Skip to main content
sharethis

ทนายความของ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เผยข้อต่อสู้ในคดีที่ถูกฟ้องร่วมกับณัฐพล ใจจริง ในฐานะที่กุลลดาเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ที่ถูกแปลงเป็นหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ยืนยันจุฬาฯ เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์อีกทั้งวิทยานิพนธ์ยังผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามระเบียบของมหาวิทยาลัย นอกจากนั้นข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์ยังเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมมาจำกัดควบคุมเสรีภาพทางวิชาการ

เมื่อวันที่ 9 พ.ย.64 ที่ผ่านมาที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก มีนัดไต่สวนและนัดชี้สองสถานหรือนัดสืบพยาน ในคดีที่ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต เป็นโจทก์ฟ้องณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” และผู้เกี่ยวข้องรวม 5 คน โดยกล่าวหาว่ามีข้อความในหนังสือดังกล่าวบิดเบือนทำลายชื่อเสียงของต้นราชสกุลรังสิต เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000,000 บาท ในฐานความผิดละเมิดไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง

ทั้งนี้หลังการไต่สวนศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอให้มีการวินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้นของจำเลยทั้งหมด แต่ในส่วนคำร้องที่ทางจำเลยขอให้ศาลเรียกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้ามาเป็นคู่ความร่วมกับฝ่ายจำเลย ศาลได้ยกคำร้องในส่วนนี้เนื่องจากเห็นว่าจำเลยไม่สามารถไล่เบี้ยเอากับจุฬาฯ ได้

ทางม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีมีคำร้องขอให้ศาลถอนคำร้องคุ้มครองชั่วคราวสั่งระงับการเผยแพร่เผยแพร่วิทยาพนธ์ “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา(พ.ศ.2491-2500)” และหนังสือ "ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ" และ "ขุนศึก ศักดินาและพญาอินทรี" เนื่องจากฝ่ายโจทก์เห็นว่ามีการพิมพ์หนังสือเพิ่มและเผยแพร่ออกไปในวงกว้างแล้วจึงไม่มีประโยชน์ที่จะให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว และในส่วนของวิทยานิพนธ์ทางมหาวิทยาลัยได้ระงับการเผยแพร่ไปก่อนแล้ว

กุลลดา เกษบุญชู มี้ดท้วงการฟ้องคดี 'ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี' ละเมิดเสรีภาพวิชาการ ติงจุฬาฯ ไม่ปกป้อง

วิญญัติ ชาติมนตรี ในฐานะทนายความของ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำเลยที่ 2 ในคดีให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นที่ศาลไม่รวมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีว่าณัฐพล ใจจริง จำเลยที่ 1 และกุลลดา ไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเอากับจุฬาฯ ได้จึงไม่อาจเรียกจุฬาฯ เข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้

“แต่เราก็กำลังทำความเห็นแย้งอยู่ เรื่องนี้เราต้องอุทธรณ์หรือคัดค้านไว้ในสำนวนเพราะว่าเหตุผลที่ศาลบอกว่าไม่สามารถไล่เบี้ยได้นี้มันไม่ได้ตลอดไปต้องมีความรับผิด ศาลยังไม่ได้จะให้รับผิดเท่าไหร่ มันคนละเรื่องกับการไล่เบี้ยหรือไม่ไล่เบี้ย อันนี้ความเห็นเรานะครับ”

ทั้งนี้วิญญัติระบุว่าทางกุลลดาให้ได้การปฏิเสธคำกล่าวหาของ ม.ร.ว.ปรียนันทนา โดยขอต่อสู้คดีว่าตัววิทยานิพนธ์ของณัฐพลเองก็เป็นลิขสิทธิ์และกรรมสิทธิ์ของทางจุฬาฯ นอกจากนั้นขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การเสนอโคร่งร่างวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของณัฐพลเรื่อง “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา(พ.ศ.2491-2500)” นี้ก็เป็นไปตามขั้นตอนต่างๆ ตามระเบียบและหลักสูตรของมหาวทิยาลัย มีการค้นคว้าวิจัยเขียนมาอย่างเป็นระบบและถูกเสนอผ่านที่ประชุมคณะอนุกรรมการโครงร่างวิทยานิพนธ์เพื่อพิจารณากลั่นกรองและเสนอข้อคิดเห็นต่อคณะกรรมการบริหารของคณะเพื่อพิจารณาเห็นชอบและยังมีคณะกรรมการรชุดต่างๆ อีก ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้ถูกตั้งขึ้นโดยชอบตามระเบียบของมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น และวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ยังได้รับเชิดชูจากทางจุฬาฯ ให้เป็น “วิทยานิพนธ์ดีเยี่ยม” ด้วย

