Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชาวพุทธมักจะยกย่องพระจนเกินจริง ผ่านคำพูดที่ว่า “การบวชนั้นยาก การสึกนั้นง่าย” เพื่อบอกว่า การอยู่ในสมณเพศเป็นเรื่องลำบาก ดังนั้นเราจึงควรเคารพและให้การสนับสนุนพระอยู่ต่อไป แต่ในบทความสั้นนี้ ผมจะเสนอในทางตรงกันข้ามว่า การต้องสึกออกไปต่างหากที่ยาก การบวชอยู่จนชินแล้วเป็นเรื่องง่ายมาก ผ่านประสบการณ์การอยู่ในสมณเพศของผมเอง 18 ปี

ถ้าจะให้เข้าข้างคำพูดที่ว่า “การบวชนั้นยาก การสึกนั้นง่าย” ก็พอทำได้อยู่ แต่เป็นกรณีของพระใหม่ ที่ตั้งใจบวชไม่กี่วัน และตนก็มีแฟน หน้าที่การงานที่ดีๆ หรือภาระครอบครัวรออยู่ การเข้ามาบวชจึงลำบากนิดหน่อย ตรงที่ต้องฝึกท่องจำคำขอบวชให้ได้ อาจใช้เวลาราว 3 วัน ฝึกห่มจีวร ฝึกเดินบิณฑบาตแบบไม่สวมรองเท้า กว่าเขาจะชินกับเรื่องพวกนี้ เขาก็ถึงกำหนดสึกไปแล้ว เลยยังไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสชาติความปกติสุขในวัด และช่วงเวลาที่อยู่ในสถานะพระ ก็มีแฟนมาเยี่ยม ซึ่งก็เป็นสัญญาใจว่าจะใช้ชีวิตด้วยกัน พูดง่ายๆ คือ คนที่มีทุกอย่างพร้อมอยู่แล้ว และชื่นชอบชีวิตแบบทางโลกมากกว่า การบวชอาจทำให้เขาทรมานใจหรืออยู่ยากขึ้น

แต่สำหรับคนจนๆ ที่ชีวิตข้างนอกลำบาก การเข้ามาบวชกลับทำให้เขาสบายขึ้น จากที่อดมื้อกินมื้อ ก็มีคนถวายข้าวให้ทุกวัน ไปสวดตามบ้านก็ให้เงินใช้ด้วย ยิ่งอยู่นาน ก็มีผู้สนับสนุนมากขึ้น โยมบางคนทำประกันชีวิต/สุขภาพ ให้พระ บ้างก็ส่งเรียนหนังสือ ซึ่งโอกาสแบบนึ้คนทั่วไปจะไม่ค่อยได้ นิมนต์เทศน์แต่ละที่ถวาย 500 – 5,000 บาท ยิ่งอยู่นาน ยิ่งมีความรู้ ยิ่งหาเงินได้มาก เพื่อนผมซึ่งโตมากับการเรียนนักธรรมบาลีด้วยกัน เขาหาเงินได้เดือนละหลายหมื่น และส่งเงินให้พ่อแม่ใช้ด้วย ผมไม่ได้บอกว่า นั่นคือพระดีหรือไม่ดีนะ แค่จะบอกว่า สถานะพระให้อะไรมากกว่าที่เราคิด นี่ยังไม่ต้องพูดถึงพระที่เป็นข้าราชการและมีเงินเดือนด้วยแล้วนะ

แต่พระก็ยังจะชอบพูดว่า “การสึกนั้นง่าย การบวชนั้นยาก จะสึกตอนนี้ก็ได้เลย” แต่เอาเข้าจริงก็ไม่กล้าสึก เพราะรู้ดีว่าการบวชต่างหากที่ง่าย ยิ่งเป็นช่วงเข้าพรรษาด้วยก็ยิ่งง่าย เพราะต้องหาพระช่วยจำพรรษาเพื่อจะรับกฐิน ต้องมีการขอร้องกันตามชุมชนว่าใครว่างก็ให้มาบวช และบ้างก็เหมือนการจ้างกันโดยนัย ว่าถ้าอยู่ครบสามเดือน รับกฐินแล้ว ก็จะให้สามหมื่นเป็นต้น (ผมไม่แน่ใจว่าตอนนี้ยังมีอยู่ไหม แต่ราวปี 2560 มีอยู่) หรือพระที่มีปัญหากับความยุติธรรมในวัด ก็แค่บ่น น้อยคนมากที่จะสึกออกไป เพราะการรับความอยุติธรรมบ้างก็ยังดีกว่าการไม่รู้ว่าสึกไปแล้วจะหากินอย่างไร ผมเคยศึกษาชีวิตเณรที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงทั้งทางเพศและการทุบตี พบว่า เณรที่ฐานะทางบ้านพร้อมและครอบครัวดูแลดี เขาเลือกจะสึกเมื่อถูกกระทำ แต่เณรที่ยากจนหรือครอบครัวแตกแยก เขาจะทนอยู่วัดต่อไป

แน่นอนว่า ความรวยความจนอาจไม่ใช่ตัวตัดสินทุกเรื่อง เพราะบางครั้ง เกียรติศักดิ์ศรีก็มีส่วนช่วยให้อยู่เป็นพระได้ บางคนฐานะดี ทำงานหนักเช่นนักธุรกิจหรือแอร์โอสเตส แต่ก็ฝันตัวมาเป็นพระ/ภิกษุณีนักบรรยายธรรม (ซึ่งก็ยังได้เงินมาก แม้จะน้อยกว่าเดิมบ้าง) และได้รับการเคารพบูชา ซึ่งดูสูงค่ากว่า แน่นอนว่านี่เป็นการมองจากมุมทางโลกของพวกเรา เขาอาจจะรู้สึกว่าได้ช่วยคนในด้านคุณธรรม ซึ่งสูงส่งกว่าการบริการด้านกายภาพก็ได้ ทั้งนี้ผมก็ยังเชื่ออยู่ว่า สำหรับหลายคน การเปลี่ยนสถานะจากที่มีคนเอาข้าวมาให้ กราบเท้า พูดจาไพเราะ ไปเป็นคนธรรมดา ขี่มอเตอร์ไซด์ ใช้แรงงานแลกค่าจ้าง การต้องไปเจอกับผู้คนในสถานใหม่นะนั้นน่าจะปวดใจเหมือนกันนะ

อายุพรรษาสำหรับพระมันสำคัญมาก นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่พระกลัวการถูกจับสึก (แม้จะบวชใหม่ได้) หลายวัดจะจัดกิจนิมนต์จากพรรษามากไปหาน้อย นั่นคือ ถ้าสึกแล้วบวชใหม่ ก็จัดเป็นพระใหม่ที่นั่งท้ายสุด อย่าว่าแต่กิจนิมนต์งานสวดจะลดลงเลย บางวัดเช่น สวนโมกข์ ที่นั่งกินข้าวตามพรรษา โดยเลื่อนถาดอาหารลงมา สมัยผมเป็นเณร นั่งคนสุดท้าย แกงพะโล้มีแต่น้ำ ไม่มีไก่หรือไข่เหลือมาให้เลย ด้วยเหตุนี้ เพื่อนพระบางคนที่เบื่อเถรวาทไทยแล้วอยากบวชในนิกายอื่นของต่างประเทศ ก็จะถามก่อนว่า ญัตติแล้วเขานับพรรษาต่อให้เลยหรือต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่? เมื่อทราบว่าเริ่มใหม่ ก็ไม่กล้าสึก/ไปบวชใหม่

ความเป็นพระ แทบไม่มีเรื่องให้ลำบาก ตอนนี้ก็อยู่กุฏิที่สบาย ไม่ต้องอยู่ใต้ต้นไม้แบบอุดมคติธุดงค์ หรือต่อให้เป็นพระป่า นอนเต้นท์หรือกรด ก็เป็นความชอบ แบบที่นักเดินเขาก็ใช้ชีวิตแบบนั้นแล้วมีความสุข แค่เขาไม่ใช่พระ หรือแม้แต่เรื่องกินข้าวในบาตร ที่ชาวบ้านจะมองว่าพระไม่หลงในรสอาหาร คือบาตรมันใหญ่พอที่เราแยกอาหารแต่ละประเภทไว้คนละข้างได้ เช่น ทำให้น่องไก่กับ น้ำพริกปลาทูอยู่คนละฝั่งได้ หรือต่อให้ต้องคลุกกันจริงๆ กินไปสองสามมื้อก็จะชินไปเอง และนั่นไม่ใช่เรื่องลำบากอะไร แต่ชาวบ้านและพระจะช่วยจินตนาการกันว่าเป็นสิ่งพิเศษ เพื่อยกสถานะพระให้สูงขึ้น  

การใช้ชีวิตพระจึงไม่ได้ยาก วินัยสงฆ์ก็ไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดทุกข้อ เพราะชาวบ้านคาดหวังแค่ไม่ทำเรื่องหนักๆ ในที่เปิดเผย เช่น มีเมีย ฉ้อโกง ดื่มเหล้า (อันนี้ไม่หนัก แต่ไทยถือว่าหนัก) พระรูปใดจะนั่งสมาธิหรือสวดมนต์กี่ชั่วโมงก็เป็นเรื่องส่วนตัว หรือพระจะดูมวย ฟุตบอล เล่นเฟสบุค ดูยูทูป ฯลฯ ก็ยังมีสิทธิเป็นพระต่อได้ เมื่อเป็นแบบนี้ เราจะยังเชื่ออีกหรือว่า การบวชมันยาก

สำหรับผม ความลำบากในการเป็นพระไทยน่าจะมีอย่างเดียว คือไม่มีอิสระที่จะพูดหรือทำในสิ่งที่เราเชื่อ ถ้าพูดธรรมะหรือมีมุมมองที่ต่างออกไป ก็จะถูกพระผู้ปกครองขอให้หยุดพูด อยากยกมือไหว้ชาวบ้านเพราะเคารพความเป็นคนของเขาก็ถูกวัฒนธรรมไทยห้าม จะใช้ขนส่งสาธารณะเช่นเรือข้ามฟาก รถเมล์ และจ่ายเงินแบบคนทั่วไปก็ไม่ได้ สรุปคือจะเป็นมนุษย์ปกติก็ไม่ได้ .. แต่ผมคิดว่า คงมีพระน้อยมากที่มองว่าเรื่องพวกนี้ลำบากและตัดสินใจสึกออกไป เพราะการสึกมันลำบากกว่า

ผมเองใช้เวลาตัดสินใจและเตรียมตัวราว 2 ปี กว่าจะสึกออกมาได้ นั่นคือ ต้องให้แน่ใจว่าเราพอจะมีอาชีพที่จะเลี้ยงตัวเองได้ ในช่วงเวลานั้น ผมพยายามสอบ Toefl เพื่อหาทุนเรียนต่อ หาแหล่งทุนที่จะช่วยสนับสนุนงานวิจัยชิ้นเล็กๆ แต่ละปีให้ได้ หรือจะขอทุนนั้นนี้ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง เช่น ต้องมีงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ ฯลฯ ก็พยายามทำให้ตัวเองมีคุณสมบัติพวกนั้น และเมื่อมั่นใจว่าพร้อมแล้ว จึงสึกออกไป การสึกในกรณีนี้จึงไม่ง่ายคับ ถ้าเทียบกับการเป็นพระต่อไป และแค่เอาบาตรไปยืนหน้าบ้านเขาก็ได้ข้าวกินและได้เงินใช้

ผมไม่ได้หมายความว่า ไม่มีพระดีเลยหรือไม่มีพระที่สนใจธรรมะจริงๆ (โดยไม่สนใจความสบายจากสถานะนั้นเลย) แต่การใช้ชีวิตแบบใดแบบหนึ่งจนเป็นปกติแล้ว มันก็จะไม่ลำบากอะไร ตรงกันข้ามคือคนในนั้นก็จะกลัวที่จะออกไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ข้างนอก อาจไม่ต่างกับข้าราชการที่กลัวจะลาออก ทิ้งความมั่นคงในทุกด้านออกไปทำธุรกิจของตน ดังนั้น การมายกย่องข้าราชการว่ามีความอดทน เสียสละ พร้อมจะทำงานรับใช้ประชาชนไปจนเกษียร น่าจะฟังไม่ค่อยขึ้นเท่าไหร่ แบบเดียวกับการบวชมันยากนั่นแหละครับ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net