Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยื่นหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ประธานศาลอุทธรณ์ และประธานศาลฎีกาขอให้ทบทวนแนวปฏิบัติการแจ้งกำหนดนัดศาลกรณีเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี 'ชัยภูมิ ป่าแส' โดยไม่แจ้งล่วงหน้า

3 พ.ย. 2564 วานนี้ (2 พ.ย. 2564) มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ประธานศาลอุทธรณ์ และประธานศาลฎีกา เรื่องขอให้ทบทวนแนวปฏิบัติในการแจ้งคู่ความให้ทราบถึงกำหนดนัดของศาล ภายหลังเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา ศาลแพ่งเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี 'ชัยภูมิ ป่าแส' โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า มูลนิธิฯ จึงขอให้ศาลทบทวน และดำเนินการให้มีการปรับปรุงระเบียบหรือแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องสำหรับศาลยุติธรรมทุกชั้นศาลทั่วประเทศ ให้คำนึงถึงการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนเป็นสำคัญ

สืบเนื่องจากศาลแพ่งส่งหมายนัดคู่ความมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลงวันที่ 26 ส.ค. 2564 ในคดีหมายเลขดำที่ พ2591/2562 และคดีหมายเลขแดงที่ พ5265/2563 ซึ่งนาปอย ป่าแส ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก กรณีเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนยิงสังหารชัยภูมิ ป่าแส จนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2560 โดยนัดให้มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในวันที่ 26 ต.ค. 2564 เวลา 8.30 น. แต่เมื่อทนายความโจทก์-จำเลย และภาคีเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อสังคมที่ให้ความช่วยเหลือครอบครัวของชัยภูมิเดินทางไปถึงศาลแพ่งเพื่อฟังคำพิพากษา ศาลแพ่งได้แจ้งเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่าศาลอุทธรณ์ยังพิจารณาคดีไม่แล้วเสร็จ โดยไม่มีการแจ้งการเลื่อนนัดต่อคู่ความทั้งสองฝ่ายทราบก่อนจะถึงวันนัดแต่อย่างใด ทั้งนี้ศาลแพ่งได้แจ้งให้ทนายความโจทก์ทราบว่า ได้รับหนังสือแจ้งจากศาลอุทธรณ์ให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2564 แต่กลับไม่เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งเลื่อนนัดต่อคู่ความทั้งสองฝ่ายก่อนที่จะถึงวันนัดแต่อย่างใด

มูลนิธิฯ จึงได้ยื่นหนังสือ ลงวันที่ 2 พ.ย. 2564 ถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ประธานศาลอุทธรณ์ และประธานศาลฎีกา เรื่องขอให้ทบทวนแนวปฏิบัติในการแจ้งคู่ความให้ทราบถึงกำหนดนัดของศาล ใจความว่า "เมื่อคำนึงถึงความคาดหวังในการอำนวยความสะดวกที่ประชาชนพึงได้รับในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งศาลมีบทบาทสำคัญยิ่ง และเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน คู่ความควรได้รับการแจ้งล่วงหน้าจากเจ้าหน้าที่ศาลเรื่องการเลื่อนนัดดังกล่าว โดยเฉพาะในคดีของชัยภูมิ ป่าแส ซึ่งโจทก์ในคดีและญาติของชัยภูมิ ป่าแส (ผู้ตาย) เป็นกลุ่มคนชาติพันธุ์ลาหู่ มีฐานะยากจน และอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ การเดินทางมายังศาลในกรุงเทพมหานครแต่ละครั้งจึงต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง และต้องใช้เวลาในการเดินทาง อีกทั้งในสถานการณ์โควิด-19 เช่นนี้ย่อมทำให้ได้รับความลำบากเพิ่มขึ้นไปอีก"

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่าการที่คู่ความต้องเดินทางมาที่ศาลเพียงเพื่อทราบการเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาคดีนั้น เป็นการสิ้นเปลืองกำลังคนและและค่าใช้จ่ายอย่างมาก จึงหวังอย่างยิ่งว่าจะมีการดำเนินการเพื่อปรับปรุงระเบียบหรือแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องสำหรับศาลยุติธรรมทุกชั้นศาลทั่วประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนเป็นที่ตั้ง อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม

“เราขอผลักดันให้เกิดบรรทัดฐานในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชน ให้ดำเนินงานอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ก้าวทันยุคสมัย และเอื้ออำนวยให้ประชาชนที่เข้ามาพึ่งพิงกลไกกระบวนการยุติธรรมได้รับความเป็นธรรมโดยแท้จริง และไม่ให้คำกล่าวอ้างที่ประชาชนมักกล่าวกันว่าการเข้าถึงความเป็นธรรมในประเทศนี้มีราคาแพงยิ่งนัก เป็นจริงตามที่กล่าวอ้างได้” พรเพ็ญกล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net