Skip to main content
sharethis

วีโว่ จ่อร้อง กมธ.กฎหมายฯ รัฐสภา ปมผู้ถูกจับ #ม็อบ29ตุลา หน้า สน.ดินแดง ถูก จนท.ทำร้าย-‘มูลนิธิผสานวัฒนธรรม’ ออกแถลงการณ์ ร้องตำรวจยุติการทรมานและลงโทษด้วยวิธีที่โหดร้ายต่อผู้ถูกจับกุมที่ สน.ดินแดง

    

1 พ.ย. 64 เฟซบุ๊กกลุ่มสาธารณะ “We Volunteer” โพสต์ข้อความเมื่อ 31 ต.ค. 64 เวลา 21.46 น. ระบุว่า ‘โตโต้’ ปิยรัฐ จงเทพ ผู้อำนวยการกลุ่มมวลชนอาสา (We Volunteer - Wevo) เตรียมพาผู้ถูกจับกุมม็อบ29ตุลาที่ถูกตำรวจ สน.ดินแดง ซ้อม ยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการกฎหมายและความยุติธรรม (กมธ.กฎหมายฯ) ในวันที่ 1 พ.ย. 64 เวลา 12.00 น. เพื่อขอความยุติธรรม

อรรถสิทธิ์ นุสสะ ผู้ถูกจับกุมม็อบ29ตุลา วัย 35 ปี ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัทพ์กับผู้สื่อข่าวเล่าเหตุการณ์วันที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำความรุนแรงว่า เขามาร่วมกิจกรรมไว้อาลัยวาฤทธิ์ สมน้อย ที่หน้า สน.ดินแดง เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. แต่ยังไม่ทันได้ทำกิจกรรม เขาก็ถูกตำรวจจับกุมตัวเข้าไปในห้องสืบสวน สน.ดินแดง   

“ผมยังไม่ทันได้ร่วมกิจกรรม ผมไปที่หน้า สน. จุดเทียนไว้อาลัย เขา (ตำรวจ) ก็สลายการชุมนุมแล้ว เขาก็บอกให้ผมวิ่ง ผมก็ไม่เข้าใจทำไมต้องวิ่ง และก็เข้ามารวบผม และกล่าวหาว่า ผมเผาศาล เกี่ยวข้องกับคนที่ยิงตำรวจ (คฝ.ที่ถูกยิงกลางดึกเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 64) เชื่อมโยงกับกลุ่มทะลุแก๊ซที่เขากำลังตามล่า” ผู้ถูกจับกุม กล่าว พร้อมระบุว่า พอปฏิเสธ ทางตำรวจก็มาเค้นขอดูข้อมูลในโทรศัพท์มือถือส่วนตัว 

ชายผู้ถูกจับกุมยืนยันว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดง ซ้อมโดยใช้กำลังทำร้าย เตะ ต่อย เอาหัวกระแทกเก้าอี้ไม้ และใช้กระบองกระแทกที่ซี่โครงด้านขวา เพื่อให้บอกรหัสเข้ามือถือส่วนตัว 

“ตั้งแต่ตอนที่เขาลากเข้าไป ทางตำรวจที่เป็นหัวหน้าใหญ่หน่อย บอกว่า พี่ขอละกัน พี่อยากได้คนนี้ เขาก็เริ่มซ้อม และถามว่า คุณรู้จักคนที่ยิงไหม (คนที่ยิง คฝ. บาดเจ็บสาหัส เมื่อกลางดึกวันที่ 6 ต.ค. 64) ผมก็บอกไม่รู้ ก็ซ้อมอยู่นั่นแหละ ซ้อมหลายที ทั้งเตะ ทั้งต่อย เอาหัวกระแทกกับเก้าอี้ไม้ เขาก็เอากระบองมากระแทกตรงซี่โครงด้านขวา จากนั้นเขาก็มาเค้นเอารหัสโทรศัพท์ว่ารหัสอะไร เขาจะเข้าไปดูว่าเกี่ยวข้องกับทะลุแก๊ซไหม ผมก็ให้รหัส ผมก็ให้ผิดเพราะจำไม่ได้ เขาก็บีบคอจนเกือบสลบเลย เขาก็เค้นว่ามึงโกหกเหรอ มึงเล่นตัวเหรอ ผมก็ให้ไปอีก แต่ผมจำไม่ได้ว่ามันรหัสอะไรจริงๆ ทั้งบีบคอ ทั้งเตะ เตะที่ท้อง และเอากระบองกดคอไม่ให้หายใจ ทำอยู่อย่างนี้จนกว่าจะได้รหัสครบทั้ง 2 ชุด โทรศัทพ์มันมีรหัสเอาไว้เข้าแอปฯ อื่น และก็เตะส่งท้าย และไปที่อื่น” ชายผู้ถูกจับกุมม็อบ29ตุลาให้สัมภาษณ์ พร้อมกล่าวด้วยว่านอกจากการใช้กำลัง มีการขู่ฆ่าด้วย

“เขาบอกว่ามีมาคนเดียวใช่ไหม ไม่ได้บอกใครใช่ไหม ได้เลย เป็นอุบัติเหตุตายนี่แหละ เขาพูดอย่างนี้เลย เอาตัวปลอมไป และให้ไอ้นี่ไปตายเอา เขาพูดประมาณนี้ จับตัวปลอมได้ ขู่ฆ่าเลย” อรรถสิทธิ์ กล่าว

การซ้อมผู้ถูกจับกุมดำเนินไปจนกระทั่งเวลา 19.30 น. หลังจากนั้น ตำรวจก็ไปที่อื่นต่อ อรรถสิทธิ์ ถูกปล่อยให้นั่งอยู่กับตำรวจจนกระทั่งเวลาประมาณ 2.00 น. ของวันที่ 30 ต.ค. ตำรวจถึงเริ่มกระบวนการสอบสวนปกติ โดยตำรวจตั้งข้อหาอรรถสิทธิ์ ละเมิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ขณะที่อรรถสิทธิ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยระบุว่าตัวเองไม่ได้มาประท้วง เพียงแค่มาไว้อาลัยให้กับน้องผู้เสียชีวิต คือ วาฤทธิ์ สมน้อย 

“ผมไม่ได้มาประท้วงเลย แค่มาไว้อาลัยให้กับน้อง ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมต้องใช้กำลังกับผม”

“รู้สึกว่าเขาไม่ได้ทำงานเป็นอาชีพ คุณมาใช้กำลัง แทนที่หน้าที่คุณจะแค่จับตัว และมาสอบสวน แต่กลับใช้กำลังบังคับขู่เข็ญ มันไม่ใช่ มันเป็นปัญหาโครงสร้างของระบบเขาที่ยอมให้ทำแบบนี้ได้” ผู้ถูกจับกุมจากม็อบ29ตุลา กล่าว

หมายเหตุ กฎหมายอาญา มาตรา 215 ระบุว่า ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

หลังจากนั้น เวลาประมาณ 11.00 น. อรรถสิทธิ์ถูกพาตัวไปที่ศาลแขวงพระนครเหนือ ก่อนได้รับการปล่อยตัว และไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กอาการบาดเจ็บ

“ยังเจ็บอยู่เลยครับ” อรรถสิทธิ์เล่าถึงอาการของตัวเอง พร้อมระบุว่าตอนนี้มีอาการเจ็บปวดตามร่างกาย และมีแผลที่ตาฉีกนิดเดียว ไม่มีผลกระทบด้านการมองเห็น

ภาพบาดแผลของอรรถสิทธิ์ที่บริเวณตา และแขน

กรณีตำรวจ สน.ดินแดง ซ้อมผู้ถูกจับกุมม็อบ29ตุลาไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ ลีฟ ชายอายุ 18 ปี ผู้ถูกจับกุมจากม็อบ29ตุลา หน้า สน.ดินแดง ถูกซ้อม เอาบุหรี่จี้ พูดจาคุกคาม และเค้นสอบสวนนานเกือบ 9 ชั่วโมง ใน สน.ดินแดง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผู้ถูกจับกุมม็อบ29ตุลา หน้า สน.ดินแดง เผย ถูกทำร้าย-บุหรี่จี้ สอบนาน 9 ชม. 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 64 เวลาประมาณ 22.02 น. เพจเฟซบุ๊กสาธารณะ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม หรือ Cross Cultural Foundation (CrCF) ออกแถลงการณ์ขอให้ตำรวจยุติการกระทำทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีต่อประชาชน กรณีการจับกุมควบคุมตัวประชาชนที่ สน.ดินแดง 

รายละเอียดแถลงการณ์

จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมช่วงเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ที่หน้าสถานีตำรวจดินแดงซึ่งมีกลุ่มประชาชนรวมตัวกันทำกิจกรรมจุดเทียนให้กับ “วาฤทธิ์” เยาวชน วัย 15 ปี ที่ถูกยิงบริเวณศีรษะระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 และเสียชีวิตลงในวันที่ 28 ตุลาคม 2564

ในวันที่ 29 ตุลาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการจับกุมผู้ชุมนุมอย่างน้อยหนึ่งคน ที่มีรายงานว่า เยาวชนชายวัย 18 ปีคนหนึ่ง (ชื่อสมมุติ อาลี) เจ้าหน้าที่ฯ ได้นำอาลีไปสอบสวนตั้งแต่เวลา 18:00-03:00 น. ของวันถัดไป ต่อมาอาลีได้เปิดเผยต่อสื่อว่าเขาถูกทำร้ายร่างกายขณะถูกพันธนาการระหว่างการควบคุมตัว ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายด้วยการแตะต่อย กระทืบที่หน้าอก การลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยการบังคับให้ถอดกางเกงและจี้ตามร่างกายด้วยบุหรี่เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลบุคคลที่ยิงเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 โดยเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาคือเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนจำนวน 10 คน

ถึงแม้ว่าประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีที่ประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2550 และประเทศไทยกำลังดำเนินการให้มีกฎหมายที่สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าวคือพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ ...ที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการในวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมาย

การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการทรมานบังคับให้สารภาพและการกระทำที่ละเมิดต่ออนุสัญญาทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีและขัดกับความพยายามของรัฐบาลในการยุติการกระทำทรมานในประเทศไทยและแสดงให้เห็นถึงการกระทำทรมานอย่างเป็นระบบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือทหารดังกรณีที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ประเทศไทยและกรณีที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครสรรค์เมื่อไม่นานมานี้

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและภาคีเครือข่ายขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการต่อไปนี้

1. ขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีกรณีนี้ทันทีและคณะกรรมการต้องมีความเป็นกลางและเป็นผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบการละเมิดทางด้านการทรมานและไม่ควรมีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมในคณะกรรมการชุดนี้

2. การควบคุมตัวจะต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย เพื่อคุ้มครองสิทธิของทุกคนที่ถูกจับ พบทนายความ พบญาติ ผู้ไว้วางใจในทันที และให้ผู้เสียหายเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอย่างเคร่งครัดในทุกสถานการณ์รวมทั้งสถานการณ์ฉุกเฉิน

3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรดำเนินการให้มีการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษอย่างเหมาะสมและมีมาตรการป้องกันมิให้เกิดขึ้นซ้ำ

4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการเยียวยาผู้เสียหายอย่างเหมาะสมไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาลทางร่างกายและจิตใจและการชดเชยค่าสูญเสียโอกาสในการทำงาน

5. เพื่อเป็นการป้องกันการทรมานในระยะยาวขอให้รัฐบาลและรัฐสภาเร่งดำเนินการพิจารณาพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ ...เพื่อให้มีการประกาศใช้โดยเร็ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net