Skip to main content
sharethis

นิวยอร์กไทม์นำเสนอเรื่องกระแสวัฒนธรรมป็อบจากเกาหลีใต้ที่เป็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงปีนี้ ไม่ว่าจะกับกลุ่ม K-pop อย่าง Blackpink หรือซีรี่ส์แนวดิสโทเปีย (โลกอันไม่พึงประสงค์) ที่กำลังดังอย่าง "สควิดเกม" ซึ่งเทียบได้กับสินค้ายอดนิยมของเกาหลีอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าแอลจีและมือถือซัมซุง ปัจจัยอะไรที่ทำให้กระแสเกาหลีกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในช่วงนี้

วง BTS ภาพจาก 티비텐 (TenAsia)

โชซังฮุน หัวหน้าสำนักงานข่าวสาขากรุงโซลของนิวยอร์กไทม์กล่าวถึงซีรีส์เกาหลีเรื่องใหม่ที่กำลังจะออนแอร์ในเนตฟลิกส์เรื่อง "Bulgasal : Immortal Souls" (แปลตรงตัวว่า "บุลกาซัล วิญญาณอมตะ") ที่พูดถึงชายที่ถูกสาปให้มีอายุยาวนาน 600 ปี ถูกไล่ล่าในฐานะสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “บุลกาซัล” ที่ดื่มเลือดมนุษย์เป็นอาหารคล้ายผีดูดเลือด ที่ผู้กำกับหวังว่าจะเป็นกระแสในหมู่ผู้ชมนานาชาติ

โชซังฮุนระบุว่า ถึงแม้ว่ากระแสวัฒนธรรมเกาหลีจะมีมานานแล้วสำหรับคนในแถบทวีปเอเชีย แต่สำหรับผู้ชมตะวันตกพวกเขารู้สึกว่าในช่วงที่ผ่านมาวัฒนธรรมบันเทิงร่วมสมัยของเกาหลียังขาดสิ่งที่สดใหม่มากพอที่จะส่งออก เมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกอย่างอื่น เช่น รถยนต์ของฮุนได หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้าจากแอลจี ที่เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคระดับนานาชาติ แต่ในตอนนี้วงเคป็อบอย่าง BlackPink และภาพยนตร์แนวดิสโทเปียอย่าง "สควิดเกม เกมลุ้นตาย" รวมถึงภาพยนตร์ที่เพิ่งกวาดรางวัลไปอย่าง "ชนชั้นปรสิต (Parasite)" ก็กลายเป็นที่นิยมในระดับโลกมากเท่ากับโทรศัพท์มือถือของซัมซุง

นอกจากการเปรียบเทียบความนิยมสินค้าทางวัฒนธรรมกับสินค้าเทคโนโลยีของเกาหลีใต้แล้ว โชซังฮุนยังตั้งข้อสังเกตว่า การพัฒนาวัฒนธรรมบันเทิงในเกาหลีใต้ได้หยิบยืมสิ่งต่างๆ จากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกับที่พวกเขาเคยใช้ในการพัฒนาการผลิตสินค้าเทคโนโลยี โดยผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ในเกาหลีใต้ได้ไปเรียนรู้การทำภาพยนตร์จากฮอลลิวูดและแหล่งอื่นๆ อยู่หลายปีและได้นำกลับมาปรับใช้ ตกผลึกเป็นรูปแบบของตัวเองด้วยการเอาความเป็นเกาหลีเข้าไปผสม

นอกจากนี้ผู้ผลิตยังมองว่าบริการสตรีมมิ่งแบบเน็ตฟลิกซ์ยังเปิดทางให้กับภาพยนตร์เกาหลีใต้สู่สายตาชาวตะวันตกมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกาหลีใต้ไม่ใช่แค่ผู้บริโภควัฒนธรรมตะวันตกอีกต่อไปแต่กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงและผู้ส่งออกวัฒนธรรมรายใหญ่เองด้วย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีสื่อบันเทิงของเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นวงบอยแบนด์ BTS ก็ได้รับความนิยมมีแฟนๆ ทั่วโลกจำนวนมาก หรือภาพยนตร์เรื่อง "ชนชั้นปรสิต" เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีจากเวทีออสการ์เมื่อปี 2562 ในไม่กี่ปีที่ผ่านมามีภาพยนตร์และซีรีส์เกาหลีใต้บนเน็ตฟลิกซ์รวม 80 เรื่อง มากกว่าที่พวกเขาคาดการณ์ไว้

จางยังวูบอกว่า ตอนแรกที่พวกเขาผลิตงานเช่น "ปักหมุดรักฉุกเฉิน (Crash Landing on You)" หรือสวีทโฮม พวกเขาไม่ได้คิดถึงตลาดโลกเอาไว้เลย

"พวกเราแค่พยายามทำให้มันน่าสนใจและมีความหมายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จนกระทั่งโลกได้เริ่มเข้าใจและมีอารมณ์ร่วมกับประสบการณ์ทางอารมณ์ความรู้สึกที่พวกเราสร้างขึ้นมา" จางยังวูกล่าว

ถึงแม้ว่าสัดส่วนปริมาณการส่งออกสินค้าวัฒนธรรมยังไม่ใหญ่เท่าการส่งออกชิพคอมพิวเตอร์ แต่วัฒนธรรมเกาหลีก็มีอิทธิพลพอให้ถูกบันทึกในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีคำในภาษาเกาหลีถูกเพิ่มเข้าไปพจนานุกรมอ็อกฟอร์ด 26 คำเช่นคำว่า "ฮัลลิว" ที่แปลว่ากระแสเกาหลี ในขณะเดียวกับที่เกาหลีเหนือเรียกกระแสเคป็อบที่แทรกเข้าไปในประเทศของพวกเขาว่าเป็น "มะเร็งร้าย" และจีนสั่งระงับบัญชีแฟนเคป็อบในโซเชียลมีเดียหลายรายอ้างว่าเป็น "พฤติกรรมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ"

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกาหลีใต้มีความสามารถในการแข่งขันเทียบชั้นกับยักษ์ใหญ่อย่างจีนจนชนะทั้งที่จีนพยายามยับยั้งการเข้ามาของวัฒนธรรมเกาหลีก็คือ เสรีภาพการแสดงออกในประเทศ แม้ในสมัยประธานธิบดีปาร์กกึนฮเยจะเคยพยายามจะเซนเซอร์ผู้ผลิตงานด้านวัฒนธรรมเหล่านี้ก็ทำไม่สำเร็จ ในทางตรงกันข้ามนักการเมืองเริ่มสนับสนุนวัฒนธรรมร่วมสมัยของพวกเขาผ่านกฎหมาย เช่น อนุญาตให้ผ่อนผันการเกณฑ์ทหารภาคบังคับสำหรับนักแสดงเคป็อบชายบางคน อีกทั้งทางการเกาหลียังเพิ่งอนุญาตให้เน็ตฟลิกติดตั้งอนุสาวรีย์ "สควิดเกม" ในโอลิมปิคปาร์กของกรุงโซลในเดือนพฤศจิกายนนี้

ความสำเร็จของพวกเขาก็ไม่ได้เกิดขึ้นแบบชั่วข้ามคืน แต่ต้องใช้วันเวลาเปิดประตูสู่ชาวโลกต่อเนื่องเป็นเวลานาน เริ่มมาตั้งแต่ยุคที่ละคร "เพลงรักในสายลมหนาว" วงอย่างบิ๊กแบงและเกิร์ลเจเนอเรชันที่สามารถครองตลาดเอเชียและที่อื่นๆ ตามมาได้ก่อน หรือกระแส "กังนัมสไตล์" ที่เคยฮิตไปทั่วโลก และถึงแม้ว่าเรื่อง "ชนชั้นปรสิต" ที่ตีแผ่ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยจะได้รับรางวัลออสการ์และได้รับความสนใจจากผู้ชมนานาชาติในที่สุดแต่เกาหลีใต้ก็เคยผลิตผลงานแนวนี้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

คังยูจุง ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยกังนัมบอกว่าบริการสตรีมมิ่งอย่างเน็ตฟลิกซ์และยูทูบก็มีส่วนในการทำให้ผู้คนเข้าถึงสื่อบันเทิงเกาหลีได้เมื่อคนหันมารับชมเนื้อหาออนไลน์กันมากขึ้นและช่องทางออนไลน์ยังทำให้สตูดิโอภาพยนตร์นอกกระแสในเกาหลีใต้มีโอกาสให้ทุนและเสรีภาพทางศิลปะในการผลิตผลงานที่จำเป็นต่อการเข้าสู่ตลาดนานาชาติมากขึ้นด้วย จากเดิมที่มีเพียงผู้ให้บริการแพร่ภาพและกระจายเสียงระดับประเทศไม่กี่แห่งที่คอยคุมอุตสาหกรรมนี้อยู่ อีกทั้งผู้ผลิตในเกาหลีใต้ยังต้องเผชิญกับการเซนเซอร์เนื้อหาที่ถูกอ้างว่ามีความรุนแรงหรือมีการแสดงเรื่องเพศอย่างเปิดเผยเมื่อจะฉายทางสถานีโทรทัศน์ในประเทศ แต่เน็ตฟลิกซ์มีการปิดกั้นในเรื่องเหล่านี้น้อยกว่า

ขณะเดียวกันกลุ่มผู้สร้างผลงานก็บอกว่าสภาพต่างๆ ทำให้พวกเขาต้องสร้างตัวละครและเนื้อเรื่องที่มีลักษณะที่ต้องใช้จินตนาการสูง มีปฏิสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกลึกซึ้ง ในแบบที่เรียกว่า "ซินปา" อย่างกลุ่มตัวเอกที่มีข้อเสียอยู่ลึกๆ เรื่องของคนธรรมดาที่ติดอยู่ในสภาพการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก การยึดติดกับคุณค่าต่างๆ อย่างความรัก ครอบครัว และความห่วงใยต่อคนอื่น ผู้สร้างผลงานบอกว่าพวกเขาอยากสร้างตัวละครที่มี "กลิ่นอายของมนุษย์จริง"

เกาหลีใต้เพิ่งจะผ่านพ้นมรสุมทางการเมืองและสังคมต่างๆ เมื่อไม่กี่สิบปีก่อนหน้านี้ ทั้งสงคราม, รัฐบาลเผด็จการ, การเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย และการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ฝ่ายผู้สร้างผลงานก็จมูกไวพอจะเข้าใจว่าผู้ชมในประเทศต้องการจะรับชมอะไรและมันมักจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย เช่นเดียวกับหนังดังในประเทศต่างๆ ก็มักจะมีเนื้อหาที่พูดถึงประเด็นที่คนธรรมดาทั่วไปต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่เท่าเทียมทางรายได้ ความสิ้นหวังและความขัดแย้งระหว่างชนชั้น

ก่อนที่ฮวังดงฮย็อกจะมาเป็นผู้กำกับซีรีย์เรื่องสควิดเกม เขาเคยกำกับภาพยนตร์เรื่อง "โดกานี" ที่ออกฉายในปี 2554 ที่นำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกรณีการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนสอนคนหูหนวกมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ส่งผลให้รัฐบาลกวาดล้างกลุ่มครูที่มีประวัติล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนสำหรับคนพิการ

สำหรับกรณีของเคป็อบนั้น ถึงแม้เนื้อหาในเพลงของพวกเขาจะไม่ค่อยพูดเรื่องการเมืองมาก แต่เพลงของพวกเขาก็มักจะถูกนำมาใช้ในวัฒนธรรมการประท้วงในเกาหลีใต้ เช่น ตอนที่มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวานำขบวนการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในปี 2559 พวกเขาก็พากันร้องเพลง "Into the New World" (สู่โลกใหม่) ของวงเกิร์ลเจเนอเรชัน และเพลง "One Candle" (เทียนเล่มหนึ่ง) ของวง g.o.d. ซึ่งกลายเป็นเพลงประจำการประท้วงอย่างไม่เป็นทางการของขบวนการ "การปฏิวัติแสงเทียน" ที่โค่นล้มประธานาธิบดีปาร์กกึนฮเยได้

ลิมเมียงมุก ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับวัฒนธรรมวัยรุ่นเกาหลีใต้บอกว่า หนึ่งในรูปแบบเนื้อหาที่มีอิทธิพลอย่างมากของเกาหลีใต้คือการต่อสู้เผชิญหน้า ความไม่พอใจของผู้คนถูกแปลงเป็นความโกรธและแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนกิจกรรมมวลชน ยิ่งคนถูกทำให้ติดอยู่กับบ้านเพราะ COVID-19 ยิ่งทำให้พวกเขาหาทางระบายความคับข้องใจออกด้วยโลกบันเทิง

อีกข้อสังเกตหนึ่งมาจาก ลีฮากจูน ศาสตราจารย์ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเคป็อบไอดอล เขาบอกว่าผู้สร้างสื่อบันเทิงเกาหลีใต้มักจะปรับตัวเร็ว พวกเขาเอาวัฒนธรรมอื่นเข้ามาดัดแปลงให้เป็นแบบของตัวเองได้ เช่นในกรณี "บุลกาซัล" ก็มีพล็อตและฉากที่ชวนให้นึกถึงเรื่องอย่าง "ดิ เอ็กซ์ ไฟล์ แฟ้มลับคดีพิศวง" กับ "สเตรนเจอร์ ธิงส์" ขณะเดียวกันผู้กำกับก็นำเรื่องแนวคิดเรื่อง "ออบโบ" คือการทำความดีและความเลวที่จะส่งผลต่อชีวิตหลังความตาย(คล้ายเวรกรรมของไทย) มาเป็นตัวชูรสโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในเรื่อง
 

เรียบเรียงจาก

From BTS to ‘Squid Game’: How South Korea Became a Cultural Juggernaut, New York Times, 03-11-2021

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

เรื่องย่อซีรีส์ : Bulgasal (2021), เว็บไซต์ Korseries, 26-10-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net