Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (1 พฤศจิกายน 2564) ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาให้คุณเบนจา อะปัญ และคุณณัฐชนน ไพโรจน์ มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30, 31 และ 33 และลงโทษจำคุก 6 เดือน และ 4 เดือน (ตามลำดับ)

โดยยังได้มีการอ้างถึงข้อกำหนดของศาลอาญาว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ. 2564 เช่น ข้อ 1 ห้ามใช้คำพูดหรือกริยาในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก่อความรำคาญ ส่งเสียงดัง ที่หมายรวมถึงการกระทำนอกห้องพิจารณาคดีด้วย หรือข้อ 6 ห้ามใช้อุปกรณ์ขยายเสียงต่างๆ ทั้งในศาลและบริเวณรอบศาลด้วย นั้น

ผมเห็นว่าการลงโทษในความผิดฐานดังกล่าว หากดูตามประมวลกฎหมายฯ มาตรา 30 ที่ให้อำนาจศาลออกข้อกำหนดใด ๆ แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำเป็น เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็วนั้น การจะออกข้อกำหนดดังกล่าว รวมถึงการจะพิพากษาความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 31 ก็ควรที่จะบังคับแก่กรณีที่มีการขัดขวางมิให้กระบวนการพิจารณาคดีสามารถดำเนินและเสร็จลุล่วงไปได้เป็นสำคัญ

ซึ่งจากข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ที่ทั้งสองคนได้จัดกิจกรรมทวงคืนสิทธิประกันตัวให้แก่เพื่อนๆ ผู้ชุมนุม อยู่ตรงหน้าบันไดทางเข้าศาลนั้น ก็ไม่ได้เป็นการขัดขวางกระบวนการพิจารณาแต่อย่างใดเลย โดยผลสุดท้ายในวันนั้นการพิจารณาก็เสร็จสิ้นลุล่วงไปในที่สุด (นั่นคือศาลยืนยันไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหา)

แต่ผลปรากฏว่าศาลกลับนำมาใช้เอาผิดกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งข้อกังขาต่อความเที่ยงธรรมและโปร่งใสในการใช้อำนาจของตัวเอง ซึ่งควรเป็นเสรีภาพที่ประชาชนพึงกระทำต่อศาลได้ในฐานะเครื่องมือหนึ่งในการตรวจสอบการทำงานของศาล โดยศาลก็มักจะอ้างว่าที่เอาผิดเช่นนี้ก็เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของศาล ทั้งที่อันที่จริงแล้วศาลจะน่าเชื่อถือหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการใช้ปฏิบัติหน้าที่ของศาลเองว่ามีเหตุผลฟังขึ้น ตอบคำถามสังคมได้หรือไม่ มิได้อยู่ที่ว่าจะมีคนพูดออกมาหรือปิดปากเงียบกันหมดแต่อย่างใดเลย

กล่าวง่ายๆ คือความผิดฐานนี้แทนที่จะใช้ปกป้องกระบวนการให้ดำเนินไปได้ กลับถูกนำมาใช้ปกป้องตัวผู้พิพากษาไม่ให้ถูกวิจารณ์เสียเอง

นี่จึงอาจเป็นหนึ่งตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เราต้องขบคิดว่ากฎหมายของบ้านเมืองกำลังถูกบิดเบือนไปเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเพื่อสร้างผลร้ายต่ออีกฝ่ายหรือไม่ ยิ่งกฎหมายอย่างเรื่องการละเมิดอำนาจศาล ที่ศาลเป็นผู้ออกข้อกำหนดเอง ตั้งข้อกล่าวหาผู้อื่นเอง และพิพากษาเอง หากถูกบิดเบือนขึ้นมาแล้ว อาจทำลายระบบกฎหมายโดยที่ยากที่จะมีผู้ใดตรวจสอบได้ 

(พรรคก้าวไกลได้เคยยื่นเสนอแก้ประมวลกฎหมายอาญาต่อรัฐสภา เพื่อเพิ่มความผิดฐานการบิดเบือนกฎหมายโดยเจ้าหนักงานในการยุติธรรม ขอฝากพี่น้องประชาชนติดตามกันต่อไป)
 
นี่ยังไม่นับว่าความผิดฐานดังกล่าวในกฎหมายไทยอาจมีโทษจำคุกสูงถึง 6 เดือน ซึ่งยิ่งเกื้อหนุนให้เกิดการนำไปใช้เพื่อกำราบให้คนอื่นไม่กล้าพูดไม่ดีต่อศาล ในขณะที่ต่างประเทศที่มุ่งเน้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขัดขวางการพิจารณาเป็นสำคัญ เช่น เยอรมนี กำหนดโทษขังไม่เกิน 1 สัปดาห์เท่านั้น

ทั้งหมดนี้ทำให้ในทางปฏิบัติบทบัญญัติความผิดฐานดังกล่าวได้กลายเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการใช้กลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง จึงสมควรที่จะต้องแก้ไขเพื่อขีดเส้นให้ชัดเจนว่าการคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีให้ดำเนินไปได้นั้นจะต้องไม่กลายมาเป็นการห้ามวิพากษ์วิจารณ์ผู้ใช้อำนาจรัฐที่กระทบต่อประชาชน ซึ่งผมจะได้นำไปปรึกษาหารือในพรรคก้าวไกล เพื่อดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net