Skip to main content
sharethis

ซีรีส์ที่สะท้อนความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจอย่าง 'สควิดเกม' กลายเป็นที่นิยมและพูดถึงกันทั่วโลก ชวนให้มองและวิเคราะห์กระแสเกาหลีที่มีเนื้อหาแบบวิจารณ์ทุนนิยมอย่างภาพยนตร์ 'ชนชั้นปรสิต' แต่ตัวมันเองจะกลายถูกฉวยเป็นเครื่องมือโดยนักทุนนิยมเองหรือไม่ หลังจากที่นักลงทุนเริ่มหันมาหาเนื้อหาเหล่านี้จากเกาหลีใต้


ที่มาภาพประกอบ: Marco Verch (CC BY 2.0)

ก่อนหน้านี้ในปี 2549 นักวิจารณ์เคยเย้ยหยันความคิดของบริษัทบันเทิงเกาหลีใต้ CJ E&M ที่บอกว่าอีกไม่นานโลกจะต้องหันมารับชมภาพยนตร์เกาหลีใต้ 2-3 เรื่องต่อไป ทานอาหารเกาหลี 1-2 ครั้งต่อเดือน ดูซีรีส์ดราม่า 1-2 เรื่องต่อสัปดาห์ และฟังเพลงเกาหลีใต้ 1-2 เพลงต่อวัน

แต่หนึ่งในความฝันของบริษัทนี้ก็น่าจะเป็นจริงแล้วจากการที่ละครซีรีส์เรื่อง "สควิดเกม" หรือในชื่อไทยคือ "สควิดเกม เล่นลุ้นตาย" ได้กลายเป็นกระแสพูดถึงทั่วโลก โดยที่ซีรีส์นี้ฉายทางเว็บชมภาพยนตร์ออนไลน์ที่มีเข้าถึงได้จาก 94 ประเทศ

ขณะที่กระแสวัฒนธรรมเกาหลีอาจจะเข้าถึงชาวตะวันตกได้ตั้งแต่ช่วงปี 2555 ที่มีวิดีโอกังนัมสไตล์เป็นที่นิยม แต่ในบางประเทศในเอเชียเช่นในจีนก็ได้รับกระแสวัฒนธรรมเกาหลีมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้วเช่นละครเรื่อง "แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง" ที่เคยฉายครั้งแรกในไทยเมื่อปี 2548

อย่างไรก็ตามกระแสเกาหลีใต้ในประเทศจีนที่เกิดขึ้นช่วงไล่เลี่ยกับไทยก็เกิดประสบปัญหาในปี 2553 หลังจากเกิดเหตุแฟนเพลงวงบอยแบนด์ซูเปอร์จูเนียร์เหยียบกันจนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลจีนต่อว่าทั้งกระแสเกาหลีและทั้งแฟนๆ ที่พวกเขาหาว่า "ถูกล้างสมอง" นอกจากนี้การเมือง-ความมั่นคงระหว่างประเทศเกาหลีใต้กับจีนก็เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบมาถึงการบริโภควัฒนธรรมป็อบเกาหลีในจีนจากกรณีที่เกาหลีใต้ตัดสินใจซื้อระบบต่อต้านขีปนาวุธพื้นที่สูงที่เรียกว่า THAAD จากสหรัฐฯ ในปี 2559 ทำให้จีนสั่งแบนการนำเข้าจากเกาหลีใต้

ถึงแม้กลุ่มหัวแข็งในรัฐบาลจีนจะทำให้เกาหลีใต้ถูกกีดกันจากตลาดจีน แต่เกาหลีใต้ก็หันไปหาตลาดโลกแทนเพื่อลดการพึ่งพิงจีน ทำให้พวกเขาจัดวางตัวเองให้กลายเป็นแหล่งเทรนด์การบริโภควัฒนธรรมและเทคโนโลยีสำหรับชาวโลกไปพร้อมๆ กับภาพของความเป็นทุนนิยมและบริโภคนิยมสมัยใหม่

ขณะเดียวกันสิ่งที่สะท้อนตัวเองของเกาหลีใต้เหล่านี้ก็ปรากฏในภาพยนตร์อย่าง "ชนชั้นปรสิต" (Parasite) ที่ได้รับรางวัลออสการ์และเรื่องที่กำลังเป็นที่พูดถึงตอนนี้อย่าง "สควิดเกม" ที่ทั้งสองเรื่องต่างก็พูดถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจโลกและความกลวงของระบบที่เรียกตัวเองว่าระบบแบบใครดีใครได้หรือ Meritocracy

ขณะที่เรื่องราวเหล่านี้มีการวิพากษ์วิจารณ์สังคมได้ทรงพลังมันก็ยังเป็นสิ่งที่ทำเงินได้มหาศาลด้วย โดยที่พาราไซต์กวาดรายได้ไป 259 ล้านดอลลาร์ (ราว 8,619 ล้านบาท) ขณะที่ข้อมูลเน็ตฟลิกระบุว่าสควิกเกมสร้างรายได้ 900 ล้านดอลลาร์ (ราว 29,950 ล้านบาท) เทียบกับสิ่งส่งออกทางวัฒนธรรมที่สร้างรายได้ให้กับเกาหลีใต้มหาศาลมากคือวงบอยแบนด์ชาย BTA ที่ทำรายได้ 5,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 166,390 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของจีดีพีเกาหลีใต้

กระนั้นก็ตามจะมองแค่ความหล่อความสวยของวงเคป็อบอย่างเดียวก็คงจะไม่ใช่ นิคเคอิระบุว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลต่อความสำเร็จของเคป็อบเหล่านี้คือเนื้อหาของเพลงพวกเขายังจับใจกลุ่มช่วงวัยที่เรียกว่าเอ็นโพเจเนอเรชั่น (N-Po) หรือคนรุ่นที่สิ้นหวังกับหลายด้านในชีวิตซึ่งในปัจจุบันมักจะเป็นคนช่วงอายุวัยเลข 20 หรือวัยเลข 30 ผู้คนวัยนี้ต่างก็เลิกหวังทั้งเรื่องการงาน เรื่องชีวิตคู่ เรื่องการแต่งงาน และเรื่องการมีบ้านเป็นของตนเองเพราะปัญหาราคาสินทรัพย์เพิ่มสูง การขาดโอกาสในหน้าที่การงาน และบรรยากาศการแข่งขันที่ตึงเครียดอย่างมากของเกาหลีใต้เอง

ขณะเดียวกันนิคเคอิก็ตั้งข้อสังเกตว่าแทนที่เนื้อหาของเพลงเคป็อบสำหรับคนรุ่นสิ้นหวังจะเอนไปในทางโลกมืดในแบบของศิลปินหรือเหล่าผู้มีชื่อเสียงในโซเชียลของสหรัฐฯ เคป็อบกลับทำให้ตัวเองเป็นบทเพลงและศิลปินเพื่อการเยียวยา เช่น อัลบั้มรวมเพลงที่ชื่อ Love Yourself ของ BTS ก็ถูกส่งเสริมว่าเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น

นอกจากนี้การที่กลุ่มเคป็อบเหล่านี้เน้นเรื่องค่านิยมที่มีร่วมกันยังทำให้สร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมแบบชุมชนและกลายเป็นสิ่งที่บริษัทเกาหลีใต้หาเรื่องทำเงินจากมันได้อีก เช่นแฟนคลับ ARMY ที่มีจำนวนแทบจะเท่ากับประชากรเกาหลีใต้ และแอพพลิเคชัน Weverse ที่เป็นแอพชุมชนแฟน BTS ก็ทำรายได้ต่อเดือนมากกว่าโปรแกรมฟังเพลงสปอตติฟายประมาณเกือบ 15 เท่า

ถึงแม้ว่าจะมีการข้อวิจารณ์เรื่องการทำให้เป็นสินค้า ความเป็นทุนนิยม ต่อวงเคป็อบเหล่านี้เช่น BTS ที่ถูกนักวิจารณ์บอกว่ามีอยู่ไม่ใช่เพื่อรับใช้วัฒนธรรมเกาหลีใต้แต่เพื่อหาเงินจากเด็กสาวเข้ากระเป๋าตัวเองเท่านั้น แต่ BTS ก็ออกเพลงที่ชื่อ Idol เพื่อโต้ตอบข้อวิจารณ์เหล่านี้ นักวิเคราะห์จากนิคเคอิเองก็ระบุถึงกลุ่มแฟนคลับอย่าง ARMY ว่าเป็นกลุ่มที่ตอบสนองความต้องการทางจิตใจของคนรุ่นใหม่ที่ขาดความสำเร็จแบบคนรุ่นก่อนหน้านี้ในชีวิตได้ นอกจากนี้ยังสร้างชุมชนเชิงอัตลักษณ์ร่วมแบบที่ข้ามพรมแดนประเทศได้จนทำให้เกาหลีใต้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงจีน

อีกทั้งยังมีการประเมินว่านักลงทุนต่างๆ ก็เริ่มหันมาสนใจเนื้อหาเกาหลีใต้กันมากขึ้นแม้แต่เน็ตฟลิกเองก็ประกาศจะลงทุนเพิ่มหลายร้อยล้านดอลลาร์กับเนื้อหาเกาหลีใต้ ทำให้สร้างภาพที่ดูขัดแย้งกันในตัวเองจากที่เนื้อหาดังๆ เหล่านี้สะท้อน เยียวยา วิพากษ์วิจารณ์สังคมทุนนิยมหรือไม่ นักวิเคราะห์ของนิคเคอิ อลิซ หวัง ระบุว่าเธอประเมินว่าเกาหลีใต้จะทำเนื้อหาที่แตกแขนงออกไปมากกว่าเรื่องการวิพากษ์ชนชั้นและเคป็อบลูกกวาด บางครั้งอาจจะมาเอาดีในแง่เพลงร็อคอย่างวง "ฮยอกโอ" ก็ได้


เรียบเรียงจาก
'Squid Game' shows hard economics of South Korea's soft power, Alice Wang, Nikkei Asia, 29-10-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net