อีกทั้งกุลลดายังเห็นว่าการอ้างอิงข้อมูลหรือแหล่งความรู้เพื่อให้ใช้ประกอบการทำวิทยานิพนธ์นั้น ผู้วิจัยจะอ้างว่าเอกสารที่อ้างอิงมานั้นไม่มีข้อความตามอข้อเขียนหรือการวิเคราะห์ของผู้เขียนข้อความนั้นๆ ไม่เป็นความจริงก็ไม่สามารถจะทำได้เพราะเป็นการแอบอ้างที่ไม่สุจริตและไม่สมเหตุสมผล ถือเป็นการริดรอนและจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งอาจทำไปเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์หรือใช้อำนาจเพื่อควบคุมความรู้ในทางวิชาการอีกด้วย

ดังนั้นในส่วนของกุลลดาจึงไม่ใช่การร่วมกับณัฐพลบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือยินยอมไขข่าวที่ฝ่าฝืนต่อความจริงอย่างที่โจทก์กล่าวหา นอกจากนั้นที่โจทก์ระบุคำขอท้ายฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเก็บและทำลายวิทยานิพนธ์ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยจะทำได้เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และลิขสิทธิ์ของวิทยานิพนธ์ดังกล่าว

ส่วนที่ประเด็นที่โจทก์ฟ้องมาว่าจำเลยร่วมกระทำบิดเบือนข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์โดนำข้อความเท็จมาจัดทำเอกสารไขข่าวเผยแพร่สู่สาธารณะเพื่อกล่าวหาให้ร้ายสถาบันและปั้นแต่งความเท็จใส่ความสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ข้อกล่าวหาของโจทก์นี้มีความคลุมเครือเนื่องจากไม่ได้บรรยายให้ชัดเจนว่าตอนใดของข้อความที่อ้างว่าเป็นความเท็จฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงนั้น มีความจริงอย่างไร

อีกทั้งโจทก์ยังบิดเบือนข้อเท็จจริงและนำคดีนี้มาฟ้องจำเลยให้จำเลยได้รับความเสียหาย ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือการทำวิทยานิพนธ์และการอนุมัติวิทยานิพนธ์เป็นเรื่องของจุฬาฯ และเธอก็ไม่ได้เกี่ยวข้องในการจัดทำหนังสือทั้งสองเล่มอีกด้วย การฟ้องของโจทก์จึงเป็นเท็จและเป็นการใช้สิทธิฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ที่กำหนดว่าการใช้สิทธิจะต้องทำไปโดยสุจริตและมาตรา 421 ที่ระบุว่าการใช้สิทธิที่มีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนั้นที่ ม.ร.ว.ปรียนันทนา อ้างว่าเป็นหลานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทรก็ไม่ได้เป็นผู้ถูกกระทำและไม่ได้รับความเสียหายประการใด อีกทั้งที่อ้างว่าจำเลยทั้ง 6 ได้กล่าวหาให้ร้ายต่อสถาบันกษัตริย์อย่างเป็นกระบวนการเพื่อบ้านเมืองวุ่นวายยังเป็นการยกตนเปรียบตัวเองเป็นชนชั้นนำหรือทำตัวอยู่เหนือประชาชนอีกด้วย และใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการควบคุมความรู้ ความคิดและเสรีภาพทางวิชาการด้วย

ประเด็นสุดท้ายคือ คดีนี้โจทก์ไม่สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้แล้วเนื่องจากคดีขาดอายุความไปแล้วเพราะวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวของณัฐพลถูกจุฬาฯ นำขึ้นเผยแพร่เป้นสาธารณะในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ 2552 แล้วดังนั้นด้วยข้อหาตามที่โจทก์ฟ้องนี้ซึ่งมีอายุความเพียง 1 ปี โจทก์จึงต้องฟ้องอย่างช้าที่สุดในเดือนมิถุนายน 2553

ทั้งนี้ คดีนี้มีผู้ถูกฟ้องทั้งหมด 5 คนได้แก่ จำเลยที่ 1 ณัฐพล ใจจริง ในฐานะผู้เขียนวิทยานิพนธ์ “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2491-2500)” ซึ่งภายหลังได้ปรับมาเป็นหนังหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ฟ้าเดียวกัน จำเลยที่ 2กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, จำเลยที่ 3ชัยธวัช ตุลาธน, จำเลยที่ 4 อัญชลี มณีโรจน์ ในฐานะหุ้นส่วนสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ห้างหุ้นส่วนจำกัดสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และจำเลยที่ 5 ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จำเลยที่ 5

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net