นักวิชาการห่วงแผนใช้พลังงานภูเขาไฟขุด 'บิตคอยน์' ของ ปธน.เอลซัลวาดอร์สร้างผลกระทบหลายด้าน

ประธานาธิบดีเอลซัลวาดอร์วางแผนจะใช้พลังงานความร้อนจากภูเขาไฟในการ "ขุด" สกุลเงินเข้ารหัสหรือ "คริปโตเคอร์เรนซี" (cryptocurrency) อย่างบิตคอยน์ โดยมีแผนการจะเปลี่ยนแปลงให้ประเทศหันมาใช้สกุลเงินนี้ อย่างไรก็ตาม NACLA องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กแสดงความกังวลว่าวิธีการที่รัฐบาลใช้ขุดบิตคอยน์ก็ก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนต่างๆ ที่เข้าถึงทรัพยากรน้ำและไฟฟ้าได้ลำบาก จนเกิดการประท้วง

4 พ.ย. 2564 North American Congress on Latin America (NACLA) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์การเรียนรู้ด้านลาตินอเมริกาและทะเลแคริบเบียน มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ที่ทำงานด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศในอเมริกากลาง ออกมาแสดงความกังวลต่อกรณีการออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับบิตคอยน์ในประเทศเอลซัลวาดอร์ ซึ่งหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้เพียง 1 เดือน รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ นำโดยนายิบ บูเคเล ประธานาธิบดี ก็เริ่มฉวยใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพจากภูเขาไฟเพื่อนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานในการ  "ขุดบิตคอยน์" ซี่งบีบีไทยอธิบายความหมายของการขุดบิตคอยน์ไว้ว่า "เป็นการนำคอมพิวเตอร์ของคุณเข้าไปช่วยระบบบิทคอยน์ โดยเครื่องคอมพิวเตอร์จะต้องแข่งประมวลผลการทำรายการให้ได้เร็วที่สุด ผู้ชนะจะได้รับบิทคอยน์เป็นค่าตอบแทน จนกว่าเหรียญที่ถูกกำหนดไว้ทั้งหมด 21 ล้านเหรียญจะถูกสร้างขึ้นจนหมด"

ในวันแรกที่รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ทำการขุดบิตคอยน์นี้ พวกเขาทำได้ 0.0059979 คิดเป็นประมาณ 270 ดอลลาร์ (ราว 8,900-9,000 บาท) เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการของรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ในการปรับให้เศรษฐกิจของประเทศมาสู่การเงินแบบสกุลเงินเข้ารหัสหรือ "คริปโตเคอร์เรนซี" (cryptocurrency)

แผนการที่ว่านี้ รัฐบาลเอลซัลวาดอร์จะสร้างคอมพิวเตอร์ฟาร์มของตัวเองเพื่ออนุมัติให้มีการแลกเปลี่ยนกันในบล็อกเชน (blockchain) ซึ่งเป็นเปรียบเสมือนเครือข่ายการเก็บข้อมูลแบบหนึ่ง ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลเดียวกัน เราจึงรู้ว่าใครมีสิทธิและเป็นเจ้าของข้อมูลเหล่านี้จริงๆ โดยที่รัฐบาลเอลซัลวาดอร์หวังว่าการสนับสนุนบิตคอยน์ของพวกเขานี้จะดึงดูดให้นักขุดคริปโตเคอร์เรนซีทั่วโลกหันมาหาเอลซัลวาดอร์ในฐานะแหล่งปฏิบัติการขุดจากการที่มีแหล่งพลังงานในการขุดที่ดูเหมือนจะไม่แพงและดูเหมือนจะไม่มีจำกัด

อย่างไรก็ตาม การใช้พลังงานจากภูเขาไฟของเอลซัลวาดอร์ก็อาจจะส่งผลกระทบต่างๆ ต่อผู้คนได้ ภูเขาไฟในเอลซัลวาดอร์เป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของภูมิภาคอเมริกากลาง เป็นพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยมีความอุดมสมบูรณ์ มีวิถีชีวิตของผู้คน ทั้งจากการทำไร่ทำสวน การผลิตแบบยังชีพ การปศุสัตว์ รวมถึงเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แต่ในตอนนี้ พื้นที่เหล่านี้กำลังจะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นฟาร์มขุดคริปโต โดยเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ที่ใช้ขุดคริปโตให้ฉวยใช้ทรัพยากรธรรมชาติ กลายเป็นโครงการของรัฐที่ต้องการใช้พลังงานธรรมชาติมหาศาลเพื่อมูลค่าในระยะสั้น ในขณะที่ประชาชนหลายคนยังไงประสบปัญหาความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรและพลังงาน

กรณีตัวอย่างการขุดบิตคอย์โดยอาศัยพลังงานภูเขาไฟในจังหวัดอูซูลูตัน ที่กลุ่มชุมชนโดยรอบแหล่งพลังงานความร้อนจากใต้พื้นดินจะไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากเรื่องนี้ มีวิดีโอที่แสดงให้เห็นแหล่งแปรรูปพลังงานที่เชื่อมกับตัวขุดเจาะบิตคอยน์แบบใช้แล้วทิ้งไม่กี่เครื่อง แต่ไม่มีการพูดถึงว่าพลังงานเหล่านี้จะส่งไปให้กับครอบครัวชาวเอลซัลวาดอร์ที่ต้องการพลังงานแต่อย่างใด บ้างก็มองว่าโครงการบิตคอยน์เหล่านี้เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยง

ปัจจุบัน เอลซัลวาดอร์ยังต้องอาศัยพลังงานจากการนำเข้าเกือบ 1 ใน 4 ของพลังงานที่ใช้ในประเทศ แหล่งพลังงานที่ผลิตเองนั้นไม่คงที่เพราะมีปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ การขยายไปใช้พลังงานความร้อนจากพื้นที่ภูเขาไฟอาจจะช่วยแก้ไขปัญหาความต้องการพลังงานในระยะสั้นได้ แต่พื้นที่ชุมชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเมืองเล็กๆ หรือเมืองใหญ่ผู้คนต่างก็ยังต้องจ่ายค่าไฟแพงแต่ได้รับพลังงานน้อยอีกทั้งสภาพสายไฟที่ไม่ได้มาตรฐานก็เสี่ยงจะล้มเหลวเพราะแค่มีพายุเล็กๆ น้อยๆ ชีวิตพวกเขาต้องแลกกับนดยบายที่รัฐบาลจะพยายามพัฒนาเพื่อรองรับชาวต่างชาติ รองรับธุรกกิจใหญ่ และรองรับตลาดเสรีมากกว่า

รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ยังใช้คำพูดโฆษณาว่า "พลังงานความร้อนจากใต้พื้นพิภพเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ราคาถูกและจะช่วยลดการพึ่งพาพลังงานคาร์บอนได้" แต่สุดท้ายแล้วการผลิตพลังงานด้วยแหล่งนี้สำหรับบูเคเลก็กลายเป็นแค่การนำมาหาผลประโยชน์จากบิตคอยน์มากกว่าจะช่วยสร้างพลังงานให้ผู้คน จากการที่ผู้คนในพื้นที่ชนบทยังต้องจุดเทียน ก่อไฟ หรือใช้เครื่องผลิตไฟฟ้าของตัวเองในยามวิกาล ยังไม่นับว่าประชาชนเหล่านี้อาจจะยังต้องมาแบกรับความไม่แน่นอนหลังผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการลงทุนของรัฐบาลด้วยก็ได้

มีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลบูเคเลอาจจะกำลังต้องการแปลงพลังงานในประเทศให้เป็นแหล่งขุดบิตคอยน์ เพื่อรองรับคนที่หนีมาจากพื้นที่อื่นๆ ที่ถูกห้ามขุดบิตคอยน์ เช่น จีน และไอซ์แลนด์ ทำให้เอลซัลวาดอร์ต้องการโฆษณาว่าตัวเองมีพลังงานที่ราคาถูกกว่าประเทศที่ใช้พลังงานถ่านหินในการขุดเจาะคริปโต แต่ก็นำมาสู่คำถามสำคัญว่าการใช้พลังงานไปมากมายกับเรื่องแบบนี้จะส่งผลต่อทางสังคมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

ในเวลาเพียงหนึ่งปีการขุดบิตคอยน์นั้นใช้พลังงานมากเทียบเท่ากับทั้งประเทศอาร์เจนตินาใช้ คือราว 122 เทราวัตต์-ชั่วโมง (122 ล้านล้านวัตต์-ชั่วโมง) ต่อปี นอกจากนี้เครื่องที่ขุดบิตคอยน์ก็จะดำเนินไปอยู่ตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืนทำให้เกิดความร้อนส่วนเกินออกมาจนต้องใช้วิธีการทำความเย็นเข้าช่วยเครื่องเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศ ระบบหล่อเย็นแบบที่วางอยู่ในน้ำ ทั้งหมดนี้เป็นการใช้น้ำอย่างสิ้นเปลืองทำให้โลกร้อนขึ้นและทำลายชั้นโอโซน อีกทั้งพลังงานไฟฟ้าจากประเทศที่ยังคงผลิตไฟฟ้าแบบดั้งเดิมก็มีการใช้น้ำสิ้นเปลืองเช่นกัน ส่งผลต่อการต่อสู้เพื่อสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำของประชาชน ในขณะที่มีการแปรรูปให้กับเอกชนบางกลุ่มเท่านั้น

สำหรับกรณีเอลซัลวาดอร์ ผู้นำประเทศพูดถูกในเรื่องที่พลังงานจากภูเขาไฟเป็นพลังงานหมุนเวียนก็จริง แต่ก็กลับกลายเป็นตัวสนับสนุนอุตสาหกรรมขุดบิตคอยน์ที่ก่อให้เกิดปัญหาเหล่านี้ตามมาด้วย

กระนั้น ถ้าหากมองในมุมการพัฒนาโดยไม่จำเป็นต้องมองเรื่องผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ยังน่ากังขาว่าการพัฒนาที่ว่าซึ่งหมายถึงการที่ประเทศยากจนอย่างเอกซัลวาดอร์จะได้รับการทำให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานกลายเป็นสมัยใหม่ รวมถึงมีการสร้างงานให้ประชาชน แม้แต่ในแง่นี้ก็มีข้อโต้แย้ง โดยมีการยกตัวอย่างจากกรณีที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไอซ์แลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้พลังงานจากภูเขาไฟในเรื่องนี้เช่นกัน แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือประเทศไอซ์แลนด์เป็นเมืองหนาว ขณะที่เอลซัลวาดอร์เป็นเมืองร้อน ทำให้การทำเหมืองบิตคอยน์ในไอซ์แลนด์ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบทำความเย็นอะไรมาก รวมถึงในไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่มีพลังงานส่วนเกินอยู่แล้ว ขณะที่เอลซัลวาดอร์ผู้คนยังต้องดิ้นรนเข้าถึงทรัพยากรนี้ อีกทั้งเงินเดือนโดยเฉลี่ยในไอซ์แลนด์ก็ดีกว่า

นอกจากนี้ เอลซัลวาดอร์ยังมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมของตัวเองอยู่แล้ว จากการที่มีการตัดไม้จำนวนมาก มีปัญหาเรื่องภัยแล้ง สภาพอากาศที่แปรปรวนคาดเดาไม่ได้ ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ที่ตั้งของเอกซัลวาดอร์ยังตั้งอยู่ตามแนวส่วนโค้งของภูเขาไฟที่มีรอยเลื่อนที่มีพลังเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว ในแง่ของการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเองก็ยังคงเสร็จแบบครึ่งๆ กลางๆ มีกรณีการเจรจาเรื่องการจัดการน้ำ แต่บูเคเลก็ยังคงมุ่งให้เรื่องบิตคอยน์เป็นเรื่องมาก่อน

