นักเศรษฐศาสตร์แนะปรับราคาขนส่งตามต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ไม่ควรตรึงราคา 25 บาท/ลิตร

อดีตกรรมการกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ แนะควรเปิดให้มีการปรับราคาค่าขนส่งสินค้าได้ตามต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น คาดกระทบเงินเฟ้อไม่มากเพราะยังมีอุปทานส่วนเกินและสินค้าล้นคลังจำนวนมาก แต่ไม่ควรตรึงราคาน้ำมัน 25 บาทต่อลิตร เพราะจะสร้างภาระภาษีประชาชนในอนาคตและภาระทางการคลังมากเกินไป งบประมาณที่ต้องนำไปใช้ตรึงราคาน้ำมันนั้นให้นำจัดสวัสดิการเพิ่มเติมให้กับผู้ว่างงานและจัดทุนการศึกษาให้เด็กยากจนแทนจะดีกว่า 


ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

31 ต.ค. 2564 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.รังสิต เปิดเผยว่าหากสมาพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยนัดหยุดงานจะทำให้เกิดการชะงักงันของระบบขนส่งและโลจีสติกส์ได้และอาจนำมาสู่ภาวะขาดแคลนสินค้าในบางพื้นที่ได้ และ อาจทำให้ภาคการผลิตบางส่วนสะดุดหากขาดแคลนวัตถุดิบ รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้เกิดการนัดหยุดงานและควรนำข้อเรียกร้องของสมาพันธ์ฯ มาพิจารณาดู โดยตนเห็นว่า ควรเปิดให้มีการปรับราคาค่าขนส่งสินค้าได้ตามต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น คาดกระทบเงินเฟ้อไม่มากเพราะยังมีอุปทานส่วนเกินและสินค้าล้นคลังจำนวนมากๆ แต่ไม่ควรตรึงราคาน้ำมัน 25 บาทต่อลิตรเพราะจะสร้างภาระภาษีประชาชนในอนาคตและภาระทางการคลังมากเกินไป เงินงบประมาณที่ต้องนำไปใช้ตรึงราคาน้ำมันนั้นให้นำจัดสวัสดิการเพิ่มเติมให้กับผู้ว่างงานและจัดสรรเป็นทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนยากจนจะดีกว่า

ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีเหลื่อมล้ำสูงมาก มีคนจำนวนมากไม่มีหลักประกันในชีวิตและสวัสดิการเพื่อการดำรงชีพและไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อประคับประคองชีวิตและครอบครัวเมื่อประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและการว่างงาน นอกจากนี้ สัดส่วนของหนี้ครัวเรือนเทียบกับจีดีพี เทียบกับรายได้ของแต่ละครัวเรือนก็อยู่ในระดับสูงติดอันดับต้นๆของโลก สังคมโดยรวมยังไม่มีการเตรียมรับมือความท้าทายจากผลกระทบของเทคโนโลยีอุบัติใหม่ (โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล) ต่อตลาดแรงงานและระบบเศรษฐกิจโดยรวมทั้งมิติผลิตภาพของแรงงานและทุน ความสามารถในการแข่งขันและมิติความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สังคมไทยยังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยในอัตราเร่งและประชากรผู้สูงวัยส่วนใหญ่ยังไม่มีสวัสดิการและมีเงินออมอยู่ในระดับต่ำไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ และ อาจมีความยากลำบากในการดำเนินชีวิตยาวนานขึ้นก่อนการสิ้นอายุขัย จากปัญหาต่างๆที่กล่าวมา มีความจำเป็นที่ต้องมีการจัดระบบสวัสดิการสามส่วนสำคัญเพิ่มเติมจากระบบสวัสดิการที่มีอยู่ คือ ระบบประกันรายได้มาตรฐานขั้นต่ ระบบสวัสดิการเด็กเล็กและสวัสดิการเรียนฟรี ระบบสวัสดิการบำนาญสำหรับผู้สูงวัย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีข้อจำกัดทางด้านฐานะทางการคลัง ข้อจำกัดภาระต่องบประมาณ ข้อจำกัดทางด้านรายได้ของรัฐบาล การจัดระบบสวัสดิการที่เหมาะสมและทำให้เกิดความยั่งยืนทางการเงินในระยะยาวจึงมีความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงต่อระบบสวัสดิการของสังคมไทยอย่างยั่งยืน ไม่ควรนำไปแทรกแซงราคาน้ำมันเพราะไม่มีทางที่จะเอาชนะกลไกตลาดได้ ควรเก็บงบไว้ดูแลสวัสดิการของประชาชนจะเกิดประโยชน์มากกว่าในระยะยาว โดยเฉพาะสวัสดิการดูแลเด็กเล็กและเรียนฟรีจะส่งผลบวกระยะยาว การเปิดประเทศจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆสองเดือนสุดท้ายของไทยกระเตื้องขึ้นชัดเจน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจน่าจะสูงสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาด covid-19 เมื่อต้นปีที่แล้ว 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่าถึงกรณีที่ประชุมกลุ่มประเทศ G-20 ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าธนาคารกลางของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้สนับสนุนให้มีการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% รวมทั้งกฎเกณฑ์ใหม่ๆที่จะบังคับใช้เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของบรรษัทข้ามชาติและต้องการผลักดันกฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นหลักเกณฑ์สากลใช้กับทุกประเทศ การเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% ไม่กระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการลงทุนในไทยมากนักเพราะไทยมีอัตราภาษีนิติบุคคลที่สูงกว่า 15% อยู่แล้ว เกณฑ์สากลในการเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ได้ระดับหนึ่งและอาจช่วยให้การจดทะเบียนธุรกิจในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำพิเศษและการเคลื่อนย้ายการลงทุนมายังประเทศภาษีต่ำลดลง ธุรกรรมการบันทึกบัญชีแบบ Transfer Pricing ของบรรดาบรรษัทข้ามชาติน่าจะลดลงอย่างมีนัยยสำคัญ บรรษัทข้ามชาติในไทยและอาเซียนมีการโยกย้ายการรายงานผลกำไรระหว่างบริษัทในเครือเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอย่างมีนัยสำคัญทั้งในทางสถิติและเชิงเศรษฐศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของ Torslov, Wier and Zucman พบว่า บรรษัทข้ามชาติมีความสามารถในการโยกย้ายกำไรเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา วิธีที่นิยมใช้ คือ การกำหนดราคาการซื้อขายสินค้าระหว่างบริษัทในเครือ (Transfer Price) และ การกำหนดโครงสร้างทางการเงินของบริษัทพึ่งพาหนี้ในอัตราที่สูงกว่าความเป็นจำเป็น (Thin Capitalization) การหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศของบรรษัทข้ามชาติด้วยรายงานกำไรของตนในลักษณะที่สอดคล้องกับแรงจูงใจที่จะโยกย้ายกำไรไปที่ต่างขาติเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี (Tax-motivated Profit Shifting) หรือไม่เมื่อมีการกำหนภาษีขั้นต่ำในระบบเศรษฐกิจโลกเป็นเรื่องที่ควรต้องสนใจศึกษาวิจัยกันต่อไป 

แต่ในการประเมินเบื้องต้น เงินลงทุนไหลออกจากประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศ G-7 น่าจะลดลง อย่างไรก็ตาม กระแสโลกาภิวัฒน์เปิดโอกาสให้การควบรวม การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจของทุนยักษ์ใหญ่ข้ามชาติกับทุนขนาดใหญ่ชาติ สามารถผลิตสินค้าและบริการป้อนตลาดภายในและตลาดโลกได้ด้วยความได้เปรียบจากขนาดและเครือข่าย ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ทำให้เบียดพื้นที่การประกอบธุรกิจทุนขนาดกลางขนาดเล็ก โรงงานขนาดเล็กๆอาจเป็นหุ้นส่วนกับโรงงานข้ามชาติขนาดใหญ่ โดยผลิตชิ้นส่วนป้อนให้โรงงานข้ามชาติขนาดใหญ่ แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ยังตกอยู่กับบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่อยู่ดี สภาวะตลาดที่มีโครงสร้างผูกขาดและมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมยังคงดำรงอยู่ต่อไป การเก็บภาษีขั้นต่ำ 15% ไม่ได้ช่วยอะไรมากนักในโครงสร้างเศรษฐกิจโลกดังกล่าว 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท