายประมาณ 30-50% จำนวน 3 คน

หลังเกิดเหตุศูนย์ EMCC สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักงานท่าเรือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ว่า ไม่พบสารเคมีจัดเก็บในถังที่เกิดการระเบิด ส่วนกลุ่มควันที่เกิดขึ้นไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งบริษัท มาบตาพุดแทงค์ เทอร์มินอล สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ตั้งแต่เวลา 16.00 น.ที่ผ่านมา แล้วฉีดน้ำหล่อเย็นถังเกิดเหตุ ขณะที่ศูนย์ EMCC ได้ทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณด้านหน้าบริษัทดังกล่าวในทันที โดยพบว่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนสาเหตุอยู่ระหว่างตรวจสอบนั้น

27 ต.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงกลางดึกที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ชุดค้นหาได้พบร่างคนงานอีก 2 ราย เสียชีวิตติดอยู่ภายในถังที่เกิดการระเบิด และได้มีการนำศพออกจากที่เกิดเหตุแล้ว

ขณะที่ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้มีคำสั่งด่วนให้จัดทีมงานเข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุเพื่อหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่แท้จริงแล้วเช่นกัน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 27/10/2564

ธปท.เผยเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชราพ้นความยากจน 3,000 บาท ต้องเพิ่ม VAT เป็น 16.9%

25 ต.ค. 2564 ดร.นฎา วะสี หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวบทความวิจัยในหัวข้อ “ระบบจัดการรายได้ผู้สูงอายุ : ควรปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เพียงพอและยั่งยืน” ว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยในอีก 20 ปีข้างหน้า สัดส่วนจาก 3% เป็น 26% ของประชากรทั้งหมด

ทำให้หลายภาคส่วนมีความกังวลถึงความยากจนของครัวเรือนสูงอายุและความยั่งยืนทางการคลังของภาครัฐ แม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะมีระบบรายได้ผู้สูงอายุที่จัดการโดยภาครัฐอยู่หลายระบบและสามารถครอบคลุมคนไทยแทบทั้งหมด

เช่น เบี้ยยังชีพคนชรา กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นต้น ซึ่งระบบเหล่านี้ล้วนใช้งบประมาณของรัฐทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี จากการศึกษาจะพบว่าในอนาคตค่าใช้จ่ายเบี้ยยังชีพของภาครัฐมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นในสังคมไทยสูงวัย ทั้งจากจำนวนคนสูงวัยที่มีมากขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งภายใต้สมมุติฐานหากเบี้ยยังชีพจะต้องถูกปรับตามอัตราเงินเฟ้อ เพื่อคงบทบาทของระบบ ภาครัฐจำเป็นจะต้องปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากระดับ 7% มาอยู่ที่ 9% ภายใต้เบี้ยยังชีพ 600 บาทต่อคนต่อเดือน

ขณะเดียวกัน ภายใต้สมมุติฐานในระยะยาว หากภาครัฐต้องการลดความยากจนจำเป็นต้องปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพตามอัตราเงินเฟ้อและเส้นระดับความยากจนที่ 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน เพื่อไม่ให้ระบบลดบทบาทจนเลือนหายไปในที่สุด โดยรักษาสัดส่วนหนี้สาธารณะไว้ที่ระดับ 60% ซึ่งจะสร้างภาระผูกพันระยะยาว ภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่ม VAT มากกว่า 2 เท่า หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 16.9%

นอกจากนี้ กองทุนชราภาพของประกันสังคม มาตรา 33 หากไม่มีการปรับเปลี่ยนระบบไม่มีความยั่งยืน เนื่องจากเวลาผ่านไปจะเห็นสัดส่วนคนส่งทบน้อยลง และคนขอรับบำนาญเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินกองทุนทยอยหมดลง ส่วนหนึ่งมาจากเริ่มต้นการจัดตั้งประกันสังคมมีความตั้งใจว่าจะเก็บเงินสมทบในอัตราที่ต่ำ และทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้กองทุนหายไปจากระบบภายใน 30 ปีข้างหน้า

ดังนั้น ภายใต้สมมุติฐานหากกองทุนไม่สามารถปรับค่าต่าง ๆ เป็นมูลค่าจริง เพื่อคงบทบาทของระบบ เมื่อเงินกองทุนหมดลง ภาครัฐจะมีทางเลือกหลัก 2 ทาง คือ 1.กรณีลดสิทธิประโยชน์ 1 ใน 3 หรือปรับสิทธิประโยชน์ลดลงเหลือ 30% ซึ่งจะกระทบกับคนวัยเกษียณหรือวัยใกล้เกษียณ และ 2.กรณีการขึ้นอัตราเงินสมทบ โดยอาจจะต้องปรับขึ้นไปสูงถึง 20% ของเงินเดือน ซึ่งจะกระทบคนวัยทำงานในปัจจุบันและอนาคต

“จากการศึกษาพบว่าหลายระบบยังคงมีปัญหา ทั้งในเรื่องความไม่เพียงพอ และความไม่ยั่งยืนทางการคลัง เนื่องจากในทุกระบบต่างคนต่างคิด หากมีแพลตฟอร์มที่สามารถคุยร่วมกันได้ โดยปัจจุบันรัฐเริ่มมีร่างคณะกรรมการบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ จะเป็นการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ และมองประชากรเป็นตัวตั้งแทนที่การมองตัวกองทุนเป็นตั้งแทน โดยอาจจะมีการประสานงานให้เกิดบำนาญพื้นฐาน และรัฐรับผิดชอบส่วนหนึ่ง และเจ้าตัวออกส่วนหนึ่ง

และหากรัฐปรับขึ้นเบี้ยยังชีพเท่าระดับเส้นความยากจนสำหรับผู้สูงอายุทุกคน โดยเลือกใช้การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อมาจัดสรรงบประมาณส่วนนี้ ผลจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นก็จะกลับมากระทบต่อผู้บริโภคอีกต่อหนึ่ง ส่งผลให้นโยบายนี้ไม่ได้ลดความยากจนมากเท่าที่ตั้งใจไว้”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 25/10/2564

พนง.ขนส่งชื่อดังกว่า 50 คน ถูกลอยแพ บริษัทบีบค่าจ้างลง-เลิกจ้างกะทันหัน โดยไม่มีเหตุผล

25 ต.ค. 2564 พนักงานขนส่งบริษัทแห่งหนึ่ง ย่านลำลูกกา ปทุมธานีกว่า 50 คน ได้เดินไปที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซอยวัดเสด็จ ถนนรังสิต-ปทุมธานี ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี เพื่อยื่นหนังสื่อต่อนายศักดิ์ศิลป์ ตุลาธร สวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี หลังโดนประกาศเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุผลหรือมีการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า กว่า 18 คน

นายธีรศักดิ์ อายุ 28 ปี ตัวแทนนักงาน กล่าวว่า ผู้บริหารของบริษัทฯ เข้ามามาหว่านล้อมบอกให้ไปทำงาน มีผลกำไรดีค่าตอบแทนสูง แต่พอผ่านไป 1-2 เดือน ก็เริ่มลอยแพพนักงานโดยการบีบค่าจ้างลง ซึ่งเขาก็รู้อยู่แล้วว่าพัสดุในแต่ละวันบางสายของเยอะ บางสายของน้อย สายที่ของเยอะก็สามารถอยู่ได้ แต่สำหรับคนที่อยู่สายของน้อยเขาอยู่ไม่ได้ ดีไม่ดีพ้นสภาพพนักงานอีก เราก็เลยมาเรียกร้อง เพื่อบอกเขาว่าสิ่งที่เราโดนไม่เป็นธรรม ไหนจะปรับราคาลงและเลิกจ้างแบบกะทันหัน

โดยแจ้งผ่านทางไลน์ตอน 5 ทุ่ม หรือไม่ก็ไปติดกระดาษหน้าคลังว่าท่านพ้นสภาพพนักงานแล้ว ส่วนสาเหตุที่เลิกจ้างก็ไม่ยอมแจ้ง บอกรวม ๆ ว่าแค่ขาดงานจนทำให้บริษัทเสียหาย ซึ่งมันก็ไม่จริง พวกตนทำงานทุกวันมีหลักฐานการเข้างาน พวกตนไม่เคยละทิ้งหน้าที่ มีแต่ทางบริษัททั้งนั้นที่ไม่ยอมเปิดคลังให้พวกเราเข้าไปทำงาน โดยบีบพวกตนออกและหาข้ออ้างว่าพวกตนขาดงาน แต่เขาพลาดเพราะเรามีหลักฐานการเข้างาน

