Skip to main content
sharethis

เสวนาชำแหละปัญหาทำไมราคาน้ำมันแพง ภาคประชาชนจับมือเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพงเอื้อธุรกิจผูกขาดพลังงาน 'ประธานสมาพันธ์ขนส่งทางบก' ยันรัฐคุมราคาดีเซล 25 บาทต่อลิตรได้ 'รสนา' จี้รัฐเลิกกองทุน-ลดสรรพสามิตรน้ำมัน ไม่ต้องกู้เงินมาประคองราคา

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2564 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวว่า ครป. ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สถาบันสังคมประชาธิปไตย สภาที่ 3 และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดงานประชุมภาคประชาชน เสวนาชำแหละปัญหาทำไมราคาน้ำมันแพง และมาตรการแก้ปัญหาช่วยเหลือคนไทย เรียกร้องรัฐแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และที่ปรึกษาสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสมาพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการด้านพลังงาน และนายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ฯลฯ

'ประธานสมาพันธ์ขนส่งทางบก' ยันรัฐคุมราคาดีเซล 25 บาทต่อลิตรได้ จี้ลดสรรพสามิตร-ยกเลิกกองทุนพลังงาน 

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสมาพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวในเวที "เรียกร้องรัฐแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงและมาตรการช่วยเหลือคนไทย" โดยย้ำถึง ข้อเรียกร้องของสมาพันธ์ฯ ก่อนหน้านี้คือ ให้รัฐช่วยตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 25 บาท/ลิตร ,ลดภาษีสรรพสามิตลง 5 บาท/ลิตร ,ยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนพลังงานเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อลดผลกระทบธุรกิจภาคการขนส่ง และประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤติน้ำมันดีเชลได้ปรับราคาขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อต้นทุนอัตราค่าขนส่งและราคาสินค้าอุปโภค และบริโภคขึ้นตามราคาน้ำมัน

นายอภิชาติ กล่าวด้วยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศจะสืบทอดอำนาจต่อไปอีก 5 ปี แต่ไม่ชนะใจคนรากหญ้าหรือคนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ จะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะลำพังแจกกล้วยอย่างเดียวคนอาจไม่เลือก 

ส่วนการจะให้รถบริการขนส่งมวลชนหรือรถบริการสาธารณะมาขนส่งเครื่องอุปโภคบริโภคต้อนรับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ หลังจากทางสมาพันธ์ฯ ประกาศจะยุติการเดินรถหาไม่ได้รับการตอบสนองตามข้อเรียกร้องนั้น ถ้าดำเนินการจริงถือว่าผิดกฎหมายรถบริการสาธารณะมีไว้ขนคนไม่ใช่ขนเครื่องอุปโภคบริโภค หรือรถยนต์ที่จดทะเบียนบริการสาธารณะ นำไปบรรทุกสินค้านั้นผิดกฎหมาย 

จึงอยากให้ผู้มีอำนาจตอบสนองข้อเรียกร้องของสมาพันธ์เพราะเชื่อว่าสามารถดำเนินการได้ และยืนยันว่าการอิกมาเคลื่อนไหวของสมาพันธ์ฯ ไม่ได้แสดงอารยะขัดขืนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ในอาชีพตัวเองเท่านั้น แต่กำลังแสดงภาพแทนประชาชนที่เดือดร้อนด้วย เพราะถ้าประชาชนอยู่ไม่ได้ ภาคการขนส่งก็อยู่ไม่ได้ และฝากถึงประชาชนว่า อย่าให้ตนและสมาพันธ์ฯ โดดเดี่ยวถ้าอยากให้ราคาน้ำมันถูกลงต้องร่วมกันออกมาต่อสู้โดยไม่ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเดือดร้อน การติดริบบิ้น ,เปิดไฟหน้ารถ หรือแสดงเชิงสัญลักษณ์

เลขา ครป. จี้รัฐหยุดขูดรีดประชาชนโดยลดราคาน้ำมันลงให้คนไทยในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง 

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า วันนี้ ครป.ร่วมกับภาคประชาชนเรียกร้องรัฐแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง เพราะปัจจุบันมีนักธุรกิจการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์ในธุรกิจพลังงาน อย่างชัดเจน 

นักธุรกิจทั่วไปจะหาทางมีส่วนแบ่งตลาดเศรษฐกิจ GDP ของประเทศ แต่นักธุรกิจการเมือง จะหาผลประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจของประเทศที่มีมูลค่ารวมมากกว่า 14 ล้านล้านบาท และจะหาผลประโยชน์ในงบประมาณแผ่นดินภาครัฐที่มีมูลค่าถึงปีละ 3 ล้านล้านบาท จึงนำมาซึ่งการทุจริตคอรัปชั่นร่วมกับนักการเมืองและข้าราชการในการจัดซื้อจัดจ้าง และการโยกย้ายถ่ายโอนทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน รวมถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 

ที่เคยเกิดขึ้นก็คือ ปตท. ที่แปรทรัพย์สินของส่วนรวม 49% ให้เอกชนร่วมรับผลประโยชน์ ส่วนสินทรัพย์ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นท่อส่งก๊าซในอ่าวไทยที่ต้องส่งคืนให้รัฐถือกรรมสิทธิ์ก็ยังคงค้างอยู่ 

ที่ผ่านมามีการพยายามปฏิรูปแปรรูป กฟผ. การบินไทย และการรถไฟ ก็เพื่อให้เอกชนหาผลประโยชน์เช่นกัน ไม่ว่าจะในรูปของการสัมปทาน การแปรรูป และสัญญาร่วมทุนในปัจจุบัน

ปัจจุบันรัฐบาลประยุทธ์ ขูดรีดประชาชนโดยภาษีและการขึ้นราคาน้ำมันที่มีราคาแพงมาก รายได้จากภาษีน้ำมันของไทยนั้นมีมากกว่า 2.3 แสนล้านบาทต่อปีในรัฐบาลประยุทธ์ซึ่งสูงกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา เพราะต้องการขูดรีดประชาชนไปใช้จ่ายบำรุงรัฐบาลที่ขาดสภาพคล่องและกู้เงินจำนวนมหาศาลที่กำลังจะทะลุเพดานเงินกู้ในปัจจุบัน การขูดรีดในราคาน้ำมันนี้ก็เพื่อผลประโยชน์เข้ารัฐ 51% เพื่อรัฐบาลนำมาใช้จ่ายในช่วงฝืดเคือง แต่อีก 49% ของกำไรทั้งหมดนั้นเพื่อเอกชนนักธุรกิจพลังงานที่ถือหุ้นอยู่

จริงๆ แล้ว การลดราคาน้ำมันสามารถทำได้เลยเพราะรัฐถิอหุ้นอยู่มากกว่าครึ่ง โดยการหักภาษีที่ไม่จำเป็นและซ้ำซ้อนออกไป เช่น ลดภาษีสรรพสามิตรและภาษีมูลค่าเพิ่มลง รวมถึงยกเลิกค่าการตลาดของผู้ค้าและภาษีมูลค่าเพิ่มค่าการตลาด รวมถึงยกเลิกกองทุนน้ำมันออกไปเสีย เพราะน้ำมันไม่ต้องมีการโฆษณาและค่าการตลาดก็สามารถขายได้ แต่ที่ไม่ลด ไม่ยกเลิกเพื่อผลประโยชน์ใคร

ก่อนการรัฐประหารในปี 2557 ราคาก๊าซหุงต้มอยู่ที่ 10.80 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันราคา 22.62 บาทต่อกิโลกรัมไปแล้ว รวมถึงการที่มีมติ กพช. 2/2557 หลังการรัฐประหารกำหนดให้ประเทศไทยใช้แก๊ส LPG ในราคานำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย ใครได้ประโยชน์บ้าง

ประเทศไทย โดย ปตท. ผลิตน้ำมันเองได้แต่ใช้ราคาอ้างอิงที่ตลาดสิงคโปร์ มีการส่งออกทางบัญชีแค่ตัวเลขแล้วนำเข้ามา โดยน้ำมันยังไม่ส่งออกไปจริงแล้วกลายเป็นราคานำเข้า นี่คือการพยายามทำธุรกิจพลังงานอย่างถูกต้องหรือไม่กับพลังงานที่ควรเป็นทรัพยากรของชาติ และอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมปตท. ต้องไปตั้งบริษัทลูกที่หมู่เกาะเวอร์จิน ไอส์แลนด์ เพื่อเลี่ยงภาษี 

จริงๆ แล้วการอ้างอิงราคา ตลาดโลกควรเป็นเฉพาะการส่งออกเท่านั้น ส่วนราคาที่ขายภายในประเทศควรเป็นราคาที่เป็นธรรม เพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ปตท.อ้างว่าผลิตไม่พอจึงต้องนำเข้าและใช้ราคากลาง แต่ทำไมมีตัวเลขการส่งออกขายต่างประเทศมากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี

ทำไมรัฐบาลจะเข้าไปกำกับราคาน้ำมันที่เป็นธรรมเพื่อให้ประชาชนภายในประเทศได้ประโยชน์ เหมือนเช่นที่ บรูไน มาเลเซีย ไม่ได้ ประเทศไทยมีหลุมขุดเจาะน้ำมันมากกว่ามาเลเซียมากกว่า 7 เท่า และผลิตน้ำมันได้มากกว่าพม่า และยังส่งออกขายได้อีกหลายแสนล้านบาทต่อปี ทำไมจะหยุดทำกำไรให้เอกชนแล้วหันมาขายให้คนไทยในราคาที่เป็นธรรมไม่ได้ โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเพื่อช่วยเหลือคนในชาติและฟื้นฟูเศรษฐกิจ กระทรวงพลังงานอ้างว่าเราขึดได้น้อยกว่ามาเลเซียแต่ทำไมมีข่าวการจับน้ำมันเถื่อนได้จำนวนมหาศาล 

มีการคอร์รัปชั่นภายในกระทรวงพลังงานใช่หรือไม่ กระทรวงพลังงานและ ปตท. มีธรรมาภิบาล โปร่งใสและตรวจสอบได้จริงหรือไม่ ทำไมแม้แต่กรรมการอิสระที่ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการตรวจสอบต้องลาออก และบางบริษัทลูกถึงไปเปิดในหมู่เกาะเวอร์จิ้นไอร์แลนด์เพื่อเลี่ยงภาษี

ขอเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดขูดรีดประชาชน หยุดทำกำไรให้นักธุรกิจพลังงานเถอะครับ หันมาขายน้ำมันราคาถูกให้คนไทยในวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ 

'รสนา โตสิตระกูล' จี้รัฐเลิกกองทุน-ลดสรรพสามิตรน้ำมัน ไม่ต้องกู้เงินมาประคองราคา 

นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. กล่าวในเวที "เรียกร้องรัฐแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงและมาตรการช่วยเหลือคนไทย" โดยระบุถึง 'กองทุนน้ำมัน' ที่มีผลกับโครงสร้างราคาน้ำมัน คาบเกี่ยวกับทั้งน้ำมันชีวภาพและน้ำมันจากซากฟอสชิลทั่วไป โดยเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแผนในการนำเงินกองทุนน้ำมัน ที่นำไปชดเชยน้ำมันชีวภาพ หรือ ก๊าซ LPG ส่วนใหญ่ โดยต้องลดจำนวนเงินที่อุดหนุนลง เพราะเงินในกองทุนน้ำมัน รีดมาจากผู้ใช้ 'น้ำมันเบนซิน' 

ส่วนราคาน้ำมันที่คาบเกี่ยวกับน้ำมันดิบในประเทศไทยและที่นำเข้าจากต่างประเทศรวมถึงการทำโรงกลั่นนั้น การคิดราคาน้ำมันของไทยเทียบจากต่างประเทศอย่างสิงคโปร์ ซึ่งราคาแพงเกินจริง ไม่ใช่ราคาหน้าโรงกลั่นที่ถูกกว่ามาก ขณะที่น้ำมันในไทยผลิตเพื่อขายในประเทศและส่งออก 

นางสาวรสนา ย้ำข้อเสนอว่า นอกจากต้องลดเงินจากกองทุนน้ำมันไปอุดหนุนพลังงานชีวภาพลงแล้ว ผู้มีอำนาจต้องลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันจาก 6 บาทลงให้เหลือ 5 บาท ก็จะสามารถช่วยประคองค่าน้ำมันไม่ให้สูงเกินไปได้ โดยไม่ต้องเอาเงินจากกองทุนน้ำมัน ที่ส่วนใหญ่มาจากผู้ใช้เบนซินหรือไม่ต่องกู้ยืมมาเพื่อประคองค่าน้ำมัน 

พร้อมสำทับว่า ถ้ารัฐบาลมองเศรษฐกิจภาพรวม ต้องไม่ทำให้ธุรกิจพลังงานเติบโตอย่างเดียว โดยยกรายได้ไตรมาส 2 ปีนี้ราว 5.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ธุรกิจอื่นๆซบเซาจากสถานการณ์โควิค-19 แต่ธุรกิจพลังงานหรือน้ำมันไม่กระทบ ซึ่งมีคำถามกับกองทุนน้ำมันด้วยว่า เป็นกองทุนกำไรให้ธุรกิจน้ำมันหรือไม่ด้วย

'วิวัฒน์ชัย อัตถากร' ชี้น้ำมันแพงเพราะกฎหมายที่เอื้อนายทุน ขณะที่ผู้มีอำนาจทุกยุคทำเป็นทองไม่รู้ร้อน

รองศาสตราจารย์ วิวัฒน์ชัย อัตถากร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สังคม กล่าวในเวที "เรียกร้องรัฐแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงและมาตรการช่วยเหลือคนไทย" โดยระบุว่า พลังงานเป็นเรื่องใหญ่ที่ซับซ้อน มีความพิสดารทั้งแง่กฎหมายและวิชาการ และเมื่อราคาน้ำมันแพงผู้ได้นับผลกระทบมากที่สุดคือคนชั้นล่าง และนำมันที่ราคาน้ำสูงเกินจริง เพราะถูกปั่นกำไรในตลาดหุ้นเป็นการบิดเบือนราคาและไม่เป็นธรรมต่อคนไทย นอกจากนี้ยังมีการทุจริตไม่โปร่งใสในการดำเนินการต่างๆด้านพลังงาน ที่สำคัญภาครัฐยังปกปิดข้อมูลและเบี่ยงประเด็น หรือปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน 

ส่วนราคาน้ำมันที่แพงกว่าที่ควรจะเป็นเกิดจากการวางนโยบายที่ผิดพลาดมาจากอดีตหลายรัฐบาลและถูกซ้ำเติมจากโควิด-19 ในห้วงที่ผ่านมา ทั้งจากกฎหมายปีโตรเลียม ประกาศและคำสั่งของผู้มีอำนาจแต่ละยุค รวมถึงระบบสัมปทาน เป็นระบบของประเทศอาณานิคมตะวันตกที่นำมาใช้กับเมืองขึ้น กฎหมายพลังงานของรัฐไทยจึงเสียท่าให้กับฝรั่งตั้งแต่ต้น 

ขณะที่การรัฐประหารของ คสช.สังคมรับรู้ว่าล้มเหลวหลายด้าน ส่วนตัวเห็นว่า คสช.ล้มเหลวมากที่สุดคือด้านเศรษฐกิจ สาเหตุสำคัญหนึ่งเพราะไม่ปฏิรูปพลังงาน หลังการเลือกตั้งปี 2562 กลายมาเป็นเผด็จการแปลงร่าง ก็ไม่ได้แก้ไขในส่วนที่ทำให้ประชาชนและประเทศไทยเสียเปรียบต่างชาติ แต่มีการแก้ไขกฎหมายอย่างล่าสุดปี 2560 ก็เพียงเล็กน้อย เนื้อหาหลักกลับเอื้อประโยชน์ให้นายทุนผูกขาด

รองศาสตราจารย์วิวัฒน์ชัย ยืนยันว่า รัฐคือเจ้าของปัจจัยการผลิตคือน้ำมัน การออกกฎหรือให้สัมปทานแก่เอกชนที่ผ่านมาเหมือนการนำทรัพยากรไปไว้ในอ้อมกอดของนายทุน ส่วนประชาชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรน้ำมันตั้งแต่ต้นต้องแบกรับราคาที่แพง ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์และในศีลธรรมและธรรมาภิบาล

รองศาสตราจารย์ วิวัฒน์ชัย อัตถากร ระบุด้วยว่า ผู้มีอำนาจเหมือนไม่ยินดียินร้ายกับราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ทั้งที่ประเทศไทยจะเจอมรสุมเศรษฐกิจหลายทิศทาง เป็นวิกฤตหนักในอนาคตที่มีต้นเหตุสำคัญและถูกซ้ำเติมหนักจากเรื่องราคาพลังงาน ทั้งภาวะเงินเฟ้อ ,ข้าวของแพงขึ้น คนไม่มีกำลังซื้อและภาวะตกงาน 

พร้อมเสนอ 1) การสร้างแรงกระเพื่อมทางปัญญาให้ประชาชนตื่นตัวและเข้าถึงข้อมูลนโยบายน้ำมันและพลังงาน กับ 2) ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ต้องส่งเสริมและสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีนโยบายปฏิรูปกฎหมายน้ำมันประชาชนอย่างจริงจัง ไม่เอื้อประโยชน์หรือกล้าชนกับทุนผูกขาด 

ม.ล.กรกสิวัฒน์ สอนมวย “รัฐ” อยากกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องลดภาษี อย่าอุ้ม “กองทุนน้ำมัน” 

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวว่า สิ่งที่รถบรรทุกขอ 25 บาทไม่ใช่เรื่องยากแต่จะทำหรือไม่ ปัญหาราคาน้ำมันเมื่อปี 57 ตุลาคมกับปีนี้ ( 2564) เทียบราคาเพราะเห็นว่าราคาน้ำมันดิบเท่ากัน ความจริงหน้าโรงกลั่นของไทยยังแพงเพราะเราสมมุติว่า โรงกลั่นของไทยไปตั้งอยู่สิงคโปร์ ทั้งที่ตั้งอยู่ที่ไทยเมื่อบวกค่าขนส่ง น้ำมันสำเร็จรูป ทั้งที่เราตั้งอยู่ระยองและศรีราชา ถามว่าไปบวกทำไมนั่นคือส่วนของค่าโรงกลั่น

ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องภาษีเก็บ 5- 6 บาทกว่า ถามว่าลดได้หรือไม่ต้องลดได้ เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาลทำได้ ในเมื่อประกาศว่าเราเปิดประเทศจะให้ไปเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มาเก็บตั้งแต่ต้นทาง ก็เท่ากับปรามเศรษฐกิจให้เบาลง ถ้าจะกระตุ้นก็ต้องลดภาษีไม่ใช่เพิ่มภาษี มันขัดแย้งกันนี่คือปัญหา 

“ถ้ารัฐบาลอยากจะกระตุ้นเศรษฐกิจต้องเป็นเรื่องของรัฐโดยตรง ที่ต้องจัดการได้ทันที เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการพลังงานของชาติ รัฐสามารถจัดการเองได้ และรัฐบาลชุดนี้เก็บภาษีสูงกว่ารัฐบาลอื่น คุณเป็นแชมป์เหนือแชมป์ของทุกรัฐบาลที่เก็บภาษีน้ำมัน ถ้าอยากกระตุ้นเศรษฐกิจคุณจะต้องลดภาษี จะได้ไม่ต้องเอากองทุนน้ำมันมาอุ้ม ทำไมนโยบายไทยไม่ทำอะไรให้มันตรงไปตรงมา ไม่ได้บริหารจัดการยาก ทำให้ประชาชนเป็นผู้รับภาระทำไม”

ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนก๊าซแอลพีจีสมมุติว่าไป ตั้งอยู่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นเรื่องที่ถ้าเราผู้บริโภคไม่เรียกร้องก็หวานหมูเสร็จเขา กลายเป็นผู้ที่ได้รับราคาที่ไม่เป็นธรรม ปัญหากองทุนน้ำมันยังไงก็ลุกลาม ส่วนน้ำมันไปใช้ราคาเหมือนนำเข้าจากสิงคโปร์ทั้งที่เรานำมาจาก จ.ระยองและศรีราชา ถ้าเราไม่แก้เราจะแพ้มาเลเซียและอีกหลายประเทศ เพราะอยู่ในโหมดที่กระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนกัน แต่ราคาน้ำมันเขาไม่แพง เขาทำเพื่อให้เศรษฐกิจไปได้ แต่ผู้ส่งออกในอาเซียนมีแค่ไทยกับสิงคโปร์เท่านั้น ประเทศอื่นเป็นผู้นำเข้าหมด แต่ราคาเขากลับดีกว่าเรา

ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า สุดท้ายวันนี้ปัญหาอยู่ที่จะแก้หรือไม่แก้มากกว่า และปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องของความไม่รู้นั้นไม่ใช่ เพียงแต่ว่าผลประโยชน์วันนี้ตกอยู่กับใคร แต่ที่แน่นอนไม่ตกอยู่กับประชาชน และผลประโยชน์เหล่านี้ตกอยู่กับใคร ใครได้เปรียบทำไมรัฐบาลไม่คิดแก้ให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันถูกที่สุดสุ ดท้ายที่ประชาชนคนไทยจะต้อง สร้างภูมิคุ้มกันด้วยการศึกษาหาข้อมูลราคาน้ำมันจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และที่ปรึกษาสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า ตอนนี้เราถูกฝ่ายการเมืองที่ทำให้ประชาชนหลงเชื่อไม่สอดคล้อง กับความเป็นจริงทุกอย่างลำบาก แล้วจะถูกหลอกต่อไปหรือเปล่า ตนเห็นว่าภาคแรงงานและภาคเกษตร ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับผลกระทบจากน้ำมัน ทั้งที่ชีวิตจำวันของทุกคนก็ประสบปัญหา ตนคิดว่าน้ำมันอยู่ในมือของกลุ่มทุนทั้งหมด รัฐถือไว้ 51% อยากถามว่าถือไว้เพื่ออะไรและมีวิธีการต่างๆเพื่อบิดเบือน

“วันนี้ราคาน้ำมันสูงขึ้นทุกอย่างก็ราคาสูงขึ้นตามมา ขณะที่คนตกงานรัฐบาลก็ไม่มีรับผิดชอบ ทิศทางของประชาชนจะไปอย่างไร ความจริงเราไม่เห็นด้วยกับการแปรรูปนานแล้ว ต้นทุนผูกขาดพลังงานใน 1-2 ปีที่ผ่านมาสูงมาก วันนี้ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นกระทบกับราคาสินค้าที่สูงขึ้น ในขณะที่ประชาชนไม่มีรายได้ ไม่มีอาชีพในขนาดนี้ ภาวะการขูดรีดประชาชน มาเจอกับสถานการณ์โควิดก็มาเจอกับการฟื้นฟูและมีการดำเนินไปแจกก็ไม่รู้ว่าจะแจกอีกเมื่อไหร่เราต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้อาชีพ

นายสาวิทย์ กล่าวว่า ข้อเสนอของตนคือระยะแรกทำอย่างไรให้ราคาน้ำมันลดลง เชื่อว่าราคาลดลงได้มากกว่านี้ ส่วนวิธีการจะทำอย่างไรก็จะต้องขบคิดกัน รัฐมีหน้าที่ในการทำนโยบายให้เราอยู่ดีกินอิ่มนอนอุ่น ไม่ทำหน้าที่ประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะบอก นอกจากนี้ ระยะปานกลางเป็นไปได้หรือไม่ในอนาคตข้างหน้า ต้องกำหนดว่าเรื่องพลังงานไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า , น้ำมันหรือก๊าซ รัฐจะต้องเข้าไปดูแลไม่น้อยกว่า 50% เพื่อเป็นความมั่นคงเรื่องพลังงานในประเทศ ไม่เช่นนั้นกิจการของรัฐทั้งหมดจะไปถูกยึดโยงโดยเอกชนทั้งหมด เพราะปัญหาคือฝ่ายรัฐไปสมคบคิดกับฝ่ายทุน จึงทำให้กิจการของรัฐทั้งหมดไปตกอยู่กับพี่กลุ่มทุน

นายสาวิทย์ กล่าวว่าระยะยาวต้องคิดว่าต้องมาคุยกัน ในเรื่องของการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเศรษฐกิจ ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ประชาชนต้องมีสิทธิส่วนตัวในการกำหนดอนาคตของตัวเองด้วย ตนเคยเสนอมานานแล้วแต่ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาปฏิบัติ

“เห็นแต่ละพรรคการเมืองหยิบยกกันเรื่อง ว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค เป็นเลขาธิการพรรค พูดถึงแต่เรื่องอำนาจแต่เรื่องของประชาชนไม่ได้รับการพูดถึง ดังนั้นต่อจากนี้ไปประชาชนต้องสามัคคีกัน ให้รัฐทำเรื่องปากท้องประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ต้องรอเงินแจก ถ้าเราทำให้ราคาน้ำมันและพลังงานถูกลง ก็จะไปลดต้นทุนและรายจ่ายของภาคประชาชนด้วย”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net