Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในทางนิติปรัชญามีคำถามสำคัญว่า กฎหมายกับความยุติธรรมคืออันหนึ่งอันเดียวกันหรือไม่ แน่นอนว่า ตามข้อเท็จจริง กฎหมายกับความยุติธรรมอาจไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็ได้ เพราะการล่าแม่มดในยุคมืด การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว การล่าอาณานิคมเป็นต้นก็ล้วนแต่กระทำในนามของกฎหมายหรืออ้างอิงและใช้อำนาจทางกฎหมายในแง่ใดแง่หนึ่ง รวมทั้งเมื่อคณะรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง พวกเขาก็เขียนกฎหมายใหม่ และใช้กฎหมายเก่าบางฉบับ เช่น มาตรา 112 กดปราบคนคิดต่างทางการเมือง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างอยุติธรรมอำมหิต

ผมเลือกที่จะเชื่อแนวคิดนิติปรัชญาสำนักกฎหมายธรรมชาติ (legal naturalism) ที่เสนอว่า “กฎหมายกับความยุติธรรมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แยกจากกันไม่ได้” ดูเหมือนมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ผู้นำต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมของคนผิวดำก็เชื่อเช่นนี้ ดังวาทะของเขาที่ว่า “เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การต่อต้านจึงเป็นหน้าที่” (when injustice becomes law, resistance becomes duty!) ระบบทาส, การแบ่งแยกสีผิวล้วนเป็นความอยุติธรรม เมื่อมันถูกนำมาใช้เป็นกฎหมาย จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนผู้ต้องการความยุติธรรมต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน

เช่นเดียวกัน เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจเผด็จการ และกฎหมายอาญามาตรา 112 ฯลฯ ประชาชนผู้รักความยุติธรรมจึงลุกขึ้นมาต่อต้าน การถูกอำนาจโบราณทำให้กลายเป็น “นักโทษทางความคิด” ก็คือประจักษ์พยานของ “ความอยุติธรรม” โดยกฎหมาย และกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่บิดเบี้ยว

กฎหมายที่ยุติธรรมคืออะไร นักปรัชญาสำนักกฎหมายธรรมชาติตอบว่า คือ “กฎหมายที่สอดคล้องกับหลักความยุติธรรม หรือกฎหมายที่บัญัติขึ้นบนหลักความยุติธรรม” แปลว่าหลักความยุติธรรมมีอยู่ก่อน เช่น มีอยู่ในฐานะเป็น “สัญญาประชาคม” บางอย่าง กฎหมายที่ยุติธรรมก็คือกฎหมายที่บัญญัติขึ้นบนหลักความยุติธรรมนั้น ซึ่งแนวคิดของนักปรัชญาสำนักนี้มีหลากหลาย ผมขอเลือกแนวคิดเรื่องหลักความยุติธรรมของจอห์น รอลส์มาเป็นตัวอย่าง เพราะหลักความยุติธรรมของรอลส์คือหลักความยุติธรรมในระบอบเสรีประชาธิปไตย และหลักความยุติธรรมประการหนึ่งก็คือ “หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม” (equal liberty) อันได้แก่

- เสรีภาพทางการเมือง (political liberty) คือ เสรีภาพหรือสิทธิในการโหวตและการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งสาธารณะต่างๆ เสรีภาพในการก่อตั้งสมาคม การมีส่วร่วมในกิจการสาธารณะ ที่พ่วงมาด้วยเสรีภาพแห่งมโนธรรม เสรีภาพทางความคิดเห็น เสรีภาพทางศาสนา เสรีภาพในการพูด, การแสดงออก และการชุมนุม

- เสรีภาพในการใช้ชีวิตอย่างเป็นตัวของตัวเอง หรือตามรสนิยมของตนเอง สิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคล 

- เสรีภาพจากการถูกจับกุมคุมขังโดยพลการ หรือสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างชอบธรรมตามกระบวนการยุติธรรม บนหลักความเสมอภาคทางกฎหมายตามหลักนิติรัฐ (rule of law) 

ทั้งหมดนี้คือ “เสรีภาพพื้นฐาน” (basic liberties) ของพลเมืองทุกคน ดังนั้น กฎหมายที่ยุติธรรมก็คือกฎหมายที่บัญญัติขึ้นบนหลักเสรีภาพที่เท่าเทียม หรือต้องเป็นกฎหมายที่ปกป้องเสรีภาพพื้นฐานของพลเมืองดังกล่าวนี้ โดยสถาบันต่างๆ เช่นรัฐสภาที่ทำหน้าที่บัญญัติกฎหมายตามกระบวนการประชาธิปไตย ศาล และกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบต้องถูกกำหนดให้มีโครงสร้างและอำนาจหน้าที่สอดคล้องกับหลักความยุติธรรมคือหลักเสรีภาพที่เท่าเทียมนี้ 