แต่บทเรียนที่สำคัญจากไอซ์แลนด์คือการขุดบิตคอยน์กินพลังงานมากกว่าครัวเรือนทุกหลังของไอซ์แลนด์รวมกัน คนขุดบิตคอยน์บางคนมีค่าไฟมากถึง 1 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน (ราว 33 ล้านบาทต่อเดือน) แม้แต่พลังงานส่วนเกินของไอซ์แลนด์ก็เอามาใช้ให้กับนักขุดเหล่านี้ และต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับนักขุดเหล่านี้โดยเฉพาะ อีกเรื่องหนึ่งที่การขุดบิตคอยน์ก่อปัญหาคือเรื่องการสร้างขยะอิเล็กโทรนิกสูงมาก เพราะต้องคอยหาตัวขุดตัวใหม่มาแทนตัวเดิมเรื่อยๆ เพื่อรักษาประสิทธิภาพการขุดเอาไว้ ทำให้แม้แต่ประเทศสแกนดิเนเวียก็ต้องเจอปัญหาที่บิตคอยน์ไม่ได้เป็นสาย "เขียว" อย่างที่อ้างไว้จากการที่ต้องการพลังงานและสร้างขยะมากจนอาจจะทำให้โลกร้อนในระดับน้ำแข็งขั้วโลกละลายหมดได้

การประท้วงจากชาวเอลซัลวาดอร์

ไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่มีการออกกฎหมายเปิดทางให้บิตคอยน์ ก็เริ่มมีการประท้วงจากประชาชนที่ต่อต้านโครงการของรัฐบาลบูเคเลที่เรียกว่า "บูเคลิสกา" มีผู้ประท้วงชาวเอลซัลวาดอร์หลายพันคนเดินขบวนบนท้องถนนเพื่อแสดงความไม่พอใจ มีการตั้งข้อสังเกตว่า "เผด็จการบูเคเล" นั้นหน้าไม่อายเมื่อเปรียบเทียบกับนักทุนนิยมและนักการเมืองในประเทศอย่างสหรัฐฯ ในสหรัฐฯ ผู้มีอำนาจเหล่านี้มักจะแอบซ่อนการกระทำของตัวเองโดยการโกงระบบการเงินและชักใยตลาดให้ทำลายนักลงทุนรายย่อยและเอื้อต่อผลประโยชน์ของตัวเอง โดยมีการต่อรองผลประโยชน์และล็อบบีลับหลัง แต่ในกรณีของเอลซัลวาดอร์นี้มีการกระทำแบบบิดเบือนตลาดกันโจ่งแจ้ง มีกลุ่มคลั่งผู้นำที่ส่วนหนึ่งเป็นพวกเห่อบิตคอยน์ที่แห่ตามทวิตเตอร์ของบูเคเลแบบเดียวกับพวกเห่อบิตคอยน์ต่างประเทศที่แห่ตามอีลอน มักส์ คนกลุ่มนี้บอกขอบคุณบูเคเลที่บงการตลาดไปในทางที่เอื้อต่อประโยชน์ของพวกเขา

สุดท้ายแล้วการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นเพื่อเปิดทางให้บิตคอยน์นั้นหาได้มีประโยชน์กับชาวเอลซัลวาดอร์จำนวนมาก แต่ให้ประโยชน์ตกกับคนจำนวนน้อยไม่กี่หยิบมือที่เปิดระบบ ชิโววอลเลต ที่เป็นระบบวอลเลตบิตคอยน์ของรัฐบาลเอลซัลวาดอร์เท่านั้น และมีคนที่ได้รับการจ้างงานดูแลเรื่องการขุดบิตคอยน์อีกเพียงไม่กี่คน ที่แย่กว่านั้นคือเสี่ยงที่ระบบการลงทุนนี้จะล่ม ทำให้สูญเงินของประชาชนไปเปล่าๆ ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับคนรุ่นถัดไป รวมถึงกระทบทรัพยากรน้ำในดินที่มีปัญหาอยู่แล้ว

ถ้าหากประเทศแถบอเมริกากลางประเทศอื่นๆ หันมาจับตลาดที่กำลังอยู่ในช่วงฟองสบู่เช่นนี้ก็เป็นไปได้ที่จะเกิดการเร่งสร้างโรงแปรรูปแหล่งพลังงานธรรมชาติต่างๆ อย่างล้มเกินจนทำให้อนาคตด้านพลังงานของอเมริกากลางน่าเป็นห่วง

เรียบเรียงจาก:

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท