Skip to main content
sharethis

งานวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยเสนอว่าความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก และอาจทวีความเสียหายยิ่งขึ้นในอนาคต หากไทยไม่มีมาตรการใดในการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบ

เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์(PIER) เพิ่งเผยแพร่บทความวิจัย เรื่อง ‘การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบริบทของไทย’ โดย กรรณณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย งานศึกษาชิ้นนี้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ความแปรปรวนของสภาพอากาศ จนเป็นเชื้อมูลไปสู่ความสุดขั้วของอุณหภูมิ หรือรุนแรงไปจนถึงเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดภัยธรรมชาติ แต่ยังชี้ให้เห็นประเด็นที่สำคัญยิ่งที่ส่งผลต่อสังคมไทยในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางสูง นั่นคือ ประเด็นด้านผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และอนาคต

จากบทความวิจัยดังกล่าวพบว่าความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในรอบ 40-50 ปี ที่ผ่านมา โดยภาพรวมอุณหภูมิในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นราว 1 องซาเซลเซียส อีกทั้งในอนาคตอาจเพิ่มขึ้นถึง 1-2 องศาเซลเซียส ในปี พ.ศ.2593 การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิดังกล่าวส่งผลต่อสภาวะสุดขั้วของอุณหภูมิ(ร้อนจัด-หนาวจัด) ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการนำงานวิจัยจาก ทีมนักวิทยาศาสตร์การแพทย์นานาชาติ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Planetary Health เกี่ยวกับประเด็นความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศทั่วโลก เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมากต่อปี จากผลการศึกษาล่าสุดพบว่า ปรากฏการณ์สุดขั้วของอุณหภูมิส่งผลให้ผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตมากถึงปีละ 5 ล้านคน 

หนึ่งในงานศึกษาเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อผลกระทบเชิงลบต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเลือกศึกษาประเทศที่เผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย พบว่า จากการพิจารณาความสูญเสียจากชีวิตและทรัพย์สินจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในห้วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก โดยประสบกับเหตุการณ์ทางความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศถึง 140 ครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 7,719 ล้านดอลล่าร์สหรัฐโดยเป็นการคำนึงถึงภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ(PPP) อีกทั้งงานศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP โดยศึกษาจาก 48 ประเทศทั่วโลกซึ่งครอบคลุมมูลค่าของ GDP ทั่วโลกถึง 90% ซึ่งประเมินว่า GDP ของไทยมีแนวโน้มจะลดลงเป็นสัดส่วนเกือบมากที่สุดในบรรดา 48 ประเทศทั่วโลกที่ทำการศึกษา โดยจะลดลงตามลำดับ 4.9%, 19.5%, 33.7% และ 43.6% ในปี พ.ศ.2591 ซึ่งเป็นกรณีที่อุณหภูมิสูงขึ้นโดยประมาณ 2 °C, 2 °C, 2.6 °C, และ 3.2 °C 

ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังส่งผลเศรษฐกิจไทยในภาคส่วนสำคัญๆ อย่างภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตรอีกด้วย ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมอีกด้วย ในผลกระทบทางตรงซึ่งเกิดจากสภาวะสุดขั้วของสภาพอากาศ เช่น การเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม หรือภาวะแห้งแล้ง ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงทำให้เกิดการติดขัดต่อธุรกิจการท่องเที่ยว ส่วนผลกระทบทางอ้อม คือ ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อระบบนิเวศ เพราะภาคการท่องเที่ยวจำเป็นต้องอาศัยการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรม สภาวะสุดขั้วดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย สำหรับภาคการเกษตร ซึ่งมีความเปราะบางสูงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยคาดว่าความเสียหายที่ได้รับสะสมระหว่างปี 2554-2588 เป็นมูลค่าสูงถึง 0.61-2.85 ล้านล้านบาท หรือ เฉลี่ย 17,912-83,826 ล้านบาทต่อปี

การประเมินผลกระทบในบทความวิจัยชิ้นนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่หากประเทศไทยไม่มีมาตรการหรือนโยบายใดเพื่อลดผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความเสียหายดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วย

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) หรือ COP 26  ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยเป็นการชุมระดับผู้นำ จากหลายประเทศทั่วโลก

รายละเอียดการเข้าประชุมทางโฆษกรัฐบาลได้เปิดเผยไว้ก่อนวันที่ประชุม(31 ต.ค. 64) โดยระบุว่า การเข้าร่วมประชุม COP 26 ของพลเอกประยุทธ์ครั้งนี้เป็นการเสนอแผน “ยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย (LT-LEDS)” ซึ่งอยู่ภายใต้กติการะหว่างประเทศในการร่วมกันแก้ไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก และมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในปี ค.ศ. 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เร็วที่สุดภายในครึ่งปีหลังของศตวรรษนี้ หรือ ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) อีกทั้งทางโฆษกรัฐบาลกล่าวถึงนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศ เช่น การกำหนดเป้าหมายให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ จำนวน 15 ล้านคัน และการปลูกต้นไม้ยืนต้นทั่วประเทศจำนวนหนึ่งร้อยล้านต้นภายในปี 2565

อย่างไรก็ตามจากมาตรการของรัฐบาล มีการวิจารณ์ว่ายังไม่ระบุถึงการวางเงื่อนไขหรือการกำกับการลงทุนของทั้งห่วงโซ่อุปทานการค้าและการลงทุนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากกว่า

อ้างอิง : 

  • การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบริบทของไทย https://www.pier.or.th/abridged/2021/15/
  • อุณหภูมิแบบสุดขั้วทั้งร้อนจัด-หนาวจัด เป็นสาเหตุให้ผู้คนทั่วโลกล้มตายปีละ 5 ล้านคน https://www.bbc.com/thai/international-57831700
  • ​โฆษกรัฐบาลเผย “นายก”เดินทางเข้าร่วมการประชุม COP26 รับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศของโลก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/47639

สำหรับ ธนรัตน์ เขียวลายเลิศ ผู้รายงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาจากวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ สาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net