ชัดเจนว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช. และมาตรา 112 เป็นต้น ล้วนขัดกับหลักเสรีภาพที่เท่าเทียมดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้ประชาชนผู้มองทะลุปัญหาลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างทั้งหลายทั้งปวงที่อยุติธรรม ด้วยข้อเสนอสำคัญที่ต้องการแก้ที่ “รากฐาน” ของปัญหา คือข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และยกเลิก 112 ซึ่งต้องตามมาด้วยการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ปฏิรูปศาล ปฏิรูปกองทัพ เป็นต้น 

การต่อสู้ครั้งนี้จึงเป็นการต่อสู้เพื่อ “ความยุติธรรม” และการถูกอำนาจรัฐโบราณทำให้หลายคนกลายเป็น “นักโทษทางความคิด” ก็คือ “ความอยุติธรรม” ซึ่งไม่ใช่แต่บรรดานักโทษทางความคิดที่ถูกจองจำอยู่ในคุกเท่านั้นที่ได้รับความอยุติธรรมนี้ หากแต่ประชาชนทุกคนต่างแบกรับความอยุติธรรมนี้ร่วมกัน ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

พูดอีกอย่างว่า ไม่ใช่แต่บรรดานักโทษทางความคิดที่อยู่ในคุกเท่านั้นที่ถูกละเมิดเสรีภาพ ประชาชนทุกคนก็ถูกละเมิดเสรีภาพถ้วนหน้า เพราะไม่มีใครมีเสรีภาพ เนื่องไม่มีหลักเสรีภาพที่เท่าเทียม ไม่มีกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่สอดคล้องกับหลักเสรีภาพที่เท่าเทียมอยู่จริง คนที่ยังไม่ติดคุก ก็คือคนที่ยังยังไม่ได้ลุกขึ้นมาเผชิญหน้าตรงๆ กับระบบเผด็จการทรราชย์เท่านั้น   

ดังนั้น ความเสียสละของบรรดานักโทษทางความคิด จึงเป็นความเสียสละที่ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกับความเสียสละของนักต่อสู้ในประวัติศาสตร์ทุกยุคสมัย ทั้งที่ปรากฏนามและไร้นาม และอย่างที่เราทราบกันเมื่อประชาชนเข้าใจปัญหาถ่องแท้และเห็นคุณค่าของผู้เสียสละมากขึ้นๆ การรวมพลังต่อสู้โค่นระบบเผด็จการทรราชย์ย่อมเกิดขึ้นตามมา

อย่างไรก็ตาม ในทางปรัชญายากที่จะตอบได้ว่า ระหว่าง “เสรีภาพของปัจเจกบุคคล” กับ “เสรีภาพทางการเมือง” อะไรสำคัญกว่า แต่ในการกระทำเราได้เห็นชัดเจนแล้วว่า บรรดานักโทษทางความคิดได้เลือกที่จะแลกอิสรภาพของตนเองเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพทางการเมือง

สำหรับเราส่วนใหญ่ที่อยู่นอกคุก แม้จะมีเสรีภาพของปัจเจกบุคคล แต่ก็ไม่มีเสรีภาพทางการเมือง ไม่มีเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกในทางที่จะช่วยให้ชีวิตเราแต่ละคนและสังคมก้าวหน้าและยุติธรรมในทางการเมือง เศรษฐกิจ และทางอื่นๆ ได้ เราทุกคนจึงเหมือนถูกระบบเผด็จการทรราชย์ทำให้กลายเป็นนักโทษทางความคิด แม้จะอยู่นอกคุก ก็อยู่อย่างคนที่ไม่กล้าคิด กล้าทำในสิ่งที่ตนเองเชื่อว่าถูกต้องเท่ากับคนที่อยู่ในคุกด้วยซ้ำ

วลีว่า “ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส” จึงยังคงท้าทายมโนสำนึกของเราทุกคน ตราบที่เรายังมี “ความเป็นคน” ที่รู้จักใช้เหตุผลรู้ความหมายของความยุติธรรมบนหลักเสรีภาพที่เท่าเทียม และศาลหรือบรรดาผู้พิพากษาเอง ก็ย่อมจะมี “ความเป็นคน” เฉกเช่นนักโทษทางความคิดทุกคน (หวังว่านะ!)

หรือมองอีกแง่หนึ่ง หากศาลหรือผู้พิพากษาเองมีความเป็นคนเฉกเช่นนักโทษทางความคิดทั้งในและนอกคุก พวกเขาอาจเป็นนักโทษทางความคิดเสียยิ่งกว่า เพราะต้องทุกข์ทรมานจากการตัดสินลงโทษนักโทษทางความคิดอย่างขัดต่อมโนธรรมสำนึกของความเป็นคน! 

 

ที่มาภาพ: เฟสบุ๊ค จดหมายถึงนักโทษทางความคิด 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net