Skip to main content
sharethis

งานความมั่นคง กระบวนการยุติธรรม และตำรวจคือบริการสาธารณะที่ต้องพร้อมรับผิดต่อพลเรือนในระบอบประชาธิปไตย รวมถึงการมี Gender Lens และคำนึงถึงเพศสภาพอันหลากหลาย ซึ่งดูจะเป็นเรื่องยากยิ่งที่หน่วยงานความมั่นคงจะมองตนเป็นผู้ให้บริการประชาชน

  • งานด้านความมั่นคงต้องมองภาพรวมของสังคม คำนึงถึงอัตลักษณ์ทับซ้อนต่างๆ เช่น โครงสร้างอำนาจ เพศสภาพ ศาสนา ชาติพันธุ์ เป็นต้น
  • รัฐต้องเปลี่ยนแนวคิดจากที่คิดว่าตนมีอำนาจเหนือประชาชนเป็นรัฐผู้ให้บริการสาธารณะด้านความมั่นคงและความยุติธรรมแก่ประชาชน
  • หน่วยงานความมั่นคงต้องมีหลักธรรมาภิบาลกำกับ เช่น การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ มีความพร้อมรับผิดต่อพลเรือนในระบอบประชาธิปไตย
  • การปฏิรูปตำรวจไม่สามารถละเลย Gender Lens และ Gender Sensitive ได้

พอได้ยินคำว่า ความมั่นคง โดยอัตโนมัติเราจะนึกถึงเพศชายหรือความเป็นชาย ถ้าเราปรับความเข้าใจเกี่ยวกับความมั่นคงที่ถูกผูกขาดโดยทหารและตำรวจมาโดยตลอดว่าเป็นบริการสาธารณะประเภทหนึ่งที่รัฐต้องจัดหาให้กับประชาชน มุมมองต่อเรื่องนี้จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงและไม่จำเป็นต้องถูกครอบครองโดยผู้ชาย

ดังนั้น งานด้านความมั่นคงรวมถึงกระบวนการยุติธรรมต้องคำนึงถึงมิติด้านเพศสภาพ (Gender) ด้วย

Albrecht Schnabel ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง DCAF หรือ Geneva Centre for Security Sector Governance ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้คำปรึกษาด้านปฏิบัติการเพื่อปฏิรูปงานด้านความมั่นคงทั่วโลกและเน้นการกำกับดูแลโดยรัฐสภา จึงมีแผนกเพศสภาพและความมั่นคง (Gender and Security) โดยเฉพาะเพื่อส่งเสริมให้เรื่องเพศสภาพบูรณาการอยู่ในการปฏิรูปภาคความมั่นคงทุกภาคส่วน

Gender Lens กับงานความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม Albrecht กล่าวย้ำในเบื้องต้นว่า ความท้าทายต่างๆ ที่ทั้งหญิงและชายต้องพบเจอไม่ได้มาจากเพศภาวะเพียงประการเดียว หากยังมีศาสนา ภูมิภาค รายได้ การศึกษา เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ชนชั้น และอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยกำหนดเพศสภาพ ส่งผลให้เพศหญิงและเพศชายมีความแตกต่างกัน เกิดการปฏิบัติต่อหญิงชายแตกต่างกัน รวมถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศสภาพ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันในประเทศต่างๆ

“ในเรื่องความมั่นคง เราไม่สามารถพิจารณาเฉพาะประเด็นเพศหรือเพศสภาพเท่านั้น แต่ต้องมองภาพรวมของสังคม เพราะมนุษย์มีอัตลักษณ์หลายด้านที่แตกต่างกันที่มีความเชื่อมโยงและทับซ้อนกัน ดังนั้น นอกจากมิติชายหญิง เราต้องคำนึงถึงอัตลักษณ์ทางสังคมต่างๆ และการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างอัตลักษณ์ทางสังคมดังกล่าวกับเพศและเพศสภาพหรือที่เรียกว่า อัตลักษณ์ทับซ้อน (Intersectionality) ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัจจัยเดียวกัน แต่มาจากหลายปัจจัย เช่น โครงสร้างอำนาจ รวมถึงโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรม”

เมื่อเพศสภาพต่างกัน ความต้องการความมั่นคง ความยุติธรรม และการปฏิบัติจึงแตกต่างกันและส่งผลต่อการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้ที่กระทำความรุนแรง มีผลต่อพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการความมั่นคง

ความมั่นคงและความยุติธรรมคือบริการสาธารณะ

“ความมั่นคงและความยุติธรรมเป็นองค์กรที่ให้บริการทางความมั่นคงและความยุติธรรม ส่วนใหญ่จะถูกออกแบบโดยผู้ชายที่สร้างกรอบในการดูแลความมั่นคงและอำนวยความยุติธรรมซึ่งมักขาด Gender Lens” Albrecht กล่าว และอธิบายต่อว่า

“เราต้องเปลี่ยนแนวคิดจากรัฐที่มีอำนาจเหนือประชาชนเป็นรัฐผู้ให้บริการความมั่นคงและความยุติธรรมให้กับประชาชน เนื่องจากความมั่นคงเป็นบริการสาธารณะแก่ประชาชน ไม่ต่างจากการศึกษาหรือการแพทย์ เมื่อเปรียบเทียบกับการให้บริการทางการแพทย์ เราต้องการหมอที่มีความรู้ความเข้าใจเพศหญิง เพศชาย ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่แบ่งชนชั้น รวมถึงมีองค์กรวิชาชีพที่ดูแลจริยธรรมวิชาชีพหมอ ในกรณีของตำรวจก็เช่นเดียวกัน เราต้องการตำรวจที่ผ่านการฝึกอบรมคล้ายกับหมอ มีความรับผิดชอบ และเข้าใจความต้องการของผู้มาใช้บริการทั้งหญิงและชาย”

การปฏิรูปภาคความมั่นคงจึงเป็นงานที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง Albrecht อ้างอิงคำพูดในปี 1999 ของโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติในขณะนั้น ที่กล่าวว่า “ภาคความมั่นคงควรมีมาตรฐานเดียวกับบริการภาครัฐอื่นๆ ในเรื่องประสิทธิภาพ ความเสมอภาค และความพร้อมรับผิด..”

ภาคความมั่นคงไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย

การเปลี่ยนมุมมองต่องานด้านความมั่นคงและกระบวนการยุติธรรมว่าเป็นบริการสาธารณะส่งผลถึงระดับรากฐานความคิดของการทำงานและมองตัวแสดงหลากหลายขึ้น เพราะไม่ใช่แค่ตัวแสดงที่เป็นภาครัฐเท่านั้น แต่ยังรวมส่วนที่ไม่ใช่ภาครัฐ หรือสามารถมองได้ว่ามีตัวแสดงที่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการและทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแล   

“บางครั้งผู้ให้บริการความมั่นคงเข้าใจว่าเขาอยู่เหนือกฎหมาย” Albrecht ย้ำประเด็นสำคัญ “ดังนั้น เราต้องสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานที่ให้บริการความมั่นคง เช่น ตำรวจว่าต้องรับใช้ประชาชนภายใต้หลักธรรมาภิบาลของภาคความมั่นคง โดยธรรมาภิบาลของภาคความมั่นคงคือการทำให้สถาบันความมั่นคงต่างๆ ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิผลและมีความพร้อมรับผิดต่อสังคมและสถาบันพลเรือนที่เป็นประชาธิปไตยที่ปกครองสังคมนั้น”

ภาคความมั่นคงต้องพร้อมรับผิดต่อพลเรือนที่เป็นประชาธิปไตย

ภาคความมั่นคงในที่นี้ประกอบด้วยผู้ให้บริการความมั่นคงและผู้ที่บริหารสถาบันความมั่นคงต่างๆ Albrecht กล่าวขยายความต่อถึงหลักธรรมาภิบาลที่ภาคความมั่นคงต้องคำนึงถึง ดังนี้

1. การมีส่วนร่วม สถาบันความมั่นคงต่างๆ และบุคลากรของสถาบันเป็นตัวแทนของประชากรทุกเพศ ทุกศาสนา ทุกกลุ่มชาติพันธุ์

2. ความเสมอภาค สมาชิกทุกคนของสังคมต้องสามารถเข้าร่วมงานกับสถาบันความมั่นคงและได้รับการปฏิบัติจากสถาบันเหล่านี้อย่างเท่าเทียม สามารถร่วมการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันได้เพราะว่ามันเป็น “สถาบันของพวกเขา” ที่ทำหน้าที่ให้บริการสาธารณะ

3. หลักนิติธรรม ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นกลางและเป็นไปตามกฎหมาย ผู้ให้บริการความมั่นคงไม่ได้อยู่เหนือกฎหมายและไม่มีสิทธิลอยนวลพ้นผิด กรอบกฎหมายต้องสะท้อนปณิธานและบทบาทของสถาบันความมั่นคงสมัยใหม่และมีความเป็นมืออาชีพ

4. ความโปร่งใส หน่วยงานพลเรือนและประชาสังคมต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการทำงานของสถาบันความมั่นคงต่างๆ ได้

5. การตอบสนอง การให้บริการความมั่นคงและความยุติธรรมในฐานะบริการสาธารณะต้องทำอย่างรวดเร็วทันเวลาและเป็นมืออาชีพ มีแนวทางการทำงานแบบผู้ให้บริการ ซึ่งต้องการการเปลี่ยนแปลงทัศนคติขนานใหญ่และต้องใช้เวลา

6. แนวทางการทำงานที่สอดคล้องกัน นโยบายและความรับผิดชอบที่เชื่อมโยงกันของทั้งภาคส่วนต้องอยู่บนพื้นฐานกระบวนการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างกว้างขวาง มีความเป็นเจ้าของ ทิศทางและขอบเขตของการปฏิรูปต้องอยู่บนฐานที่กว้างและได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง

7. ประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ต้องมีการจัดการสถาบันความมั่นคงและการให้บริการที่มีประสิทธิผลและเป็นมืออาชีพ มีการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาดและตรงกับอำนาจที่ได้รับมอบหมาย

8. ความพร้อมรับผิด ทั้งความพร้อมรับผิดภายในและต่อหน่วยงานพลเรือนที่เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งภาคประชาสังคม

Gender Sensitive กับการปฏิรูปตำรวจ

เมื่อเจาะจงลงไปที่การปฏิรูปตำรวจกับมิติหญิงชาย Albrecht กล่าวว่า งานตำรวจที่มีลักษณะ Gender Sensitive หรือสอดคล้องกับความต้องการของบุคคลที่มีเพศสภาพต่างๆ ควรมีลักษณะดังนี้

1. เป็นสถานที่ทำงานที่ทุกคนมีส่วนร่วม เป็นตัวแทน และไม่มีการเลือกปฏิบัติ

2. ตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างของกลุ่มที่หลากหลาย

3. ทุกคนต้องเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน

4. ต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศและการเลือกปฏิบัติ

5. ความเสมอภาคทางเพศในงานตำรวจต้องได้รับการติดตามตรวจสอบและกำกับดูแล

6. นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคม

7. สามารถเป็นตัวอย่างของสถาบันความมั่นคงอื่นๆ ได้

การจะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ต้องมีโครงสร้างหรือกรอบทางกฎหมายในการทำงาน เพื่อให้เกิดการดำเนินการและนำไปปฏิบัติจริงในระดับต่างๆ Albrecht อธิบายว่า

“ความเท่าเทียมทางเพศควรบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรม มีกฎหมายที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ กฎหมายเรื่องความรุนแรงในครอบครัว การแต่งงาน ทรัพย์สินและมรดก

“ในระดับปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ ตัวบุคลากร การรับสมัคร การดำรงรักษา การแต่งตั้ง การเลื่อนชั้น และนโยบายของตำรวจในการฟ้องคดี เช่น การสอบสวน การรวบรวมหลักฐาน การลงโทษ กระบวนการทางศาล การสร้างความรู้ความเชี่ยวชาญ ควรคำนึงถึงเรื่องเพศสภาพประกอบด้วย

“ต้องมีการเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กรเรื่องความรุนแรงทางเพศ รวมถึงการระบุมาตรการลงโทษในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่องค์กรกำหนด การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกเรื่องความรุนแรงในสังคม ต้องคำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นในสังคมทั้งที่เกิดด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ โดยเปลี่ยนแนวคิดของผู้เกี่ยวข้องให้มี Gender Sensitive ซึ่งในกรณีของตำรวจต้องมีการฝึกอบรมและจัดทำคู่มือการทำงานออกมา”

เรื่องที่ยากที่สุดและต้องทำเป็นอันดับแรกสำหรับสังคมไทยคือการเปลี่ยนจิตสำนึกของบุคลากรด้านความมั่นคงว่ามีหน้าที่ให้บริการและรับผิดชอบต่อประชาชน มิใช่ทำตัวเป็นเจ้านายประชาชน

 

สกู๊ปนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานพิเศษชุด เพศสภาพในงานตำรวจ (Gender and policing) ซึ่งจะมีการนำเสนอระหว่างพฤศจิกายน - ธันวาคม 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net