Skip to main content
sharethis

สื่อซีเอ็นเอ็นจากสหรัฐฯ สัมภาษณ์ประธานาธิบดีไต้หวัน ไช่อิงเหวิน ประเด็นความมั่นคงในภูมิภาคหลังจากที่ไต้หวันกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ความขัดแย้งที่ตึงเครียดมากขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยที่ไช่อิงเหวินย้ำภัยคุกคามจากจีนมีมากขึ้นทุกวัน ทั้งนี้ยังระบุถึงความสำคัญของประชาธิปไตย และพร้อมจะจับเข้าคุยกับจีน แก้ไขความขัดแย้งด้วยวิธีการทูต และเป็นครั้งแรกที่เธอยืนยันว่ามีกองทัพสหรัฐฯ อยู่ในไต้หวัน


28 ต.ค. 2564 ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อซีเอ็นเอ็นในช่วงเวลาที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีไต้หวันเป็นศูนย์กลางท่ามกลางภัยคุกคามจากจีนที่เธอบอกว่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน ไช่อิงเหวินบอกว่า ไต้หวันในตอนนี้เปรียบเสมือนเป็น "ดวงประทีป" ของประชาธิปไตยที่ต้องได้รับการปกป้องเพื่อเป็นความหสังศรัทธาให้กับคุณค่าประชาธิปไตยทั่วโลก

"ที่นี่(ไต้หวัน)คือเกาะที่มีประชากร 23 ล้านคนพยายามอย่างหนักทุกวันในการปกป้องตัวเองและปกป้องประชาธิปไตยของพวกเรา รวมถึงทำให้แน่ใจว่าประชาชนของพวกเราจะมีเสรีภาพในการที่พวกเขาควรได้รับ ... ถ้าหากพวกเราล้มเหลว นั่นก็หมายความว่าผู้คนที่เชื่อในคุณค่าเหล่านี้จะกังขาว่าคุณค่าเหล่านี้ควรค่าแก่การต่อสู้เพื่อให้ได้มาหรือไม่" ไช่อิงเหวินกล่าวในบทสัมภาษณ์

ถึงแม้ว่าในประวัติศาสตร์จะมีพรรคชาตินิยมจีนที่หนีไปยังไต้หวันในช่วงที่สิ้นสุดสงครามกลางเมืองจีนเมื่อราวมากกว่า 70 ปีก่อนหน้านี้ แต่ก็ไม่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่เลย กระนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ยังอ้างว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน

ซีเอ็นเอ็นประเมินว่าการที่จีนเริ่มมีการแสดงพลังอำนาจทางการทหารเพื่อข่มไต้หวันในช่วงไม่นานนี้น่าจะเป็นเพราะเล็งเห็นว่าไต้หวันมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นกับสหรัฐฯ ทั้งในยุคสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีคนปัจจุบัน โจ ไบเดน มีการซื้อขายอาวุธจำนวนมากและการที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ นิยมเยือนไต้หวันอย่างออกข่าวเปิดเผยทำให้ไต้หวันมีที่ยืนในประชาคมโลกมากขึ้นขณะที่ทำให้จีนถูกลดทอนความชอบธรรมลง

ทั้งนี้ในการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อของไข่อิงเหวิน ยังนับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำไต้หวันยอมรับว่ามีกองกำลังของสหรัฐฯ ในไต้หวันจริงและมีการซ้อมรบในไต้หวัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทั้งสองประเทศเคยมีการปกปิดในเรื่องมาก่อน นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่มีการซ้อมรบของกองกำลังหน่วยรบพิเศษสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในปี 2563 หลังจากที่ที่ในยุคสงครามเย็นสหรัฐฯ เคยถอนทัพออกจากไต้หวันสิ้นสุดลงในปี 2522

อย่างไรก็ตามไช่อิงเหวินกล่าวว่าจำนวนทหารสหรัฐฯ ในไต้หวันนั้น "ไม่ได้มากเท่าที่ผู้คนคิดกัน" แต่ก็ไม่ได้ระบุจำนวนชัดเจน และบอกอีกว่าพวกเขาก็มีแผนการความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในภาพกว้างที่ "มุ่งการเพิ่มประสิทธิภาพทางการป้องกันประเทศ"

สื่อซีเอ็นเอ็นตั้งข้อสังเกตว่าไชอิงเหวินเป็นประธานาธิบดีที่ดูจะเป็นที่รักในหมู่ประชาชน ดูจากการที่มีคนตามท้องถนนคอยโบกมือให้ ขอบคุณเธอสำหรับการทำงาน และขอโพสต์เซลฟีร่วมกับเธอ ไช่อิงเหวินชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีไต้หวันสมัยแรกในปี 2559 นั้นนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ของไต้หวันที่พรรคชาตินิยมซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นมักจะเป็นฝ่ายกุมอำนาจเสมอ

อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันก็เสื่อมถอยลงนับตั้งแต่ไช่อิงเหวินเข้ารับตำแหน่งโดยที่ฝ่ายจีนเป็นผู้ที่มักจะโจมตีการเป็นผู้นำรัฐบาลของไช่อิงเหวินและของพรรคพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ทางจีนคิดว่าไช่และพรรค DPP เป็นฝ่ายที่ต้องการสนับสนุนอิสรภาพของไต้หวันจากจีน ทั้งๆ ที่ไช่อิงเหวินไม่เคยพูดเรื่องนี้อย่างเป็นทางการแต่มักจะบอกว่าต้องการให้คงสภาพความสัมพันธ์แบบนี้ต่อไป ซึ่งก็คือการที่ไต้หวันมีการปกครองตนเอง

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการทูตของจีนกับไต้หวันก็แย่ลง ซึ่งกองทัพจีนได้เพิ่มการกดดันต่อไต้หวันมากขึ้น แค่ในช่วง 5 วันแรกของเดือน ต.ค. จีนก็ใช้เครื่องบินรบรวม 150 ลำ เครื่องบินทิ้งระเบิดที่มีความสามารถในการใช้หัวรบนิวเคลียร์ เครื่องบินต่อต้านเรือดำน้ำ เครื่องบินควบคุมและเตือนภัยล่วงหน้าทางอากาศ ทั้งหมดนี้เข้าไปในพื้นที่ป้องกันทางอากาศของไต้หวันโดยที่ไม่ได้เข้าไปในพื้นที่อาณาเขตน่านฟ้าของไต้หวันโดยตรงซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการโต้ตอบจากไต้หวัน

การแสดงแสนยานุภาพของจีนเกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐฯ ประกาศขายอาวุธเพิ่มให้ไต้หวันมูลค่า 750 ล้านดอลลาร์ ต่อมาในวันที่ 8 ต.ค. สีจิ้นผิงประธานาธิบดีจีนก็ประกาศจะให้มี "การกลับมารวมชาติอย่างสันติกับไต้หวัน" แม้ว่าก่อนหน้านี้สีจิ้นผิงจะบอกว่าเขาไม่ได้ตัดความเป็นไปได้เรื่องจะใช้กำลังทหารก็ตาม และโฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันของจีนก็กล่าวยืนยันไม่นานนี้ว่าจีน "มีสิทธิ" ที่จะใช้กำลังทหารในการบังคับรวมชาติ

ทางด้านไช่อิงเหวินเคยประกาศในวันชาติไต้หวัน 10 ต.ค. ที่ผ่านมาว่าประชาชนชาวไต้หวันจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับแรงกดดันจากจีน และในการให้สัมภาษณ์กับสื่อซีเอ็นเอ็น ไช่อิงเหวินก็เรียกร้องให้ประเทศประชาธิปไตยโดยรอบอย่างญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนไต้หวั

"เมื่อรัฐบาลอำนาจนิยมแสดงออกในเชิงลัทธิแผ่ขยายอำนาจครอบงำพื้นที่อื่น ประเทศประชาธิปไตยก็ควรจะร่วมมือกันตยืนหยัดต่อต้านพวกเขา ไต้หวันอยู่ในแนวหน้า" ไช่อิงเหวินกล่าว

หลังจากที่ไช่อิงเหวินได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ซึ่งมีคะแนนโหวตให้เธอมากขึ้น เธอก็เน้นในเรื่องการพัฒนากองทัพไต้หวันให้ทันสมัยมากขึ้น เธอบอกว่าจากการที่เป็นประเทศเกาะเล็กๆ การคุ้มกันควรจะใช้ประสิทธิภาพของกองทัพที่ดีขึ้นแทนการรบแบบดั้งเดิม

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าไต้หวันจะมองแต่เรื่องความเป็นไปได้ในการคุ้มกันประเทศด้วยวิธีทางการทหารเท่านั้น ในด้านการทูตก็ยังไม่ละทิ้งในเรื่องนี้ ไช่อิงเหวินบอกว่าเธอพร้อมจะนั่งจับเข่าคุยกันกับผู้นำจีนสีจิ้นผิง ถ้าหากผู้นำจีนมีเจตจำนงที่จะคุยด้วย เธอบอกว่าต้องการจะสนับสนุนให้มีการเจรจาหารือกับรัฐบาลจีนเพื่อสร้างความเข้าใจ และมีการพูดถึงเรื่องความต้องการจะเจรจาหารือด้วยมาหลายครั้งต่อหลายครั้งแล้ว เพราะมันเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะป้องกันการเข้าใจผิดหรือการตัดสินใจคลาดเคลื่อนกันในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีน

ถึงแม้ว่าจะไม่มีสนธิสัญญาใดๆ ที่ทำให้สหรัฐฯ มีพันธกรณีต้องไปคุ้มครองไต้หวัน แต่ก็มีบางประเทศที่เสนอตัวจะช่วยคุ้มครองไต้หวันถ้าหากจีนทำการโจมตี เช่น ญี่ปุ่นที่มีรัฐมนตรีกลาโหม โนบุโอะ คิชิ กล่าวไว้เมื่อกลางเดือน ก.ย. ว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นกับไต้หวันจะมีผลเชื่อมโยงโดยตรงต่อญี่ปุ่น" ในฐานะความมั่นคงทางเส้นทางค้าขาย ขณะที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ก็เคยกล่าวไว้ว่าจะช่วยคุ้มกันไต้หวันในกรณีถ้าหากจีนรุกราน

ไช่อิงเหวินกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อซีเอ็นเอ็นว่า เธอเชื่อว่าสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศประชาธิปไตยในภูมิภาคจะมาช่วยเหลือพวกเธอจริง จากที่พวกเขามีความสัมพันธ์มายาวนาน มีคุณค่าเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตยร่วมกัน และมีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ในทางภูมิภาครวมถึงประโยชน์ร่วมกันส่วนหนึ่งเพราะไต้หวันเป็นห่วงโซ่อุปทานของโลกในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชิป ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญสำหรับอุปกรณ์ไอทีต่างๆ

แต่การคุ้มกันไต้หวันก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการทหารอย่างเดียวเสมอไป สหรัฐฯ ยังพยายามผลักดันให้ไต้หวันได้มีบทบาทและส่วนร่วมกับเวทีโลกด้านต่างๆ โดยเฉพาะสหประชาชาติ ซึ่งล่าสุดรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ก็ระบุว่าไต้หวันเป็น "คู่หูที่สำคัญและเป็นประเทศตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จทางประชาธิปไตย" และเรียกร้องให้ไต้หวันได้รับบทบาทในยูเอ็นมากขึ้น จากที่จีนเคยแย่งที่นั่งตัวแทนไต้หวันไปในปี 2514 และหลังจากนั้นก็บีบขับไต้หวันออกจากเวทีโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

ในแง่นี้ไช่อิงเหวินบอกว่าเธอต้องการให้ไต้หวันมีบทบาทในยูเอ็นโดยไม่ห่วงว่าจะกลายเป็นการทำให้จีนขุ่นเคืองใจหรือไม่ "จีนอาจเล่าเรื่องนี้ในแบบของตัวเอง แล้วมันก็เป็นเรื่องของประชาคมนานาชาติที่จะตัดสินใจ" ไช่อิงเหวินกล่าว

อีกประเด็นหนึ่งที่ไช่อิงเหวินพูดถึงคือเรื่องความทะเยอทะยานของจีนในยุคสมัยของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่ดูจะมีความอยากแผ่ขยายอำนาจมากขึ้นเป็นพิเศษทั้งจากการเพิ่มขนาดและการพัฒนาของกองทัพเรือที่ตอนนี้ใหญ่กว่าทัพเรือสหรัฐฯ กับอีกด้านหนึ่งคือการแผ่ขยายอำนาจทางการทูตในเชิงชาตินิยมจัดแบบที่เรียกว่า "วูล์ฟวอร์ริเออร์ส" ตามชื่อภาพยนตร์ชาตินิยมจีน โดยมีคนจากภายในกระทรวงต่างประเทศของจีนที่พร้อมจะออกหน้าพูดปกป้องจีนในประเด็นที่เป็นข้อโต้แย้งอย่างมากและประเด็นอ่อนไหว รวมถึงประเด็นไต้หวันที่เป็นประเด็นอ่อนไหวสุดๆ สำหรับจีน

ไช่อิงเหวินบอกว่าเธอรับรู้เรื่องความทะเยอทะยานอยากแผ่ขยายอำนาจของจีนยุคปัจจุบันดี ทำให้สิ่งที่พวกเขาเคยยอมรับได้กลายเป็นสิ่งที่พวกเขายอมรับไม่ได้ในปัจจุบัน แต่ก็ยืนยันว่าเธออยากใช้วิธีการพูดคุยเจรจากับจีนเพื่อทำความเข้าใจกันมากกว่าและเชื่อว่ารัฐบาลของสองประเทศอยู่ร่วมโลกกันได้ รวมถึงคำนึงถึงความต้องการของผู้คนทั้งในไต้หวัน ในจีน และในประเทศอื่นๆ แถบภูมิภาคนี้ด้วย

"สี(จิ้นผิง)ต้องการความสัมพันธ์อย่างสันติกับทุกคนในภูมิภาคนี้หรือกับโลกนี้หรือไม่ หรือเขาแค่ต้องการอยู่ในตำแหน่งอำนาจนิเพื่อให้ทุกคนฟังเขาและฟังประเทศจีน" ไช่อิงเหวินกล่าว

ขณะเดียวกันผู้นำไต้หวันก็ยังได้พูดย้ำเรื่องความสำคัญของประชาธิปไตยและยังเชื่อว่าจีนจะสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นประชาธิปไตยได้ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาสีจิ้นผิงจะใช้ระบอบอำนาจนิยมครอบงำหนักขึ้นก็ตาม

"ประชาธิปไตยอย่างครั้งมันก็วุ่นวาย ยุ่งเหยิง แล้วก็ท้าเผชิญหน้า แต่ถึงที่สุดแล้วคุณก็จะได้ค้นพบวิธีการที่ดีที่สุดในการบริหารปกครอง วิธีการที่ดีที่สุดที่จะกำหนดระเบียบทางสังคมที่จะทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ" ไช่อิงเหวินกล่าว

ภารกิจของไช่อิงเหวินในตอนนี้ก่อนที่เธอจะต้องออกจากตำแหน่งในเดือน ม.ค. 2567 คือการที่จะทำให้ไต้หวันเชื่อมต่อกับโลกไปพร้อมๆ กับการต่อสู้กับรัฐบาลอื่นที่ต้องการกีดกันไต้หวันจากเวทีโลก "ฉันหวังว่าจะได้รับการจดจำในฐานะคนที่ทำอย่างสุดความสามารถในการปกป้องที่นี่ ทำให้ที่นี่เป็นที่ๆ ปลอดภัยขึ้นและทนทานฟื้นตัวเองได้เร็วขึ้น"



เรียบเรียงจาก : 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net