Skip to main content
sharethis

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มผลักภาระต้นทุนส่วนใหญ่ให้กับไรเดอร์ส่งอาหาร บิดเบือนกลไกตลาดและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้บริโภค ‘ตามสั่ง ตามส่ง’ อาศัยแนวคิดเศรษฐกิจสมานฉันท์ปรับความสัมพันธ์ระหว่างร้านค้า ไรเดอร์ และผู้บริโภคให้เท่าเทียมและเป็นธรรม โดยตัดตัวกลางหรือบริษัทแพลตฟอร์มที่คอยหักค่าหัวคิวออกไป

  • เศรษฐกิจแพลตฟอร์มมีอำนาจต่อรอและการควบคุมสูง ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาดและกลไกการรับข้อมูลข่าวสารของผู้บริโภค ร้านค้าและไรเดอร์มีอำนาจต่อรองต่ำ อีกทั้งภาระต้นทุนส่วนใหญ่จะถูกผลักไปที่ไรเดอร์
  • เศรษฐกิจแบ่งปันที่เริ่มต้นจากแนวคิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันถูกช่วงชิงความหมายและเปลี่ยนไปเป็นเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในที่สุด
  • เศรษฐกิจสมานฉันท์เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญทั้งกับผลกระทบทางสังคมและการมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ รวมถึงอำนาจการต่อรองของแต่ละผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบนแพลตฟอร์มจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างเท่าเทียมกัน
  • โครงการตามสั่ง ตามส่ง นำแนวคิดเศรษฐกิจสมานฉันท์มาใช้โดยอิงกับพื้นที่ สร้างเป็นโมเดลธุรกิจที่ทั้งร้านค้า ไรเดอร์ และผู้บริโภค มีส่วนร่วมในการออกแบบเงื่อนไขการบริการและค่าบริการที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย

 

การเกิดขึ้นของอูเบอร์หรือแอร์บีเอ็นบีทำให้คำว่า เศรษฐกิจแบ่งปัน หรือ Sharing Economy เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เกิดธุรกิจลักษณะเดียวกันออกมาไม่น้อยที่ใช้แพลตฟอร์มช่วยอำนวยความสะดวกและจับคู่ความต้องการ

ทุนนิยม ระบบที่มีความสามารถในการบิดผันสิ่งที่ควรจะเป็นก็ทำให้เศรษฐกิจแบ่งปันกลายเป็นสิ่งอื่นไป กระทั่งสูญเสียลักษณะการแบ่งปันไปในบางธุรกิจ เจ้าของแพลตฟอร์มเปลี่ยนจากคนจับคู่ความต้องการเป็นนายหน้าหักหัวคิวจากการบริการ ทั้งยังสามารถบิดเบือนกลไกตลาดได้ โดยผู้แบกรับต้นทุนเกือบทั้งหมดคือแรงงานที่ทำหน้าที่ให้บริการ

เศรษฐกิจแบ่งปันจึงถูกแทนที่ด้วยคำอื่นที่ใกล้เคียงกว่า นั่นคือเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม หรือ Platform Economy

อาชีพไรเดอร์เป็นตัวอย่างหนึ่งของแรงงานในระบบที่ถูกบิดเบือน อย่างไรก็ตาม มีความพยายามสร้างทางเลือกใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายสามารถกำหนดกติการ่วมกันอย่างเท่าเทียม มันเรียกว่า Social and Solidarity Economy หรือเศรษฐกิจสมานฉันท์

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ ผู้ประสานงานโครงการตามสั่ง ตามส่ง

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ ผู้ประสานงานโครงการตามสั่ง ตามส่ง จะอธิบายว่ามันคืออะไร

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกำลังบิดเบือนตลาด

โครงการตามสั่ง ตามส่ง เป็นความพยายามเสนอทางออกจากปัญหาของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม โดยอาศัยฐานความคิดจากเศรษฐกิจสมานฉันท์เป็นการต่อยอดมาจากงานวิจัย “ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน” ที่ศึกษาแพลตฟอร์มเรียกรถ แอร์บีเอ็นบี และแม่บ้าน และต่อมามีการทำวิจัยอีกชิ้นที่ศึกษาแพลตฟอร์มพนักงานส่งอาหารโดยเฉพาะซึ่งมีการนำเสนอผลวิจัยไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564

