Skip to main content
sharethis

เนื่องในวาระวันสากลเพื่อยุติการไม่ต้องรับโทษสำหรับอาชญากรรมต่อนักข่าว เมื่อ 2 พ.ย.2564 ที่ผ่านมาองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ร่วมกับประชาไทจัดเวทีแลกเปลี่ยนปัญหาภัยคุกคามที่มีต่อสื่อมวลชนที่ทำงานในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีทั้งนักข่าวจากไทยและพม่า รวมถึงนักกฎหมายที่มาแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมต่อนักข่าวที่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อและประชาชน

คาเทีย คริริซซี รองผู้แทนของสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การปกป้องประชาธิปไตยและพื้นที่สำหรับภาคประชาสังคมเป็นเรื่องสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนมาก แต่กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับมีการโจมตีนักข่าวด้วยหลายวิธีการซึ่งส่งผลต่อการทำงานของนักข่าวที่ทำให้พวกเขาต้องเซนเซอร์ตัวเอง ซึ่งเธอเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปกป้องกลุ่มคนทำสื่อในกลุ่มประเทศเหล่านี้รวมถึงประเทศไทยด้วย เพราะสิทธิเสรีภาพการแสดงออกเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จะทำให้เกิดการพูดคุยกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยังยืนในภูมิภาคนี้

ชิเกรุ อาโอะยางิ ผู้อำนวยการแผนกการศึกษาของ ยูเนสโกประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค กล่าวว่าเกิดการคุกคามนักข่าวเพิ่มมากขึ้นทั่วพื้นที่เอเชียแปซิฟิค และนักข่าวหญิงก็ตกเป็นเป้าของการคุกคามทางเพศและชีวิตโดยเฉพาะในพื้นที่ออนไลน์ และเมื่อไม่เกิดการสืบสวนสอบสวนการคุกคามและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักข่าวบ่อยครั้งได้ทำให้เกิดการคุกคามที่รุนแรงมากขึ้นไปจนถึงขั้นฆาตกรรมซึ่งเป็นรูปแบบที่รุนแรงที่สุดในการเซนเซอร์สื่อ

รายงานความรุนแรงต่อสื่อมวลชน: ถูกคุกคาม ทำร้าย ฟ้องปิดปาก จนกลายเป็นเรื่องปกติ

ความรุนแรงและอาชญากรรมต่อนักข่าวในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

ในช่วงเวทีแลกเปลี่ยน โซ หมินท์ ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวมิสสิม่าซึ่งเป็นสื่อจากพม่า อธิบายสถานการณ์ด้านความปลอดภัยของสื่อที่ต้องเผชิญยิ่งแย่ลงไปอีกหลังจากกองทัพพม่าทำการรัฐประหารเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เขาบอกว่ามีนักข่าวที่ถูกจับกุมเป็นร้อยคนและคนเหล่านี้ยังถูกทุบตีและซ้อมทรมานอีกด้วย แม้ว่าในขณะนี้จะมีบางคนได้รับการปล่อยตัวมาแล้วแต่ก็ยังเหลือนักข่าวอีกประมาณ 30 คนที่ยังถูกคุมขังอยู่

ผู้ก่อตั้งมิสสิม่ายังกล่าวอีกว่า นอกจากนั้นรัฐบาลทหารพม่าก็ยังออกกฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ ออกมาควบคุมการทำงานของสื่อเช่น การไม่ให้ใช้คำบางคำเช่น รัฐบาลทหาร, รัฐประหาร หรือระบอบเผด็จการ เป็นต้น นอกจากนั้นใช้กระบวนการทางกฎหมายและศาลก็ยังมีการบิดเบือนกฎหมายเพื่อใช้ในปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์สื่อและประชาชนด้วย นอกจากนั้นยังห้ามประชาชนเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีอีกด้วย

สองนักข่าวที่ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 64 ประกอบด้วย เคซอนเนว่ (หน้า-ซ้าย) นักข่าว Myanmar Now และ เหย่เมียวขั่น (หน้า-ขวา) ช่างภาพข่าว ทั้งสองคนถูกจับกุมวันเดียวกัน ช่วงปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และทั้งคู่ถูกตั้งข้อหาเดียวกัน คือ มาตรา 505[a] (ที่มา Khit Thit Media)

โซ หมินท์เห็นว่ารัฐบาลไม่ควรจะเข้ามาแทรกแซงการทำงานของนักข่าว และเขายังเรียกร้องให้มีการกดดันรัฐบาลทั้งจากภายในและภายนอกประเทศพม่าเพื่อยกเลิกการใช้กฎหมายที่มาจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อเพื่อให้ยังสามารถทำงานต่อไปได้

จุฑารัตน์ กุลตันกิจจา ผู้สื่อข่าวจากประชาไท กล่าวว่าหลังจากมีการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 แล้วก็คาดว่าสถานการ์เสรีภาพของสื่อจะดีขึ้นแม้ว่ารัฐบาลปัจจุบันจะดูเหมือนต่อเนื่องกันมาจากรัฐบาลรัฐประหารก็ตามแต่ก็มีการยกเลิกประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหารไป อย่างไรก็ตามสถานการณ์เสรีภาพสื่อมวลชนในไทยก็ไม่ได้ดีขึ้น ยังมีการใช้กฎหมาย เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19รัฐบาลก็ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้จำกัดการรายงานเรื่องราวเกี่ยวกับโควิด-19 ทำให้หลายสำนักข่าวรวมตัวกันฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวจากการใช้ข้อกำหนดของรัฐบาลซึ่งก็ทำให้รัฐบาลยกเลิกข้อกำหนดนี้ไป นอกจากนั้น ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการก็มีเนื้อหาที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของรัฐได้ยากขึ้นไปอีกด้วยการกำหนดบทลงโทษต่อผู้ที่นำข้อมูลมาเผยแพร่

ผู้สื่อข่าวจากประชาไทยังกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ทางการไทยยังมีความพยายามในการปิดกั้นสื่อบางสำนักโดยออกมาเป็นคำร้องถึงศาลเพื่อให้มีคำสั่งในการปิดกั้นสื่อ 4 สำนัก แต่ภายหลังศาลก็ยกคำร้องดังกล่าวไปโดยให้เหตุผลว่าคำร้องขอดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่หากมีเนื้อหาใดที่เข้าข่ายผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็ขอให้มีการปิดกั้นเฉพาะ URLs ของข่าวชิ้นนั้นไป ซึ่งก็มีเหตุการณ์ที่สำนักข่าวประชาไทเองเคยได้รับคำร้องให้ปิดกั้นการเข้าถึงวิดีโอที่มีเนื้อหาเป็นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ด้วย

จุฑารัตน์กล่าวถึงการชุมนุมทางการเมืองในไทยที่ดำเนินมาต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2563 จนถึงปัจจุบันว่า เกิดการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐถึง 58 ครั้ง ซึ่งในการสลายการชุมนุมหลายครั้งก็มีนักข่าวที่ทั้งถูกจับกุมดำเนินคดีแล้ว 5 คนทั้งที่เป็นเพียงการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ของสื่อและบางครั้งก็มีนักข่าวที่ถูกทำร้ายร่างกายและดำเนินคดีตามมาภายหลังด้วยซึ่งนักข่าว 3 ใน 5 คนที่ถูกจับกุมดำเนินคดีก็เป็นสื่ออิสระและได้ตกเป็นเป้าในการจับกุมของเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจนเนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ติดตามหาตัวโดยการดูการถ่ายทอดสดของนักข่าว 3 คนดังกล่าวเพื่อเข้าจับกุม

ศรายุธ ตั้งประเสริฐ นักข่าวประชาไท ถูกยิงด้วยกระสุนยางจากตำรวจเมื่อ 20 มี.ค.2564 ที่มาภาพ Noppakow Kongsuwan  

นอกจากนั้นจุฑารัตน์ยังกล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระสุนยางยิงนักข่าวที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ทำข่าวการชุมนุมอยู่โดยปัจจุบันมีนักข่าวจำนวน 14 คนที่ถูกตำรวจใช้กระสุนยางยิงใส่และมีบางเหตุการณ์ที่ตำรวจใช้วิธีกราดยิงเข้าใส่กลุ่มนักข่าวด้วย จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีนักข่าวที่ฟ้องต่อศาลแพ่งถึง 2 ครั้งต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งในครั้งแรกศาลยกฟ้องทันทีโดยไม่มีการไต่สวนเกิดขึ้นและศาลอ้างว่าศาลไม่มีอำนาจในเรื่องดังกล่าวและในครั้งที่สองแม้จะยังอยู่รยกฟ้องทั้งสองครั้ง และในครั้งที่สองนักข่าวที่ยื่นฟ้องก็ขอให้ศาลเรียก สตช มาไต่สวน เพื่อหาข้อเท็จจริงแต่ศาลก็ไม่เรียกมา

นอกจากประเด็นที่สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองแล้ว จุฑารัตน์ได้กล่าวถึงกรณีที่บริษัทเอกชนในไทยดำเนินคดีกับนักข่าวอีก 2 กรณี คือกรณีบริษัทฟาร์มไก่ฟ้องวอยซ์ทีวีกรณีทวิตข่าวคำพิพากษาของศาลที่ตัดสินว่ามีการใช้แรงงานข้ามชาติในลักษณะที่เป็นแรงงานทาส และในอีกรณีคือบริษัทเหมืองแร่ที่ไปลงทุนในพม่าฟ้องนักข่าวที่รายงานข่าวคำพิพากษาของศาลพม่าที่สั่งให้บริษัทจ่ายค่าเสียหายต่อประชาชนพม่า

นอกจากนั้นยังมีกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีการเลือกตั้งฟ้องคอลัมนิสต์ของกรุงเทพธุรกิจที่วิจารณ์คำตัดสินของศาลที่ตัดสิทธินักการเมืองเพียงเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของสื่อแต่บริษัทดังกล่าวเป็นเพียงบริษัทรับทำป้ายแต่ต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทสื่อ

จุฑารัตน์กล่าวถึงสถานการณ์เจ้าหน้าที่รัฐคุกคามนักข่าวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการไปติตดามตัวถึงที่บ้านอีกทั้งยังมีการคุกคามแหล่งข่าวเพื่อไม่ให้ข่าวกับสื่อมวลชนด้วย และยังมีกรณีที่นักข่าวถูกควบคุมตัวตามอำเภอใจโดยเจ้าหน้าที่รัฐด้วยซึ่งในระหว่างการควบคุมตัวนักข่าวคนดังกล่าวก็ไม่สามารถติดต่อทนายความหรือผู้ที่เขาไว้วางใจได้อีกด้วยแม้ว่าภายหลังจะได้รับการปล่อยตัวก็ตามแต่ก็ทำให้เห็นถึงสถานการณ์การคุกคามสื่อในพื้นที่ดังกล่าว

จุฑารัตน์ก็คาดหวังกับศาลยุติธรรมเพราะการที่นักข่าวไปฟ้องศาลก็เพราะหวังว่าให้ความคุ้มครองในการทำงานของสื่อ แม้ว่าคดีหนึ่งจะยกฟ้องไปแล้ว แต่ก็หวังว่าอีกคดีที่ยังอยู่ในกระบวนการของศาล ศาลจะเรียกผู้เกี่ยวข้องมาไต่สวนให้เห้นข้อเท็จจริงมากขึ้นว่าเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติงานอย่างไรและสื่อมวลชนได้ปฏิบัติตามแนวที่ควรจะเป็นหรือไม่เพื่อหาแนวทางคุ้มครองการทำงานของสื่อมวลชนในสถานการณ์ที่วิกฤติอยู่ตอนนี้และภาครัฐก็ควรจะพยายามทำความเข้าใจและเลือกใช้ความรุนแรงเป็นทางเลือกสุดท้ายและเปิดพื้นที่ให้สื่อทำงานได้มากขึ้นแล้วก็ไม่มองว่าสื่อเป็นศัตรูเพราะว่าเมื่อมีผู้สื่อข่าวในพื้นที่รัฐได้ปฏิบัติการอย่างถูกต้องหรือไม่เพราะถ้าปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องก็จะยืนยันถึงการทำงานที่ดีของฝ่ายรัฐเอง

จุฑารัตน์ยังหวังต่อไปว่าองค์กรวิชาชีพจะมีบทบาทในการคุ้มครองสื่อมวลชนด้วยกันมากขึ้นแม้ว่าที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพจะได้พยายามเข้าไปพูดคุยกับฝ่ายรัฐเพื่อหาแนวทาง แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ที่นักข่าวด้วยกันถูกยิงด้วยกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตาเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากกว่าที่จะเป็นปกติไปแล้วก็ไม่ได้มีใครพูดถึงเรื่องเหล่านี้ และในอนาคตก็ควรจะหาตัวผู้กระทำความผิดมาให้ได้เพื่อไม่ให้เกิดการลอยนวลพ้นผิด

สุชาณี รุ่งเหมือนพร หรือ สุชาณี คลัวเทรอ อดีตนักข่าว Voice TV ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก 2 ปี ในคดีที่บริษัทธรรมเกษตรฟ้องจากข้อความบนทวิตเตอร์ของเธอเกี่ยวกับผลคำพิพากษาคดีที่บริษัทต้องชดเชยคนงานพม่า โดยมีข้อความว่า "กรณีใช้แรงงานทาส" ในทวีตดังกล่าว แต่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องในภายหลัง ภาพจาก iLaw

การสอบสวนและดำเนินคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมและความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวในประเทศลุ่มน้ำโขง

ช่วงที่สองของการเสวนากล่าวถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาและป้องกันการเกิดอาชญากรรมและความรุนแรงต่อสื่อทั้งประเด็นทางด้านกฎหมายการหาแนวปฏิบัติที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครองการทำงานของสื่อมวลชน

ซาบิน อูเลต์ ผู้เขียน “แนวปฏิบัติสำหรับอัยการในกรณอาชญากรรมต่อสื่อมวลชนของยูเนสโก” และยังเป็นอัยการอาวุโสในประเทศแค่นาดา กล่าวว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนถือเป็นการแทรกแซงการทำงานของสื่อและทำให้เกิดการเซนเซอร์ตัวเองตามมา ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าวจึงได้แนะนำแนวการสืบสวนสอบสวนกรณีอาชญากรรมที่เกิดกับสื่อมวลชนเอาไว้

ผู้เขียนแนวปฏิบัติดังกล่าว เห็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวนจะต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความลับและความปลอดภัยของผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียและผู้เสียหายในคดีที่เกิดขึ้น และต้องคำนึงถึงปัจจัยทางสังคมเช่นความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างเพศด้วยเพื่อให้การสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมต่อนักข่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ยงยุทธ ศรีสัตยาชน ตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวว่า จากประสบการณ์ทำคดีอาญา จะมีทั้งกรณีที่นักข่าวถูกดำเนินคดีตกเป็นผู้ต้องหาและอีกกรณีคือนักข่าวตกเป็นผู้เสียหาย ในกรณีที่สื่อตกเป็นเหยื่อหรือผู้เสียหายคดีลักษณะนี้คนที่อยู่เบื้องหลังก็จะเป็นผู้เสียประโยชน์หรือนักการเมืองในพื้นที่หรือคนในรัฐบาล คดีเหล่านี้จึงไม่ง่ายในการสืบสวนสอบสวนเพราะผู้ก่ออาชญากรรมมีการวางแผนกมาอย่างดี ทำให้คดีมีความซับซ้อนและเป็นไปได้ยากที่ตำรวจท้องที่จะทำคดีเหล่านี้ เขาจึงเห็นว่าคดีลักษณะนี้ควรอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เนื่องจากมีเครื่องมือทางกฎหมายที่จะนำมาใช้ในการสืบสวนสอบสวนพร้อมกว่า เช่น ให้อัยการและตั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องมาร่วมการสืบสวนได้ ก็จะทำให้สามารติดตามจับกุมคนร้ายที่อยู่เบื้องหลังได้ไม่ใช่แค่เพียงมือปืนธรรมดา

ยงยุทธกล่าวอีกว่า อัยการเองก็มี “ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ” ที่กำหนดให้คดีบางลักษณะเป็นคดีสำคัญ เช่นคดีที่ผู้ต้องหาเป็นผู้ทรงอิทธิพล คดีที่ประชาชนสนใจ และคดีนโยบายที่รัฐต้องการปราบปรามเป็นพิเศษ คดีเหล่านี้ถ้าพนักงานอัยการจะสั่งไม่ฟ้องจะไม่มีอำนาจ จะต้องเสนอไปตามลำดับชั้นไปถึงอธิบดีอัยการเท่านั้นที่จะมีอำนาจสั่งการ แต่ถ้าอัยการผู้รับผิดชอบคดีจะสั่งฟ้องก็สามารถสั่งฟ้องไปได้เลย เช่น ในกรณีที่มีผู้มีอิทธิพลสั่งฆ่านักข่าวระดับอธิบดีอัยการก็จะเข้าไปดูแลเพื่อให้การดำเนินคดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของอัตราโทษในกรณีผู้เสียหายเป็นนักข่าวก็ไม่ได้มีกฎหมายให้อำนาจไว้เฉพาะเหมือนกรณีฆ่าบุพการีหรือเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ยังมีแนวกำหนดโทษไปในลักษณะคดีที่มีความอุกอาจ

ส่วนในกรณีนักข่าวตกเป็นผู้ต้องหาในคดี ยงยุทธบอกว่านักข่าวคนดังกล่าวยังสามารถทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปยังอัยการที่รับผิดชอบคดีได้

วิทิต มันตาภรณ์ ศาสตราจารย์กิตตุคุณ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าอาชญากรรมต่อสื่มวลชนที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้เป็นเรื่องน่าละอาย กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกประเทศมีวิธีการที่จะกดปราบการใช้เสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพในการร่วมกลุ่มเสมอ ซึ่งการกดปราบเหล่านี้ก็กระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชนในภูมิภาค และสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้มีมากขึ้นจากการใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินและกฎหมายควบคุมโรค รวมไปถึงการใช้กฎหมายไซเบอร์ต่างๆ

ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายกล่าวต่อไปว่า เสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพในการรวมกลุ่มเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะไม่สามารถจำกัดได้ ซึ่งในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองกำหนดว่าเสรีภาพจะถูกจำกัดไม่ได้ด้วยเหตุผลใดๆ แต่หากรัฐนั้นๆ จะมีการจำกัดจะต้องพิสูจน์และให้เหตุผลที่เป็นภววิสัยได้และการจำกัดนั้นจะต้องเป็นไปตามเหตุแห่งความจำเป็นและได้สัดส่วนกับความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้เสรีภาพนั้น แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับไม่เป็นเช่นนั้น

วิทิตอธิบายว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการใช้กฎหมายความมั่นคงมาใช้อย่างน่ากังวล ทั้งที่รัฐที่ประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงเหล่านี้ก็ไม่สามารถพิสูจน์ถึงความจำเป็นได้และยังนำไปสู่การจำกัดพื้นที่ของภาคประชาสังคมและพื้นที่ทางการเมือง

วิทิตจึงเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องมีเจตจำนงค์ทางการเมืองเพื่อทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ต้องแก้ไขกฎหมาย นโยบายและแนวปฏิบัติต่างๆ ให้เทียบเคียงกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนและยกเลิกโทษทางอาญาในกฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายยุยงปลุกปั่น(sedition) และกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ และเขายังเสริมอีกว่ารัฐควรจะต้องตื่นตัวและเข้ามาจัดการอย่างทันท่วงทีต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับนักข่าวทั้งในสถานการณ์ปกติและในบริบทของการขัดกันทางอาวุธ และรวมถึงกรณีที่เกิดขึ้นจากอคติทางเพศ

เทวฤทธิ์ มณีฉายกล่าวปิดท้ายว่า ความรุนแรงนั้นมีทั้งในระดับที่เกิดกับกายภาพ และยังมีความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมรวมอยู่ด้วย ซึ่งโดยสภาพแล้วทำให้เราตกอยู่ในความรุนแรงตลอดเวลา และการใช้ความรุนแรงต่อนักข่าว โดยเฉพาะสถานการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วงในไทยก็ดูเหมือนจะกลายเป็นภาวะ “ปกติใหม่” (New Normal) ไปแล้วทั้งการฉีดน้ำหรือใช้กระสุนยางยิงใส่นักข่าวจากที่เคยมีคนออกมาช่วยกันต่อต้านแต่ก็เกิดขึ้นซ้ำจนคนเริ่มชินชา เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักข่าวจึงกลายเป็นเพียงจำนวนนับเป็นสถิติเท่านั้น

บ.ก.ประชาไทยังกล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมต่อกรณีเหล่านี้อีกว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์แล้วนักข่าวไปพึ่งกระบวนการยุติธรรมโดยไปฟ้องร้องต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้คุ้มครองการทำงานขอสื่อมวลชน แต่ศาลก็ยกคำฟ้อง หรือย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อนในปี 2553 ที่มีนักข่าวต่างชาติอย่างฮิโรยูกิ มุราโมโต้และฟาบิโอ โปเลงกี หรือชาติชาย ซาเหลาที่อาจถือได้ว่าเป็นสื่ออิสระได้ถูกทหารใช้อาวุธปืนยิงเสียชีวิตขณะใช้กำลังสลายการชุมนุมที่คดีไม่มีความคืบหน้าแม้ว่าศาลจะมีคำสั่งไต่สวนการตายระบุว่าถูกยิงจากทางเจ้าหน้าที่ทหารก็ตาม

“สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่รัฐย่ามใจ ไม่ว่ากระสุนยางหรือกระสุนจริง องคาพยต่างๆ ของรัฐเอื้อต่อวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่” เทวฤทธิ์กล่าว

เทวฤทธิ์ได้มีข้อเสนอเพื่อให้ยุติการไม่ต้องรับโทษสำหรับอาชญากรรมหรือความรุนแรงต่อนักข่าวว่า พวกเราต้องยอมรับและนับรวมนักข่าวพลเมืองเหล่านั้นเข้ามาเป็นสื่อมวลชนเช่นกัน และต้องขยายนิยามความรุนแรงหรือการก่ออาชญากรรมให้รวมไปถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมด้วย ไม่ใช่แค่ความรุนแรงทางกายภาพที่เกิดกับนักข่าวเท่านั้น และต้องรวมตัวกันส่งเสียงและต้องเอาเรื่องให้ถึงที่สุดกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงหรือก่ออาชญากรรมขึ้น ไม่ว่านักข่าวคนนั้นจะเป็นใคร

นอกจากนั้นเทวฤทธิ์ยังเห็นว่าจะต้องทำให้ประชาชน หรือรัฐเองก็ตาม เห็นถึงความสำคัญของสิทธิในเสรีภาพการสื่อสาร ที่ไม่ถูกปิดกั้นด้วยความกลัวหรือความรุนแรง มันเป็นการสร้างดุลพินิจร่วมกันของคนในสังคมประชาธิปไตย ให้พลเมืองมีข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน แน่นอนว่าอาจมีบางข่าวแย่หรือไม่มีคุณภาพบ้าง แต่เสรีภาพนั้นก็เป็นเครื่องการันตีว่าคุณจะมีข่าวที่มีคุณภาพปะปนอยู่บ้าง แต่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความกลัวหรือความรุนแรงไร้เสรีภาพของนักข่าว คุณไม่อาจรู้ได้เลยว่าข่าวที่อ่านอยู่นั้นที่มีคุณภาพหรือที่ดีจริง โดยไม่มีใครมาแทรกแซง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net