ตร.โคราชเข้าแจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ‘เบนจา’ ในเรือนจำ เหตุจากคาร์ม็อบ ‘โคราษฎร์ปฏิวัติ’

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผย ตร.โคราชเข้าแจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ‘เบนจา’ ในเรือนจำ เหตุจากคาร์ม็อบ ‘โคราษฎร์ปฏิวัติ’ แต่ไม่ระบุพฤติการณ์กระทำผิด - สรุปสถิติผู้ถูกจับ/ถูกควบคุมตัวจากการชุมนุมและกิจกรรมทางการเมือง ตั้งแต่ ส.ค.-30 ต.ค. 2564 มีรวมกันไม่น้อยกว่า 753 ราย 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าวันที่ 27 ต.ค. 2564 พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา เดินทางไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เข้าแจ้งข้อหาชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับเบนจา อะปัญ นักกิจกรรมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กรณีคาร์ม็อบโคราช เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2564 โดยขณะนี้เบนจาถูกคุมตัวในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค. 2564 หลังถูกจับกุม ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ ที่หน้าบริษัทซิโน-ไทย โดยที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่อนุญาตให้ประกันตัว 

เวลา 9.30 น. ทนายความและ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เพื่อนนักกิจกรรม ในฐานะผู้ไว้วางใจ เดินทางไปรออยู่บริเวณห้องอาคารเยี่ยมผู้ต้องขังเพื่อร่วมรับฟังการสอบสวน  แต่รอจนกระทั่ง 11.00 น. กระบวนการจึงได้เริ่มต้น โดยทั้งพนักงานสอบสวน ทนายความ และรุ้ง มองเห็นเบนจาผ่านวีดีโอคอลของแอปพลิเคชั่นไลน์ เนื่องจากเบนจายังอยู่ในช่วงระหว่างกักตัว จึงไม่สามารถเบิกตัวออกมาได้

ร.ต.อ.พีระกิตต์ หาญเวช พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์คดีว่า วันเกิดเหตุ มกรพงษ์ ผู้ต้องหาที่ 1 แกนนำกลุ่ม Korat Movement ขึ้นปราศรัยบนรถยนต์เคลื่อนขบวนมาจากทางตลาดเซฟวัน โดยมีผู้ต้องหาที่ 2-10 นำมวลชนมาจากสถานที่ต่างๆ เคลื่อนขบวนมายังลานจอดรถหน้าศาลากลางจังหวัด จากนั้น ผู้ต้องหาที่ 1-10 ซึ่งเป็นแกนนำ สับเปลี่ยนกันขึ้นเวทีเพื่อปราศรัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล, เรียกร้องให้ประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาล สลับกับการแสดงดนตรีสด และมีการจุดไฟเผาหีบไม้ ร้องเพลง และจุดพลุ ก่อนยุติกิจกรรม โดยกิจกรรมดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดแต่อย่างใด

ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาต่อเบนจาว่า  ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกําหนด, ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และคําสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ 7916/2564 ซึ่งห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มมากกว่า 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต

ต่อมาเบนจาให้การปฏิเสธ และขอให้การในชั้นศาลเท่านั้น ซึ่งทางตำรวจได้ส่งเอกสารไปให้เบนจาเซ็น รวมทั้งพิมพ์ลายนิ้วมือในห้องคุมขัง ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

สรุปสถิติผู้ถูกจับ/ถูกควบคุมตัวจากการชุมนุมและกิจกรรมทางการเมือง ตั้งแต่ ส.ค.-30 ต.ค. 2564

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่าตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. 2564 เป็นต้นมา การชุมนุมเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังเป็นไปอย่างไม่ลดละ ผสมกันระหว่างคลื่นการชุมนุมบนท้องถนน การแสดงงานศิลปะและกีฬา และการจัดกิจกรรม Car Mob กระทั่งกลางเดือนสิงหาคมที่มีการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ของเยาวชนในนาม “กลุ่มทะลุแก๊ซ” ที่ดินแดง 

ภาพการรวมตัวกันเพื่อส่งเสียงตามข้อเรียกร้องของเยาวชน สลับกับการจำกัดและปราบปรามการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ การปะทะของเจ้าหน้าที่กับเยาวชนที่ดินแดงและตามสถานที่นัดพบใหม่กลางกรุง ตามด้วยข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ถึงการจับกุมและการควบคุมตัวในที่เกิดเหตุและตามจับหลังเกิดเหตุเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบทุกคืน 

ตั้งแต่เดือน ส.ค.-30 ต.ค. 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรวบรวมสถิติผู้ถูกจับ/ถูกควบคุมตัวจากการชุมนุมและกิจกรรมทางการเมือง เท่าที่ทราบข้อมูล มีรวมกันไม่น้อยกว่า 753 ราย (ตัวเลขนี้โดยไม่ได้แยกบุคคลที่ถูกจับซ้ำออก บางรายถูกจับกุมมากกว่า 1 ครั้ง) แบ่งเป็นผู้ใหญ่อย่างน้อย 531 ราย, เยาวชนอายุ 15-18 ปี อย่างน้อย 176 ราย, เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างน้อย 46 ราย และมีประชาชนผู้ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ชุมนุมไม่น้อยกว่า 226 ราย   

- ส.ค. มีผู้ถูกจับจากการชุมนุมรวมอย่างน้อย 306 ราย แบ่งเป็นเยาวชนอายุ 15-18 ปี อย่างน้อย 68 ราย, เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างน้อย 15 ราย และมีผู้บาดเจ็บไม่น้อยกว่า 115 ราย 
- ก.ย. มีผู้ถูกจับจากการชุมนุมรวมอย่างน้อย 292 ราย แบ่งเป็นเยาวชนอายุ 15-18 ปี อย่างน้อย 74 ราย, เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างน้อย 19 ราย และมีผู้บาดเจ็บไม่น้อยกว่า 107 ราย
- วันที่ 1-30 ต.ค. มีผู้ถูกจับจากการชุมนุมรวมอย่างน้อยแล้ว 155 ราย แบ่งเป็นเยาวชนอายุ 15-18 ปี อย่างน้อย 34 ราย, เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างน้อย 12 ราย และมีผู้บาดเจ็บไม่น้อยกว่า 4 ราย

ทั้งนี้ตัวเลขสถิติดังกล่าว ไม่ใช่ตัวเลขผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด โดยมีประชาชนและผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมและเจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวกลับ โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหารวมอยู่ด้วย

ดูรายละเอียดทั้งหมดในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท