Skip to main content
sharethis

แรงงานเพิ่มหลักเกณฑ์ วิธีการเลือกตั้งผู้แทนลูกจ้างใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

4 พ.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลโดยการนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้มอบนโยบายให้ดำเนินการส่งเสริมระบบทวิภาคีให้เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการ โดยเปิดโอกาสให้ลูกจ้างได้มีการหารือกับนายจ้างในการจัดสวัสดิการต่างๆ ซึ่งนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและเป็นสวัสดิการที่ตรงกับความต้องการของลูกจ้าง อันเป็นรูปแบบของการร่วมปรึกษาหารือกัน เพื่อให้เกิดความสงบสุข สมานฉันท์และประกอบธุรกิจร่วมกันด้วยความเข้าใจกัน โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้ในสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ให้นายจ้างต้องจัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายลูกจ้างอย่างน้อย 5 คน โดยคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการให้มาจากการเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกำหนด ซึ่งเดิมกำหนดให้เลือกตั้งโดยวิธีลงคะแนนลับ และลงคะแนนเสียงในบัตรเลือกตั้งและนำใส่ในหีบบัตรเลือกตั้ง แต่ในปัจจุบันสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและงบประมาณ จึงมอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งดังกล่าว ซึ่งขณะนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 30 ก.ย. 2564 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2564 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย. 2564 เป็นต้นไป

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้เพิ่มวิธีการในการเลือกตั้งคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นทางเลือกแก่นายจ้างในการจัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ ลงวันที่ 14 พ.ค. 2545 ซึ่งการเพิ่มหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งในครั้งนี้ถือเป็นการเพิ่มความสะดวกแก่สถานประกอบกิจการ โดยให้นายจ้างอำนวยความสะดวก จัดหาอุปกรณ์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์และออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเลือกตั้งตามประกาศนี้ พร้อมทั้งให้นายจ้างเผยแพร่หรือประกาศรายชื่อและหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการเมื่อมีการเลือกตั้ง หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการเป็นภาษาไทยโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ลูกจ้างทราบและแจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ประกาศ

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 4/11/2564

รอง ผบ.ตร.ยอมรับ เปิดประเทศแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ลักลอบเข้าไทยเพิ่มสูงขึ้น

4 พ.ย. 2564 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้ มีปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ลักลอบหลบหนีเข้ามาในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

โดยข้อมูลใน เดือนต.ค. ที่ผ่านมา พบการจับกุมแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายมากกว่าเดือน ก.ย. โดยแบ่งเป็น คดีผู้นำพาช่วยเหลือซ่อนเร้นมากกว่า 3 เท่า และคดีลักลอบหลบหนีเข้าเมือง 2 เท่าจึงกังวลว่าแนวโน้มหลังเปิดประเทศจะมีมากกว่าเดิมหลายเท่า

สำหรับ มาตรการหลังจากนี้ จะเพิ่มการเฝ้าระวังตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งฝั่งตะวันตก ภาคเหนือ และภาคใต้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่กำชับสั่งการมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 4/11/2564

เปิดจุดฉีดวัคซีนให้แรงงานเข้ากรุง เคาะบูสต์โดสกลุ่มซิโนฟาร์ม

3 พ.ย. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ที่ศูนย์การค้า MBK Center ว่า ขณะนี้มีการเปิดประเทศ เปิดกิจการกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น คนกลับมาใช้ชีวิต ทำมาหากินได้มากขึ้น เชื่อว่าจะช่วยลดความเครียดต่างๆ ลง ส่วนเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นหรือไม่ ไม่ได้กังวลมาก เพราะเมื่อมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ครอบคลุม ก็จะลดการติดเชื้อ หากติดเชื้อก็จะลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนแรงงานคนไทยที่กลับเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครมากขึ้นหลัง บางส่วนมีนัดฉีดเข็มที่ 2 หรือ เข็มที่ 3 ที่ภูมิลำเนา แต่ไปรับวัคซีนที่กรุงเทพฯ ก็ได้ ให้อธิบดีกรมควบคุมโรค ประสานกับอธิบดีกรมการแพทย์ ในการจัดสรรวัคซีนฉีดให้แก่แรงงานที่กลับเข้ามาทำงาน โดยสามารถเข้าไปรับการฉีดได้ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ หรือ โรงพยาบาล (รพ.) ราชวิถี รพ.เลิดสิน สถาบันบำราศนราดูร และเตรียมเปิดศูนย์นิมิบุตรให้เป็นจุดฉีดเพิ่มเติม โดยกรมควบคุมโรคจะจัดสรรวัคซีนลงไปให้ ซึ่งขณะนี้วัคซีนมีเพียงพอ

“สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ผู้รับวัคซีนซิโนฟาร์มครบ 2 เข็ม วันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคพิจารณา ซึ่งคาดว่า สามารถฉีดได้ เพราะเป็นวัคซีนเชื้อตายเหมือนกันกับวัคซีนซิโนแวค ซึ่ง สธ.ยินดีรับผิดชอบจัดฉีดกระตุ้นให้เช่นกัน หลังจากที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้แบ่งเบาภาระรัฐบาลจัดฉีดวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม

ที่มา: มติชนออนไลน์, 3/11/2564

รถขนแรงงานกัมพูชาพลิกคว่ำสระแก้ว เสียชีวิต 5 คน

ช่วงค่ำวันที่ 2 พ.ย.2564 เกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกแรงงานกัมพูชาพลิกคว่ำ บริเวณสี่แยกวงเวียนบ้านคลองยายอินทร์ หมู่ 3 ต.วังทอง อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว

รถยนต์คันเกิดเหตุ บรรทุกผู้โดยสารชาวกัมพูชามาเต็มคันรถ รวมคนขับ 13 คน มีผู้เสียชีวิตในจุดเกิดเหตุ 5 คน หนึ่งในนั้นเป็นคนขับรถ และมีผู้บาดเจ็บอีก 8 คน

เจ้าหน้าที่สอบถามคนในพื้นที่ ทราบว่า ไม่มีใครเคยเห็นหน้าหรือรู้จัก และจากการซักถามผู้รอดชีวิต ยังให้การไม่ได้นัก แต่ยอมรับว่าเป็นชาวกัมพูชา เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยต้องการไปทำงานในพื้นที่นิคม 304, ฉะเชิงเทรา, กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี และระยอง

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยสว่างสระแก้วและทีมกู้ชีพ รพ.วังสมบูรณ์ ช่วยกันลำเลียงศพแรงงานชาวกัมพูชา ส่วนผู้บาดเจ็บ 8 คน เจ้าหน้าที่นำส่ง รพ.วังสมบูรณ์ ขณะที่ผู้บาดเจ็บ 2 คนที่มีอาการหนัก ได้ส่งไปรักษาที่ รพ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว

ส่วนผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ต้องสวมชุด PPE เข้าเก็บหลักฐาน รวมทั้งตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากศพ เบื้องต้นพบว่า มีแรงงานชาวกัมพูชา 1 คนติดโควิด-19 ด้วย เจ้าหน้าที่จึงเตรียมการเพื่อเผาศพภายใน 24 ชั่วโมง

ที่มา: Thai PBS, 2/11/2564

กสร. เคลียร์ปัญหาบริษัทรักษาความปลอดภัยศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะจ่ายค่าจ้างครึ่งเดียว ผลนายจ้างจ่ายเพิ่มแล้ว 1.84 ล้านบาท รปภ.กลับเข้าทำงานตามปกติ

2 พ.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรณีลูกจ้างรักษาความปลอดภัย ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ หยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะได้รับค่าจ้างเพียงครึ่งเดียวนั้น เป็นลูกจ้างของบริษัท รักษาความปลอดภัย ที.เอส.จี.อินเตอร์การ์ด จำกัด ตั้งอยู่ ซอยสรงประภา 15 แขวงดอนเมือง เขตดอนเมือง กทม. มีลูกจ้าง จำนวน 242 คน

สาเหตุเนื่องมาจากลูกจ้างโดนหักเงินค่าจ้างโดยไม่ทราบสาเหตุ จำนวน 6 ราย โดยค่าจ้างรายวันต้องจ่ายทุกวันที่ 1 ของเดือนถัดไป และลูกจ้างทุกคนได้รับค่าจ้างเพียงครึ่งหนึ่งของค่าจ้างรายวันตลอดรอบการจ่ายค่าจ้าง เมื่อสอบถามกับบริษัทไม่ได้คำตอบ ทำให้ลูกจ้างไม่มาปฏิบัติงาน

รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยลูกจ้างกลุ่มนี้และกำชับมายังกระทรวงแรงงานให้ช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานส่งพนักงานตรวจแรงงานเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้รับรายงานกลับมาว่า บริษัททำสัญญารักษาความปลอดภัยกับบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี ดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณอาคาร a และ b เริ่มสัญญา ณ วันที่ 1 พ.ค. 2563 และจะสิ้นสุดในปี 2565 เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ซึ่งเป็นวันจ่ายค่าจ้างนายจ้างจ่ายค่าจ้างเพียงครึ่งเดียว

หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปพูดคุย นายจ้างได้จ่ายเงินส่วนที่ค้างจ่ายอีกจำนวน 1.84 ล้าน ให้กับลูกจ้างในวันที่ 2 พ.ย. 2564 เวลา 15.00 น. รวมเป็นเงินค่าจ้างทั้งสิ้น 3.68 ล้านบาท ทำให้ขณะนี้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานแล้ว โดยนายจ้างและตัวแทนลูกจ้างได้ปรับความเข้าใจกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมได้มอบหมายให้นางเจริญพิศ เอกอุรุ ผู้ตรวจราชการกรม และพนักงานตรวจแรงงานเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 9 ได้ออกหนังสือเชิญนายจ้าง เพื่อตรวจสอบเท็จจริง ในรายละเอียดเพิ่มเติมในวันที่ 5 พ.ย. 2564 และกำชับให้นายจ้างดูแลลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย พร้อมย้ำเตือนไม่ให้ค้างจ่ายค่าจ้างอีกหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามก็จะดำเนินคดีต่อไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 2/11/2564

กนอ.เลือกพื้นที่อีอีซี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ตั้งนิคมฯราชทัณฑ์ ล่าสุดเอกชนสนใจ 2- 3 ราย เร่งสำรวจความต้องการทักษะแรงงานให้ตรงกับความถนัดผู้ต้องขัง

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ครั้งที่ 1/2564 ที่มีนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเสนอแนะและให้ความเห็นในการพัฒนาและดำเนินการผลักดันมาตรการและสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม เพื่อก่อให้เกิดแรงดึงดูดและแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการ

ปัจจุบันกนอ.อยู่ระหว่างการจัดทำร่างประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อเสนอพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมร่วมกับ กนอ. ในพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัด ประกอบด้วย พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) 3 จังหวัด (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง) จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งจะดำเนินการคัดเลือกและเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตาม จะต้องสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการในนิคมฯด้วยว่า มีความต้องการจำนวนแรงงานเท่าไหร่ และทักษะฝีมือรูปแบบใดที่ต้องการ เพื่อให้ตรงกับที่กรมราชทัณฑ์มี หรืออาจจะต้องเตรียมจำนวนแรงงานและทักษะฝีมือนั้นๆ เพิ่ม เพื่อให้ได้แรงงานที่มีปริมาณและทักษะฝีมือตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งจะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดการสร้างงานและสร้างโอกาสให้ผู้ต้องขังหลังพ้นโทษอย่างมีประสิทธิภาพ

“สำหรับรูปแบบการจัดตั้งนิคมฯ ค่อนข้างชัดเจนที่จะใช้รูปแบบเอกชนร่วมดำเนินการ โดยเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่เอกชนเป็นผู้จัดหาพื้นที่และพัฒนานิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากสามารถดำเนินการได้เร็วที่สุด ซึ่งหลังจากมีความชัดเจนด้านพื้นที่โครงการแล้ว จะดำเนินการด้านการกำหนดสิทธิประโยชน์แก่ผู้พัฒนานิคมฯ ผู้ประกอบการโรงงานในนิคมฯ ดังกล่าว และสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้แรงงานจากผู้พ้นโทษที่ถูกคุมประพฤติ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่นักลงทุน ซึ่งขณะนี้มีเอกชนที่ให้ความสนใจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแล้ว 2-3 ราย” นายวีริศ กล่าว

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 2/11/2564

อเด็คโก้กรุ๊ปและกระทรวงแรงงาน ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้มีรายได้ในการดูแลตนเองและครอบครัว เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี

กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย ผู้นำด้านการให้บริการทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจร โดย คุณธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU) กับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน นำโดยคุณไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เพื่อร่วมมือสนับสนุนและส่งเสริมการจ้างงานคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ โดยการจัดจ้างเหมาช่วงงานแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ณ กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2564 นับเป็นบริษัทจัดหาและจัดจ้างงานแห่งแรกในประเทศไทยที่เข้าร่วมโครงการนำร่องนี้ พร้อมกับสถานประกอบการชั้นนำของประเทศอีก 6 บริษัทโดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิธีในงาน

“โครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม” มีวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ ให้มีโอกาสในการประกอบอาชีพได้ตามความสามารถและความเหมาะสม เพื่อให้เกิดรายได้ มีอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี สนับสนุนให้ได้ทำงานใกล้บ้าน ตลอดจนช่วยงานในหน่วยงานบริการสาธารณะ หน่วยงานราชการและอื่น ๆ ตามความเหมาะสม

ทั้งนี้บริษัทอเด็คโก้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสในการทำงานให้แก่กลุ่มคนทุกประเภท โดยมีนโยบายหลักเรื่องการรวมความหลากหลายของกลุ่มคน (Diversity & Inclusiveness) โดยมีคนพิการเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายในการสานต่อนโยบายนี้ในประเทศไทย

“ที่ผ่านมา การจ้างงานคนพิการเป็นลูกจ้างของบริษัทโดยตรงเป็นเรื่องที่มีข้อจำกัดหลายอย่างเช่น การเสาะหาคนพิการที่เหมาะสมกับลักษณะงาน สถานที่ทำงาน การเดินทาง โครงการนี้ถือเป็นโครงการนำร่องที่ผ่านการศึกษาแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยวิธีการบูรณาการระหว่างกรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการ และสถานประกอบการเอกชน

ในเบื้องต้น อเด็คโก้จะมีการจ้างงานคนพิการจำนวน 100+อัตรา (จากยอดรวมโครงการ 329 อัตราของทั้ง 7 สถานประกอบการ) และอาจปรับขึ้นตามความเหมาะสมสำหรับคนพิการ การได้รับเงินช่วยเหลือนับเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่การสร้างงานให้คนพิการถือเป็นการสร้างคุณค่า สร้างความภาคภูมิใจ สร้างกำลังใจให้มีพลัง มีความเข้มแข็งและมั่นใจในการดำเนินชีวิต

กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้และพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ตามปณิธานของบริษัทคือ “Making the Future Work for Everyone” คุณธิดารัตน์กล่าว

ที่มา: บ้านเมือง, 2/11/2564

รปภ. ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ยกทีมลาหยุด คาดประท้วงบริษัทจ่ายเงินเดือนครึ่งเดียว หักเงินเดือน โดยไม่ระบุสาเหตุ แถม ไม่นำส่งเงินประกันสังคม และติดโควิด-19 ให้รักษาเอง

2 พ.ย. 2564 ที่ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะอาคารบี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ภายในอาคารดังกล่าว และประชาชนที่มาติดต่อราชการ ต่างแปลกใจกันไปตามๆ กัน เมื่อเดินผ่านประตูทางเข้า 1 - 4 ของชั้น 1 และ 2 ซึ่งปกติจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยปฏิบัติหน้าที่ ในการตรวจตราและอำนวยความสะดวก รวมทั้งรักษามาตรการป้องกันโควิด-19 แก่ผู้มาติดต่อราชการ แต่ในเช้าวันนี้กลับไม่มี รปภ.ปฏิบัติงาน หรือบางประตูจะมีเหลือเพียงคนเดียวเท่านั้น

เจ้าหน้าที่ รปภ.รายหนึ่ง กล่าวว่า พนักงานส่วนใหญ่ลาหยุดพักผ่อนกันเกือบหมด เหลือมาทำงานวันนี้แค่เพียง 4 นาย จากปกติที่จะต้องอยู่ประจำจุดทุกประตูทางเข้า และพื้นที่ชานจอดรถผลัดละ 40 นาย ซึ่งนอกจาก รปภ.อาคารบีแล้ว ที่อาคารเอก็เช่นเดียวกัน เพราะเป็นพนักงาน รปภ.บริษัทเดียวกัน รับสัมปทานงานรักษาความปลอดภัย

ส่วนอีกนายหนึ่ง กล่าวว่า ทราบมาว่าพนักงาน รปภ.ลาหยุดงานวันนี้เกือบหมด คาดว่า สาเหตุมาจากไม่พอใจที่ถูกหักเงืนเดือนทุกคนๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ ปกติเงินเดือนค่าจ้างต้องออกวันที่ 1 ของทุกเดือน แต่วานนี้เงินเดือนกลับไม่ออก ยังคิดว่าเดือนนี้จะไม่ได้ แต่เห็น รปภ.ที่มาทำงานบอกว่าได้คนละครึ่งเดือน แล้วเงินประกันสังคมที่หักเงินเดือนไปก็ไม่ยอมส่งสำนักงานประกันสังคม สอบถามก็ไม่ได้คำตอบ รปภ.บางคนที่ทำงานจนติดโควิด-19 ก็ไม่เหลียวแล ปล่อยให้รักษาตัวเองตามยถากรรม

ที่มา: Nation TV, 2/11/2564

สปสช.เปิดให้ผู้ประกันตนยื่นขอรับเยียวยาฉีดวัคซีนโควิดเกิดภาวะไม่พึงประสงค์ได้แล้ว

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดย สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ออกประกาศ เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นการปลดล็อกให้ผู้ประกันตนสัญชาติไทยสามารถยื่นขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามประกาศ สปสช. เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) พ.ศ. 2564 ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฯ กรณีบริการโรคโควิด-19 ได้แล้ว โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 2564

ขณะนี้ สปส.ได้ทยอยส่งเอกสารคำร้องผู้ประกันตนที่ได้ยื่นเรื่องขอรับการช่วยเหลือกับ สปส. ก่อนหน้านี้ ประมาณกว่า 1,000 ราย ให้กับ สปสช. แล้ว เพื่อเสนอให้อนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระดับเขตพื้นที่ ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ เร่งพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกันตนที่คงค้างและรอรับการช่วยเหลือความเสียหายจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเร็วที่สุด เช่นเดียวกับคนไทยทุกคนที่ได้รับสิทธิดังกล่างอย่างเท่าเทียมตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ สปสช. ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการ 12 ชุด ในการเร่งพิจารณาในเขตพื้นที่ กทม.แล้ว

“สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นฯ แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้ ระดับ 1 มีอาการป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ หรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท และระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท ทั้งนี้ ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ใน 3 จุด คือ ที่หน่วยบริการที่ไปรับการฉีด ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และที่ สปสช.เขตพื้นที่ ซึ่งหลังจากคณะอนุกรรมการในระดับเขต (ประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนภาคประชาชน) ได้รับคำร้องฯ แล้วจะเร่งพิจารณาในการจ่ายเงินเยียวยาตามหลักฐานทางการแพทย์และระดับความหนักเบาของอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม หากผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัยสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือดาวน์โหลดแแบบคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโควิดได้

ที่ https://www.nhso.go.th/.../841/001/nhso_VaccinCovid19.pdf” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 1/11/2564

อธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุมติ ครม. 28 ก.ย. 2564 ยังไม่มีประกาศของ 'ก.มหาดไทย-ก.แรงงาน' มารองรับ จึงยังไม่มีผลบังคับใช้

29 ต.ค. 2564 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่น.ส.ธนพร วิจันทร์ แกนนำเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ซึ่งได้นำแรงงานต่างด้าวจำนวนกว่า 30 คน มาร้องเรียนสภาพการทำงานต่อกระทรวงแรงงาน 7 ข้อ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการแล้วทั้งหมด

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ส่วนการที่มีการดำเนินการจับกุมแรงงานต่างด้าวทั้ง 7 คนนั้นเนื่องด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดง ได้มารักษาความปลอดภัยทุกครั้งที่มีการชุมนุมที่กระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครั้งนี้มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาชุมนุมกว่า 30 คน เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องตรวจสอบเอกสารประจำตัวของแรงงานต่างด้าว ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่า มีแรงงานต่างด้าวจำนวน 7 คน ทั้งหมดเป็นสัญชาติกัมพูชา ไม่มีใบอนุญาตทำงานและหนังสือเดินทาง จึงได้ดำเนินการจับกุม ส่วนที่เหลือมีใบอนุญาตทำงานและหนังสือเดินทางถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนการอ้างมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 นั้นไม่สามารถอ้างได้ เนื่องจากมติ ครม. ดังกล่าว ยังไม่มีประกาศของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานมารองรับ จึงยังไม่มีผลบังคับใช้

“ขอเน้นย้ำว่า กรณีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย กระทรวงแรงงานได้มีการผ่อนผันมาหลายครั้ง เพราะเข้าใจในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การที่แกนนำมายื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการให้แล้ว การจับกุมแรงงานต่างด้าวในวันนี้ เป็นหน้าที่ของตำรวจที่มาดูแลรักษาความปลอดภัยเมื่อมีกลุ่มคนจำนวนมากมาชุมนุม ใช้เครื่องขยายเสียงในสถานที่ราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้มาชุมนุมเป็นคนต่างด้าว จึงจำเป็นต้องตรวจสอบเอกสารประจำตัวตามกฎหมาย จะเห็นได้ว่าคนต่างด้าวที่ถูกจับดำเนินคดี ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำแล้วไม่มีคุณสมบัติที่ได้รับการยกเว้นตามมติ ครม.อาทิ ไม่มีนายจ้าง ลักลอบเข้าเมือง ส่วนที่เหลือมีบัตรถูกต้องตามกฎหมายจึงไม่ถูกดำเนินคดี ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะเร่งขยายผลขบวนการนำพาแรงงานต่างด้าวจากแรงงานต่างด้าวทั้ง 7 คนนี้ต่อไป” นายไพโรจน์ กล่าวในท้ายสุด

ที่มา: ข่าวสด, 29/10/2564

ธนาคารกสิกรไทย แจกเงินพนักงานคนละ 10,000 บาท เป็นกำลังใจสู้ภัยโควิด พร้อมขยายสิทธิ์ให้พนักงานเกษียณอายุก่อนกำหนด

29 ต.ค. 2564 ธนาคารกสิกรไทย ประกาศให้ความช่วยเหลือพนักงานธนาคารกสิกรไทยที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

ขณะเดียวกันพนักงานที่อยู่แนวหน้าที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดในการให้บริการลูกค้า หรืออยู่ในส่วนสนับสนุนที่อยู่เบื้องหลังเพื่อร่วมช่วยบริหารจัดการให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้เป็นปกติ ธนาคารจึงเห็นสมควรมอบเงินพิเศษที่เรียกว่า "เงินช่วยเหลือเพื่อเป็นกำลังใจสู้ภัยโควิด" จำนวนเงินคนละ 10,000 บาท

ทั้งนี้ จะมอบให้แก่พนักงานทุกคนของธนาคารกสิกรไทย บริษัทของธนาคาร K-Companies, กลุ่มบริษัท KBTG และบริษัทให้บริการสนับสนุนงานแก่ธนาคาร P-Companies ที่มีสถานภาพเป็นพนักงานอยู่ ณ วันที่จ่ายเงิน ในวันที่ 25 พ.ย. 2564

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ขยายสิทธิ์เกษียณอายุก่อนกำหนดเป็นการเฉพาะคราว สำหรับพนักงานที่มีอายุ 50-55 ปี และมีอายุงาน 20 ปีขึ้นไป ที่มีความประสงค์จะขอเกษียณอายุก่อนกำหนด ตามข้อเสนอของสหภาพแรงงานฯ ของธนาคาร โดยการดำเนินการครั้งนี้ไม่ใช่โครงการร่วมใจจาก แต่เป็นการขยายสิทธิ์เพิ่มเติมเฉพาะคราวจากโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด ซึ่งเป็นสวัสดิการเดิมที่ธนาคารมีให้แก่พนักงานที่มีอายุ 55-60 ปีเป็นปกติอยู่แล้ว

สำหรับผู้ที่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินค่าชดเชยเกษียณอายุเท่ากับเงินเดือนเดือนสุดท้ายรวมค่าครองชีพ คูณด้วยจำนวนปีของอายุงาน และมีสิทธิ์ได้รับเงินโบนัสประจำปี 2564 ด้วย ทั้งนี้ ธนาคารจะเปิดให้พนักงานที่สนใจยื่นความจำนงระหว่างวันที่ 8-30 พ.ย. 2564 โดยมีผลพ้นจากการเป็นพนักงานตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565

อนึ่ง ธนาคารไม่มีนโยบายในการเลิกจ้างพนักงาน หรือ Layoff ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อครอบครัวพนักงานและสังคม การขยายสิทธิ์สวัสดิการครั้งนี้เป็นการจัดขึ้นเฉพาะคราว เพื่อช่วยเหลือพนักงานที่มีความประสงค์จะขอเกษียณอายุก่อนกำหนดเป็นกรณีพิเศษ ให้มีเงินเป็นสวัสดิการสำหรับใช้จ่ายหรือเป็นทุนสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ จึงต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ และผู้ที่จะได้รับอนุมัติจะต้องเห็นพ้องต้องกันทั้งตัวพนักงานและธนาคารเท่านั้น และไม่ได้มีการตั้งเป้าหมายจำนวนพนักงานที่จะเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 29/10/2564

เครือข่ายแรงงานฯ โวย กระทรวงแรงงาน แจ้ง ตร.จับคนงานข้ามชาติ ใต้ถุนกระทรวง

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2564 เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ขณะกำลังนำตัวแทนแรงงานข้ามชาติจำนวน 8 คน เข้าร้องเรียนเรื่องสภาพการทำงานต่อกระทรวงแรงงาน แต่ระหว่างการเจรจา คนงานข้ามชาติหญิง 4 คนและชาย 4 คนกลับถูกตำรวจในเครื่องแบบบุกจับคนงาน โดยตำรวจอ้างว่า “เพราะคนงานไม่มีบัตรเอกสารรับรอง” ทั้งที่มีมติ ครม. ออกมาตั้งแต่เดือน ก.ค. แล้วว่าสามารถผ่อนผันให้คนงานอยู่ในประเทศไทยต่อระหว่างรอทำเอกสารได้จนถึงเดือน พ.ย. ตำรวจยังอ้างว่า “รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน” เป็นผู้แจ้งความต่อตำรวจเอง โดยตำรวจมีการผลักอกคนงานและสมาชิกเครือข่ายแรงงานฯ และไม่ยอมรับฟังเนื้อหามติ ครม. ที่ออกมาผ่อนผัน แต่ยืนยันจะจับคนงานไปจนกว่าจะมีผู้นำเอกสารยืนยันมาแสดงปัจจุบันคนงานข้ามชาติทั้ง 8 ราย ถูกจับกุมไป สน. ดินแดง

ที่มา: มติชนออนไลน์, 29/10/2564

เห็นชอบในหลักการให้มีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้สูงขึ้นจากเดิม

28 ต.ค. 2564 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนลูกจ้างบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด จำนวน 50 คน เดินทางไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อติดตามผลการประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในการช่วยเหลือลูกจ้าง บจก.บริลเลียนท์ฯ กรณีขอให้แก้ไขระเบียบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ให้ขยายอัตราการจ่ายเงินกองทุน ว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ต้อนรับกลุ่มตัวแทนลูกจ้าง และชี้แจงทำความเข้าใจผลการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ซึ่งตนในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ได้จัดประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 14/2564

“คณะกรรมการได้พิจารณาถึงหลักการและเหตุผล จึงมีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้สูงขึ้นจากเดิม โดยมอบอนุกรรมการฯ จัดประชุมศึกษาแนวทางและอัตราการปรับเพิ่มที่เหมาะสม และวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 พร้อมนำเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาในการประชุม ครั้งที่ 15/2564 ภายในเดือนเดียวกัน ทั้งนี้ ได้พบกลุ่มตัวแทนลูกจ้างเพื่อชี้แจงมติคณะกรรมการให้รับทราบโดยจะเร่งดำเนินการแก้ไขระเบียบดังกล่าวและนำเสนอเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด ซึ่งกลุ่มตัวแทนลูกจ้างมีความพึงพอใจ โดย น.ส.ธนพร วิจันทร์ แกนนำได้กล่าวขอบคุณรัฐบาล กระทรวงแรงงาน คณะกรรมการกองทุนฯ ซึ่งเป็นผู้แทนจากสภาองค์การนายจ้าง สภาองค์การลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้ทำงานช่วยเหลือลูกจ้าง บจก.บริลเลียนท์ฯ อย่างเต็มที่ และปรบมือขอบคุณและให้กำลังใจการทำงานในครั้งนี้” นายบุญชอบ กล่าว

ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ให้ความช่วยเหลือกรณีลูกจ้างบริษัท บริลเลียนท์ฯ ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 1,388 คน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 เนื่องจากนายจ้างปิดกิจการและไม่ได้รับเงินชดเชย ซึ่งผลการดำเนินการให้ความช่วยเหลือนั้น ได้จ่ายเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างให้แก่ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับจำนวน 1,231 คน เป็นเงินจำนวน 22,321,856 บาท และจ่ายเงินประกันการว่างงานแก่ลูกจ้าง เป็นเงินจำนวน 65,540,768 บาท หากมีการปรับแก้ระเบียบตามมติคณะกรรมการฯ ในวันนี้ นอกจากจะส่งผลให้ลูกจ้างของบริษัท บริลเลียนท์ฯ ได้รับเงินสงเคราะห์เพิ่มขึ้นจากเดิมแล้ว ลูกจ้างของบริษัทอื่นที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยและเงินอื่นตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานจะได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะได้เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการฯ และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ดูแล ช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนในทุกกลุ่มอาชีพโดยเร่งด่วนต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 28/10/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net