อรรคณัฐ อธิบายว่าเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเป็นโมเดลแบบทุนนิยมที่เจ้าของทุนหรือแพลตฟอร์มมีอำนาจต่อรองมากกว่าภาคส่วนอื่นๆ ในระบบนิเวศทางเศรษฐกิจของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือฝั่งดีมานด์หรือผู้บริโภค ฝั่งซัพพลายหรือร้านอาหารกับไรเดอร์ ทางแพลตฟอร์มสามารถสร้างสภาพควบคุมผ่านอัลกอริธึ่ม รองลงมาคือผู้บริโภค เนื่องจากทางแพลตฟอร์มให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมาก ขณะที่ฝั่งร้านอาหารและไรเดอร์แทบไม่มีอำนาจต่อรอง ทางแพลตฟอร์มจะเป็นผู้กำหนดเองตั้งแต่การแบ่งผลประโยชน์จากร้านค้า

“ตอนแรกที่ทำแพลตฟอร์มใหม่ๆ ก็ชวนเขามา ไม่คิดค่าบริการ และไม่ได้บอกด้วยว่าในอนาคตจะคิดหรือจะคิดเท่าไหร่ แล้วจะคิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยังไง คือไม่ได้ให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ร้านค้าก็ตัดสินใจเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม แล้วก็ขายดีขึ้น ก็ขยายกิจการ จ้างคนมากขึ้น บางคนก็ไปกู้หนี้ยืมสินมาเพราะคิดว่าธุรกิจกำลังเติบโต พอวันหนึ่งที่การสั่งอาหารเป็นเรื่องจำเป็น แพลตฟอร์มก็เริ่มเก็บค่าบริการจากฝั่งร้านค้าได้จาก 15 เปอร์เซ็นต์ 20 เปอร์เซ็นต์ เป็น 30 เปอร์เซ็นต์ ตอนช่วงโควิดพีคๆ ก็จะขอเปลี่ยนเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ ทางร้านค้าก็ไม่มีอำนาจในการต่อรอง มีแค่จะขายหรือไม่ขาย

“ส่วนทางไรเดอร์ก็คล้ายๆ กัน ตอนที่ยังไม่ค่อยมีคนมาวิ่ง แพลตฟอร์มก็เสนอค่าตอบแทนที่สูงมากๆ เช่น ลาลามูฟที่เข้าคู่กับไลน์แมนเสนอ 4 กิโลเมตรแรก 62 บาท ตอนนี้ลดลงมาเหลือประมาณ 42 บาท ถ้าเป็นต่างจังหวัดเริ่มต้นที่ 20 บาท เงื่อนไขการทำงาน ต้นทุนการทำงาน สภาพการทำงานเหมือนกัน แต่ค่าตอบแทนต่างกัน แล้วยังหักส่วนแบ่งอีก 15 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีอำนาจในการต่อรอง ทุกอย่างถูกกำหนดโดยแพลตฟอร์ม”

นอกจากจะมีอำนาจควบคุมสูงแล้ว เศรษฐกิจแพลตฟอร์มยังสามารถบิดเบือนกลไกตลาด กลไกการรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้วยการอุดหนุนค่าส่ง ทำให้ผู้บริโภคคิดว่าค่าส่งยิ่งถูกยิ่งดีและสนใจค่าส่งเป็นหลัก ละเลยต้นทุนที่แท้จริง ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคและต่อตลาดโดยรวม เกิดสภาพ Asymmetric Information ที่จะนำไปสู่การล่มสลายของตลาด กลไกตลาดจะไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น

“ถ้ามีการแข่งขันมากๆ ก็จะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย แต่การแข่งขันของแพลตฟอร์มต่างๆ จะเห็นว่าผู้บริโภคอาจได้ประโยชน์เพราะแข่งกันลดราคาและมีการอุดหนุน แต่การทำแบบนี้บริษัทก็ไปขูดรีดกับคนที่ไม่มีอำนาจในการต่อรองคือขอขึ้นราคาส่วนแบ่งจากทางร้านค้าหรือลดต้นทุนที่จะจ่ายให้ไรเดอร์ ในอุดมคติ การแข่งขันควรทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ แต่การแข่งขันบนกลไกที่ถูกบิดเบือนโดยทุน ท้ายที่สุดไม่มีใครได้ประโยชน์”

