Skip to main content
sharethis

‘กสม.’ แนะผู้เกี่ยวข้องหาช่องเอื้อแรงงานข้ามชาติเข้าระบบ แก้ปัญหาทั้ง ‘ทุจริต-ค้ามนุษย์-โควิด’

11 พ.ย. 2564 น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในงานแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ถึงกรณีการจับกุมแรงงานชาวเมียนมาจำนวนมากที่ลักลอบข้ามชายแดนเข้ามายังฝั่งไทย ว่า ตามที่ปรากฏข่าวกรณีเจ้าหน้าที่สนธิกำลังจับกุมแรงงานชาวเมียนมา ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ต.ค.-ต้นเดือน พ.ย. 2564

โดยเฉพาะวันที่ 19-26 ต.ค. 2564 มีการจับกุมได้มากกว่า 400 คน และพบว่าแต่ละคนต้องเสียค่านายหน้าคนละ 2 หมื่นบาท ซึ่งมีทั้งแรงงานหน้าใหม่ต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทย และแรงงานเดิมที่เคยทำงานในประเทศไทยอยู่แล้วแต่ได้กลับไปประเทศบ้านเกิดช่วงที่ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเมื่อสถานการณ์เบาลง แรงงานกลุ่มนี้ก็ต้องการกลับเข้ามาทำงานในไทย

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ภาคประชาสังคมโดยสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2564 เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกระดับปฏิบัติการต่อขบวนการค้ามนุษย์ที่ชายแดนไทย-เมียนมา พร้อมเสนอให้ กสม.ตรวจสอบความเป็นอยู่ของผู้ถูกจับกุม สอบถามปัญหา และหารือกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรม

ซึ่ง กสม. โดยคณะทำงานด้านการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกรณีเร่งด่วน ได้สอบถามและรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร และเจ้าหน้าที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ได้รับแจ้งว่าชาวเมียนมาที่ถูกจับกุมทั้งหมดนั้นอยู่ในวัยแรงงาน ไม่มีเด็กหรือผู้ลี้ภัย อันเป็นการดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19

ขณะที่ทางมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้ติดตามสถานการณ์การจับกุมและดำเนินคดีกับแรงงานชาวเมียนมาที่หลบหนีเข้าประเทศมาอย่างต่อเนื่อง พบว่ามีคดีลักลอบเข้าเมืองจำนวนมากซึ่งพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่ามีการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้วย แต่ในชั้นการพิจารณาของพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องในฐานความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเท่านั้น

น.ส.ศยามล กล่าวต่อไปว่า เมื่อพิจารณารวมไปถึงการที่ประเทศไทยถูกลดอันดับให้อยู่ในกลุ่ม 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2564 (2021 TIP Report) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวน่าห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งทั้งในมิติด้านแรงงาน การค้ามนุษย์ และสุขภาพ กล่าวคือ สถานกาณณ์โควิด-19 ระลอกสองเมื่อปลายปี 2563 สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการลักลอบนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแรงงานเข้ามาเป็นกลุ่มใหญ่และต้องอยู่กันอย่างแออัด

นอกจากนี้ กรณีการจับกุมแรงงานชาวเมียนมาที่หลบหนีเข้าประเทศในช่วงที่ผ่านมานี้ อาจมีประเด็นปัญหาการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์นอกเหนือไปจากการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่ง กสม.เคยมีข้อเสนอแนะเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 ในประเด็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกรณีการลักลอบนำแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แล้ว แต่ไม่ปรากฏผลการดำเนินงานที่ชัดเจน

“ทราบมาว่าในวันนี้ (11 พ.ย. 2564) กระทรวงแรงงานได้มีการนัดประชุมผู้ประกอบการที่มีความต้องการแรงงานเมียนมาจำนวนมาก อันจะเห็นว่าเป็นนโยบายที่ดีที่ทางกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการ เราก็จะติดตามผลการประชุมวันนี้ และ กสม. เห็นว่าถ้าการดำเนินการเป็นไปอย่างไร กสม. ก็จะติดตามแล้วก็จะเข้าพบหารือกับกระทรวงแรงงาน สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย แล้วก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อหาทางป้องกันและจัดในแง่คุ้มครองสิทธิแรงงาน” น.ส.ศยามล กล่าว

น.ส.ศยามล ยังกล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีความต้องการแรงงานต่างด้าวมาก โดยเฉพาะแรงงานจากเมียนมา กัมพูชาและลาว จึงควรมีนโยบายรับแรงงานเข้าระบบให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตและการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ การทำให้แรงงานเข้ามาในระบบ ก็จะมีแรงงานมาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งสามารถป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปพร้อมกันด้วย

อนึ่ง ในตอนท้ายของการแถลงข่าว มีสื่อมวลชนได้ซักถามว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงก่อนมีสถานการณ์โควิด-19 ปัญหาหนึ่งที่พบเสมอมาคือขั้นตอนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวนั้นยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่อาจรับได้ แต่ในความเป็นจริงนั้นความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวได้ลงไปถึงธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดย่อม (SME) เช่น ร้านอาหารตามสั่งหรือร้านก๋วยเตี๋ยวริมทาง ตลอดจนลูกจ้างทำงานในบ้าน ที่มีข้อจำกัดเมื่อเทียบกับกิจการรายใหญ่ เมื่อความต้องการมีมากแต่ช่องทางเข้าระบบไม่อำนวยจึงเกิดการลักลอบนำพาเข้ามา กสม. มีข้อเสนอแนะอย่างไร

น.ส.ศยามล ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ข้อเสนอแนะของ กสม. เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 ในประเด็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกรณีการลักลอบนำแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ให้ดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องนั้น ควรเปิดเผยผลการตรวจสอบเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการควบคุม ขณะที่การดำเนินการด้านนโยบาย กสม. นั้นให้ความสำคัญกับการคุ้มครองแรงงาน

ทั้งนี้ หลายกิจการมีความต้องการแรงงานต่างด้าวและค่อนข้างขาดแคลน จึงจำเป็นต้องเร่งหารือทั้งกับกระทรวงแรงงาน รวมถึงหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง โดยกระทรวงแรงงานอาจจะมีสถิติของจำนวนแรงงานเหล่านี้ที่เคยทำงานในประเทศไทยแล้วออกไปแล้วกลับเข้ามา และแรงงานที่จะเข้ามาใหม่ ซึ่งต้องดูกันว่าจะมีข้อตกลงอย่างไร หรือให้ภาคธุรกิจเอกชนที่มีความต้องการแรงงานมาพูดคุยร่วมกัน แล้วรัฐบาลควรมีนโยบายสนับสนุนหรืออุดหนุน

“อันนี้ต้องคุยกันระหว่างผู้ประกอบการกับภาครัฐด้วยกัน ว่าจะมีแนวทางร่วมกันอย่างไรในการอุดหนุน-สนับสนุนหนุนแรงงานซึ่งมีภาวะที่รายได้เขาน้อยและไม่มีความมั่นคง จะช่วยให้แรงงานเข้ามาทำงานได้แล้วก็ไม่ถูกเรียกค่านายหน้า ก็เป็นการป้องกันการค้ามนุษย์ด้วย อันนี้เป็นนโยบายสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ นอกเหนือจากที่จะมีมาตรการให้ภาคประกอบการต้องมีมาตรการดูแลเรื่องโควิดด้วย ควรจะมีภาระรับผิดชอบในการดูแลเรื่องนี้ร่วมกัน” น.ส.ศยามล ระบุ

น.ส.ศยามล กล่าวย้ำว่า การพูดคุยกันระหว่างผู้ประกอบการ กระทรวงแรงงานและฝ่ายความมั่นคง จะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาในเชิงสร้างสรรค์ และสามารถลดขั้นตอนการจ่ายค่านายหน้า เป็นมาตรการที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดและเป็นความร่วมมือกันทุกฝ่าย ซึ่งสอดคล้องกับที่ กสม. เคยมีความเห็นในเรื่องนี้ เกี่ยวกับการเร่งตรวจคัดกรองโควิด-19 กับแรงงาน เพื่อไม่ให้แรงงานรับภาระมากจนเกินไป

ที่มา: แนวหน้า, 11/11/2564

‘กรมประมง’ จับมือ ‘สมาคมประมง’ รับสมัครแรงงานในเรือประมงจำนวนมาก เงินดี สวัสดิการคุ้ม

นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของประเทศไทย ส่งผลให้แรงงานส่วนหนึ่งว่างงานลง แต่ในส่วนของแรงงานบนเรือประมง กลับพบปัญหาขาดแคลน ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้กรมประมงเร่งดำเนินการ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมง เพื่อให้เรือประมงสามารถออกเรือไปทำประมงได้ ซึ่งกรมประมงได้มีการประสานกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในการดูแลและบริหารจัดการแรงงานในเรือประมงโดยให้เร่งรัดการรับสมัครงานในเรือประมง และได้ประสานความร่วมมือกับทางสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในการรับสมัคร แรงงานในเรือประมงจำนวนมาก

สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัครทำงานในเรือประมง จะต้องเป็น เพศชาย สัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป (มีบัตรประจำตัวประชาชน) โดยแรงงานจะมีสัญญาจ้างงานถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับค่าจ้างค่าทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ได้รับเงินส่วนแบ่งตามมูลค่าสัตว์น้ำที่จับได้ตามตกลง โดยจะเป็นการจ่ายเงินค่าจ้างเป็นระบบผ่านบัญชีธนาคาร ในส่วนของการทำงานในเรือประมง แรงงานจะมีอาหาร เครื่องดื่มที่มีคุณภาพถูกสุขลักษณะ และเพียงพอกับการทำงานอยู่บนเรือ ซึ่งในแต่ละวันจะมีเวลาพักผ่อนไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง และในแต่ละปีมีวันหยุดประจำปี ไม่น้อยกว่า 30 วันต่อปี นอกจากนี้ ยังมีสวัสดิการอื่นๆ ทั้งเรื่องของการตรวจสุขภาพประจำปี การประกันสุขภาพ ฯลฯ และที่น่าสนใจ คือ แรงงานบนเรือประมงจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและปลอดภัยจากขบวนการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับบนเรืออย่างแน่นอน

นายบัญชา กล่าวอีกว่า จากสิทธิประโยชน์ที่แรงงานได้รับในปัจจุบันนี้ จึงขอให้แรงงานบนเรือประมงมั่นใจได้ว่า การประกอบอาชีพแรงงานบนเรือประมง ในปัจจุบันนี้ สามารถเลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัวได้ และไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เป็นข่าว เพราะภาครัฐเข้าถึงความเป็นอยู่ของแรงงานบนเรือด้วยระบบติดตามเรือประมง (VMS) การแจ้งเข้าออกเรือประมง (PIPO) การตรวจสอบเรือประมงกลางทะเลจากหน่วยสหวิชาชีพ ซึ่งสามารถติดตามตรวจสอบเรือประมงได้ ทั้งนี้ สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ (กลุ่มกิจการแรงงานในภาคประมง) โทร. 0 2561 4689 หรือ สำนักงานประมงจังหวัดทั่วประเทศ และ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย โทร.0 2452 0571

ที่มา: มติชนออนไลน์, 11/11/2564

รมว.แรงงาน สั่งเอกซเรย์ตรวจเข้มงานก่อสร้าง รื้อถอนอาคาร หยุดคร่าชีวิตคนงาน

10 พ.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งเกี่ยวกับการทำงานของคนงานก่อสร้าง และงานรื้อถอนอาคาร ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและต่อตัวลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและกระทบต่อบุคคลในครอบครัว ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญและกำหนดเป็นนโยบายให้เรื่องของความปลอดภัยในการทำงานเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องดูแลมิให้เกิดความสูญเสียในชีวิตของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน เพราะอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่งพนักงานตรวจความปลอดภัยลงพื้นที่ไซด์งานก่อสร้าง โดยเฉพาะการรื้อถอนอาคาร กำชับให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยฯ อย่างเคร่งครัด ซึ่งล่าสุดเกิดอุบัติเหตุอาคารระหว่างการรื้อถอน (กันสาด) พังทับนายจ้างผู้รับเหมา เสียชีวิต 1 ราย เหตุการณ์เกิด ณ บริษัท กำจรอุตสาหกรรม จำกัด แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร โดยอาคาร ที่เกิดเหตุเป็นอาคารที่พักอาศัยและอาคารสำนักงาน จำนวน 5 ชั้น (รวมชั้นดาดฟ้า) ซึ่งถูกเพลิงไหม้เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 โดยการรื้อถอนมีห้างหุ้นส่วนจำกัด แจ่มฟ้า ทุบตึก รื้อถอน เป็นผู้รับเหมาชั้นต้น และได้ว่าจ้างบริษัท ประวิทย์ (พีวาย) การโยธา จำกัด เป็นผู้รับเหมาช่วงอุบัติเหตุเกิดจากแผ่นปูนกันสาดชั้น 2-4 พังทลายลงมาทำให้นายประวิทย์ อยู่ศิริ อายุ 62 ปี นายจ้างบริษัท ประวิทย์ (พีวาย) การโยธา จำกัด ซึ่งควบคุมงานอยู่ที่ชั้น 3 ตกลงมาและถูกชิ้นส่วนกันสาดทับร่างเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ซึ่งขอแสดงความเสียใจต่อญาติผู้เสียชีวิตในครั้งนี้

ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร) กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายให้คณะทำงานศูนย์เฝ้าระวังอุบัติเหตุจากการทำงาน พร้อมพนักงานตรวจความปลอดภัยเข้าตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว และมีหนังสือเชิญนายจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องมาพบ ในวันที่ 16 พ.ย. 2564 เวลา 10.00 น. เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและตรวจสอบการดำเนินการรื้อถอนอาคารว่ามีการปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2564 และกฎกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องหรือไม่ หากพบว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป อีกทั้งยังได้สั่งการให้พนักงานตรวจความปลอดภัยลงพื้นที่ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยฯ ในงานก่อสร้าง และงานรื้อถอนอาคารทั่วประเทศที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ตามข้อสั่งการของ รมว.แรงงาน อย่างเคร่งครัด

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 10/11/2564

เลขาฯ สมช. พอใจการสกัดแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศ ชี้ เป็นภาระงานหนัก

10 พ.ย. 2564 พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ผอ.ศปก.ศบค.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการแชร์ข้อมูลผู้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ที่คลินิกเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.สระแก้ว ว่า เรื่องดังกล่าวทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังตรวจสอบ ขอให้รอฟังจากกระทรวงสาธารณสุขดีกว่า

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปถึงเรื่องแพทย์หรือคลินิกที่ดำเนินการฉีดวัคซีนดังกล่าว ต้องมีความผิดด้วยหรือไม่ พล.อ.สุพจน์ ระบุว่าไม่มีข้อมูลดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ ก็ได้รับฟังข่าวในคราวเดียวกันกับผู้สื่อข่าว คือยังไม่ได้มีการติดต่อในทางราชการ ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ชี้แจง

ส่วนกรณีที่ยังมีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่องนั้น ที่จริง การควบคุมแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองอยู่ในแผนการเปิดประเทศอยู่แล้ว แต่เนื่องจากเราจำเป็นต้องให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ที่มีทั้งทหาร ตำรวจ และจังหวัดที่ติดกับพื้นที่ชายแดนช่วยกันดูแลและสกัดไว้ ซึ่งกระทรวงแรงงานมีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวรอบสุดท้ายเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา แล้วนำผลการประชุมมาเข้าที่ประชุม ศปก.ศบค. ช่วงบ่ายวันนี้

เมื่อถามว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงเข้มงวดอยู่ตลอด เหตุใดจึงยังมีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาอย่างต่อเนื่อง พล.อ.สุพจน์ ระบุว่า ตัวเลขที่ทุกคนเห็นคือกรณีของผู้ที่พยายามเล็ดลอดเข้ามา เราพยายามแก้ปัญหานี้มาเป็นปี ถือเป็นภาระมากสำหรับหน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนที่มีภารกิจของตัวเองอยู่แล้ว ส่วนตัวคิดว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นที่น่าพอใจ แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่ชายแดนมีขนาดกว้างและยาวมาก เราต้องใช้วิธีหลายๆ ชั้น อาจมีหลุดรอดในชั้นแรกบ้าง แต่ถูกสกัดในพื้นที่ชั้นใน ตัวเลขผู้ลักลอบเข้าเมืองจึงมีจำนวนออกมาอย่างที่เราทุกคนได้เห็น

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 10/11/2564

ครม. เห็นชอบให้รัฐวิสาหกิจซื้อ “วัคซีนซิโนฟาร์ม” ฉีดพนักงาน-ลูกจ้างได้

9 พ.ย. 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้รัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อมสามารถจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 (ซิโนฟาร์ม) จากกรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจให้การบริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุข เพื่อให้บริการแก่พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ โดยมีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เนื่องจากวันที่ 14 มิ.ย. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เริ่มเปิดให้หน่วยบริการสามารถเปิดจองวัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) และรัฐวิสาหกิจบางแห่งได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนเพื่อให้พนักงานไปบางส่วนแล้ว

ทางด้านกระทรวงแรงงานได้ประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีนซิโนฟาร์มจากรัฐวิสาหกิจ ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ซึ่งในปี 2564 มีรัฐวิสาหกิจจำนวนทั้งสิ้น 58 แห่ง และมีพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจรวมทั้งสิ้นจำนวน 261,464 คน โดยในจำนวนนี้มีรัฐวิสาหกิจที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดหาวัคซีนรวมทั้งสิ้น 40 แห่ง และมีพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจที่แสดงความประสงค์ขอรับการฉีดวัคซีนจำนวนทั้งสิ้น 117,677 คน

สำหรับอัตราค่าใช้จ่ายจะคำนวณจากราคาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตัวเลือก (ซิโนฟาร์ม) ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งในปี 2564 กำหนดไว้จำนวน 2 เข็ม คูณจำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจที่ประสงค์ขอรับวัคซีน 117,677 คน และในปี 2565-2568 จำนวน 2 เข็ม คูณจำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจในปี 2564 ทั้งหมด 261,464 คน จากรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 58 แห่ง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อผลักดันการเปิดประเทศ ฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้ อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจะได้รับเป็นสำคัญ ตามความจำเป็น คุ้มค่า และประหยัด ซึ่งจะมีระบบการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบค่าใช้จ่าย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข อัตราที่กำหนด ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 อีกด้วย

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 9/11/2564

ภาคผลิตขาดแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจี้นำเข้า 5 แสนคน

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า นโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทำให้หลายโรงงานหลายธุรกิจขาดแคลนแรงงานต่างด้าว เพราะแรงงานเหล่านี้กลับประเทศไปแล้ว ไม่สามารถกลับเข้ามาใหม่ได้ ทาง ส.อ.ท.ได้พยายามผลักดันกับภาครัฐให้มีการทำ MOU (ข้อตกลงความร่วมมือ) ระหว่างรัฐต่อรัฐ เพื่อให้แรงงานเข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย มีการจัดสรรโควต้าอย่างชัดเจน มีการตรวจคัดกรองโรค เชื่อว่านายจ้างยินดีออกค่าใช้จ่ายเอง ถ้ายังไม่มีการทำ MOU ก็จะมีการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามา ซึ่งเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้

นายสุพันธุ์กล่าวว่า ตอนนี้มีความต้องการแรงงานต่างด้าวไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน ตัวเลขการส่งออกที่ขยายตัวโตมากกว่า 10% ทำให้หลายโรงงานมีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น จากช่วงวิกฤตโควิด-19 มีการผลิตน้อยลง โรงงานผลิตสินค้าไม่มากเนื่องจากกลัวว่าไม่มีคนมาซื้อสินค้า เมื่อเปิดเมืองไม่มีสินค้าในสต๊อกตามความต้องการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมอาหารที่มีความต้องการแรงงานต่างด้าวมากที่สุด

“วันนี้รัฐบาลล็อกการนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ แต่ตอนนี้มีการเปิดเมืองแล้ว หลายโรงงานเกิดอุปสรรค ต้องลดการเดินเครื่องจักรการผลิตลง เพราะไม่มีแรงงานมาคอยคุมเครื่องจักรเหล่านี้ อยากให้มีการทำ MOU อย่างรวดเร็ว มีการเปิดไทม์ไลน์ให้ชัดเจน เพราะขั้นตอนการทำงานของราชการค่อนล่าช้า เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปต่อได้” นายสุพันธุ์กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 9/11/2564

'ประยุทธ์' สั่งเร่งทำ MOU นำเข้าแรงงานในส่วนขาดแคลน ตัดขบวนการค้ามนุษย์

9 พ.ย. 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มอบหมายถึงกรณีการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวทะลักเข้าไทย ว่าได้มีการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมอบหมายให้มีการพิจารณาดำเนินการทำบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU นำเข้าแรงงานในส่วนที่ขาดแคลน แต่จะต้องปลอดภัยจากโควิด-19 ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการที่ขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจการก่อสร้างที่ต้องหยุดชะงัก และบางกิจกรรมที่ขาดแคลน ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการลักลอบ แม้ทุกวันนี้จะมีการสกัดกั้นและควบคุมรวมถึงการส่งกลับแรงงานที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายทุกวัน ตลอดจนได้มีการติดตามสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังขบวนการนำพาแรงงานเถื่อนเข้าประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนายทุน ข้าราชการ เรือ รถรับจ้าง ถือเป็นขบวนการค้ามนุษย์

ที่มา: มติชนออนไลน์, 9/11/2564

รมว.ยุติธรรม เล็ง MOU โรงเรียนเดินเรือ ส่งผู้พักโทษสวมกำไล EM ล็อต แรก 40 คน ทำงานเรือขนส่งสินค้า

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และผู้แทนจากโรงเรียนสยามการเดินเรือ ร่วมประชุมหารือถึงแนวทางการให้ผู้ต้องขังที่ถูกพักโทษไปทำงานบนเรือพาณิชย์ ที่กระทรวงยุติธรรม

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ได้รับประสานจากโรงเรียนสยามการเดินเรือว่ามีตำแหน่งงานที่รับผู้ต้องขังได้ ซึ่งตรงกับความต้องการของเราที่อยากหางานให้ผู้พ้นโทษ เพราะเมื่อมีงาน มีเงิน พวกเขาจะไม่กลับไปทำผิดซ้ำอีก ซึ่งเราจะต้องมีการวางแนวทางว่าจะให้ผู้พักโทษมีกรอบการทำงานอย่างไร ซึ่งกรมราชทัณฑ์และกรมคุมประพฤติต้องหารือร่วมกัน ทำอย่างไรให้ผู้ต้องขังทำงานได้ เรามีสมุทรปราการโมเดล ผู้ต้องขังทำงานในโรงงานซึ่งอยู่กับที่ แต่การลงเรือต้องมีการเดินทาง โดยเส้นทางการเดินเรือจะมี 3 ประเภท คือ 1. การเดินเรือในประเทศ 2. การเดินเรือระหว่างประเทศแบบใกล้ฝั่งในแถบอาเซียน และ 3. การเดินเรือระหว่างประเทศ และพนักงานจะมีแบบพนักงานประจำจะมีวันหยุด 7 วันต่อเดือน และพนักงานแบบจ้างเหมาที่มีสัญญา 6-9 เดือน ซึ่งต้องอยู่กับเรือตลอด โดยจากข้อกฎหมายเราอาจจะเริ่มจากการเดินเรือภายใน ประเทศก่อน และอาจจะใช้สัญญาแบบจ้างเหมา คงต้องค่อยๆเป็นค่อยไป

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของแรงงานจากกรมราชทัณฑ์ จะใช้ผู้พักโทษด้วยเหตุพิเศษที่สวมกำไล EM จะมีการเปิดรับสมัครและหากผู้ต้องขังที่มีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษที่เราเปิดอบรมในเรือนจำอยู่แล้ว จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ซึ่งตรงนี้จะไม่มีผู้ต้องขังในกลุ่มบัวใต้ตมหรือพวกคดีรุนแรง เพราะคนเหล่านี้จะไม่ได้รับการพักโทษ ล็อตแรกทางโรงเรียนประสานมาว่าต้องการ 40 คน เพื่อนำไปฝึกอบรมประมาณ 1 เดือน มีที่พักและอาหารให้และค่าใช้จ่ายในการอบรมจะมีบริษัทเดินเรือสนับสนุนให้อบรมฟรี เมื่อฝึกอบรมเสร็จจะต้องฝึกงาน 2 เดือน เมื่อผ่านจะได้สัญญามีเงินเดือนประมาณ 12,000 – 20,000 บาท ซึ่งหลังจากนี้เรามีการเซ็น MOU ร่วมกันระหว่าง กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ และโรงเรียน หากเราร่างกรอบต่างๆ เสร็จและพร้อมก็สามารถเริ่มปฏิบัติได้ทันที

“การฝึกอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย รวมทั้งการหางานให้ผู้ต้องขัง เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการคืนคนดีสู่สังคม ไม่ให้ผู้เคยทำความผิดกลับมากระทำผิดซ้ำ อาจจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จบ้าง แต่เราก็ต้องทำเพื่อให้โอกาสให้พวกเขาเหล่านั้นมีทางเลือกที่จะกลับตัวเป็นคนดี” นายสมศักดิ์ กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 8/11/2564

7 วัน เปิดประเทศ จับลอบเข้าเมือง 3,833 คน

หลังเปิดประเทศครบ 1 สัปดาห์ พบว่าปัญหาสำคัญที่หลายฝ่ายเป็นห่วงและกังวล นอกจากมาตรการดูแลการเดินทางของชาวไทยและชาวต่างชาติผ่านท่าอากาศยาน คือปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ขณะนี้ดำเนินการจับกุมได้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2564 ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไจสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง รายงานข้อมูลการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองและการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยผิดกฎหมาย ณ วันที่ 6 พ.ย.2564 มีจำนวน 458 คน ส่วนยอดสะสมตั้งแต่เดือน ก.ค.2563 จำนวน 60,411 คน เมื่อย้อนดูตัวเลขสะสม 7 วัน ในช่วงเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 จำนวน 3,833 คน มากที่สุดวันที่ 2 พ.ย. 1,194 คน

วันที่ 1 พ.ย.2564 ลักลอบเข้าเมือง 552 คน วันที่ 2 พ.ย.2564 ลักลอบเข้าเมือง 1,194 คน วันที่ 3 พ.ย.2564 ลักลอบเข้าเมือง 448 คน วันที่ 4 พ.ย.2564 ลักลอบเข้าเมือง 193 คน วันที่ 5 พ.ย.2564 ลักลอบเข้าเมือง 594 คน วันที่ 6 พ.ย.2564 ลักลอบเข้าเมือง 458 คน วันที่ 7 พ.ย.2564 ลักลอบเข้าเมือง 394 คน

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า กรณีแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะเป็นปัจจัยการระบาดในหลายครั้งที่ผ่านมา ที่เห็นชัดเจนคือ ตลาด เมื่อเกิดระบาดขึ้นในตลาดแต่ละแห่ง หากลงไปสอบสวนโรคจะเริ่มต้นที่แรงงานข้ามชาติก่อน ทั้งตลาดในกรุงเทพฯ จ.สมุทรสาคร และ จ.เชียงใหม่

“ไทยยังมีความจำเป็นในการใช้แรงงานข้ามชาติ แต่ขอให้เข้ามาถูกกฎหมาย และหากเข้ามาแล้ว ขอให้มีระบบลงทะเบียนติดตามได้ว่าอยู่ที่ไหน อยู่ในชุมชนไหน ฉีดวัคซีนหรือยัง”

ทั้งนี้ มอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ขอความร่วมมือพื้นที่เข้าไปดูแลการจ้างแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมาย การขึ้นทะเบียน และการรับวัคซีนป้องกัน COVID-19 รวมทั้งต้องควบคุมให้ได้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดระบาด

ส่วนมาตรการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางมาทางบกยังจำเป็นต้องกักตัวตามกำหนด กรณีฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว หากตามเกณฑ์เดิม คือ กักตัว 7 วัน ส่วนกรณีเข้ามาแล้วยังไม่ได้ฉีดวัคซีนมีนโยบายชัดเจนว่า ทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทยจะฉีดให้หมด

ที่มา: Thai PBS, 8/11/2564

กลุ่มขับเคลื่อนภูเก็ต ร้องผู้ว่าฯ เสนอ ครม. จ่ายเงินผู้ประกันตน 186,096 คน ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาประกันสังคม แม้ไม่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม แต่นำร่องท่องเที่ยว

นายวงศกร ชนะกิจ ประธานกลุ่มขับเคลื่อนภูเก็ต เปิดเผยว่า ได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต โดยนายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตรับหนังสือ เพื่อเสนอแนะให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 , 39 และ 40 ให้แก่แรงงานใน จ.ภูเก็ต แม้ไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด แต่ด้วยนโยบายให้ จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่พิเศษ Phuket Sandbox เพื่อนำร่องการรับนักท่องเที่ยวแห่งแรกของประเทศไทย หลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งประชาชนใน จ.ภูเก็ตเห็นด้วย

แต่ต่อมา ช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน มีจำนวนผู้ติดเชื้อใน จ.ภูเก็ต จำนวนมากและหลายพื้นที่กระจายทั่วเกาะ ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์พื้นที่สีแดงเข้ม แต่ก็ไม่ได้รับการประกาศ ทำให้แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 , 39 และ 40 ขาดโอกาสที่จะได้รับเงินเยียวยา โดยมีผู้ได้รับความเดือดร้อนถึง 186,069 คน (คิดเป็นสัดส่วนประชากรเกือบครึ่งเกาะ) โดยเฉพาะภาคธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ผับ บาร์ ที่ไม่สามารถเปิดกิจการได้ และมีจำนวนมากต้องปิดถาวร ส่งผลถึงแรงงานในระบบประกันสังคมที่ต้องตกงานหลายหมื่นคน และกำลังรอความช่วยเหลือจากเงินก้อนนี้เพื่อต่อลมหายใจให้ดำเนินต่อไปได้

นายวงศกร กล่าวต่อว่า ตนเองจึงขอเป็นตัวแทน เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อนำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรี ที่จะมาประชุมสัญจร ที่ จ.กระบี่ ในกลางเดือนพฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ เพื่อให้ช่วยเยียวยาผู้ประกันตนและเจ้าของกิจการโดยด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2564 นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ทำหนังสือถึง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อให้พิจารณาสนับสนุนเงินเยียวยานายจ้างและลูกจ้างประกันสังคม จำนวน 186,069 คน รวมเป็นเงินกว่า 930 ล้านบาท

ต่อมา วันที่ 12 ต.ค. 2564 ยังได้ส่งหนังสือถึง เลขาธิการ สศช. อีกครั้ง เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีดังกล่าว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ และทางจังหวัดกำลังหาแนวทางนำหนังสือข้อเรียกร้องจากกลุ่มขับเคลื่อนภูเก็ต เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ที่จะมาประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.กระบี่ ต่อไป

ที่มา: 77kaoded, 8/11/2564

พบแรงงานต่างด้าว ถูกนำมาทิ้ง จ.กำแพงเพชร เสียชีวิต 3 เจ็บสาหัส 4

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2564 เจ้าที่ตำรวจ สภ.เมืองกำแพงเพชร ฝ่ายปกครองอำเภอเมืองกำแพงเพชร และเจ้าหน้าที่กู้ภัยข่าวภาพกำแพงเพชร ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่บริเวณป่ายาง บ้านหนองนกกระทา หมู่ที่ 12 ตำบลนาบ่อคำ อำเภอเมือง ซึ่งได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีคนนำ "แรงงานต่างด้าว" มาทิ้งไว้และมีผู้เสียชีวิตด้วย

จากการสอบถาม นายสี สัญชาติเมียนมา อายุ 30 ปี เปิดเผยว่า แรงงาน ทั้งหมดจำนวน 23 คน จ่ายค่านายหน้าคนละ 7,000 - 23,000 บาท จากนั้นมีรถกระบะมารับจากฝั่งเมียนมาแล้วพาเข้ามาทางอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จากนั้นรถกระบะคันที่โดยสารมาประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำบริเวณทางลงเขาจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ต่อมาได้มีรถกระบะอีก 1 คัน มาขนถ่ายแรงงานขึ้นรถแล้วนำมาทิ้งไว้ตรงจุดนี้ บอกให้ทั้งหมดลงจากรถและแจ้งว่าให้รออยู่ที่นี่ จะไปตามรถพยาบาลมา แรงงานทั้งหมดจึงรออยู่ จนกระทั่งมีชาวบ้านผ่านมาพบเห็นและแจ้งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบดังกล่าว

ด้าน นางสาว พีชญาดา ตาอ้าย ปลัดอาวุโส อ.เมืองกำแพงเพชร กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ ว่ามีการนำ แรงงานต่างด้าว ที่ ลักลอบเข้าเมือง โดยผิดกฎหมาย มาทิ้งไว้ในบริเวณป่ายาง พื้นที่หมู่ 12 ตำบลนาบ่อคำ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร พบว่า มีแรงงานชายหญิง อายุตั้งแต่ 21-40 ปี จำนวน 23 คน ถูกทิ้งไว้กลางป่ายางจริง ตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา ที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฏหมาย ไม่พบเอกสารและหลักฐานใดๆ เบื้องต้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 4 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 2 คนและผู้เสียชีวิต 3 คน เป็นชาย 1 คน และหญิง 2 คน

ด้าน พล.ต.ต.พิพัฒน์ ชุ่มมณีกูล ผู้บังคับการภูธรจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งลงตรวจสอบที่เกิดเหตุ กล่าวว่า เบื้องต้นต้องนำตัวแรงงานทั้งหมดไป ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อน แล้วแยกผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาล ส่วนผู้เสียชีวิตจะต้องส่งชันสูตรเพื่อพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ทราบว่ารถที่โดยสารมาได้เกิดอุบัติเหตุ แล้วมีคนมารับช่วงต่อโดยขนมาทิ้งไว้ตรงจุดนี้ ซึ่งทางเจ้าหน้าตำรวจจะได้มีการประสานไปยังเจ้าหน้าที่ฝั่งจังหวัดตาก เพื่อตรวจสอบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหรือไม่ และจะได้ทำการสวบสวนขยายผลต่อไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 6/11/2564

ประธานสภาอุตสาหกรรมประจวบฯ ร้องรัฐบาลเร่งแก้วิกฤต รง.สับปะรดขาดแคลนแรงงาน

นายวิรัช ปิยพรไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะนายกสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย พี่ชายนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้หน่วยงานด้านสาธารณสุขสามารถควบคุมคลัสเตอร์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ใน 4 โรงงานแปรรูปผลไม้กระป๋องที่ ต.หนองตาแต้ม อ.ปราณบุรีได้ทั้งหมด ผู้ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวกว่า 400 คน กลับเข้าทำงานตามปกติ เหลือกักตัวไม่เกิน 50 คน

สถานการณ์โดยภาพรวมไม่น่ากังวล ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อประชาชนรอบพื้นที่โรงงานแปรรูปผลไม้กระป๋องทุกแห่งรับซื้อสับปะรดและว่านหางจระเข้ จากชาวไร่นำไปผลิตเพื่อส่งออก โดยรับซื้อสับปะรดหน้าโรงงานในราคากิโลกรัมละ 5.50 บาท แม้ว่าทุกโรงงานจะลดการซื้อวัตถุดิบจากช่วงปกติเพียงเล็กน้อย และขณะนี้โรงงานต้องจ้างพนักงานทำงานล่วงเวลาเป็นพิเศษเพื่อเร่งระบายวัตถุดิบไม่ให้มีผลกระทบต่อเกษตรกร แต่ยอมรับว่าปีนี้สับปะรดมีน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายวิรัช กล่าวว่า ปัญหาจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้กระทบการผลิตเพื่อส่งออก โรงงานต้องสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรักษาหลายล้านบาท ส่วนสาเหตุที่ทำให้คนงานในโรงงานติดเชื้อยอมรับว่ามาจากปัจจัยภายนอก จึงเฝ้าระวังเข้มงวดป้องกันติดเชื้อซ้ำ ส่วนมาตรการป้องกันหลังจากนี้คนงานทุกแผนกต้องได้รับการตรวจหาเชื้อจาก ATK ทุกสัปดาห์ ต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่โรงงานกำหนดอย่างเข้มงวด และขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปโดยด่วน หากมีสับปะรดในฤดูกาลปกติออกมาจำนวนมากแต่โรงงานไม่มีกำลังการผลิต จะมีผลกระทบต่อชาวไร่โดยตรง

ด้านนายพีระ สุกิจปาณีนิจ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไร่เก่า อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ในฐานะเครือข่ายโรงงานสับปะรดกระป๋อง เกษตรกรชาวไร่สับปะรดรายใหญ่มีโควตาส่งวัตถุดิบให้โรงงานแปรรูปผลิตเพื่อการส่งออกในจังหวัดวันละกว่า 500 ตัน ปัจจุบันส่งวันละไม่เกิน 20 ตัน ทำให้มีผลกระทบต่อชาวไร่อย่างหนัก เนื่องจากผลผลิตบางส่วนต้องเน่าเสีย ทำให้สับปะรดควรจะมีราคาสูงถึง กก.ละ 7-8 บาท เหลือ กก.ละ 4.50 บาท และมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ต้นทุนการผลิต กก.ละ 5.40 บาท สาเหตุมาจากปัจจุบันโรงงานสับปะรดกระป๋องในจังหวัดที่มีมากที่สุดในประเทศ ขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก แต่ละโรงงานต้องการแรงงานเพิ่มอีก 60% หลังจากมีโควิด-19 ระบาดนานเกือบ 2 ปี แรงงานประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่กลับบ้าน และไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานได้ตามปกติ จึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานโดยด่วน หากต้องการจะกระตุ้นยอดการส่งออกของผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋อง ซึ่งตลาดต่างประเทศมีความต้องการสินค้าสูงมาก

รัฐบาลควรพิจารณาเปิดด่านสิงขร อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานได้ ภายใต้มาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข มีการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดีกว่าปล่อยให้มีปัญหาลักลอบผ่านแดนแอบเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ มีขบวนการค้ามนุษย์ที่มีผลประโยชน์สูงมาก ทำให้การลักลอบเกิดขึ้นต่อเนื่องเพราะชายแดนประจวบฯ มีช่องทางธรรมชาติมากมายยากต่อการตรวจสอบ เมื่อจับกุมต้องนำมาตรวจโควิด-19 ฟรี หากติดเชื้อรักษาฟรี แล้วกักตัว 14 วัน ที่ผ่านมา รัฐบาลต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูแรงงานเถื่อนหัวละไม่ต่ำกว่า 8,000 บาทต่อคน เมื่อกักตัวครบ 14 วัน ต้องส่งกลับต่างประเทศ แต่สุดท้ายพบว่ามีการลักลอบกลับเข้ามาอีกในช่องทางเดิม

นายพีระ กล่าวอีกว่า ขอให้รัฐบาลอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ต้องการทำงานติดต่อนายจ้าง เมื่อเข้ามาแล้วต้องกักตัวควบคุมโรค โดยใช้พื้นที่ของโรงงานที่ประสงค์รับแรงงานต่างด้าว จัดสถานที่กักโรค มีอาหารครบ 3 มื้อ ส่วนค่าใช้จ่ายนายจ้าง แรงงาน และภาครัฐต้องร่วมกันรับผิดชอบจะแก้ปัญหาได้ แต่ปัจจุบันรัฐปิดประเทศปิดด่าน แต่ยังมีปัญหาลักลอบผ่านแดน จับได้ต่อเนื่องครั้งละ 30-50 คน ยังไม่ถึง 1% ของจำนวนแรงงานเถื่อนที่ลักลอบเข้าเมือง ขณะที่เชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นขณะนี้เกิดจากปัญหาการลักลอบเข้ามาของแรงานและนำโรคเข้ามา ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาคอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรทั้งระบบ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 7/11/2564

แรงงานทะลัก "กอ.รมน." เผยสัปดาห์เดียวจับได้ 3,160 ราย ผู้นำพา 91 ราย

6 พ.ย.2564 พลเอก สิทธิชัย มากกุญชร โฆษก กอ.รมน. เปิดเผยว่าจากนโยบายของรัฐบาลที่เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมเฝ้าระวังพื้นที่ชายแดน และพื้นที่ตอนใน ด้วยการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายและไม่ผ่านการคัดกรอง

โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด ได้บูรณาการร่วมกับ กองกำลังป้องกันชายแดน และหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่จับกุมผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายได้ 3,160 ราย

จากการตรวจสอบไม่พบหนังสือเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยที่ถูกต้อง แบ่งเป็นแรงงานชาวเมียนมา 1,807 ราย กัมพูชา 996 ราย ลาว 5 ราย จีน 11 ราย ไทย 10 ราย อินเดีย 24 ราย ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นพาหะแพร่เชื้อโควิด-19 เนื่องจากไม่ได้ผ่านการคัดกรองตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

ส่วนมากจับกุมได้ในพื้นที่ชายแดนติดกับเมียนมา และกัมพูชา จากการขยายผลการจับกุมแรงงานต่างด้าวพบว่าส่วนใหญ่มา โดยขบวนการนำพา เพื่อส่งไปทำงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อสอบสวนขยายผลนำสู่การจับกุมขบวนการนำพาได้ 91 ราย เป็นชาวไทย 28 ราย และเมียนมา 63 ราย

ทั้งนี้ จากการบูรณาการหน่วยงานด้านความมั่นคงและฝ่ายปกครอง ทำให้สามารถจับกุมผู้นำพาและแรงงานผิดกฎหมายได้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผลการจับกุมแรงงานลักลอบเข้าไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะพวกเขามีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศไทย ดังนั้น หากประชาชนพบเห็นกลุ่มหรือบุคคลกระทำผิดกฎหมาย สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนความมั่นคง 1374 ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 6/11/2564

วันหยุด 2565 กระทรวงแรงงาน ขอนายจ้างกำหนดวันหยุดเพิ่มเติมให้ลูกจ้าง

6 พ.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2564 รับทราบภาพรวมวันหยุดราชการ ประจำปี 2565 จำนวน 19 วัน และเห็นชอบการกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ ประจำปี 2565 จำนวน 4 วัน

ได้แก่ (1) วันศุกร์ที่ 15 ก.ค. 2565 (2) วันศุกร์ที่ 29 ก.ค. 2565 (3) วันศุกร์ที่ 14 ต.ค. 2565 และ (4) วันศุกร์ที่ 30 ธ.ค. 2565 นั้น เพื่อให้การกำหนดวันหยุดตามประเพณีของนายจ้างภาคเอกชนประจำปี 2565 มีความสอดคล้องกับมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งกำหนดให้นายจ้างกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 13 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติ โดยกำหนดจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนา หรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น

นายจ้างก็สามารถนำวันหยุดราชการประจำปี 2565 ทั้ง 19 วัน ดังกล่าว ไปเป็นแนวทางในการกำหนดวันหยุดตามประเพณีประจำปี 2565 เพื่อให้ลูกจ้างได้หยุดไปร่วมประเพณีรวมทั้งวางแผนการดำเนินชีวิตของตนเองและครอบครัวให้สอดคล้องกับการทำงานได้อย่างเหมาะสม

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานขอความร่วมมือนายจ้าง สถานประกอบกิจการภาคเอกชน กำหนดให้วันศุกร์ที่ 15 ก.ค. 2565 วันศุกร์ที่ 29 ก.ค. 2565 วันศุกร์ที่ 14 ต.ค. 2565 และวันศุกร์ที่ 30 ธ.ค. 2565 เป็นวันหยุดเพิ่มเติมให้ลูกจ้างเป็นกรณีพิเศษ

เพื่อให้ลูกจ้างได้มีวันหยุดต่อเนื่องและสามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวต่างจังหวัด เพื่อสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างด้วย หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร ทั้ง 10 พื้นที่ หรือสายด่วน 1506 กด 3

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 6/11/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net