Skip to main content
sharethis

'ก้าวไกล' โต้ผู้แทนไทย ตอบคำถามรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) บนเวทีนานาชาติไม่ตรงกับความเป็นจริง ทั้งกรณี ม.112, การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ชายแดนใต้, ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายและซ้อมทรมาน รวมถึงสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ ด้าน 'พิธา' ชี้ ผลของคำวินิจฉัยในวันนี้อาจจะนำพาสังคมไทยมุ่งหน้าไปบนเส้นทางที่น่าเป็นห่วง

10 พ.ย. 2564 พรรคก้าวไกลโพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก พรรคก้าวไกล - Move Forward Party ซึ่งเป็นเพจทางการของพรรค โดยทางพรรคได้ฟังการแถลงของคณะผู้แทนรัฐบาลไทยในการเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยตามกลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 3 ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งท่าทีและจุดยืนของรัฐบาลไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่สำคัญๆ หลายประเด็น ทั้งเรื่องการต่อต้านการทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญ การดำเนินการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขจัดความไร้รัฐไร้สัญชาติ แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวมถึงเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การชุมนุมโดยสงบของประชาชน ไปจนถึงประเด็นสมรสเท่าเทียม โดยพรรคก้าวไกลระบุว่าการตอบคำถามของคณะผู้แทนรัฐบาลไทยบนเวทีนานาชาตินั้นขัดกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในประเทศ

ในกรณีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผู้แทนรัฐบาลไทยระบุว่ากฎหมายนี้ถือเป็นการปกป้องสถาบันหลักของชาติและความมั่นคงของชาติ และในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ตั้งข้อหาและดำเนินคดีทุกคนที่ถูกแจ้งความในคดีนี้ โดยอัยการสูงสูดจะเป็นผู้ตัดสินใจแต่เป็นผู้เดียวว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ การอุทธรณ์คดีก็สามารถทำได้ และหากไม่มีแนวโน้มว่าจะทำผิดกฎหมาย ก็จะได้รับการประกันตัว พร้อมย้ำว่า การทบทวนแก้ไขกฎหมายเป็นเรื่องที่ประชาชนไทยจะเป็นผู้ตัดสินใจ ปัจจุบันมีการหารือเรื่องนี้ผ่านกลไกรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ เพื่อรับฟังเสียงที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันกับที่ผู้แทนไทยกำลังบอกกับประชาคมโลกว่า ไทยเปิดรับฟังเสียงที่หลากหลายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไทยก็ได้วินิจฉัยว่า การปราศรัย “ชุมนุม 10 สิงหา” ที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ “เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครอง” และคนที่โดนคดี ม.112 จำนวนมากกำลังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำโดยที่ไม่ได้รับสิทธิปล่อยตัวชั่วคราวมานานเป็นเดือนๆ แล้ว

ประเด็นต่อมาคือเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก พรรคก้าวไกลระบุว่าผู้แทนรัฐบาลไทยยืนยันว่ารัฐบาลเคารพเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน แต่รัฐบาลต้องควบคุมการใช้เสรีภาพในการแสดงออกให้มีอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย เพื่อไม่ให้มีการอ้างเสรีภาพในการแสดงออกไปละเมิดสิทธิและชื่อเสียงของผู้อื่น สร้างความเกลียดชัง และบ่อนทำลายความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของชาติ ในช่วงโควิด-19 ระบาด รัฐบาลต้องควบคุมข้อมูลให้ถูกต้อง และต้องมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยของประชาชน เช่น การห้ามรวมตัวและชุมนุม ส่วนสื่อก็มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในแพลตฟอร์มต่างๆ เมื่อมีข้อห้ามบางอย่าง ก็จะเป็นเรื่องที่จำเป็นและชั่วคราวเท่านั้น เพราะไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ไม่ใช่มีเจตนาคุกคามสื่อเลย

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าคำตอบของผู้แทนรัฐบาลไทยสะท้อนแนวคิดของรัฐบาลอำนาจนิยมที่ต้องการควบคุมประชาชนให้อยู่ในกรอบที่ตัวเองวางไว้ โดยอ้างเรื่องความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย ซึ่งมีการตีความกว้างเกินไป อีกทั้งยังใช้ข้ออ้างเรื่องโรคระบาดในการจำกัดเสรีภาพของประชาชน โดยเลือกปฏิบัติกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล อย่างที่เราเห็นอยู่ตลอดในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนเรื่อง พ.ร.บ. ต่อต้านซ้อมทรมานและบังคับสูญหายนั้น ผู้แทนรัฐบาลไทยตอบว่า พ.ร.บ.ต่อต้านการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย ผ่านวาระ 1 แล้ว และกำลังอยู่ใน กมธ.วิสามัญ และคาดว่า ภายในสิ้นปีนี้จะผ่านวาระ 2 และในปี 2560 มีการตั้งคณะทำงานติดตามคดีซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย แต่พรรคก้าวไกลตั้งข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.ต่อต้านการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายของพรรคก้าวไกลค้างอยู่ในชั้นพิจารณาของสภามาแล้วมากกว่า 1 ปี 3 เดือน แต่เพิ่งผ่านวาระที่ 1 เท่านั้น และเป็นการผ่านร่างฯ เพียงไม่กี่เดือนก่อนที่รัฐบาลไทยจะมาตอบคำถามบนเวที UPR

นอกจากนี้ อังคณา นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชน ยังตั้งข้อสังเกต บนเวทีเสวนาของแอมเนสตี้ อินเทอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยว่า ร่าง พ.ร.บ. ของกระทรวงยุติธรรม ยังไม่ครอบคลุมการซ้อมทรมานแบบที่ไม่มีบาดแผล ไม่มีหลักฐาน เช่น การทรมานแบบสำลักน้ำ หรือ waterboarding และการคลุมถุงดำอย่างที่เห็นในกรณี พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรืออดีตผู้กำกับโจ้ ส่วนผู้เสียหายที่สามารถฟ้องร้องคดีได้ก็จำกัดอยู่แค่คู่สมรสที่จดทะเบียน ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนสมัยนี้ที่ไม่ค่อยจดทะเบียนสมรสกัน อีกทั้งยังไม่ครอบคลุมคู่รักเพศเดียวกันอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งผู้แทนรัฐบาลไทย ชี้แจงว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนใต้ ยังมีจำเป็นและได้สัดส่วนกับสถานการณ์ในพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป อยู่ภายใต้หลักการความจำเป็นและได้สัดส่วน และแม้เจ้าหน้าที่จะมีอำนาจมากขึ้นภายใต้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่จนท.ก็ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและไม่เลือกปฏิบัติ และคณะรัฐมนตรีเพิ่งอนุมัติแผนการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในจังหวัดชายแดนใต้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ในช่วงปี 2565-2570 ซึ่งจะพิจารณาว่าเกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่บ่อยหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในจังหวัดชายแดนใต้ คือ จังหวัดชายแดนใต้อยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. 2548 ซึ่งเวลากว่า 16 ปีแล้ว มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องจนเป็นปกติ อีกทั้งยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนในพื้นที่หลายด้าน ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปจับกุมผู้ต้องสงสัยและผู้เห็นต่าง เข้าค้นบ้านโดยไม่ขอหมายจากศาล มีทดลองเก็บประวัติส่วนตัว เก็บดีเอ็นเอ ตัดอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องสิทธิกลุ่มหลากหลายทางเพศ ที่ผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรมอธิบายว่ากระทรวงยุติธรรมผลักดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้คู่รักเพศเดียวกันได้รับสิทธิในการถือครองที่ดินร่วมกัน และรับมรดกกันได้ นอกจากนี้ มีการฝึกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ให้เข้าใจสิทธิและความต้องการเฉพาะด้านของคนข้ามเพศในเรือนจำด้วย แต่พรรคก้าวไกลมองว่าการตอบคำถามเรื่องนี้ของกระทรวงยุติธรรมดูจะเป็นการตอบไม่ตรงคำถามนัก เพราะหลายประเทศถามออกมาอย่างชัดเจนว่า ไทยพิจารณาจะให้สิทธิการสมรสเท่าเทียมให้กับกลุ่มหลากหลายทางเพศหรือไม่ ในขณะที่กระแสสังคมไทยเองก็เรียกร้องการสมรสเท่าเทียมกันอย่างหนาหู พรรคก้าวไกลเองก็ยื่น พ.ร.บ. แก้ ปพพ. เพื่อการสมรสเท่าเทียม ไปตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2563 ผ่านมาเกือบปีครึ่ง ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ แม้ ร่าง พ.ร.บ. นี้จะมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นตามมาตรา 77 เป็นจำนวนมากกว่า 50,000 คน ซึ่งมากที่สุดเมื่อเทียบกับการแสดงความคิดเห็นในร่างพระราชบัญญัติอื่นๆ และมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ขณะที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความบนเพจเฟซบุ๊ก Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุว่าแม้คณะผู้แทนไทยจะตอบคำถามของนานาชาติประเด็น ม.112 ในการประชุม UPR ว่า ม.112 เป็นประเด็นที่คนไทยสามารถถกเถียงและแก้ไขกฎหมายได้ผ่านกลไกรัฐสภา แต่ในเวลาเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การกระทำรวมถึงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเพื่อขอให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมถึงให้ยกเลิก ม.112 เข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครอง ซึ่งพิธามองว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นที่น่ากังขานี้ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่ตัวแทนประเทศไทยได้ชี้แจงกับนานาประเทศ

"แต่ที่น่ากังวลไปกว่านั้น คือ ผลของคำวินิจฉัยในวันนี้อาจจะนำพาสังคมไทยมุ่งหน้าไปบนเส้นทางที่น่าเป็นห่วง สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญทำในวันนี้เป็นมากกว่าคำวินิจฉัย แต่เป็นการขีดอนาคตประเทศไทยให้เดินไปตามเส้นทางที่สุ่มเสี่ยงและคับแคบ"

พิธาย้ำจุดยืนของพรรคก้าวไกลที่เชื่อเสมอว่า "การปกป้องสิ่งหนึ่งไม่จำเป็นต้องทำลายอีกสิ่งหนึ่ง" เราสามารถปกป้องสิ่งที่เรารักด้วยการพยายามปรับเข้าหากันบนฐานของเหตุและผล และมองว่าประเทศไทยไม่ได้อับจนหนทางถึงขั้นที่ผุ้อำนาจต้องยึดติดอยู่กับอดีต หรือต้องมองคนรุ่นใหม่เป็นศัตรู แล้วกระทำต่อผู้ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง ความพยายามที่จะทำลายอีกฝ่ายหนึ่งลงอย่างราบคาบของผู้มีอำนาจในห้วงเวลาที่ประเทศต้องการอนาคตมากที่สุดเช่นนี้ ไม่มีทางสร้างชาติที่มั่นคงได้

"สุดท้ายผมและพรรคก้าวไกลยังเชื่อว่าสังคมไทยยังพอมีเวลาที่จะเลือกทางเดินอีกแบบ เพื่อไปสู่อนาคตที่ชาติเป็นของคนทุกคนโดยเสมอหน้ากัน พวกเรายังยืนยันที่จะทำงานในฐานะผู้แทนราษฏรอย่างดีที่สุดเพื่อเดินทางไปข้างหน้าร่วมกันกับประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศนี้ ไม่ว่าเส้นทางนั้นจะยากลำบากเพียงใดก็ตาม"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net