Skip to main content
sharethis

‘โรม ก้าวไกล’ ชวนร่วมแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมาย เอาผิด ตำรวจ-อัยการ-ศาล ฐาน ‘บิดเบือนกฎหมาย’ ลั่น ถึงเวลาทวงคืนกระบวนการยุติธรรมจากการใช้กฎหมายห้ำหั่นผู้เห็นต่าง

8 พ.ย. 2564 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล แจ้งต่อสื่อมวลชนว่า รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรกำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ว่าด้วย การเอาผิดเจ้าพนักงานยุติธรรมในฐานบิดเบือนกฎหมาย ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล โดยการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเป็นขั้นตอนตาม มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ก่อนบรรจุเป็นวาระพิจารณาในสภาต่อไป ทุกท่านสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์ได้ที่ เว็บไซต์ของรัฐสภา https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=147

รังสิมันต์ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็น 1 ใน ชุดกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน ที่พรรคก้าวไกลเสนอไปพร้อมกัน 5 ฉบับ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็อยู่ในชุดกฎหมายนี้ แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากประธานสภาให้เข้าสู่ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น 

“อย่างไรก็ตาม สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้ อยากให้มีการแสดงความเห็นเข้ามาให้มากที่สุดเพื่อสนับสนุนการแก้ไข เพราะเมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาแล้ว ความคิดเห็นทั้งหมดจะเป็นอีกพลังหนึ่งในการยืนยันต่อ ส.ส.ทั้งหมดในสภาว่า ประชาชนจำนวนมากต้องการทวงคืนกระบวนการยุติธรรมจากบรรดาผู้มีอำนาจที่ใช้กฎหมายห้ำหั่นผู้เห็นต่างทางการเมือง ไม่มีเหตุผลใดที่สภาจะปฏิเสธการแก้ไขกฎหมายที่มีแรงสนับสนุนท่วมท้นจากประชาชน ถึงเวลาแล้วที่บรรดาเจ้าพนักงานผู้ใช้กฎหมายจะต้องมีบทลงโทษเพื่อไม่ให้ใช้ดุลพินิจอย่างไร้ความรับผิดชอบ แต่ต้องตระหนักและรู้จักยับยั้งชั่งใจก่อนจะใช้อำนาจหน้าที่หรือคำสั่งใดๆเพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย”  

รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยสรุปคือ การเพิ่มฐานความผิดเข้าไปในประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ ความผิดฐาน ‘บิดเบือนกฎหมาย’ ของเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็น พนักงานสอบสวน ตำรวจ อัยการ รวมถึงศาลด้วย หากมีการใช้อำนาจหน้าที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จะมีความผิด โดยเพิ่มมาตรา 200/1 ในวรรคหนึ่ง “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน กระทำการบิดเบือนกฎหมายในการสอบสวนและการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี ด้วยการทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี หรือกระทำความเห็นทางคดีอย่างอื่นอันจะมีผลกระทบต่อการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี”

ส่วนในวรรคสอง กำหนดฐานความผิดจากการบิดเบือนกฎหมายของผู้พิพากษาและตุลาการ ความว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ กระทำการบิดเบือนกฎหมายในการพิจารณาคดี การทำคำสั่งรับหรือไม่รับฟ้อง การทำคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี หรือการทำคำสั่งคำร้องหรือคำขออื่นใด เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี”

“เหตุผลในการเสนอแก้ไขกฎหมายนี้ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาเจ้าพนักงานในการยุติธรรมส่วนหนึ่งไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ใช้ดุลพินิจราวกับว่ามีนโยบายกำกับไว้ ว่าให้บังคับใช้อำนาจหน้าที่ทางกฎหมายต่อผู้ที่ต่อต้านรัฐบาล จนทำให้ศาลสูญเสียซึ่งอิสระในการพิจารณา จนส่งผลต่อการรักษาไว้ซึ่งกระบวนการยุติธรรมอันเป็นที่พึ่งของประชาชน จนส่งผลทำให้เกิดการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผลของมันไม่เพียงกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์เท่านั้น แต่ยังเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมที่สั่งสมมาอย่างยาวนานด้วย ตลอดหลายปีมานี้ เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนสัมผัสได้ถึงความสิ้นหวังและหมดศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองหรือคดีที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจหรือกลุ่มทุนก็ตาม”

รังสิมันต์ อธิบายต่อไปว่า หากนับเฉพาะในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมต่อประชาชนในหลายกรณี โดยเฉพาะผู้ที่ออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เพียงแต่ถูกปราบปรามจากเจ้าหน้าที่ด้วยมาตรการนอกหลักกฎหมาย ยังมีการซ้อมทรมานระหว่างจับกุมคุมตัว การนำตัวไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่มีกฎหมายรองรับ เช่น ตชด.ทำให้ยากต่อการเข้าถึงสิทธิของผู้ต้องหา นอกจากนี้ ยังมีการแจ้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงด้วย ม.112 และ ม.116 เพื่อเป็นข้ออ้างไม่ให้ได้รับการประกันตัวได้โดยง่าย ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความผิด อีกทั้งบุคคลเหล่านี้ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ศาลกลับทำให้การประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเป็นไปด้วยความยากลำบาก และในทางกลับกัน หลายครั้งยังถูกนำมามาใช้ข่มขู่เพื่อเพิกถอนสิทธิในการประกันตัว ทั้งที่การแสดงออกเหล่านั้นคือสิทธิที่รองรับไว้โดยรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 

รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า การทำหน้าที่ของผู้พิพากษา อัยการ พนักงานสอบสวน จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรงต่อกฎหมาย จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้กระบวนการยุติธรรรมของประเทศนี้ กลับมาเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ตรวจสอบได้ มีความน่าเชื่อถือ มีความความชอบธรรมจากประชาชน และเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ยอมรับต่อกระบวนการยุติธรรมไปมากกว่าที่เป็นอยู่ เช่นคดีบอส กระทิงแดง ที่มีการเปลี่ยนสำนวนคดีเพื่อช่วยให้ลูกหลานกลุ่มทุนใหญ่พ้นผิดจนสร้างความฉาวโฉ่ไปทั่วสังคมโลก เจ้าพนักงานยุติธรรมที่มีส่วนก็จะต้องมีความผิดตามกฎหมายนี้เช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net