Skip to main content
sharethis

“คณะก้าวหน้า” และทวิตเตอร์ “คณะราษเปซ” เปิดตัวเว็บไซต์ no112.org ล่ารายชื่อแก้ ม.112 ไม่ถึง 12 ชั่วโมงคนลงชื่อแล้วกว่า 4ุ6,000 คน (ณ เวลา 19.07 น.

เวลา 11.20 น. 5 พ.ย.2564 แฟนเพจ “คณะก้าวหน้า” และทวิตเตอร์ “คณะราษเปซ” เปิดตัวเว็บไซต์ no112.org เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยผู้เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้คือ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และอานนท์ นำภา กับคณะเป็นผู้เสนอ

ชื่อของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .… โดยมีสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่มาตรา 3 คือให้ยกเลิก มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่กำหนดองค์ประกอบความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์และอัตราโทษ คือ "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี"

ทั้งนี้หลังจากเว็บไซต์ดังกล่าวเปิดตัวได้ไม่ถึง 12 ชั่วโมง จากการตรวจสอบจำนวนเมื่อเวลา น. มีผู้เข้าร่วมลงชื่อทั้งหมด คน

ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ระบุเหตุผลที่เสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 ว่าที่ผ่านมากฎหมายดังกล่าวได้กลายเป็นเครื่องมอืทางการเมืองที่รัฐบาลใช้ดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่างเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการใช้เสรีภาพการแสดงออก และเป็นอุปสรรคของประชาชนที่จะถกเถียงแลกเปลี่ยนกันถึงประวัติศาสตร์ การเมือง และการจะออกแบบอนาคตร่วมกัน รวมถึงเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ในฐานะที่เป็นสถาบันการเมืองที่ใช้ภาษีประชาชน

นอกจากนั้นอัตราโทษยังสูงเกิดสัดส่วน ขอบเขตการกระทำที่เป็นความผิดไม่มีความชัดเจน และใครก็สามารถเป็นผู้ริเริ่มคดีก็ได้เนื่องจากเป็นความผิดต่อความมั่นคง แต่อย่างไรก็ตามบุคคลทั้งหมดยังได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหมิ่นประมาทและดูหมิ่นเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาเพื่อรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนสากลและกฎหมายระหว่างประเทศ

ม.112 ไม่ใช่สิ่งสถาพร แก้ล่าสุดรัฐประหาร 19 - ปชป.เองก็เคยเสนอแก้เพื่อเพิ่มโทษ

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 มาตั้งแต่ช่วงรัฐบาลทหาร คสช. ได้เผยแพร่สถิติการใช้มาตรา 112 เฉพาะช่วงเวลาประมาณ 1 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.2563 – 3 พ.ย.2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 155 คน ใน 159 คดี ในจำนวนคดีทั้งหมดมีคดีที่ “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษถึง 78 คดี

การใช้มาตรา 112 ระลอกนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ 19 พ.ย.2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการชุมนุมทางการเมืองต่อเนื่องตั้งแต่ 18 ก.ค.2563 และเริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ไปจนถึงมีการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในการชุมนุม โดยพล.อ.ประยุทธ์ประกาศว่าจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด หลังจากก่อนหน้านั้นมีการเปลี่ยนแนวทางการบังคับใช้มาตั้งแต่ช่วงปี 2561 เป็นต้นมา

การรวบรวมรายชื่อเพื่อแก้ไขมาตรา 112 ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เมื่อปี 2555 ประชาชนเคยเข้าชื่อกัน 26,968 คน ยื่นต่อรัฐสภาเพื่อเสนอให้แก้ไขความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ในมาตรา 112 ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ การล่ารายชื่อครั้งเริ่มขึ้นโดยคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) และใช้เวลารวบรวมรายชื่อจากการตั้งโต๊ะและทางไปรษณีย์ 112 วัน

ทั้งนี้การรวบรวมรายชื่อทางออนไลน์ครั้งนี้เกิดขึ้นได้หลังจากเมื่อ 27 พ.ค.2564 พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ปี 2564 เริ่มมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยสาระสำคัญของ กฎหมายฉบับนี้ทำให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายหรือร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานรัฐสภา (แล้วแต่กรณี) ได้สะดวกขึ้น โดยให้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชน และเตรียมเปิดระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายทางออนไลน์ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net