Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"112 เป็นกฎหมายที่ใช้สำหรับที่สว่างเท่านั้น"

 

รู้สึกยังไง
คิดยังไงกับประโยคนี้บ้าง


คิดว่ามันแปลกไหม?

คนเขียนประโยคนั้นจะนึกแวบขึ้นมาไหมว่า 

นั่นเหมือนเป็น 'คำแก้ตัว' อยู่กลายๆ

พูดถึงกฎหมายแบบคนรู้น้อย
มันคงไม่ใช่เรื่องความมืดความสว่าง
มันเป็นเรื่องของเหตุการณ์ และการพิสูจน์ทราบ
ซึ่งขึ้นอยู่กับ หลักฐาน ประจักษ์พยาน หรือพยานแวดล้อม อีกที
ถ้าคุณทำ ถึงจะทำในที่มืด แต่ถ้ามีพยานหลักฐาน มันก็ยืนยันสิ่งที่คุณทำได้ ถูกฟ้องได้
ถ้าคุณทำในที่สว่าง พยานก็เยอะ หลักฐานก็แน่นหนาหน่อยเท่านั้น
ถูกผิดก็ว่าไปตามฝีมือทนาย ตามวิจารณญาณของศาล

แต่ถ้าเราคิดตามประโยค "112 เป็นกฎหมายที่ใช้สำหรับที่สว่างเท่านั้น" ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าพูดอะไร มันขึ้นอยู่กับว่า ผู้พูดนั้น พูด ที่ไหน มันบอกเราว่า ถ้าพูดสรรเสริญ คุณพูดในที่สว่างอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าไม่ คุณก็ต้องมุดดินพูด ต้องไม่พูดดังๆ ในที่แจ้ง 
 

คือไม่จำเป็นต้องฟังต้องคิด ว่าสิ่งที่พูดนั้น ถูก หรือ ผิด มีเหตุผลหรือไม่ เพียงแต่อย่ามาพูดอะไรล่อแหลมบนดินให้คนมองเห็นก็แล้วกัน
ไม่มีใครมาทำอะไรแน่นอน


คิดว่ามันแปลกไหม?

พูดถึงที่สว่าง คนที่มีสติสัมปชัญญะมีสามัญสำนึกมาตรฐานทั่วไปคงรู้กันดีอยู่ว่า สิ่งใดบ้างที่เราจะไม่กระทำในที่สว่างหรือสาธารณะ เช่น การกระทำที่อาจผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม เช่น ทำร้ายร่างกาย ค้าอาวุธ ค้าหรือเสพยาเสพติด ค้ามนุษย์ ค้าของเถื่อน ขโมย ยักยอกทรัพย์ อาชญากรหรือผู้ฉ้อฉลจึงเลือกจะไม่ทำในที่สว่าง

อะไรอีกล่ะ เดินข้ามพรมแดน, ขับรถฝ่าไฟแดง, ขับรถย้อนศร, กลับรถในที่ห้าม?

แม้แต่กิจธุระส่วนตัว หรือกิจกรรมร่วมประเวณีที่ถ้าใครขืนทำในที่สาธารณะ (แม้จะพยายามหลบซ่อนสายตา) คงไม่แคล้วถูกมองว่าอนาจาร หรือ เสียสติ

ยังมีเรื่องข้อกำหนดทางศีลธรรมอีกมากที่ไม่ได้กำกับดูแลโดยกฎหมาย ยกตัวอย่างเรื่องความกตัญญู (ฝ่ายที่เห็นด้วยกับมาตรานี้มักจะหยิบยกมากล่าวอ้าง) ถ้าคุณไม่เลี้ยงดูพ่อแม่ผู้มีพระคุณเราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เพียงแต่ขัดต่อศีลธรรมกฎกติกาทั่วไป คุณจะถูกตำหนิติเตียนจากคนในสังคม ถ้าคุณด่าว่าพ่อแม่ คนจะบอกว่าคุณผิดบาป และคนส่วนใหญ่จะไม่สนใจต้นสายปลายเหตุว่า เหตุใดคุณจึงทำเช่นนั้น

กิจกรรมในที่มืดหรือที่สว่างนั้นจะถูกกำกับดูแลโดยกฎหมายให้อยู่ในรูปรอยทางศีลธรรม และการจะยกข้อกำหนดทางศีลธรรมขึ้นเป็นกฎหมายนั้นย่อมแตกต่างกันไปตามแต่ละสังคม ทุกคนคงทราบดีว่า ในโลกนี้ก็ยังมีกฎหมายหรือกฎหมู่มากมายที่เรารู้สึกขัดแย้ง คัดค้าน เช่น การกำหนดเครื่องแต่งกายของผู้หญิง ห้ามเกย์แต่งงาน

อาจพูดง่ายๆ ได้ว่าเพราะมันไม่เป็นสากลและไม่เป็นธรรมชาติ และเป็นไปได้ไหมว่า กฎหมายมาตรานี้ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกัน ในเมื่อมันขัดกับความรู้สึกของคนจำนวนมากถึงกับสร้างความขัดแย้งมากมาย

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจำเป็นต้องทบทวนมันอย่างจริงจัง ด้วยคำถามสำคัญ 

       
กฏหมายมาตรานี้ถูกต้องและเป็นธรรมแล้วหรือ?

 

หากผู้เขียนประโยค "112 เป็นกฎหมายที่ใช้สำหรับที่สว่างเท่านั้น" ไม่ได้ตอบเราตรงๆ เพียงชี้แจงมาว่า

"ทุกอย่างต้องมีการประชาสัมพันธ์ แต่ถึงประชาสัมพันธ์สักแค่ไหน แต่ถ้าไม่ดีจริง คนคงไม่นิยมอย่างต่อเนืองยาวนานขนาดนี้"

เอางี้ ลองหลับตานึกถึงยาสีฟันสักยี่ห้อนึง เอาแบบบคุณภาพกลางๆ ก็ได้ แต่หีบห่อดูสวยงามหน่อย ยาสีฟันนี้พีอาร์ถึง ออกโฆษณาช่วงไพรม์ไทม์ทุกวัน มีแอดลงหนังสือทั้งปี จัดอีเว้นต์ต่อเนื่องยาวนานต่อเนื่องสม่ำเสมอ

มีการบังคับใช้ยาสีฟันยี่ห้อนี้ในหลายภาคส่วนเท่าที่รัฐจะควบคุมได้ องค์กรนักบวชรับรองคุณภาพ แถมมีกฎหมายห้ามพูดถึงยาสีฟันยี่ห้อนี้ในแง่ลบ

สำคัญคือ ยาสีฟันยี่ห้อนี้มีตั้งแต่ก่อนยุคอินเทอร์เน็ต

แต่ก่อน ชาวบ้านอาจไม่ได้คิดว่าจำเป็นต้องใช้ยาสีฟัน แค่คว้ากิ่งข่อยมาขัดๆ ก็ใช้ได้แล้ว แต่เมื่อผ่านการบอกจากทุกช่องทางมายาวนานว่า ยาสีฟันคือสิ่งจำเป็น มันเป็นการปกปักรักษาฟันของเราให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง เรามีวันนี้ (วันที่ประชาหน้าใสยิ้มสวย) ได้เพราะยาสีฟันหลอดนั้น

แล้วยาสีฟันนี้จะมีจุดบกพร่องอยู่บ้างหรือเปล่าเราจึงไม่อาจทราบได้ เพราะไม่มีทางจะได้ยิน ข้อเสีย ของมันเลยด้วยกฎหมายบังคับ มันจึงหลุดรอดพ้นจากการตั้งคำถาม ดังนั้นเมื่อควบคู่ไปกับการทำประชาสัมพันธ์อย่างแข็งขันอันต่อเนื่องหลายสิบปีในแทบทุกแพลตฟอร์ม มันจึงเป็นไปได้ไหมว่า "ยาสีฟันยี่ห้อนี้จะได้รับความนิยมถล่มทลายอย่างยาวนาน" แม้จะดีหรือไม่ก็ตาม

หากแต่ถึงวันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ผู้ใช้ต้องการทราบรายละเอียดข้อมูลส่วนผสม อยากรู้ว่าผู้ถือหุ้นคือใครบ้างและหากพบว่ามันมีไม่ดี ไม่เหมาะกับตน แพงไป ผู้ใช้ต้องการวิจารณ์ มันก็น่าจะเป็นเรื่องยุติธรรมดี หรือมิใช่

       ก็ถ้าคุณเชื่อว่ามันดี เหตุใดจึงต้องบังคับ

       
ก็ถ้าคุณเชื่อว่ามันดี เหตุใดต้องกลัวคำถาม

       
ก็ถ้าคุณเชื่อว่ามันดี เหตุใดจึงปราบปราม

       
ถ้าเชื่อว่าคนเห็นดีงาม เหตุใดจึงกดปุ่มปิดเสียง

คุณบอกว่า จะไปเปรียบกับยาสีฟันไม่ได้นะ ไม่รู้สิ ก็นึกว่าคนไทยคุ้นชินกับการฟังนิทานมานมนานแล้ว ทั้งในทีวีหรือจากตำรา โดยทางตรงและหว่านล้อมโดยอ้อม คุณก็ลองฟัง นิทานยาสีฟัน ดูอีกสักเร่ือง จะเป็นไรไป

วันนี้ ถึงยาสีฟันจะเปลี่ยนเจ้าของไป แต่หากยังหวังพึ่งเพียงการโฆษณา หากยังเพียรออกกฎบีบบังคับคนซื้อมากขึ้น ยังไม่ยอมรีแบรนดิ้งใหม่ในโลกที่ไม่สามารถปิดกั้นข้อมูลข่าวสารได้โดยสมบูรณ์อีกต่อไป 

ก็คงต้องคอยต่อไปดูว่า ยาสีฟันนี้จะดีสมอย่างที่เค้าเคยพูด (อยู่ฝ่ายเดียว) จริงหรือเปล่า

อีกไม่นานก็คงรู้ หรือ หลายๆ คนก็คงรู้ไปแล้ว

แต่คุณรู้ไหมว่า แม้จะมีกฎบังคับในที่สว่างขนาดไหน

กลับน่าแปลกที่เรายังได้พบเห็นยังได้ยิน การทวงถาม อยู่เสมอมา ตั้งแต่อดีตกาลไกลโพ้น หลายการเคลื่อนไหวอันเรียกได้ว่าสุดหาญกล้านั้นเป็นมากกว่าเพียงคำพูดด้วยซ้ำ แม้จะถูกปราบปรามครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ถึงกระนั้น เสียงก็ไม่เคยเงียบลง คนยังคงยืนเด่นยังคงท้าทาย ยังคงค้นหาช่องทางที่จะเปล่งเสียง ทั้งใต้ดินและบนดินเสมอ

หากมันก็เป็นธรรมดาเมื่อไม่อยู่ในที่สว่างคนก็จะได้ยินน้อย อีกทั้งคนถามก็ต้องพูดไปหนีไปหลบซ่อนตัวไป

คำถามเหล่านั้นไม่เคยได้รับคำตอบ

ใครเลยจะนึกไปถึงว่า วันนึง สิ่งที่อยู่ใต้ดินจะกลับกลายงอกเงยเป็นข้อมูล ถูกอัดยิงขึ้นไปในอวกาศและกระจายตัวไปในแทบทุกอณูของโลก

คุณรับรู้ถึง สิ่งที่เกิดขึ้น สัมผัสถึง สายลมที่เปลี่ยนแปลง ได้ไหม

เพียงแค่ไม่กี่ปีกับการมาถึงของข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกจำกัดปิดบัง สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นร้อยปีจนแลคล้ายจะสถาพรยั่งยืนนานก็กลับกลายคล้ายผุพังโอนเอนเพียงชั่วข้ามคืน มันบอกเราได้ไหมว่าเหตุผลทั้งหมดที่ให้มานั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไป สิ่งที่เราเคยเชื่อนั้นไม่ใช่อีกต่อไป

แม้หนึ่งคนจะถูกกลั่นแกล้ง จับกุม ขังลืม แต่อีกคนก็ลุกขึ้นพูดต่อ 

นั่นกระมัง เสียงสะท้อนจึงไม่เคยแผ่วจาง

แม้จะมีมาตราหนาหนักกดทับ
 

เรายังกลับได้ยินเสียงคนถาม
 

แม้ว่าเสียงวิพากษ์คือต้องห้าม
 

เหล่าผู้กล้าไม่ครั่นคร้ามไม่หวั่นเกรง

คุณว่าเพราะอะไรกัน คนถึงไม่กลัวเกรง

ใช่หรือไม่ว่า คนเหล่านั้นยึดถือบางสิ่งที่ไม่เหมือนกับคุณ ยึดถือสิ่งที่แม้ว่าจะอยู่ในแสงสว่างหรือเงามืด ก็ไม่กลับกลาย

เพราะสิ่งนั้นส่องแสงเรืองได้ในตัวเอง

ความจริง เสรีภาพ ความเท่าเทียม คุณอาจเห็นเป็นเพียงถ้อยคำ แต่มันส่องแสงอยู่ในใจคนมากมาย 

ความจริง เสรีภาพ ความเท่าเทียม ที่ไม่จำเป็นต้องทำโฆษณาประชาสัมพันธ์สร้างภาพใดๆ

จะว่าไป คงไม่ได้แปลกอะไรที่ได้เห็นประโยคแบบนี้

ก็นี่เดือนตุลา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net