เศรษฐกิจแบ่งปัน ความหมายที่ถูกช่วงชิง

ก่อนที่คำว่า เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม จะถูกใช้มากขึ้น คำนี้ทาบทับ เหลื่อมซ้อนกับคำว่า เศรษฐกิจแบ่งปัน เกิดความเข้าใจว่าเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ปัจจุบันไม่ใช่อีกแล้ว

อรรคณัฐ กล่าวว่า Co-working Space ที่เปิดพื้นที่ให้ใช้ร่วมกันโดยเจ้าของพื้นที่เก็บผลประโยชน์ การที่คนคนหนึ่งมีอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้จึงเปิดให้เช่า หรือช่วงต้นของโมเดลเรียกรถที่ใช้เจ้าของรถเป็นเกณฑ์ หมายความว่าเจ้าของรถต้องการเดินทางจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งอยู่แล้วและมีคนจะไปในเส้นทางเดียวกันก็มาใช้ทรัพยากรด้วย ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นเศรฐกิจแบ่งปัน แต่ปัจจุบันการเรียกรถที่ยึดเป้าหมายของผู้โดยสารเป็นเกณฑ์ แล้วแพลตฟอร์มทำหน้าที่หาคนขับซึ่งไม่ต่างจากการเรียกรถแท็กซี่ ลักษณะไม่ใช่เศรษฐกิจแบ่งปัน แต่เป็นเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

“เศรษฐกิจแบ่งปันถูกแย่งชิงความหมายโดยธุรกิจใหญ่ที่ต้องการสร้างกลไกทางจิตวิทยาที่ต้องการให้คนเข้ามาร่วมกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบนี้ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดี ในต่างประเทศจึงพยายามเลิกใช้คำว่า เศรษฐกิจแบ่งปัน บ้านเราก็เริ่มเลิกใช้แล้วเปลี่ยนไปเป็นเศรษฐกิจแพลตฟอร์มมากขึ้น” อรรคณัฐ กล่าว

ดังนั้น อาชีพไรเดอร์จึงไม่ใช่เศรษฐกิจแบ่งปันตั้งแต่ต้น หากเป็น Gig Economy ที่เป็นการจ้างงานเป็นรายครั้งแล้วจบ เป็นสัญญารูปแบบสั้นๆ ฟรีแลนซ์ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของ Gig Economy เจ้าของแพลตฟอร์จึงเปรียบได้กับคนเก็บค่าหัวคิวจากการจับคู่ไรเดอร์กับผู้บริโภค

“แพลตฟอร์มมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ แต่ต้นทุนส่วนมากจะอยู่กับตัวไรเดอร์เป็นหลัก” อรรคณัฐ เสริม “ผลักต้นทุน ผลักความเสี่ยง ผลักความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ง่าย เพราะมีหลายผู้เล่นมาก ร้านค้ากับไรเดอร์ทะเลาะกัน คนสั่งกับไรเดอร์ทะเลาะกัน ไรเดอร์กับไรเดอร์ทะเลาะกัน แย่งงาน ความขัดแย้งทั้งหมดคนทำงานต้องไปจัดการกันเอาเอง บริษัทมีกลไกในการแก้ความขัดแย้งคือคอลล์ เซ็นเตอร์ แต่บางครั้งไม่เพียงพอ เพราะมันเป็นต้นทุน ก็พยายามลดให้น้อยที่สุด หันไปใช้การร้องเรียนผ่านช่องทางอัตโนมัติ ส่วนร้านค้าก็ผลักภาระส่วนหนึ่งให้ผู้บริโภคได้ด้วยการขึ้นราคา แต่ไรเดอร์ทำไม่ได้เพราะค่าตอบแทนมาจากการกำหนดของบริษัท”

เศรษฐกิจสมานฉันท์

เศรษฐกิจสมานฉันท์จึงเป็นทางเลือกที่โครงการตามสั่ง ตามส่ง ทดลองนำมาใช้ มันเป็นแนวคิดที่มีมานานแล้วโดยถือกำเนิดจาก Social Economy หรือเศรษฐกิจเพื่อสังคม ซึ่งถูกใช้ในความหมายที่ต่างกัน 2 กลุ่มคือกลุ่มที่พูดภาษาอังกฤษเป็นหลักหมายถึงธุรกิจทั่วไปที่สร้างผลกระทบทางสังคมด้วยและแสวงหากำไรด้วย กลุ่มที่ 2 เป็นเศรษฐกิจเพื่อสังคมในโลกภาษาฝรั่งเศสที่เน้นสิทธิความเป็นเจ้าของ ผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของสามารถเข้าซื้อหุ้นได้ตลอด กล่าวคือจำนวนหุ้นเพิ่มได้ไม่จำกัด และไม่ว่าจะมีหุ้นมากหรือน้อยก็มีสิทธิ์เดียวในการโหวต ต่างจากบริษัทมหาชนที่จำนวนหุ้นมีจำกัดและสิทธิ์ในการโหวตมีมากน้อยตามจำนวนหุ้น

เมื่อนำทั้งสองแนวคิดมารวมกันก็กลายเป็นรูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับสัดส่วนความเป็นเจ้าของและผลกระทบทางสังคมหรือเศรษฐกิจสมานฉันท์นั่นเอง

“เศรษฐกิจเพื่อสังคมยังไม่พอ ถ้าเพิ่มเรื่องการมีส่วนร่วม คนสามารถเข้ามาเป็นเจ้าของได้ จริงๆ มันก็คือ Socialist Market System หรือระบบตลาดสังคมนิยม ให้ความสำคัญกับความเป็นเจ้าของและผลกระทบทางสังคม แต่คำนี้มันดูน่ากลัวในโลกเสรีนิยมจึงใช้คำว่า Social and Solidarity Economy แทน ดังนั้น ในประเทศแถบอเมริกาใต้ที่มีความเป็นสังคมนิยมมากหน่อยจึงมีความก้าวหน้าในเรื่องแนวคิด Social and Solidarity Economy มากกว่าภูมิภาคอื่น กรณีศึกษาโดยมากจะอยู่แถบอเมริกาใต้เยอะ

“หรือถ้ามองในมุมสัดส่วนความเป็นเจ้าของมากหน่อยก็จะมีสหกรณ์ชื่อ Mondragon ในสเปน ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่ทุกคนที่ทำเรื่องสหกรณ์หรือเศรษฐกิจสมานฉันท์จะพูดถึง เพราะเป็นกลุ่มบริษัทใหญ่แต่มีลักษณะเป็นสหกรณ์ คนที่เป็นเจ้าของคือคนที่ทำงานอยู่ในบริษัท แต่ไม่ได้สนใจผลกระทบทางสังคมมากนัก แต่สนใจว่ากำไรที่ได้จะมาแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรมอย่างไร เพราะคิดว่าการที่ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมก็คือผลกระทบทางสังคมในตัวมันแล้ว”

อรรคณัฐเชื่อว่าโมเดลเศรษฐกิจสมานฉันท์น่าจะใช้แก้ปัญหาที่เกิดจากเศรษฐกิจแพลตฟอร์มได้เพราะมันทำให้อำนาจการต่อรองของแต่ละผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบนแพลตฟอร์มได้รับการพิจารณาอย่างเท่าเทียมกัน

ตามสั่ง ตามส่ง ทำงานอย่างไร

โครงการตามสั่ง ตามส่ง อาศัยแนวคิดเศรษฐกิจสมานฉันท์มาแก้ปัญหาข้างต้น โดยมีลักษณะเป็น Multi Stakeholders Cooperative ที่ให้ความสำคัญกับทั้งไรเดอร์ ร้านค้า และผู้บริโภค เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายร่วมพูดคุยหารูปแบบการบริการที่พึงพอใจและราคาที่เหมาะสม ซึ่งถ้ามองจากมุมสหกรณ์ ตามสั่ง ตามส่ง มีเจ้าของมากกว่าหนึ่งกลุ่มที่เข้าทำหน้าที่เป็นตัวกลางแทนบริษัทแพลตฟอร์ม

อรรคณัฐ กล่าวว่า ขณะนี้ตามสั่ง ตามส่ง ให้บริการในลักษณะ Community Base หรือใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง เช่น พื้นที่ลาดพร้าว ไรเดอร์ ร้านค้า และผู้บริโภคจะดำเนินกิจกรรมกันเองในพื้นที่ ทำให้เกิดข้อได้เปรียบหากผู้บริโภคต้องการสั่งซื้ออาหารมากกว่า 1 ร้าน เพราะแต่ละร้านไม่ไกลกันมาก ไรเดอร์คนเดียวสามารถไปซื้ออาหารได้ ซึ่งแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ทำไม่ได้

“ในกรุงเทพฯ เราใช้วินมอเตอร์ไซค์เป็นหลัก ดังนั้น เขาจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเขาอยู่แล้วอย่างการส่งผู้โดยสาร การส่งอาหารเป็นรายได้เสริม กิจกรรมตัวนี้เป็นโอกาสที่เพิ่มขึ้นมา เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันมีปัญหาอะไรกับการมีตรงนี้อยู่ ไม่ได้มีต้นทุนมากมาย แต่ถ้าเขาสแตนด์บายเพื่อจะทำอันนี้โดยตรง มันยังอยู่ไม่ได้ตอนนี้ ไม่สามารถเป็นอาชีพอาชีพเดียวได้

“แต่อย่างร้านค้าก็มีอาชีพของตัวเองอยู่แล้วคือขายอาหาร การมีช่องทางนี้เพิ่มก็เป็นโอกาส ยิ่งเป็นร้านที่อยู่บนแพลตฟอร์มอยู่แล้วก็ตอบโจทย์หลายอย่าง หนึ่ง รับเงินสดเลย สอง ไม่ต้องเสีย 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วหลายร้านก็ยังขายแพลตฟอร์มอื่นไปด้วย ขายของเราไปด้วย คือเป็นทางเลือก ลดต้นทุนการบริโภคของคนในชุมชน เพิ่มโอกาสทางอาชีพให้กับวิน เพิ่มโอกาสการขายแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

“แต่ต่างจังหวัดที่กำลังเริ่มทำมีสายบุรี เบตง ก็จะไม่ค่อยมีวินมอเตอร์ไซค์ เราก็จัดหาคนที่เข้ามาเป็นไรเดอร์คือคนที่ว่างงาน แล้วเราพยายามหาสมดุลความต้องการกับจำนวนไรเดอร์ จำนวนร้านค้า ก็เป็นข้อท้าทายว่าจะทำยังไงให้จำนวนงานที่รับในแต่ละวันมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ เราก็คิดว่าต่อวันน่าจะได้สักประมาณ 10 งานต่อคนเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนขั้นต่ำสัก 300 บาท”

นอกจากนี้ วิธีการที่ไรเดอร์แต่ละรายจะได้ลูกค้าก็ต่างจากแพลตฟอร์มที่ไรเดอร์ต้องกดแย่งกัน ใครเร็ว ใครได้ ทั้งยังใช้การให้คะแนนจากลูกค้าเป็นตัวป้อนงาน ซึ่งทำให้ไรเดอร์ถูกเอาเปรียบเนื่องจากต้องพยายามให้เอาใจลูกค้าเพื่อเรียกคะแนน เช่น ถูกลูกค้าขอให้แวะซื้อของให้ทั้งที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขการทำงาน เป็นต้น

แต่ตามสั่ง ตามสั่ง ใช้วิธีแบบวินมอเตอร์ไซค์ กล่าวคือใครมาก่อน ได้ก่อน ซึ่งเป็นวิธีที่เรียบง่าย ทว่า มีประสิทธิภาพและความเป็นธรรม

“ในอนาคตถ้าพื้นที่เขาแข็งแรงพอจะเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือจดเป็นบริษัท หรือเป็นธุรกิจเพื่อสังคมก็แล้วแต่เขา แต่เขาจะไม่ได้มามีส่วนเป็นเจ้าของในพื้นที่อื่นที่จะเป็นกลุ่มวิน ร้านค้า และผู้บริโภคในย่านนั้น มันเป็น Decentralize ให้แต่ละโหนดบริหารจัดการกันเอง

“พวกเราจะเป็นเหมือนยานแม่ที่ลงไปจัดตั้งในพื้นที่ที่ต้องการจะมีโหนดใหม่ ทำให้เกิดการรวมกลุ่ม หาตัวแทน สร้างความรู้สึกอยากเป็นเจ้าของร่วมกันจนดำเนินการต่อได้เอง แล้วเราก็ถอนตัวไป ถ้าเขาลงทุนจนเกิดผลตอบแทนกลับมา เขาก็เอารายได้ตรงนั้นมาให้ยานแม่ไปทำโหนดอื่นต่อ”

เศรษฐกิจที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

“เป้าหมายของเราคือทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 3 ฝ่ายเข้มแข็ง ดำเนินกิจกรรมไปได้ด้วยตัวเอง สมมติว่าต้นทุนต่อการสั่งอาหารครั้งหนึ่งคือ 4 บาทต่อครั้ง จะสั่ง 100 บาท 1,000 บาทก็ต้นทุน 4 บาท เราก็ให้แต่ฝ่ายตกลงกันว่าต้นทุน 4 บาทจะจ่ายกันคนละเท่าไหร่ หรือจะจ่ายเกินเป็น 9 บาท 5 บาทที่เหลือสะสมไว้แล้วตกลงร่วมกันว่าจะเอาไปทำอะไร เป็นสวัสดิการ เป็นเงินออม ซื้อประกันให้ไรเดอร์ ก็แล้วแต่

“เรากำลังคิดถึงการจัดการสวัสดิการของกลุ่มหมายถึงหลักประกันทางสังคมของคนทำงานที่รัฐไม่สามารถจัดการได้ แต่อันนี้เป็นไอเดียที่ไกลมากๆ แต่มันมีสัญญาณที่เป็นไปได้ เช่นกลุ่มลาดพร้าวเขามีการรวมตัวเป็นกลุ่มออมทรัพย์ เปิดร้านค้าของเขาเอง แล้วก็มีกำไร ปันผลกัน”

โครงการตามสั่ง ตามส่ง มีแผนว่าจะสร้างโมเดลนี้ทั้งหมด 13 พื้นที่ บางส่วนเริ่มทำแล้วและบางส่วนอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ เช่น ลาดพร้าว 101 สามย่าน เพชรเกษม กลุ่มหาบเร่แผงลอยที่บางขุนเทียนกับหมู่บ้านนักกีฬา ลาดกระบัง คลองเตย ภูเก็ต สายบุรี เบตง เป็นต้น

การใช้บริการไรเดอร์ของโครงการตามสั่ง ตามส่ง ไม่ต้องโหลดแอพพลิเคชั่น เพียงแค่แอดไลน์ของโครงการและลงทะเบียนก็สามารถสั่งอาหารได้ทันที โดยจะมีการลบข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการจากเซิร์ฟเวอร์ทุกอาทิตย์

“ทัศนคติของผู้บริโภคที่ถูกบิดเบือนเรื่องกลไกราคา ทำให้เขาคำนึงเรื่องค่าส่งเป็นหลัก ไม่ได้รู้เท่าทันว่าค่าส่ง 0 บาทก็จริง แต่ค่าอาหารแพง และไม่ได้รู้ว่าการทำงานแบบนี้อยู่บนความเสี่ยงมากขนาดไหน เงินที่เขาจ่ายนิดหน่อยมันไม่คุ้มกับตัวคนทำงาน ทำให้เราเห็นว่าต้องทำงานด้านการสื่อสารมากๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าอะไรคือปัญหา แล้วทำไมเราถึงต้องใช้แนวทางนี้ในการแก้ปัญหา”

ประโยคส่งท้ายของอรรคณัฐที่สะท้อนอุปสรรคของโครงการนี้และมันอยู่ในความคิดของผู้บริโภค

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net