สุรพศ ทวีศักดิ์: ปรัชญากับความเป็นคนและ 112

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การมีและการบังคับใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 ทำให้เกิด “นักโทษทางความคิด” หมายถึง คนที่ไม่ได้ทำอะไรผิดหลักเสรีภาพในการพูด การแสดงออกเลย แต่ถูกกำหนดให้มีความผิดและถูกลงโทษตามกฎหมาย เพียงเพราะเขาแสดงความคิดเห็นตามมโนธรรมหรือสำนึกผิดชอบชั่วดีของตนเองเกี่ยวปัญหาสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา

พูดในเชิงหลักการกว้างๆ คือ 112 ทำให้ไม่มีเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพทางความคิดเห็น เสรีภาพในการพูด การแสดงออกตามหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จึงทำให้ประชาชนบางคนต้องติดคุกในฐานะนักโทษทางความคิด หรือต้องลี้ภัยการเมือง และทำให้ประชาชนทุกคนเป็นเสมือนนักโทษทางความคิด เพราะทุกคนล้วนตกอยู่ในสภาพบังคับที่ต้อง “เซ็นเซอร์” การแสดงความคิดเห็นของตนเอง เพราะกลัวที่จะพูดความจริงเกี่ยวกับปัญหาสถาบันกษัตริย์

เมื่อพิจารณาในทางปรัชญาศีลธรรมและการเมือง 112 ย่อมขัดต่อหลักการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, หลักประโยชน์สุขส่วนรวม และหลักความยุติธรรมในระบอบเสรีประชาธิปไตย 

1. หลักการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในปรัชญาศีลธรรมของอิมมานูเอล คานท์ นักปรัชญาชาวเยอรมัน ถือว่า “มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีในตัวเอง” และศักดิ์ศรีดังกล่าวจะถูกล่วงละเมิดมิได้ การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ย่อมผิดศีลธรรม ต่อมาถูกกำหนดให้ผิดหลักสิทธิมนุษยชนและผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญในบางประเทศ

ในทัศนะของคานท์สิ่งที่แสดงว่าเรามีศักดิ์ศรีในตัวเอง คือการที่เรามีอิสรภาพในการกำหนดตนเอง (autonomy) ให้กระทำตามเหตุผล มโนธรรม และเจตจำนงของตนเอง พูดอีกอย่างคือ อิสรภาพคือรากฐานของการใช้เหตุผล เจตจำนงของเราทุกคน ถ้าเราตกอยู่ใต้อิทธิพลหรืออำนาจเผด็จการของบุคคลอื่น ศาสนา จารีตประเพณี อำนาจเผด็จการของรัฐ, ศาสนจักร, เผด็จการรูปแบบใดๆ หรือตกอยู่ใต้อำนาจของอารมณ์ (เช่น ความกลัว ฯลฯ) การใช้เหตุผลและมโนธรรมของเราย่อมไม่เที่ยงตรง 

เมื่อไม่สามารถจะใช้อิสรภาพหรือเสรีภาพที่จะคิดอย่างมีเหตุผลใคร่ครวญได้ทะลุทะลวงทุกด้าน ย่อมไม่มีเสรีภาพแห่งมโนธรรมในการตัดสินถูก ผิด เป็นธรรม ไม่เป็นธรรมได้อย่างเที่ยงตรง และย่อมไม่สามารถที่จะมีเจตจำนงอิสระในการกระทำสิ่งที่ถูกต้องทางศีลธรรมได้ 

ในทัศนะของคานท์ ศีลธรรมคือ “หน้าที่” ของมนุษย์ หมายถึง หน้าที่ทำตาม “กฎสากล” ที่ทุกคนสามารถยึดถือปฏิบัติร่วมกันได้อย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรม และเป็นกฎสากลที่เคารพต่อความเป็นมนุษย์ของเราทุกคนในฐานะเป็นสัตผู้มีเหตุผล (rational being) ที่มีเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์สรีในตัวเอง 

ดังนั้น ศีลธรรมในความหมายแบบคานท์จึงไม่ใช่ “ศีลธรรมเชิงปัจเจกบุคคล” ในแบบที่แต่ละคนควรมุ่งแสวงหาความสุข ความสงบทางจิตใจ หรือ “นิพพาน” สำหรับตนเอง แม้จะเริ่มจากอิสรภาพของปัจเจกบุคคล แต่การใช้อิสรภาพหรือเสรีภาพในการกำหนดเจตจำนงทางศีลธรรม ย่อมหมายถึง การกำหนดเจตจำนงของตนเองให้มีความหมายเป็น “เจตจำนงทั่วไป” ในการทำหน้าที่ของมนุษยชาติ คือหน้าที่เคารพความเป็นมนุษย์ของตนเองและทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน นั่นคือ เราต้องกระทำสิ่งใดๆ บนการเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเองและทุกคน

จะเห็นว่าแก่นแกนของศีลธรรมแบบคานท์ คือ “การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” การมีศีลธรรมจึงมีความหมายเป็นการปฏิเสธเผด็จการอำนาจนิยมทุกรูปแบบ โดยนัยนี้การมีและการบังคับใช้ 112 ย่อมละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะเป็นการบังคับให้มนุษย์ไม่มีอิสรภาพหรือเสรีภาพในการใช้เหตุผล มโนธรรม และเจตจำนงของตนเอง 

การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดย 112 ที่เห็นได้ชัดคือ การดำเนินคดี การคุมขังโดยไม่ให้สิทธิประกันตัว กระบวนการไต่สวนในศาลแบบลับ หรือไม่ให้เสรีภาพแก่จำเลยและพยานได้พูดความจริงเต็มที่ในการแก้ต่าง (เช่น มีการนำเอาคำพูดของผู้ถูกกล่าวหาที่ให้การในศาลไปแจ้งความตามมาตรา 112) อัตราโทษที่หนักเกินเหตุ ฯลฯ อันเป็นการกระทำต่อพลเมืองที่ใช้เสรีภาพในการพูด การแสดงออกเพื่อเรียกร้องเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความยุติธรรม ความหมายของการกระทำต่อพวกเขาคือการทำให้พวกเขาสูญเสียเสรีภาพ เจ็บปวดทางจิตใจ หวาดกลัว และอื่นๆ ซึ่งเป็นการกดทับและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นคนของพวกเขาอย่างชัดแจ้ง

ในอีกด้านหนึ่ง การที่ 112 เป็นกฎหมายที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปแจ้งความเอาผิดคนอื่นๆ ได้เกี่ยวกับเรื่องการใช้เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก ย่อมเป็นเงื่อนไขให้พลเมืองละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่นด้วยการ “ล่าแม่มด” คนคิดต่างทางการเมือง ขณะเดียวกันในการพิจารณาคดี 112 ถ้ากระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ “ไม่เป็นอิสระ” ย่อมเป็นกระบวนการที่ไม่เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน 

เจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมหากพวกเขาไม่มีอิสระในการดำเนินการตามหลักนิติรัฐในระบอบประชาธิปไตย ย่อมเป็นไปได้ที่ “มโนธรรม” ของพวกเขาจะทำให้พวกเขา “รู้สึกผิด” ต่อการตัดสินลงโทษที่ “อยุติธรรม” ต่อนักโทษทางความคิดคนแล้วคนเล่า หรือพูดอีกอย่าง เพราะพวกเขาตกอยู่ในสภาพบังคับไม่ให้มีอิสรภาพจึงตัดสินลงโทษนักโทษทางความคิดอย่างละเมิดอิสรภาพหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักโทษทางความคิดเหล่านั้น

2. หลักประโยชน์สุขส่วนรวม ตามปรัชญาประโยชน์นิยมของจอห์น สจ๊วต มิลล์ เสรีภาพของพลเมือง (civil liberties) อันได้แก่ เสรีภาพของปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางการเมืองคือพื้นที่เพื่อการเติบโตของปัจเจกบุคคล และเป็นพื้นที่เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมและความก้าวหน้าของมนุษยชาตื ถามว่าตามหลักประโยชน์นิยม ถ้ายกเลิก 112 ใครได้/เสียประโยชน์

หนึ่ง เจ้าได้ประโยชน์ เพราะโลกเสรีจะมองว่าสถาบันกษัตริย์ไทยปรับตัวสู่ความทันสมัยสอดคล้องกับประชาธิปไตยมากขึ้นเหมือนสถาบันกษัตริย์ในสังคมอารยะทั้งหลาย

สอง บรรดาคนรักเจ้าจะได้ประโชน์ เพราะพวกเขาจะได้ยืนยันอย่างเต็มภาคภูมิว่าสถาบันกษัตริย์ที่พวกเขารักนั้นสูงส่งดีงามอย่างแท้จริง "ทนต่อการพิสูจน์ ทนต่อการตรวจสอบ ดั่งทองแท้ไม่กลัวไฟ" 

สาม ประชาชนทุกคนได้ประโยชน์ เพราะได้มีเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกอย่างแท้จริง ทุกคนจะได้ใช้ความคิด สติปัญญา ความสามารถที่แตกต่างหลากหลายพัฒนาสังคมร่วมกัน ไม่มีใครตกเป็น "นักโทษทางความคิด" นักโทษการเมือง หรือลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศอีกต่อไป

สี่ นักการเมือง พรรคการเมืองได้ประโยชน์ เพราะประเทศนี้จะมีเสรีภาพทางการเมืองให้นักการเมือง พรรคการเมืองแข่งขันเชิงนโยบายกันอย่างเต็มที่ ไม่มีการอ้างสถาบันกษัตริย์ทำรัฐประหารได้ง่ายๆ อีกต่อไป

แล้วใครเสียประโยชน์ ก็คือพวกเผด็จการทหารที่ทำรัฐประหารจากรุ่นสู่รุ่น จะไม่มีโอกาสได้อ้างสถาบันกษัตริย์ อ้างความมั่นคงใช้ 112 เป็นเครื่องมือกดปราบคนคิดต่างทางการเมือง และสร้างอำนาจ อิทธิพล ผลประโยชน์ต่างๆ ได้ง่ายๆ อีกต่อไป พูดรวมๆ คือกลุ่มคนส่วนน้อยที่เรียกกันว่า “นายทุน ขุนศึก ศักดินา” ที่เคยมีอภิสิทธิ์ต่างๆ ในทางการเมืองและอื่นๆ ซึ่งขัดหลักเสรีภาพ พวกเขาย่อมสูญเสียสิ่งที่ไม่ชอบธรรมพวกนั้นไป

พูดอีกอย่างคือ การมีและการใช้ 112 ปิดปากคนคิดต่างทางการเมือง ไม่เพียงแต่เป็นการทำอันตรายต่อสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของนักโทษทางความคิดอย่างน่าเศร้าเท่านั้น ยังเป็นการกดทับปิดกั้นความคิดเห็นของประชาชนโดยรวม ทำให้ระบบรัฐสภาไม่มี “เสรีภาพทางการเมือง” ในการอภิปรายตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ ปิดกั้นโอกาสการพัฒนาประชาธิปไตยและด้านอื่นๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อสถาบันกษัตริย์เองและประชาชนโดยรวม

3. หลักความยุติธรรม ใน “ทฤษฎีความยุติธรรม” (A Theory of Justice) ของจอหน์ รอลส์ หลักความมยุติธรรมข้อแรกคือ “หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม” และข้อสองคือ “หลักความแตกต่าง” เมื่อพิจารณาตามหลักเสรีภาที่เท่าเทียมเห็นได้ชัดว่า การมีและบังคับใช้ 112 ทำให้ฝ่ายเชียร์เจ้ามีเสรีภาพนำเสนอข้อมูล ความคิดเห็นต่างๆ ใน “ด้านบวก” ได้อย่างเต็มที่ ปลอดภัย และอาจได้ความดีความชอบต่างๆ แต่ประชาชนที่คิดต่างไม่มีเสรีภาพเท่าเทียมกันในการเสนอความจริง ข้อมูลหลักฐาน และความคิดเห็นในด้านตรงกันข้าม

อีกอย่างคือ ในหลักความแตกต่างนั้น ถือว่ารัฐต้องใช้อำนาจและงบประมาณช่วยเหลือด้านสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ให้ดีขึ้นหรือพ้นขีดความยากจนถ้วนหน้า ไม่พึงให้อำนาจและงบประมาณมากเป็นพิเศษเพื่อสนับสนุนคนส่วนน้อยที่มีอภิสิทธิ์ทางชนชั้นศักดินา ชาติตระกูล และอื่นๆ 

ดังนั้น การมีและการบังคับใช้ 112 จึงขัดหลักความยุติธรรม เพราะทำให้สังคมการเมืองไทยไม่สามารถมีเสรีภาพที่เท่าเทียมได้ ในสภาและพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ก็ไม่สามารถอภิปรายตรวจสอบสถานะ อำนาจ การใช้งบประเมาณเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ได้เท่าเทียม หรือเท่ากันกับการอภิปรายประเด็นสาธารณะอื่นๆ 

ทั้งเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, ประโยชน์สุขส่วนรวม และความยุติธรรมล้วนเกี่ยวข้องกับการมี “เสรีภาพ” หรือจำเป็นต้องมี “เสรีภาพ” ซึ่งเป็นสิ่งบ่งบอกถึง “ความเป็นมนุษย์” ของเราทุกคนว่าเราต่างต้องการมีศักดิ์ศรี ต้องการประโยชน์สุขส่วนรวม และความยุติธรรม การมีและการบังคับใช้ 112 จึงขัดกับความเป็นมนุษย์ทั้งสามด้านนี้อย่างถึงราก 

การยกเลิก 112 จึงจำเป็นต่อการปกป้องความเป็นมนุษย์ของเรา เพื่อที่เราจะหลุดพ้นจากการตกเป็น “มนุษย์เครื่องมือ” ค้ำยันสถานะอำนาจของชนชั้นศักดินา และมีความเป็นมนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรี มีเสรีภาพสร้างสรรค์ประโยชน์สุขส่วนรวมที่ยุติธรรมบนหลักความเสมอภาคหรือความเป็นคนเท่ากัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท