Skip to main content
sharethis

เลขา ครป. ชี้ ‘ประยุทธ์’ ขอเวลา 5 ปี แก้ปัญหาราคาข้าวให้ชาวนา วันนี้ครบ 5 ปี ราคาข้าวเปลือกเหลือ กก. ละ 5 บาท พร้อมเสนอวิธีแก้ ให้ราชการซื้อข้าวสารโดยตรงจากชาวนา ส่งเสริมโรงสีตำบลตัดวงจรพ่อค้าคนกลาง หนุนเปิดเสรีเหล้า-เบียร์และสินค้าแปรรูปทางการเกษตร

 

11 พ.ย. 64 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งวันนี้ (11 พ.ย.) นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวถึงรัฐบาลกำลังมาผิดทางเรื่องการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตเกษตรกรตกต่ำว่า ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนกำลังจะอดตายไปพร้อมๆ กับวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองที่กำลังล้มเหลว ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ ขอเวลาไว้ 5 ปีแก้ปัญหาราคาข้าวให้ชาวนา วันนี้ครบ 5 ปีแล้ว ข้าวเปลือกราคาตกเหลือ กก. ละ 5 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ข้าวกิโลละ 5 บาท เกษตรกรไม่รู้จะพึ่งใครแล้ว” เพื่อไทยร้องรัฐบาลแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ [คลิป]

พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนเห็นแก่ตัวมากไปหน่อย ชอบขอต่อเวลา 5 ปีไปเรื่อยๆ ทั้งที่ตนเองไม่มีความสามารถ ส่วน พล.อ.ประวิตร ก็ใจร้ายกับคนไทยมากไปหน่อยที่เชิดน้องชายเป็นหัวโขนส่วนตนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังทางการเมืองที่แท้จริง

เราจะฝ่าวิกฤตปัญหาราคาข้าวอย่างไรเพื่อช่วยเหลือชาวนา ผมขอเสนอให้แก้ปัญหาทางโครงสร้าง และยุติบทบาทพ่อค้าคนกลางลงไม่ให้มีอิทธิพลในตลาด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจโรงสีขนาดใหญ่และพ่อค้าผู้กำหนดราคาซื้อขายข้าวสารและเป็นตัวการสำคัญที่โรงสีนำมาคำนวณกลับเป็นราคาข้าวเปลือก

ชาวนาไทยซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ปลูกข้าวมาตั้งแต่ชั่วโคตรตระกูลหลานเหลน แก่เฒ่าลำเค็ญไม่เคยจะร่ำรวยขึ้นมาเหมือนชาวนาที่ญี่ปุ่น หรือสหรัฐฯ ที่รัฐส่งเสริมการเกษตร ไม่ให้กลุ่มทุนผูกขาดตลาดและสินค้าแต่เพียงผู้เดียวเหมือนเมืองไทย

การแก้ปัญหาพ่อค้าคนกลางไม่ใช่แค่การสร้างตลาดชุมชนเหมือนดังที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำเสนอความคิดที่ตื้นเขิน เพราะชาวบ้านเขาก็มีข้าวของเขาอยู่แล้ว ทำไมไม่ส่งเสริมให้หน่วยงานราชการต่างๆ ทั่วประเทศซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรงในราคาที่เป็นธรรม ไม่ใช่ไปซื้อจากร้านเจ้าสัว หรือ 5 เสือพ่อค้าข้าวแทน

ปัจจุบัน โรงสีและพ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดราคารับซื้อ และชาวนาจะขายแข่งก็ไม่สามารถแข่งขันได้เพราะค่าขนส่งทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถแบกรับส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นได้ ในฤดูกาลเกี่ยวข้าวนี้ หลายวิสาหกิจจึงเสนอให้คนเมือง Pre-Order ข้าวสารโดยตรงจากชาวนาและรอรับข้าวสารเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วในปลายเดือน พ.ย.เป็นต้นไป

จริงๆ แล้วการแทรกแซงราคาข้าวโดยการประกันราคา หรือจำนำข้าว ล้วนเป็นหลักการพื้นฐานของแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย และเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่รัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือกำกับและดูแล จะต้องเข้ามาอุดหนุนดูแลกำกับและดูแลไม่ให้กลุ่มทุนธุรกิจการเกษตรผูกขาดเข้ามากำหนดควบคุมให้พวกเขายากจนลงๆ เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รัฐบาลที่ดีจะต้องออกมากำหนดนโยบายอย่างจริงจัง เพื่อพลิกฟื้นผืนดินไทยและส่งเสริมชาวนาให้ลืมตาอ้าปากเป็นไทในยุคโลกาภิวัฒน์เหมือนเช่นชาวนาที่ญี่ปุ่น

โดยนโยบายที่สำคัญที่รัฐควรทำ เพื่อแก้ปัญหาชาวนาทางโครงสร้าง คือ ตั้งโรงสีชาวนา ตำบลละ 1 แห่งทั่วประเทศ เป็นโรงสีขนาดใหญ่ประจำตำบลที่สามารถสีข้าวเม็ดเรียวได้ไม่แตกหักเพราะโรงสีชาวบ้านมีขนาดเล็กเกินไป โดยอาจทำเป็นระบบสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนทุกตำบล พร้อมตั้งยุ้งฉางตำบลแทนโกดังข้าวของนายทุน ขจัดพ่อค้าคนกลาง โดยให้รัฐจัดตั้งองค์กรกลางจัดสรรการตลาดและการจัดซื้อให้แทนพ่อค้าคนกลางที่ขูดรีด โดยส่งเสริมการขายตรงต่อผู้บริโภคกับชุมชนชาวนาหรือวิสาหกิจชุมชน

และปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เพื่อให้ชาวนาเป็นเจ้าของที่ดินไม่ต้องเช่า และปฏิรูประบบหนี้สินชาวนาที่ถูกขูดรีดจาก ธ.ก.ส. เพื่อให้ ธ.ก.ส. เป็นธนาคารชาวนาอย่างแท้จริง ไม่ใช่ธนาคารขูดรีดชาวนาโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมมือกับพ่อค้านายทุนเหมือนเช่นที่ผ่านมา จนที่นาหลุดลอยไปจากชาวนาเพราะ ธ.ก.ส. จำนวนมาก

เมธา มาสขาว เลขา ครป.

ต่อมา ควรส่งเสริมชาวนาทำเกษตรแปรรูปตามความถนัดของแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ขนมปังแป้งข้าวจี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นก๋วยจั๊บ ขนมไทย น้ำนมข้าว ข้าวยาคู ฯลฯ อาหารเหล่านี้ แปรรูปจากข้าวได้

นโยบายเหล้าเสรีต้องเปิดเสรีแท้จริง ยกเลิกข้อจำกัดเดิมที่เอื้อกลุ่มทุนแต่ปิดกั้นเหล้าชาวบ้าน ส่งเสริมการทำเหล้าสาโท เบียร์คราฟท์ และเหล้ากลั่นคุณภาพปลอดสารเคมี ส่งขายต่างประเทศได้สบาย เพราะเหล้าสาโทไทยไม่แพ้เหล้าเหมาไถของจีน หรือสาเกของญี่ปุ่น ในอดีตตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเคยมีการส่งเหล้าสาโทไปขายถึงญี่ปุ่นจำนวนมาก เพราะว่ากันปากต่อปากว่ามีรสชาติดีกว่าสาเกเสียอีก

ในเวียดนาม หรือในญี่ปุ่น มีเหล้ายา-สุราท้องถิ่นของชาวบ้านจำนวนมาก แต่ละเมืองมีหลากหลายยี่ห้อให้เลือกสรรมากมาย ที่ชาวนาผลิตจากข้าวจากนาของตนเอง ซึ่งเป็นการลดรายจ่ายและเพิ่มมูลค่าให้ชาวนาโดยตรง

นอกจากนี้ รัฐควรส่งเสริมโครงการน้ำและพลังงานที่ยั่งยืนประจำตำบล โดยทำระบบเกษตรกรรมผสมผสานหรือไร่นาสวนผสมของชุมชนตำบลละ 1 แห่ง มีบ่อน้ำขนาดใหญ่ของตำบลไว้เลี้ยงปลาและติดโซลาเซลล์พลังแสงอาทิตย์บนพื้นที่ครึ่งหนึ่งของน้ำ เพื่อเป็นพลังงานดูแลทั้งตำบลเหมือนในญี่ปุ่น และอังกฤษ ทำการผลิตผลรวมแบบญี่ปุ่นเพื่อเป็นฐานให้ชุมชน

แต่เสียดายรัฐบาล 3 ป. ของ พล.อ.ประยุทธ์ และพวก ไม่มีกึ๋นในเรื่องพวกนี้เลย นอกจากรอเจ้าสัวทั้งหลายเสนอโครงการเข้ามา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net