ซึ่งบริเวณหน้าคลังก็มีกล้องวงจรปิด และหน้าป้อมยามก็มีเช่นกัน เป็นหลักฐานว่าพวกเราไปเข้างานทุกครั้งและลูกค้าเองก็เจอพวกเราทุกวัน แล้วทางกรมแรงงานเราก็มาเดินเรื่องตามที่ตนพูดมาเมื่อกี้ ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้รับทราบแล้วกำลังตรวจสอบทางบริษัทฯอยู่ แล้วเอาข้อมูลมาเปรียบเทียบกัน เพราะเรามีหลักฐานทุกอย่าง ตนไม่ได้อยากจะเรียกร้องอะไร ขอสวัสดิการค่าจ้างเท่าเดิมหรือตามกฎหมายที่กำหนดไว้

ที่มา: ข่าวสด, 26/10/2564

เครือข่ายลูกจ้างพนักงาน สธ.ร้องขอความเป็นธรรมไม่ได้บรรจุเป็น ขรก.

25 ต.ค. 2564 ที่สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพ เขต 2 จ.พิษณุโลกน.ส.วิภาวดี เครือไชย อายุ 32 ปี และ นางณัฐศิริ ฉายพุดซา อายุ 33 ปี พร้อมตัวแทนสมาชิกเครือข่ายลูกจ้าง/พนักงานราชการ เจ้าพนักงานสาธารณสุขวุฒิปริญญาตรี (จ้างต่ำกว่าวุฒิ) 3 จังหวัด ประกอบด้วย สุโขทัย, เพชรบูรณ์ และตาก ได้รวมตัวยื่นหนังสือถึง นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 เรื่อง ขอให้ติดตามและขอความเป็นธรรม กรณีการบรรจุข้าราชการกลุ่มตกหล่น (กลุ่มเจ้าพนักงานสาธารณสุขวุฒิปริญญาตรี) สำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข รองรับภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19

น.ส.วิภาวดี เครือไชยเปิดเผยว่า ถึงปัจจุบันพวกตนยังไม่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในการบรรจุข้าราชการสาธารณสุข 24 สายงาน ปี 2563 (กลุ่มตกหล่น) ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ให้กระทรวงสาธารณสุขคัดเลือกลูกจ้างในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งสมาชิกของเครือข่ายทุกคนเป็นหนึ่งในผู้ปฏิบัติงานนั้นและพวกตนทุกคนได้ถูกสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำรวจว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติในการบรรจุเข้ารับราชการ โดยมีเลขตำแหน่งในระบบข้อมูลบุคลากรรายบุคคล (HROPS) เป็น 1 ใน 24 สายงานที่จะได้รับการบรรจุในครั้งนี้ นับว่าเป็นข่าวดีที่ทางสมาชิกเครือข่ายฯ ทุกคนดีใจ และมีความหวังอย่างยิ่งที่จะได้เข้ารับราชการเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน และเป็นความภาคภูมิใจไปถึงครอบครัว

ทั้งนี้ แต่เมื่อมีการบรรจุตามมติคณะรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการบรรจุเป็น 3 ระยะเรียบร้อยแล้ว และมีแผนการดำเนินการคัดเลือกเพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัด วันที่ 2 เม.ย. 2564 ปรากฏว่า ตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุข (พนักงานกระทรวงสาธารณสุข/พนักงานราชการ) ที่มีวุฒิปริญญาตรี สาธารณสุขศาสตรบัณฑิต (ส.บ.) สาขาสาธารณสุขศาสตร์ และสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น วิทยาศาสตร์บัณฑิต (วท.บ.) สาขา สาธารณสุขชุมชน และสาขาที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ กลับยังไม่ได้รับการบรรจุตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แม้จะมีเลขตำแหน่งในฐานระบบครบถ้วน โดยผู้มีอำนาจในการบรรจุแต่งตั้ง (ก.พ.) ได้ให้เหตุผลว่า เจ้าพนักงานสาธารณสุข (พนักงานกระทรวงสาธารณสุข/พนักงานราชการ) ที่มีวุฒิปริญญาตรี ดังกล่าวเป็นวุฒิที่ไม่ตรงตามตำแหน่ง

"ยอมรับว่าเสียขวัญและกำลังใจ ท้อแท้ สิ้นหวังในการปฏิบัติงานเป็นอย่างยิ่ง รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม บางรายมีสภาวะซึมเศร้า ไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบรรจุเข้ารับราชการตามมติ ครม.ในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าพวกเราจะได้ทุ่มเทในการทำงานเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเต็มที่มากเพียงใดก็ตาม ทางกลุ่มเครือข่ายลูกจ้าง/พนักงานราชการ เจ้าพนักงานสาธารณสุขวุฒิปริญญาตรี (จ้างต่ำกว่าวุฒิ) ได้ติดตามเรื่องการบรรจุมาโดยตลอด อีกทั้งได้ยื่นหนังสือร้องเรียนโดยตรงให้กับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เพื่อขอความเป็นธรรมและติดตามความคืบหน้า เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2563 ไปแล้วก็ตาม แต่ ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ตัวแทนกลุ่ม 3 ราย ได้เข้าไปติดตามความคืบหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรึกษาหารือกับงานฝ่ายบุคคล และคำตอบที่ได้คือ การบรรจุในปี 2563 ได้สิ้นสุดลงแล้ว สำนักงานข้าราชการพลเรือนตอบหนังสือกลับมา กลุ่มของพวกเราไม่สามารถบรรจุได้ การบรรจุทั้ง 3 ระยะ จึงสิ้นสุดลง และจะมีการขอบรรจุระลอกใหม่ในปีงบประมาณ 2565 นี้ กำลังดำเนินการสำรวจข้อมูลเพื่อขอมติ ครม.ต่อไป"น.ส.วิภาวดีกล่าว

อย่างไรก็ตาม พวกตนจึงมายื่นหนังสือเพื่อขอให้ผู้ตรวจราชการกระทรวง เขตสุขภาพช่วยเหลือ โดยขอความเป็นธรรมและติดตามความคืบหน้าการเปลี่ยนแปลงการจ้างให้ตำแหน่งตรงกับวุฒิปริญญาตรี หรือสายงานให้ตรงกับวุฒิ, การเปลี่ยนแปลงสายงานให้ตรงกับวุฒิปริญญาตรี ขอให้ดำเนินการเริ่มสัญญาจ้าง วันที่ 1 ต.ค. 2564 เพื่อสอดคล้องกับการจ้างงานในปีงบประมาณ 2565 ให้ทันกับเวลาที่จะมีการบรรจุรอบใหม่ และขอความเป็นธรรมบรรจุข้าราชการ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับกลุ่มตกหล่นจากการบรรจุเป็นกรณีพิเศษ ปี 2563 ให้ได้บรรจุระยะแรกของการบรรจุรอบใหม่ในปี 2565 เพราะเกรงว่า จะไม่ได้รับการบรรจุอีก

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 25/10/2564

'ก้าวไกล' ฟังปัญหา 'ไรเดอร์' ชุมพร เผยมีช่องโหว่สัญญาจ้าง

วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อสัดส่วนแรงงาน และ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่รับฟังปัญหา กลุ่มผู้ประกอบอาชีพพนักงานส่งอาหาร(ไรเดอร์)ในจังหวัดชุมพร มีจำนวนเกือบ 500 คน รวมทุกแพลตฟอร์ม ส่วนใหญ่ อายุ 20-35 ปี จากการพูดคุยพบว่าปัญหาของผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ คือสัญญาการทำงานหรือรูปแบบการจ้าง แบบฟรีแลนซ์หรือพาร์ทเนอร์ ทำให้ไรเดอร์ไม่ได้มีสถานะเป็นพนักงานของแพลตฟอร์ม ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน

นอกจากนั้นยังประสบปัญหาค่ารอบในการทำงาน และการเข้ากะงานที่มีเกณฑ์ขั้นต่ำ ค่าส่วนแบ่ง(GP)ที่มีอัตราสูง ในกรณีชุมพรคือคนที่ดูแลแพลตฟอร์มบางแพลตฟอร์ม มีมาตรการที่ทำให้ไรเดอร์ประสบปัญหาในการทำงาน อาทิเช่น ประเด็นวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีการแจ้งกึ่งบังคับจากทางแพลตฟอร์มว่าหน่วยงานรัฐในพื้นที่ขอความร่วมมือให้ไรเดอร์ฉีดวัคซีน แต่ถ้าใครไม่ฉีด จะไม่ให้รับงาน ซึ่งไรเดอร์บางคนไม่สมัครใจฉีดเนื่องจากไม่สามารถเลือกยี่ห้อวัคซีนได้

วรรณวิภา กล่าวว่า ไรเดอร์เป็นอาชีพที่ทำให้ผู้บริโภคสั่งอาหารมาทานอย่างสะดวกสบาย แต่ผู้บริโภคไม่เคยรู้เลยว่าต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง ตนเห็นว่ารัฐบาลต้องเข้ามาหาทางออกในปัญหาระหว่างไรเดอร์กับผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม ทั้งในประเด็นสิทธิแรงงาน สัญญาจ้าง รวมทั้งความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น เนื่องจากปัญหานี้ เป็นปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนจากหลายจังหวัด

“อย่างน้อยต้องมีการสร้างมาตรฐานขั้นต่ำ หรือมาตรฐานใหม่ในรูปแบบการทำงานของไรเดอร์ เพราะว่าเป็นเรื่องใหม่ ที่ระบบการจ้างงานเปลี่ยนรูปแบบไปตามพัฒนาการของเทคโนโลยี แต่ไรเดอร์ก็เป็นอาชีพผู้ใช้แรงในการทำงานอาชีพหนึ่ง ซึ่งสิทธิแรงงานเป็นสิทธิควรจะต้องได้รับการคุ้มครอง ในระยะสั้นจะนำเรื่องนี้ไปหารือในกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง ส่วนในระยะยาว หนึ่งในนโยบายด้านแรงงาน 100 วันแรกถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลเราจะผลักดันให้มีการลงนามในอนุสัญญา ILO 87,98 ว่าด้วยสิทธิ ในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงาน” วรรณวิภา กล่าว

ขณะที่ รังสิมันต์ กล่าวว่า สำหรับธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหาร ไรเดอร์คือส่วนสำคัญที่สุดในธุรกิจนี้ จะเรียกเขาว่าพาร์ทเนอร์หรืออะไรก็ตาม แพลตฟอร์มจำเป็นต้องดูแลพวกเขา ถ้าไม่มีไรเดอร์ แพลตฟอร์มแบบนี้ก็ดำเนินกิจการหรือทำธุรกิจไม่ได้ พี่น้องกลุ่มอาชีพนี้ควรได้รับความเป็นธรรมและการคุ้มครองในการทำงานไม่แตกต่างจากอาชีพอื่น ในขณะที่แพลตฟอร์มสามารถทำกำไรจากธุรกิจได้มหาศาลจนเกิดแพลตฟอร์มมากมายมาแย่งชิงส่วนแบ่งรายได้ตลาดนี้ กำไรเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากการตัดต้นทุนในการดูแลรับผิดชอบแรงงานออกไป ขณะที่หากใช้คำว่าเป็นพาร์ทเนอร์เพื่อเลี่ยงความรับผิดชอบตามกฎหมายแรงงาน พาร์ทเนอร์ก็ต้องสามารถมีอำนาจต่อรองได้อย่างทัดเทียมกันเพื่อแบ่งปันผลกำไรจากการทำธุรกิจร่วมกันอย่างเป็นธรรม แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่มีกฎหมายหรือมาตรการที่ส่งเสริมดูแลตรงนี้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ มีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องมีการหารือแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของแพลตฟอร์ม ไรเดอร์ กฎหมาย ผลการศึกษาต่างๆของนักวิชาการ จะต้องนำปัญหาเหล่านี้มาคุยกัน โดยพรรคก้าวไกลรับปากว่าจะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในเรื่องนี้เพื่อให้การแก้ปัญลุล่วงได้ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 24/10/2564

นายกสมาคมประมงปัตตานีวอนรัฐบาลเร่งช่วยอุตสาหกรรมประมงกระทบอย่างสาหัส

24 ต.ค. 2564 สถานการณ์อุตสาหกรรมชาวประมงทั่วประเทศยังคงประสบปัญหาอย่างสาหัสจากปัญหาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ของสหภาพยุโรปแลกกับการยกเลิกแบนสินค้าประมงไทย ได้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนานถึง 5 ปี สมาคมประมงได้เข้ายื่นหนังสือถึงรัฐบาลต่อนายกรัฐมนตรีนับเป็นสิบๆ ครั้ง ทั้งมีการประท้วงบ่อยครั้ง

ล่าสุด พยายามดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือเร่งด่วน และเสนอแนวทางลดผลกระทบจากชาวประมงหลายรายที่ต้องเลิกกิจการให้สามารถพยุงตัวต่อไปได้

นางอันน์เกตุ ลีลาไพบูลย์ นายกสมาคมประมงจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า สถานการณ์ ปัญหาของเศรษฐกิจการประมง ตั้งแต่กฎหมายไอยูยูเข้ามาบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ทำให้สถานการณ์ประมงซบเซามาหลายปีแล้ว มาถึงปี 2564 นี้ทุกอย่างเงียบลงอย่างมาก ต้องบอกว่าอาชีพที่ต่อเนื่องกับการทำประมงมีไม่น้อยกว่า 7 กลุ่มอาชีพ ตั้งแต่คนคัดปลา คนเรือ ตลาด แรงงาน อื่นๆ จึงทำให้บางรายต้องออกไปหาอาชีพอื่นๆ เพื่อเอาตัวรอดก่อน ทำให้ขาดแคลนแรงงาน เศรษฐกิจการประมงจึงรายได้ลดลง ซึ่งในจังหวัดปัตตานีที่ขึ้นกับการประมงเป็นหลักจึงเงียบเหงาตามไปด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลก็พยายามช่วยเหลือเยียวยา ช่วยรับซื้อนอกระบบบ้าง เพียงแต่ปริมาณการซื้อขายยังไม่เพียงพอกับจำนวนของชาวประมงทั้ง 22 จังหวัดทั่วประเทศ และสำหรับในปัตตานีเองนั้นเดือดร้อนมากแล้ว ได้ทำเรื่องร้องเรียนขอไป หลังจากประสบปัญหาอย่างหนักจนผู้ประกอบการบางรายแทบจะอยู่ในพื้นที่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนอาชีพ ได้ขอให้ทางรัฐบาลช่วยรับซื้อเรือประมงไป โดยคณะพัฒนาท้องถิ่นชายแดนภาคใต้ (คพต.) ได้มีความเห็นแล้วว่าจะช่วยรับซื้อ จำนวน 224 ล้านบาท ต้องดูว่ามติจะผ่านในวันที่ 28 นี้ เราคาดหวังว่าจะมีผู้ใหญ่ของรัฐบาลช่วยเหลือเราเพื่อได้ประทังชีวิตกันต่อไป ซึ่งเรือเป็นทรัพย์สินที่พอจะนำเป็นต้นทุนไปประกอบอาชีพอื่นได้ เอาไปหมุนเวียนทำทุนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ

ปัจจุบันนี้ถ้าถามว่าการประมงลดลงแค่ไหนอย่างไร คือสำหรับจังหวัดปัตตานี จากที่เรือประมงมีจำนวนกว่า 1,100 ลำ ขณะนี้เรามีเรือพาณิชย์ที่เดินเรือแจ้งเรือผ่านด่านเข้า-ออกอยู่ที่ 300 กว่าลำเท่านั้น ก็ลดลงถึง 70% เลยทีเดียว ซึ่งที่เหลือที่กำลังทำงานอยู่ 30% นี้กำลังรออยู่ว่าจะมีแรงงานมาเพิ่มเติมเข้ามาอีกหรือไม่ ถ้าเพิ่มอีกสัก 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ ก็จะดีกว่านี้ แต่ถ้ายังอยู่สภาพนี้แนวโน้มการประกอบอาชีพประมงอาจจะลดลงไปอีกจนเหลือ 20% ก็ได้ ถ้ามีการรับซื้อจากรัฐบาลจริงก็จะมีทุนมาใช้หรือซ่อมแซมเรือบางส่วนที่นำกลับมาใช้ได้ ที่ยังขาด เอามาหมุนเวียนได้

สำหรับตัวเลขรายได้ที่ขาดหายไป 26,000 กว่าล้านต่อปี มาจากอาชีพที่เกี่ยวข้องกันเป็นทอดๆ ไป ตั้งแต่ไต้ก๋งเรือ คนเรือแรงงาน ภาคอื่นๆ ด้วย เราเป็นภาคอุตสาหกรรมเกษตรประมง ต้นน้ำ ก็ทำให้กระทบต่อๆ กันกับผู้เกี่ยวข้องทั้งพ่อค้าแม่ค้า โรงงาน และอื่นๆ รายได้หายกันไปหมด

ต่อเรื่อง พ.ร.ก.58 และแก้ไขเพิ่มเติมปี’60 ที่อยากให้ทางรัฐบาลเร่งแก้ไขด่วน ได้ร่างหนังสือเพิ่มเติมขึ้นไป เป็นความเห็นชาวอุตสาหกรรมประมงทั้งประเทศ ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ในการแก้ไข อยากให้ผ่าน ครม.ไปได้ คือแก้ไขเร่งด่วนใน 4 มาตรา ซึ่งในนี้เป็นความผิดที่เล็กน้อย ไม่ได้ออกนอกประเทศ ไม่ใช่ความผิดร้ายแรงมาก หากเปรียบเทียบกับค่าปรับ การลงโทษหนัก ซึ่งอาจทำให้สิ้นอาชีพ หรือล่มจมไปเลยทีเดียว ที่ขอให้แก้ไข ได้แก่ มาตรา 39, 81, 114, และมาตรา 169

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ระหว่างนี้ไม่ทราบว่าอยู่ในขั้นตอนไหน เห็นว่ายังเงียบอยู่ อยากให้เร่งพิจารณา

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือเรื่องแรงงาน เพราะว่าเราอยู่จังหวัดชายแดนล่างสุด แรงงานจึงขาดแคลนตลอด ค่อนข้างหายาก

จึงอยากให้รัฐช่วยเปิดโอกาสให้รับแรงงานต่างด้าวประเทศอื่นอีกด้วยนอกจาก 3 ชาติ พม่า, ลาว, เขมรแล้ว ได้เวียดนาม หรือบังกลาเทศ และทำเอกสารประกอบการทำทะเบียนแรงงานครบทุกอย่าง เปิดความสะดวกในการรับแรงงานด้วย เพราะการรับแรงงานประมงนี้เป็นเรื่องเฉพาะทาง อยากให้เปิดเป็น 3 ช่วงเพื่อให้ทันกับการดำเนินการที่ต้องใช้เวลา หากไม่ทันจะได้เลื่อนรอบต่อไปให้ทัน ไม่รวมปัญหาอื่นอีก เช่น แรงงานคนไทยฝีมือลดลงเพราะเรือน้อยงานน้อย ย้ายถิ่น ไปทำงานที่อื่น เพราะอาชีพนี้รัฐบาลไม่สนับสนุน บางคนหันไปทำเรือเล็กเพราะเบื่อกฎหมาย สถานการณ์ยิ่งทำให้ทะเลชายฝั่งเต็มไปด้วยเรือ และขยายพื้นที่ออกไปจนเกิดการกระทบกระทั่งกับเรือพาณิชย์ที่รัฐบาลกำหนดกรอบมากมาย เรื่องนี้ราชการ รัฐบาลไม่เคยกล้าพูดถึง สงสารทั้งเรือเล็ก เรือกลาง เรือใหญ่ เพราะการจัดการของภาครัฐไม่ได้จัดการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม นี่แหละปัญหาจึงแก้ไม่ได้จนถึงวันนี้ และยังผูกปมไปเรื่อยๆ จากประมงไทยที่เป็นผู้นำด้านประมงโลกบัดนี้กลับกลายเป็นเพียงอดีตไปแล้ว น่าเศร้าจริงๆ

อีกเรื่องถ้าเป็นไปได้อาจให้พื้นที่ทำกิน สามารถเข้าไปทำงาน รองรับ มีงานอย่างอื่นให้เขาได้ทำได้

เรื่องที่ฝากกับท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ลงมาพบกับสมาคมชาวประมงเมื่อสัปดาหที่ผ่านมานี้ เราได้ฝากเรื่องให้แก้ไขเร่งด่วน ได้ประชุมคุยกัน 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องรับซื้อเรือล็อตแรก 101 ลำ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ที่ ศอ.บต.เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีติดขัดตรงไหนไม่สะดวก มีปัญหา ส่วนต่อมาคือในเรื่องการแก้กฎหมายก็ขอให้ท่านได้ให้ ส.ส.ในพรรคช่วยกันผลักดันกฎหมายให้ผ่านไปโดยเร็วยิ่งขึ้น และเรื่องสุดท้ายคือขอที่ดินทำกิน

ในการแก้กฎหมายบางอย่างเราอยากให้ดูแลในบทลงโทษให้เหมาะสมกับความผิด เราคาดหวังเป็นอย่างมากต่อการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ เนื่องด้วยอุตสาหกรรมการประมงเป็นองค์กรที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ เป็นรายได้หลักภาคหนึ่งด้วย ถือเป็นภาคเดียวกับการเกษตรด้วย และเป็นอาชีพที่รับความเสี่ยงด้วยตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งเราไม่เคยขอการประกันรายได้ ไม่ได้ขอที่มากเกินไป ไม่ทำผิดกฎหมาย เราพร้อมที่จะทำตามกฎหมายตามที่องค์กรประมงดูแลกันอยู่แล้ว จึงขอให้เร่งแก้ไขปัญหาทั้งหมดอย่างเร่งด่วน เพื่อให้พวกเราชาวอุตสาหกรรมประมงได้อยู่รอดกันต่อไป

สมาคมการประมงปัตตานีหวังเพียงว่าวันนี้จะมีผู้นำที่เข้ามาแก้ไขปัญหาด้านอาชีพอุตสาหกรรมประมงให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะฟื้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ คนมากมายกล้าที่จะเปลี่ยน เพื่อเปลี่ยนแปลงให้อาชีพประมงกลับมามีศักดิ์มีศรีดั่งเช่นแต่ก่อน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 24/10/2564

สั่งช่วยแรงงานตกตึกเสียชีวิตในไต้หวัน พร้อมเร่งส่งศพกลับไทยโดยเร็ว

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวแสดงความเสียใจถึงกรณีที่แรงงานไทยพลัดตกจากตึกเสียชีวิตในเมืองเกาสง ไต้หวัน ว่า ตามที่ได้รับรายงานจากนางสาวจุฑารัตน์ สบู่ม่วง อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานไทย (สนร.) ณ เมืองเกาสง ว่าวันที่ 21 ต.ค. 2564 เวลา 14.20 น. ตามเวลาไต้หวัน ได้เกิดเหตุแรงงานไทยรายหนึ่งพลัดตกจากชั้น 11 ตึกอาคารกั๋วเฉิง ยูเอฟโอ เลขที่ 12 ถนนฟู่ชิง ตอนที่ 4 เขตเฉียนเจิ้ง เมืองเกาสง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานแรงงานไทย ณ เมืองเกาสง จนทำให้เสียชีวิตในทันที

ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า แรงงานไทยรายนี้ เป็นเพศชาย อายุ 32 ปี มีภูมิลำเนาเป็นชาวจังหวัดชัยภูมิ ทำงานโรงงาน HER CHERNG SANITARY CO;LTD. เมืองจางฮั่ว ผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ จัดส่งโดยบริษัทจัดหางานไทยชื่อ BANSING MANPOWER CO;LTD. และอยู่ในความดูแลของบริษัทจัดหางานในไต้หวัน SOON LE DEVELOPMENT INC.

ทั้งนี้ ก่อนเกิดเหตุเมื่อช่วงเช้าแรงงานไทยรายนี้ได้นั่งรถแท็กซี่มาจากจางฮั่ว เพื่อมาขอความช่วยเหลือกับเจ้าหน้าที่ สนร.เกาสง เมื่อมาถึงสำนักงานเวลาประมาณ 11.15 น. เบื้องต้นแจ้งว่ามีคนจะตามฆ่า ไม่เข้าไปทำงานโรงงาน และมีความประสงค์จะเดินทางกลับไทย เจ้าหน้าที่ได้ดูแล จัดหาอาหาร เครื่องดื่มให้รับประทาน เพื่อให้ผ่อนคลายความเครียด จนกระทั่งเมื่อเวลาประมาณ 14.20 น. จึงเกิดเหตุพลัดตกจากอาคาร ดังกล่าวข้างต้น

ด้าน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ทันทีที่ทราบเรื่องได้โทรศัพท์ไปพูดคุยให้กำลังใจกับพ่อของแรงงานแล้ว และจะให้ สนร.เกาสง เร่งประสานหน่วยเกี่ยวข้องดำเนินการส่งศพกลับประเทศไทยโดยเร็ว รวมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่ภูมิลำเนาของแรงงานไทยที่เสียชีวิต ลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้านของแรงงานไทยเพื่อแจ้งความช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายแก่ญาติพี่น้องและครอบครัวของแรงงานไทยที่เสียชีวิตได้รับทราบในทันที ซึ่งได้แก่เงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 4,000 บาท ในส่วนสิทธิประโยชน์เงินประกันสังคมในประเทศไทยจากการตรวจสอบสิทธิแล้วผู้เสียชีวิต ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 พร้อมนี้ได้มอบของเพื่อเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับญาติและให้กำลังใจแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตอีกด้วย

ที่มา: คมชัดลึก, 22/10/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท