Skip to main content
sharethis

นักศึกษา คณาจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมยืนกล่าวบทกวีแด่ห้องสมุดสังคมฯ และพยายามคัดค้านการเปลี่ยนห้องสมุดเป็น reading room ที่ไร้หนังสือ ศิษย์เก่าภาควิชาสังคมวิทยาฯ ยกบทกวี “แด่ ประเทศของคนตาเดียว” ของกฤช เหลือลมัย มาอ่าน ขณะที่ 'อานันท์ กาญจนพันธุ์' ร่วมค้าน ย้ำห้องสมุดคณะเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญมากต่อการเรียนการสอน

10 พ.ย. 2564 วันนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. สโมสรนักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชวนนักศึกษา คณาจารย์ และประชาชนทั่วไปที่ไม่เห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนห้องสมุดสังคมมศาสตร์ที่เคยเป็นแหล่งเรียนรู้อันอุดมไปด้วยหนังสือและตำราอันทรงคุณค่า ให้เป็น co-working space หรือ reading room ที่เปิดใช้บริการ โดยไร้หนังสือ

ตัวแทนนักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ กล่าวว่า พวกเรานักศึกษาที่ใช่ห้องสมุดแทบไม่รู้เลยว่าจะมีการปรับเปลี่ยนห้องสมุดให้กลายเป็นพื้นที่ co-working space เราไม่อาจเรียกพื้นที่โล่งๆ เปล่าๆ ที่มีแต่โต๊ะเก้าอี้เช่นนี้ว่าห้องสมุดได้ การที่ผู้บริหารตัดสินใจนำหนังสือออกจากห้องสมุดและกล่าวว่าปัจจุบันคนหันไปอ่านหนังสือผ่านระบบออนไลน์กันหมดแล้ว พวกเราไม่เห็นด้วย ห้องสมุดควรจะต้องทำหน้าที่ของตัวเองในการบริการด้านความรู้ให้แก่ประชาชน เป็นพื้นที่สาธารณะของส่วนรวม

“พวกเรามาคัดค้านการยุบห้องสมุดและทำให้ห้องสมุดกลับมาเป็นเหมือนเดิม ขอหนังสือที่ผู้บริหารแจกจ่ายออกไปคืนทั้งหมด การที่สโมสรนักศึกษาบอกว่าอยากได้พื้นที่ทำงานเพิ่มเติม เป็นเรื่องของการขยายห้องสมุด ไม่ใช่การยุบห้องสมุดและเปลี่ยนไปเป็นห้องโล่งๆ ที่มีแต่โต๊ะเก้าอี้”

หลังจากนั้นนักศึกษา คณาจารย์ และประชาชนที่มาได้ร่วมกันเข้าไปอ่านบทกวีภายในห้องสมุดสังคมฯ โดยมี ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำสาขาวิชา Media Arts and Design คณะวิจิตรศิลป์ มช. ศิษย์เก่าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ เป็นตัวแทนอ่านบทกวี “แด่ ประเทศของคนตาเดียว” ของกฤช เหลือลมัย ให้ห้องสมุดฟัง โดยทำการยืนบนเก้าอี้เพื่อให้ห้องสมุดเห็นทุกคนที่มาในวันนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

“บทกวีชุดนี้โดยแท้จริงแล้วผมอยากอ่านมันให้ห้องสมุดฟัง ผมไม่ได้อยากอ่านให้ผู้บริหารฟัง ผมเชื่อว่าห้องสมุดมีชีวิต สิ่งหนึ่งที่เราสามารถกระตุ้นชีวิตพวกเขาได้ คือการให้ถ้อยคำของพวกเรากู่ก้องไปยังตึก สี โต๊ะ ชั้น ผนัง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยอยู่ในห้องสมุด เพื่อเป็นการฟื้นคืนชีพสิ่งที่แห้งแล้งให้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง”

ข้าฯ เกิดมาบนแผ่นดิน             ที่ทุกย่านถิ่นไม่มีกลางวัน
ผืนฟ้าของข้าฯ มืดมิด               ด้วยดวงอาทิตย์ข้างแรมดวงนั้น
ลูกข้าฯ อ่านออกเขียนได้         ก็ด้วยอาศัยด้านมืดของดวงจันทร์
ข้าฯ เลี้ยงอีกามากมาย             มันคาบมะเดื่อลายมาให้ทุกวัน
หลังบ้านมีภูเขาครึ่งลูก             ข้าฯ เห็นคนปลูกต้นมะเดื่อบนนั้น
ศาลเจ้าที่ใต้โคนต้น                  คลาคล่ำด้วยผู้คนราวแมงหวี่แมงวัน
แม่น้ำที่ถูกกั้นขวาง                   ไหลมาถึงตรงกลางหนทางตีบตัน
น้ำอาบโคจากเมืองเหนือ          เป็นสีแดงเรื่อเหมือนเลือดกองนั้น
มันหลากท้นล้นฝั่งฝาย              ท่วมบ้านเรือนมากมายชายฝั่งตลิ่งชัน

ผู้คนมากมาย              ตายในตอนกลางวัน (ซ้ำ)

......................................

ในความเงียบของค่ำคืน             ข้าฯ ครึ่งหลับครึ่งตื่นบนแผ่นหินอัฒจันทร์

มหาธาตุเจดีย์สูงเด่น                  แต่ข้าฯ แลไม่เห็นเงานภศูลนั้น

น้ำพระเนตรเทวดารักษาทิศ       ตกเป็นโลหิตชโลมฐานปูนปั้น

กบเขียดและฝูงค้างคาว             กลืนกินดินดาวดวงเดือนตะวัน

ข้าฯ เห็นซากหมาเก้าหาง          มันตายในนาร้างแปลงเดียวของเมืองนั้น

ดินดานเกินจักหว่านไถ               ลงผาลคราใดก็แทบหักสะบั้น

อากาศทั้งแน่นและแข็ง              ข้าวมิอาจแทงรวงแม้สักวัน

แดดแรงปานไฟนรก                   ฝนลูกเห็บตกราวห่าเกาทัณฑ์

พื้นผิวทุ่งพระเมรุหลวง                สูบกินผู้ประท้วงตกตายนับพัน

หากชายชราตาบอด                  ยังซบหน้าโอบกอดผืนดินผืนนั้น...

จนหมอกประธุมเกตุ               ตกต้องลำภุขันธ์ (ซ้ำ)

.......................................
 

ไม่ว่ายุคสมัยใด...                       เราต่างก็คล้ายกัน

มีเรื่องราวที่เราคุ้นเคย                แต่หลงลืมเพิกเฉยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ไม่มีใครเห็นรอยเท้า                   บนคันนายาวของนาแปลงนั้น

ไม่มีใครเห็นรอยรองเท้า            บนหลังโก่งยาวของชาวนาเหล่านั้น

และไม่มีใครเห็นรองเท้า            คู่ใหญ่พื้นยาว ในปาก “เขาคนนั้น”

ไม่มีใครเห็นความเคียดแค้น      ที่ถูกฝังแน่นในตำนานของเผ่าพันธุ์

ไม่มีใครได้ยินเสียงสวดศพ        เพราะมันถูกกลบด้วยคำว่า “สมานฉันท์”

ไม่มีใครได้กลิ่นดอกไม้              นอกจากตอนเขาตาย..หรือไม่ก็หลับฝัน


เคยคิดบ้างไหม.. “เรา” คือใครกัน ? (ซ้ำ)

..เราคือไฟในถังแดง            คือหอกดาบที่ฟันแทงผู้คนเหล่านั้น

คือสะเก็ดระเบิดในร่าง           คือปลอกถุงยางที่ควบคุมความคิดฝัน

คือเชือกที่ขึงจนตึง              คืออิฐก้อนหนึ่งในกำแพงขวางกั้น

คือปลาเน่าตัวเดียวในข้อง     คือกระเบื้องที่ลอยฟ่องเฟื่องฟูแผ่นนั้น

คือตัวโน้ตที่ผิดเพี้ยน            คือเพลงที่วนเวียนซ้ำซากทุกวี่วัน

คือคำถ้อยอันหยาบช้า           คือบทกวีที่พาคนไปตายนับพัน

คือนิ้วที่เหนี่ยวไกปืน             คือตีนที่เหยียบยืนบนหัวคนทุกชนชั้น

คือสีเหลืองในกองขี้             คือสีแดงในผ้าอนามัยผืนนั้น

เราทำอะไร   ลงไปด้วยกัน ? (ซ้ำ)

..............................
 

มันเหมือนเรามีตาข้างเดียว    เห็นภาพบิดเบี้ยวสับสนงงงัน

เหมือนเรามีหูข้างเดียว                   รับรู้เพียงส่วนเสี้ยวของเรื่องราวเหล่านั้น

เหมือนเรามีจมูกข้างเดียว      ได้แต่กลิ่นฉุนเฉียวของฝ่ายตรงข้ามกัน

ทุกเรื่องราวที่ผ่านมา            เราจ้องมองด้วยตาบอดสนิทข้างนั้น


หรือว่าที่แล้วมา    เราต่างก็เหมือนกัน ? (ซ้ำ)

........................
 

..เราอาจคือชายตาบอดคนนั้น

..เราอาจคือชายตาบอดคนนั้น

..เราอาจคือชายตาบอดคนนั้น

..เราอาจคือชายตาบอดคนนั้น

..เราอาจคือชายตาบอดคนนั้น

..เราอาจคือชายตาบอดคนนั้น

 

 

ก่อนที่ทั้งหมดจะพากันไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารคณะสังคมศาสตร์ เรื่อง ขอคัดค้านการยุบห้องสมุดคณะสังคมศาสตร์ พร้อมรายชื่อผู้ลงนามสนับสนุนอีกกว่า 400 คน โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.เทพินทร์ พัชรานุรักษ์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ

ด้านคณบดีคณะสังคมศาสตร์ตกลงว่าจะชะลอการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ห้องสมุดสังคมฯ ออกไปก่อน และทำการเปิดประชุมหารือกันถึงแนวทางการปรับเปลี่ยนพื้นที่ห้องสมุดอีกครั้ง หากทุกฝ่ายเรียกร้องให้ดำเนินการให้ห้องสมุดกลับมามีระบบยืมคืนหนังสือเหมือนเดิมก็ยินดี และยืนยันว่าจะไม่มีการแบ่งพื้นที่ห้องสมุดสังคมฯ ให้เอกชนเช่าทำร้านกาแฟหรือร้านอาหารแต่อย่างใด

อานันท์ กาญจนพันธุ์ ร่วมค้าน ย้ำห้องสมุดคณะเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญมากต่อการเรียนการสอน

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี รองศาสตราจารย์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยแพร่ความเห็นของ อานันท์ กาญจนพันธุ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ถึงกรณีนี้ด้วยว่า 

"ผมไม่เห็นด้วยเลย ห้องสมุดคณะเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะคณะที่มีการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา นักศึกษาป.ตรี อาจจะไม่ค่อยได้ใช้ห้องสมุดมากเท่าไหร่ แต่ห้องสมุดเฉพาะทางมีความสำคัญอย่างมากต่อนักศึกษาในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก สำหรับการศึกษา ค้นคว้า และวิจัย"

ผมเป็นคนหนึ่งที่ทุ่มเทพัฒนาให้กับห้องสมุดคณะสังคมฯมาตลอดหลายสิบปี สั่งซื้อหนังสือที่มีคุณค่าเข้าห้องสมุดจำนวนมาก เพื่อที่คณาจารย์และนักศึกษาจะได้ใช้ค้นคว้า ผมจึงไม่เห็นด้วยเลยกับการส่งหนังสือไปยังสำนักหอสมุด ที่นั่นเป็นแหล่งรวมหนังสือทุกประเภท หนังสือของเราจัดไว้เป็นหมวดหมู่ที่ง่ายต่อการที่นักศึกษาในสายสังคม จะได้ใช้เพื่อค้นคว้า การจะพัฒนาเรื่องดิจิทัลอะไรก็ทำไป แต่ไม่ควรกระทบต่อการบริหารจัดการห้องสมุดที่เป็นอยู่"

"คณบดีและผู้บริหารคณะสังคม ควรปรึกษาหารือและฟังความเห็นของคณาจารย์ต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไปแบบนี้"

อานันท์ ยังกล่าวด้วยว่าให้ไปนำหนังสือที่ส่งออกไปยังสำนักหอสมุดกว่า 2 หมื่นเล่ม กลับคืนมาไว้ที่ห้องสมุดดังเดิม หนังสือมีการลงรหัสของคณะอยู่แล้ว ไม่เป็นการยากที่จะนำกลับคืนมา

ภาพบรรยากาศกิจกรรมเพิ่มเติม : 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net