เปิดวิสัยทัศน์หลักของผู้นำประเทศบนเวที COP26 ไทยอยู่ตรงไหนในเวทีโลก?

เปิดวิสัยทัศน์หลักของแต่ละประเทศบนเวที COP26 ณ สก็อตแลนด์ ‘สหรัฐฯ’ ชี้ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน 2050 ‘อังกฤษ’ ทุ่ม 1 พันล้านปอนด์ เปลี่ยนสภาพภูมิอากาศภายใน 2025 ขณะที่อินโดนีเซียย้ำต้องการแรงสนับสนุนประเทศพัฒนาแล้ว ด้าน ‘ไทย’ ยันลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065 แต่ไม่ลงนามใน ‘ปฏิญญาว่าด้วยป่าไม้ฯ’ หวั่นข้อผูกมัดเรื่อง ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ขัดแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลไทย

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 เวลา 12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของสก็อตแลนด์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP 26 ซึ่งเป็นการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในช่วง 26 ปีที่ผ่านมา 

ประชาไทจึงรวบรวมวิสัยทัศน์ที่ผู้นำโลกชูบนเวที COP26 เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก พร้อมดูว่าไทยอยู่ตรงไหนบนเวทีโลก

 

EU ให้คำมั่นลดการปล่อยมลพิษภายในปี 2030

เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวบนเวที COP26 ว่าเราให้คำมั่นสัญญาอย่างจริงจังในการลดการปล่อยมลพิษภายใน ค.ศ.2030 และทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายใน ค.ศ.2050 ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอ ประการแรกเราต้องดำเนินการอย่างจริงจังในช่วงทศวรรษนี้ สำหรับยุโรปได้เริ่มดำเนินการไปแล้วอย่างน้อย -55% ประการที่สอง เราต้องตกลงกันเรื่องกรอบการทำงานที่แข็งแกร่ง เช่น ทำให้ตลาดคาร์บอนทั่วโลกเป็นจริง ต้องจ่ายค่าปรับจริง ไม่สามารถปลูกป่าทดแทนได้ ประการที่สาม เราต้องระดมเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศโดยการสนับสนุนกลุ่มประเทศเปราะบางในการปรับตัวและก้าวกระโดดเพื่อการเติบโตที่สะอาด สหภาพยุโรปจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระดับโลกในการปรับตัว ด้วยมูลค่าเกือบ 27,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020

ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวต่อว่า เราให้คำมั่นว่าจะให้เงินเพิ่มอีก 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจนถึง ค.ศ.2027 จากงบประมาณของสหภาพยุโรป และเราจะระดมทุนเพิ่มเป็นสองเท่าสำหรับความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เปราะบาง สำหรับประการที่สี่ซึ่งเป็นประการสุดท้าย คือ การขยายและนำนวัตกรรม รวมถึงเทคโนโลยีที่มีอยู่มาปรับใช้

‘สหรัฐ’ ชูวิสัยทัศน์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ชูวิสัยทัศน์ด้านแผนยุทธศาสตร์ที่จะบรรลุเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2050 พร้อมหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ช่วยกันลดการปลดปล่อยพลังงาน ลดโลกร้อนที่อุณหภูมิกำลังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถทำให้ได้ตามเป้าในการจำกัดให้ภาวะโลกร้อนอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ช่วงเวลานี้จะต้องเป็นทศวรรษแห่งความทะเยอทะยานในการสรรค์สร้างนวัตกรรมเพื่อปกป้องรักษาโลกไว้ด้วยกัน

ไบเดนยังประกาศข้อริเริ่มใหม่เพื่อแสดงให้เห็นถึงพันธสัญญาที่สร้างนวัตกรรมทุกภาคส่วน เพื่อหาทางออกความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร น้ำมันหรือก๊าซและการรับมือกับการตัดไม้ทำลายป่า ไบเดนกล่าวว่า สหรัฐฯ จะเผยให้เห็นยุทธศาสตร์ระยะยาวโดยการทำคำมั่นสัญญากับสหภาพยุโรปว่าจะลดการปล่อยก๊าซมีเทนอย่างน้อย 30% ภายในช่วงปลายทศวรรษ

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังทำ Social Safety Net หรือโครงข่ายรองรับทางสังคมและข้อเสนอโครงสร้างพื้นฐานที่มุ่งเป้าเพื่อแก้วิกฤตสภาพอากาศอีกด้วย

‘อังกฤษ’ เพิ่ม 1 พันล้านปอนด์ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในปี 2025

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ระบุว่า ทั่วโลกจะต้องเริ่มเปลี่ยนความมุ่งหวังไปสู่การลงมือทำเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก โดยในวันนี้สหราชอาณาจักรประกาศลงทุนในการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มอีก 1,000 ล้านปอนด์ (ราว 45,600 ล้านบาท) ภายในปี 2025

นอกจากนี้ บอริสเรียกร้องให้ผู้นำโลกเริ่มดำเนินการยุติการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินอย่างจริงจัง เร่งการเปลี่ยนผ่านมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และยุติการทำลายป่าไม้ ในขณะที่สนับสนุนการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นแนวหน้าเผชิญวิกฤติทางสภาพภูมิอากาศ

บอริสระบุทิ้งท้ายว่า การดำเนินการนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทศวรรษนี้ บนเส้นทางไปสู่การบรรลุเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และรักษาระดับการเพิ่มของอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ในความตกลงปารีส

‘อินโดนีเซีย’ ขอสนับสนุนจากประเทศพัฒนาแล้ว เร่งเดินหน้าพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า

โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กล่าวว่า ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศอินโดนีเซียนั้นมีอยู่มากล้น แต่ประเทศก็ยังจะเดินหน้าช่วยจัดการปัญหาภาวะโลกร้อนต่อไป แต่สิ่งที่จำเป็นสำหรับภารกิจดังกล่าวคือ ประเทศอินโดนีเซียต้องการแรงสนับสนุนจากประเทศพัฒนาแล้ว หันมาช่วยเหลือส่งเสริมประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ยังคงเรียกร้องเผื่อไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่เหลือด้วย 

โจโคกล่าวว่า การจะทำให้ภารกิจนี้สมบูรณ์ได้ ประเทศพัฒนาแล้วต้องให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อทำให้เกมเปลี่ยน ช่วยลดโลกร้อน และช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาได้ นอกจากนี้ โจโคยังกล่าวเพิ่มเติมว่า อินโดนีเซียมีการตัดไม้ทำลายป่าลดลงในระดับต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ไฟป่าลดลง 82% ในปี 2020 พร้อมฟื้นฟูป่าโกงกางอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเดินหน้าพัฒนาระบบนิเวศของรถยนต์ไฟฟ้า

เวียดนาม ชี้ทุกประเทศต้องลดก๊าซเรือนกระจก

ฝั่มมิญจิ๊ญ (Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวในพิธีเปิดการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ COP26 ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้กลายเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่มนุษยชาติต้องเผชิญ เหตุการณ์สภาพอากาศและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงทางน้ำ การพัฒนาที่ยั่งยืนและคุกคามความอยู่รอดของหลายประเทศและชุมชน

นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวเพิ่มเติมว่า คำเตือนเกี่ยวกับธรรมชาติเหล่านี้ บังคับให้เราต้องดำเนินการอย่างจริงจังและมีความรับผิดชอบในระดับโลกโดยไม่ชักช้าอีกต่อไป และประเทศต่างๆ จำเป็นต้องให้คำมั่นสัญญาอย่างแข็งขันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลักการของความรับผิดชอบร่วมกันแต่มีความแตกต่างกันตามสถานการณ์และความสามารถเฉพาะของตน

ทั้งนี้เวียดนามร่วมลงนามในคำประกาศให้คำมั่นว่าจะยุติการตัดไม้ทำลายป่า และฟื้นฟูป่าไม้ภายในปี 2030 ถือเป็นข้อตกลงใหญ่ข้อแรกที่เกิดขึ้นในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) 

เกาหลีใต้ ตั้งเป้าช่วยฟื้นฟูป่าไม้ให้ประเทศกำลังพัฒนาและเกาหลีเหนือ

มุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เน้นย้ำบนเวที COP26 ถึงความมุ่งมั่นของเกาหลีในการร่วมมือในการฟื้นฟูป่า โดยอาศัยประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จในการปลูกป่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

“การปลูกต้นไม้และฟื้นฟูป่าไม้เป็นทางออกที่สำคัญสำหรับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มันยังแสดงให้เราเห็นถึงวิธีการหลีกเลี่ยงการทำให้เป็นทะเลทราย และส่งเสริมสันติภาพในพื้นที่ชายแดน" มูนกล่าว

นอกจากนี้ เกาหลีใต้เสนอให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูป่าในประเทศกำลังพัฒนาและร่วมมือในความพยายามปลูกป่าร่วมกับเกาหลีเหนือ เนื่องจากเกาหลีเหนือประสบปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าอย่างรุนแรงเนื่องจากการตัดไม้มากเกินไปเพื่อสร้างพื้นที่สำหรับทำการเกษตรและเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง

“ด้วยความร่วมมือด้านป่าไม้ระหว่างเกาหลี เราจะพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งคาบสมุทรเกาหลี” มุนแจอินกล่าว

ทั้งนี้ เกาหลีใต้จะเป็นเจ้าภาพการประชุม World Forestry Congress ในเดือน พ.ค. 2023 มุนแจอินเน้นย้ำว่าเกาหลีใต้จะเข้าร่วมความพยายามระดับโลกในการลดการใช้ถ่านหิน และภายในปี 2050 การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในเกาหลีใต้จะถูกยกเลิกอย่างสมบูรณ์ 

เกาหลีใต้จะร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสีเขียว มูนระบุทิ้งท้าย

อินเดีย ตั้งเป้าทำ 'Net Zero' ให้ได้ภายในปี 2070

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย กล่าวว่า อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากเป็นอันดับ 3 ของโลก จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ได้ภายในปี 2070

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีอินเดียยังระบุถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง ว่าการเปลี่ยนแปลงด้านวิถีชีวิตเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงสัญญาว่าอินเดียจะได้รับพลังงาน 50% จากแหล่งพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2030 และภายในปีเดียวกันจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่คาดการณ์ไว้ทั้งหมดหนึ่งพันล้านตัน 

‘ไทย’ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2065 แต่ไม่ร่วมลงนามใน ‘ปฏิญญาป่าไม้’

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวบนเวที COP26 ว่า การมาร่วมประชุมในครั้งนี้เป็นการยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ และทุกภาคส่วน เพื่อให้บรรรลุเป้าหมายร่วมกันในการแก้ปัญหาครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของโลก เพราะภารกิจนี้คือความเป็นความตายของโลก และอนาคตลูกหลานพวกเราทุกคน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณร้อยละ 0.72 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ทว่ากลับเป็น 1 ใน 10 ประเทศ ที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไทยได้ปฎิบัติตามคำมั่นทุกประการที่ให้ไว้กับประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศแรกๆ ที่จัดส่ง Nationally Determined Contributions - NDC ฉบับปรับปรุงปี 2020 และยังกำหนดเป้าหมาย NAMA (Nationally Appropriate Mitigation Action) ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและขนส่ง อย่างน้อยร้อยละ 7 ภายในปี 2020 ทว่าในปี 2019 สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว ร้อยละ 17 ซึ่งเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 2 เท่า แล้วก่อนเวลาที่กำหนดไว้มากกว่า 1 ปี)

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จะยกระดับการแก้ไขป้ญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ทุกวิธีทาง 

เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคอร์บอนฯ ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 พร้อมทั้งยกระดับ NDC ขึ้นเป็นร้อยละ 40 ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2050

ทั้งนี้ สำนักข่าวกรีนนิวส์รายงานว่าก่อนเข้าร่วมประชุม COP26 ของวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ระบุว่าจะเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 55% ของพื้นที่ประเทศไทยภายใน 15 ปี แต่ไทยกลับเป็นหนึ่งในประเทศส่วนน้อยที่ไม่ยอมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยการป่าไม้และการใช้ที่ดินของผู้นำกลาสโกว์ (Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use) ซึ่งเป็นปฏิญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ป่าไม้และระบบนิเวศน์และเร่งการฟื้นฟูป่า ซึ่งสำนักข่าวกรีนนิวส์ระบุว่าหนึ่งในข้อตกลงของปฏิญญาฉบับนี้คือ “การยอมรับว่าชุมชนในชนบทและชนเผ่าพื้นเมืองมีบทบาทสำคัญในการดูแลพื้นที่ป่าของโลก” จึงกำหนดให้ประเทศที่ลงนามต้องส่งเสริมศักยภาพของชุมชนและวิถีชีวิตในชนบทด้วยการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนและสร้างผลกำไรได้ และยอมรับคุณค่าที่หลากหลายของผืนป่า รวมถึงตระหนักในสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น ที่เป็นไปตามกฎหมายของชาติและกลไกระหว่างประเทศตามที่เหมาะสม โดยแนวทางนี้อาจขัดต่อหลักปฏิบัติและหลักกฎหมายไทยที่ไม่ยอมรับการมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมือง ไปจนถึงนโยบายคืนผืนป่าที่ทับซ้อนกับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนในหลายพื้นที่

อย่างไรก็ตาม วราวุธให้สัมภาษณ์ในรายการข่าว 3 มิติเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2564 ว่าการที่ไทยไม่ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยการป่าไม้และการใช้ที่ดินของกลุ่มผู้นำกลาสโกว์ในการประชุม COP26 นั้น เพราะว่ากฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้และการใช้ที่ดินของไทยยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและพิจารณาของคณะรัฐมนตรี หากกฎหมายทั้งหมดผ่านกระบวนการต่างๆ ในประเทศแล้ว คณะผู้แทนไทยสามารถขอลงนามในปฏิญญาฉบับนี้ย้อนหลังได้ ซึ่งวราวุธบอกว่าวิธีนี้เป็นรูปแบบการทำงานที่รัดกุมและปลอดภัยสำหรับตนและคณะผู้แทนไทย ทั้งนี้ วราวุธยืนยันว่าแผนการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมดของไทยต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

สำนักข่าวกรีนนิวส์รายงานเพิ่มเติมว่าไทยได้พูดคุยทวิภาคีกับสาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งได้ข้อสรุปว่าเยอรมนีจะสนับสนุนงบประมาณ 40 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,540 ล้านบาทให้ไทย เพื่อใช้ดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ และขอให้เยอรมนีช่วยสนับสนุนไทยเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า และเร่งผลักดันโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ เพื่อส่งเสริมการทำนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและมีความยั่งยืน

สำหรับการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติครั้งที่ 26 ในครั้งนี้ บรรดาผู้นำจากภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ ธุรกิจ และเยาวชนได้เข้าร่วมเพื่อเริ่มต้นการประชุม บรรดาผู้นำชี้แจงอย่างชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลก โลกกำลังต้อนรับยุคใหม่ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยมีการดำเนินการด้านสภาพอากาศเป็นหัวใจสำคัญ ภารกิจแห่งทศวรรษคือการส่งมอบการเงิน ทรัพยากร และเครื่องมือต่างๆ เพื่อส่งมอบการดำเนินการด้านสภาพอากาศอย่างรวดเร็วในวงกว้าง

ผู้นำจากทุกภูมิภาคได้พูดถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดการด้านการบรรเทา การปรับตัว และการเงิน รวมทั้งได้ชี้แจงอย่างชัดเจนถึงความคาดหวังของสำหรับ COP26 รวมทั้งตระหนักถึงสถานการณ์และความรับผิดชอบที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศในการเร่งดำเนินการภายในปี 2030 โดยเน้นถึงความจำเป็นในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าในทุกประเด็นและสรุปกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนการส่งมอบเป้าหมายข้อตกลงปารีส

ทอฝัน ช่วยชู ผู้รายงานชิ้นนี้เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

เรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท