Skip to main content
sharethis

'สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน' และ 'มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา' ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลไทยยกระดับปฏิบัติการต่อขบวนการค้ามนุษย์ที่ชายแดนไทย-พม่า คาดโทษหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐที่พัวพันทุกคน


การจับกุมชาวพม่า 189 คน กลางป่าที่ลอบข้ามชายแดนเข้าไทยที่ ต.ศรีมงคล อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี | ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

30 ต.ค. 2564 สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ออกแถลงการณ์ 'เรียกร้องรัฐบาลไทยยกระดับปฏิบัติการต่อขบวนการค้ามนุษย์ที่ชายแดนไทย-พม่า คาดโทษหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐที่พัวพันทุกคน' โดยระบุว่าประเทศไทยยังแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ตลอดแนวชายแดนไทย-พม่า ที่นำแรงงานพม่า และชาวโรฮิงญา เข้ามาฝั่งไทยอย่างผิดกฎหมายไม่ได้เสียที ทั้งที่รู้ว่ามีขบวนการ 3 ประสานร่วมมือกันกระทำผิด เป็นนายหน้าค้ามนุษย์ที่อยู่ฝั่งพม่าและ ฝั่งไทย ประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่หากินอยู่กับการค้าขายมนุษย์บนผลประโยชน์ร่วมกันมาเป็นเวลานาน  

ข่าวและภาพการรวบหนุ่มสาวชาวพม่า 189 คน กลางป่าที่ลอบข้ามชายแดนเข้าไทยที่ ต.ศรีมงคล อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เพื่อจะลอบเข้ามาทำงานในพื้นที่ชั้นใน เป็นสถานการณ์น่าสลดใจ และสัญญาณที่น่ากังวลใจอย่างยิ่ง เพราะคนวัยแรงงานดังกล่าวกำลังประสบชะตากรรมที่บ้านตนเอง ทั้งภัยการเมือง เศรษฐกิจ โรคระบาด จนต้องมาจบลงที่การสูญเสียเงินจ่ายค่าหัวให้นายหน้าไป 17,000 – 20,000 บาท โดยไม่ทราบว่าคนเหล่านั้นมีผู้ต้องการลี้ภัยการเมืองรวมอยู่ด้วยหรือไม่

ภาพและเหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นการทะลักเข้ามาของคนพม่าได้เกิดขึ้นจริงตามที่คาดการณ์ไว้แล้วและอาจจะดำเนินการลักลอบกันต่อไปอย่างไม่ขาดสายตามแนวเส้นทางธรรมชาติ หากการแก้ปัญหายังไม่เป็นไปอย่างบูรณาการ ไม่มีการตั้งรับที่ดี ประเทศไทยคงจะหลีกเลี่ยงการถูกตั้งคำถามต่อภาพพจน์ที่ปล่อยให้มีการค้ามนุษย์และการคอรัปชั่นจากอาเซียนและจากนานาชาติไปไม่ได้ จึงมีข้อเสนอเร่งด่วนดังต่อไปนี้

1. นอกจากจะมุ่งเน้นการดำเนินคดีคนเมียนมาในความผิดฐานลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต (พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522) และฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรีแล้ว ขอให้ดำเนินความผิดอาญาที่ถือว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรง และผิดวินัยร้ายแรงกับผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยอย่างจริงจังเสียที เพื่อยุติวงจรการค้ามนุษย์ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐอิงแอบรับผลประโยชน์ คอยเปิดทางให้นายหน้าหรือคนกลางลักลอบนำคนเข้ามา ให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินและเส้นทางการเงินกับเจ้าหน้าที่ทุกคน และให้ไล่ออกเพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่างอีกต่อไป

2. ให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าด้านมนุษยธรรมสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ล่าสุดทั้งหมด ทั้งด้านอาหาร และยา รวมทั้งกำหนดให้มีการตรวจเชื้อโควิดด้วยการวัดอุณหภูมิ และได้รับการตรวจด้วยชุด ATK ทุกคน

3. ก่อนการผลักดันให้ผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายกลับสู่ประเทศพม่า ควรมีการสัมภาษณ์คัดกรองเพื่อแยกผู้ที่แสวงหาที่พักพิง (Asylum Seekers) หรือผู้ลี้ภัยการเมือง ออกจากกลุ่มเพื่อให้มั่นใจว่าคนเหล่านี้จะไม่กลับไปเผชิญอันตรายในประเทศต้นสังกัด (non-refoulement)

4. ขอให้ประเทศไทยเคารพอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ที่ประเทศสมาชิกได้ให้การรับรองเมื่อปี พ.ศ. 2547  และขอให้ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน (OHCHR) รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ลงไปตรวจสอบความเป็นอยู่ของผู้ถูกจับกุม ห้องกักขังทุกแห่ง สอบถามปัญหา หารือกับรัฐบาล หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรม

5. ขอให้นายกรัฐมนตรีของไทยหยิบยกประเด็นการค้ามนุษย์ระหว่างไทย-พม่า เป็นวาระสำคัญในการกดดันให้ผู้นำทหารนำโดยพลเอกมินอ่องหล่าย คืนอำนาจแก่ประชาชนโดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจภายใน และประเทศไทยควรนำประเด็นดังกล่าวขึ้นสู่การพิจารณาของอาเซียน เพื่อขอความร่วมมืออย่างจริงจังรวมถึงการแก้ปัญหาการค้าเด็ก สตรี และชาวโรฮิงญาด้วยโดยเร็ว

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการแก้ปัญหาของทุกหน่วยงานจะเป็นไปอย่างบูรณาการ ไม่ประวิงเวลา ปล่อยคนผิดลอยนวล และเป็นปฏิบัติการบนพื้นฐานของมนุษยธรรม ที่เคารพสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net