รัฐบาลอิหร่านสั่งแบน นสพ. เหตุลงรูปพาดหัวเป็นมือผู้นำสูงสุดอิหร่านขีดเส้นความยากจน

ทางการอิหร่านสั่งแบนหนังสือพิมพ์ “เคลิด” หลังจากที่หนังสือพิมพ์แห่งนี้ตีพิมพ์ภาพข่าวหน้าแรกโดยโยงเรื่องปัญหาความยากจนในประเทศกับผู้นำสูงสุดอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี

หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ "คาลิด" ฉบับวันที่ 6 พ.ย.2564

เมื่อวันที่ 6พ.ย.ที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์เคลิด(Kelid) ในอิหร่านพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งว่า "ชาวอิหร่านหลายล้านคนดำรงชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน" โดยภาพกราฟิกเลียนแบบภาพมือของผู้นำสูงสุดอิหร่าน อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี วาดเส้นแบ่งความยากจนอยู่ด้วย ทำให้เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมากระทรวงวัฒนธรรมและแนวทางอิสลามของอิหร่านสั่งแบนหนังสือพิมพ์ฉบับนี้

นอกจากพาดหัวที่สื่อปัญหาความยากจนในอิหร่านแล้ว ภาพประกอบพาดหัวข่าวยังเป็นภาพมือที่ดูคล้ายกับมือของคาเมนีถือปากกาด้วยมือซ้ายขีดเส้นสีแดงพาดหน้าหนังสือพิมพ์โดยมีเงาของคนอยู่ใต้เส้นพยายามเอื้อมคว้าเส้น มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่ารูปมือข้างซ้ายที่สวมแหวนนี้ดูเหมือนมือซ้ายของคาเมนีที่มักสวมแหวนไว้ที่นิ้วข้างหนึ่งซึ่งเป็นแหวนที่คนจะจดจำว่าเป็นของคาเมนี อีกทั้งคาเมนียังใช้มือซ้ายในการเขียนเพราะมือข้างขวาของเขาเป็นอัมพาตจากเหตุวางระเบิดลอบสังหารเขาในปี 2524

(ซ้าย) ภาพมือของอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี จากเว็บไซต์สำนักงานผู้นำสูงสุดอิหร่าน (ขวา) ภาพกราฟิกหน้าหนึ่งของหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ "คาลิด"

สมาคมเยาวชนผู้สื่อข่าวซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กับสถานีโทรทัศน์ของภาครัฐอิหร่านรายงานว่ากองเซนเซอร์ของอิหร่านทำการตรวจสอบหนังสือพิมพ์เคลิดฉบับนี้หลังวางตลาด ขณะที่สื่อรัฐบาลอิหร่าน IRNA เพียงแค่ยืนยันว่าหนังสือพิมพ์เคลิดปิดตัวลงโดยไม่ได้อธิบายเหตุผลใดๆ

ประเทศอิหร่านที่มีภาครัฐครอบงำเศรษฐกิจอยู่นั้นกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก หลังจากในสมัยที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ยังเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงควบคุมอาวุธนิวเคลียร์อิหร่านที่มีอิหร่านลงนามร่วมกับกลุ่มประเทศมหาอำนาจอื่นๆ เมื่อปี 2561ตั้งแต่นั้นมาก็ทำให้ค่าเงินอิหร่านอ่อนลงมาก จากเดิมในช่วงที่ข้อตกลงควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ยังถูกใช้อยู่ค่าเงินของอิหร่านอยู่ที่ 32,000 เรียลต่อ 1 ดอลลาร์ในปี 2558 จนตกมาอยู่ที่ 281,500 เรียลต่อ 1 ดอลลาร์ในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจอิหร่านถูกบีบรัดเกิดภาวะเงินเฟ้อสูงเป็นประวัติการณ์จนทำให้ประชาชนอิหร่านได้รับผลกระทบหนักที่สุด ทำให้เกิดภาวะอดอยาก ลดการบริโภค มีอัตราการจับจ่ายใช้สอยลดลงทุกเดือน

สำหรับสถานการณ์ของสื่อในอิหร่านนั้น ถึงแม้ว่าวิทยุและโทรทัศน์ทุกแห่งในอิหร่านจะมีอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล แต่รัฐอิหร่านก็ยังอนุญาตให้เอกชนหรือบุคคลทั่วไปเป็นสามารถเจ้าของธุรกิจหนังสือพิมพ์และนิตยสารได้ อย่างไรก็ตามนักข่าวอิหร่านก็มักจะต้องเผชิญกับการคุกคามอยู่เสมอและเสี่ยงต่อการถูกจับกุม

นอกจากนั้นในอิหร่านยังมีกฎหมายที่ใช้ลงโทษผู้ประท้วงและสื่อในอิหร่านที่ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับการประท้วงในช่วงปี 2562-2563 คือข้อหาหมิ่นผู้นำสูงสุดและมักจะนำมาอ้างใช้ร่วมกับข้อหาหมิ่นศาสนา มักจะมีการลงโทษด้วยการโบย การคุมขัง และมีบางคนที่เสียชีวิตขณะถูกคุมขัง

คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าวหรือ CPJ เรียกร้องให้อิหร่านยกเลิกการสั่งแบนหนังสือพิมพ์เคลิดโดยทันทีโดยที่ เชริฟ มานซูร์ กรรมการฝ่ายประสานงานโครงการตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือของ CPJ ระบุว่า "การรายงานข่าวอย่างเที่ยงตรงและเปิดกว้างเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในชีวิตประจำมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประชาชนอิหร่าน ... รัฐบาลอิหร่านต้องอนุญาตให้เคลิดกลับมาดำเนินการได้อีกครั้งโดยทันทีและหยุดความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะเป็นการเซนเซอร์สื่อ"

เรียบเรียงจาก

Iran bans newspaper that linked supreme leader to poverty, ABC News, 09-11-2021

Iran shutters newspaper that implied supreme leader was responsible for poverty, CPJ, 08-11-2021

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Ali_Khamenei

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท