Skip to main content
sharethis

เมื่อน้ำโขงเปลี่ยนแปลง วิถีชีวิตของผู้คนก็เปลี่ยนไป ฟังเสียงสะท้อนจาก “คนริมโขง 2 รุ่น” จาก อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี ที่กำลังเผชิญจุดวิกฤติในการดำรงชีวิต ผักตาย ปลาหาย รายได้ลด นักท่องเที่ยวหด เพราะ ‘เขื่อนต้นน้ำในจีน’ จนนำมาสู่การอพยพย้ายถิ่นฐาน และการอันตรธานของวิถีชีวิตริมโขง

“ในใจก็อยากให้มันสมบูรณ์เหมือนเดิม ถ้ามันกลับมาได้ ชุมชนและทุกคนริมโขงน่าจะดีขึ้น”

เสียงบอกเล่าของ ‘สอน จำปาดอก’ หรือที่คนในพื้นที่บ้านสำโรง อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี รู้จักกันในชื่อ ‘แม่สอน’ พรานปลาหญิงวัย 60 ปีที่ใช้ชีวิตร่วมกับสายน้ำและธรรมชาติริมโขงมาตั้งแต่เกิดจนโต จนเรียกได้ว่า ‘แม่น้ำโขง’ คือส่วนหนึ่งของชีวิตแม่สอนก็ว่าได้

สอน จำปาดอก
 

‘พรานปลา’ ระบุปี 56 เปลี่ยนแปลงประจักษ์ชัด จนคิดว่า วิถีชีวิตไม่อาจจะหวนคืน

แม่สอนเล่าว่าตั้งแต่จำความได้ก็เห็นแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แต่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงนั้นเริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต จนกระทั่ง พ.ศ.2556 ถือเป็นปีที่ความเปลี่ยนแปลงประจักษ์ชัดต่อสายตา จนแม่สอนคิดว่าวิถีชีวิตของตนที่เคยมีมานั้นไม่อาจจะหวนคืน

“ปลาพวกนี้ค่อยๆ หายไป แต่ก่อนมีเยอะนะ เราจับปลาได้เยอะเต็มเรือ จับมาก็เอาไปแลกข้าวกับทางบ้านโคก แล้วเราก็เก็บไว้ ไม่ค่อยได้ขายหรอก เอาไว้ทำปลาแห้ง ไม่ก็ปลาแดก (ปลาร้า) ถ้าเอาไป[ปลา]ขายก็ได้กิโลละ 60-70 บาท ถ้าตัวเล็กก็ขายกิโลละ 7 บาท แต่ก่อนจะมีรถจากทาง อ.เขมราฐ เข้ามารับปลาจากตลาดในหมู่บ้านเราไปขายต่อ แต่พอน้ำโขงเปลี่ยน รถนั้นก็หาย ปลามันก็จับไม่ได้ เขามาก็ขาดทุน” แม่สอนเล่า

สมญานาม ‘พรานปลาหญิง’ ของแม่สอน ไม่ได้ได้มาเพราะโชคช่วย แต่ได้มาเพราะแม่สอนคือผู้เชี่ยวชาญด้านการล่าปลาน้ำโขงตัวจริง แม่สอนเกิดและเติบโตมาในครอบครัวประมงริมโขงที่บ้านปากลา อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ก่อนจะแต่งงานและย้ายมาตั้งถิ่นฐานกับครอบครัวของสามีที่บ้านสำโรง แม่สอนได้เห็นวิถีชีวิตของ ‘พรานปลา’ มาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ และตัวแม่สอนเองก็ได้เรียนรู้วิธีการจับปลาในแม่น้ำโขงมาตั้งแต่เด็ก

“เราตามพ่อแม่ไปดึกแห (ทอดแห) ตั้งแต่น้อย พอโตขึ้นมาก็ไปไร่ไปสวน ทำเกษตรริมโขง แล้วก็หาปลาไปด้วย หาปลาก็ไปที่ ‘ลวง’ กับพ่อกับแม่”

คำว่า ‘ลวง’ ในภาษาถิ่นอีสานหมายถึงสถานที่จับปลาในแม่น้ำโขง มีการแบ่งอาณาเขตน่านน้ำชัดเจน สืบทอดกันมาเป็นมรดกตกทอดของแต่ละครอบครัว คล้ายกับการแบ่งที่นา แต่แตกต่างกันตรงที่การจับจอง ‘ลวง’ ไม่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครอง เป็นการแบ่งเขตตามภูมิปัญญาพื้นบ้าน และเป็นที่ทราบกันว่าแต่ละคนจะไม่ล่วงล้ำเข้าไปจับปลาใน ‘ลวง’ ของคนอื่น

แม่สอนเล่าว่าปลาแม่น้ำโขงมีหลายชนิด และแต่ละชนิดจะมาตามฤดูกาล เช่น ปลาเขี้ยวใกล้ และปลาสร้อย ซึ่งเป็นปลาขนาดเล็ก มาช่วงหน้าแล้ง ระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค. หลังจากนั้นในช่วงเดือน เม.ย. ก็จะเริ่มมีปลาขนาดใหญ่อพยพตามมา เช่น ปลากด, ปลาเคิง (ปลาคัง), ปลาฮากก้วย (ปลารากกล้วย) ซึ่งปลาขนาดใหญ่เหล่านี้จะมาเพื่อกินปลาเล็กเป็นอาหารอีกที

เมื่อถามว่าเคยจับปลาได้เยอะแค่ไหน แม่สอนตอบว่า ‘เต็มเฮือนซาน’ (เต็มเรือนชาน) แสดงให้เห็นว่าในอดีต ลุ่มน้ำโขงมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลานานาพันธุ์ตลอดทั้งปี

คำว่า ‘น้ำโขงเปลี่ยน’ ในสายตาของแม่สอน คือ ปลาน้อยลง น้ำขึ้นลงไม่เป็นเวลา น้ำขึ้นเร็วลงเร็ว น้ำขุ่นในหน้าแล้ง ซึ่งกรณีสุดท้าย ส่งผลต่อการวางไข่ของปลา เพราะปลาแม่น้ำโขงจะวางไข่ตามแนว ‘เทา’ หรือสาหร่ายน้ำจืดที่ขึ้นในบริเวณน้ำใส ตื้น และนิ่ง เป็นแหล่งอาหารอนุบาลสัตว์น้ำ รวมถึงช่วยป้องกันไม่ให้ปลาขนาดใหญ่ว่ายเข้ามากินไข่หรือลูกปลาอีกด้วย

รายงานเรื่องสถานะและแนวโน้มของความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของปลาในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างระหว่างปี 2550-2561 (Status and Trends of Fish Abundance and Diversity in the Lower Mekong Basin during 2007–2018) จัดทำโดยณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2564 ระบุว่าพบปลาทั้งหมด 617 สายพันธุ์ในลุ่มน้ำโขงตอนล่างนับตั้งแต่บริเวณปากแบ่งใน สปป.ลาว ไล่ลงมาถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม ส่วนใหญ่เป็นปลาพื้นถิ่นทั่วไป ตามมาด้วยกลุ่มปลาเทา และปลาดำ ซึ่งเป็นปลาที่ว่ายเวียนมาตามการขึ้นลงของกระแสน้ำ อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ระบุว่าตั้งแต่ปี 2550-2561 พบปลาต่างถิ่นเพิ่มขึ้นในระดับต่ำ คือ น้อยกว่า 1% ของค่าความชุกชุม หรือพบปลาต่างถิ่นจำนวน 1.5% ของหน่วยพื้นที่ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งยังพบว่ามีปลาน้ำเค็มว่ายเข้ามาในเขตน้ำจืดบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอีกด้วย

ข้อค้นพบจากรายงานนี้ระบุว่าบริเวณที่มีความหลากหลายของพันธุ์ปลามากที่สุด ประมาณ 115 สายพันธุ์ คือที่โตนเลสาบ ประเทศกัมพูชา รองลงมาคือบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม ส่วนฝั่งเหนือขึ้นไปของลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งตรงกับบริเวณ สปป.ลาว และไทย พบปลาประมาณ 50 สายพันธุ์เท่านั้น นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุว่าอัตราการจับปลาใน สปป.ลาว และเวียดนามลดลง

คณะกรรมาธิการแม่งน้ำโขงสรุปว่าการประมงในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างอยู่ในสภาวะตึงเครียดเพราะการทำประมงที่มากเกินไป และมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เช่น ประชากรที่เพิ่มมากขึ้น การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมโดยรอบแม่น้ำโขง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงมีข้อเสนอแนะว่าความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงจำเป็นต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนหลายล้านชีวิตบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนล่างเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหาร นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศภาคีสมาชิกของ MRC ทั้ง 4 ประเทศบังคับใช้กฎหมายการประมงระดับชาติและการร่วมกันดำเนินการตามยุทธศาสตร์การจัดการและพัฒนาประมงลุ่มแม่นำโขงที่ได้รับการอนุมัติเพื่อฟื้นฟูชุมชนประมงที่ประสบปัญหา พร้อมเสนอการบูรณาการแผนการจัดการแม่น้ำเพื่อจัดการกับความเสี่ยงจากการสร้างเขื่อนพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำที่เพิ่มขึ้น

ในการเก็บข้อมูลครั้งต่อไป คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะเพิ่มจุดเก็บข้อมูลให้อยู่ใกล้กับเขื่อนๆ บนแม่น้ำโขงตอนล่างให้มากขึ้น เพื่อศึกษาว่าการสร้างเขื่อนส่งผลกระทบอย่างไรต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงบ้าง และจะนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงคู่มือสังเกตการณ์สภาพแวดล้อมแม่น้ำโขงต่อไป ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงการสร้างเขื่อนในจีนแต่อย่างใด

เขื่อนทำน้ำโขงเปลี่ยนสี

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปลายปี 2562 สำนักข่าวหลายแห่ง รวมถึงภาคประชาสังคมรายงานว่าพบปรากฏการณ์ ‘น้ำโขงเปลี่ยนสี’ ที่แสดงให้เห็นภาพของแม่น้ำโขงใน จ.หนองคาย บึงกาฬ และนครพนม เปลี่ยนเป็นสีฟ้าคล้ายกับสีของน้ำทะเล ต่างจากสีปกติของแม่น้ำโขงที่โดยตัวไปแล้วจะเป็นสีขุ่นแดง ซึ่งเป็นสีของตะกอนดิน

 

สำนักข่าวกรีนนิวส์อธิบายที่มาที่ไปของปรากฏการณ์น้ำโขงเปลี่ยนสีว่าแท้จริงแล้ว มันคือ “ปรากฏการณ์น้ำหิว (hungry water effect)” ซึ่งหมายถึงน้ำที่หิวตะกอน เพราะน้ำเหล่านี้ถูกกักไว้หลังเขื่อนและไหลช้า ทำให้ตะกอนตกอยู่ในอ่างเก็บน้ำท้ายเขื่อนหมด น้ำที่ถูกปล่อยออกมาจึงเป็นน้ำใสและไม่มีตะกอน เมื่อไหลผ่านตลิ่งหรือท้องน้ำตรงไหนก็จะดึงเอาดินตะกอนริมตลิ่งแถบนั้นออกมา จนเกิดการกักเซาะตลิ่งและพื้นท้องน้ำมากกว่าปกติ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปอาจส่งกระทบต่อเขตแดนของไทย เพราะตามสนธิสัญญาปักปันเขตแดนระหว่างไทยและฝรั่งเศส เขตแดนของไทยในแม่น้ำโขงจะสิ้นสุดที่ตลิ่งฝั่งไทยเท่านั้น ไม่ใช่ร่องน้ำลึกในแม่น้ำ หมายความว่าถ้าตลิ่งริมน้ำโขงฝั่งไทยถูกกัดเซาะจนพื้นที่ลดลง ก็เท่ากับว่าอาณาเขตของประเทศไทยก็จะลดลงตามไปด้วย

เมื่อปี 2562 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เปิดเผยข้อมูลการศึกษาเรื่องการพังทลายของตลิ่งใน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ระหว่างปี 2535-2561 เพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงสภาพแม่น้ำโขงในฤดูแล้ง ช่วงปี 2534 ก่อนการพัฒนาโครงการเขื่อนของประเทศจีนในแม่น้ำโขงสายประธาน โดยการศึกษานี้ใช้เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) จากภาพถ่ายดาวเทียม Landsat ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey: USGS) ในการศึกษาเพียงปัจจัยเดียว ร่วมกับการประมวลผลและจัดทำแผนที่ด้วยโปรแกรมประยุกต์ด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์

ผลการศึกษาพบว่าตั้งแต่ ปี 2535-2561 พบว่าพื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำโขง 8 จังหวัดของไทยถูกกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง จนพื้นที่หายไปกว่า 220 ตารางกิโลเมตร (109,021.5 ไร่) ตลอดแนวชายฝั่งยาวกว่า 958 กิโลเมตร จาก จ.เชียงราย ถึง จ.อุบลราชธานี หากคิดเฉพาะพื้นที่ริมตลิ่งที่ถูกกัดเซาะ เฉพาะใน 5 อำเภอริมโขงของ จ.อุบลราชธานี ตลอดช่วงเวลา 27 ปีนั้น มีพื้นที่ตลิ่งหายไปกว่า 19.65 ตารางกิโลเมตรหรือกว่า 12,273 ไร่ โดยในช่วงปี 2546-2552 ซึ่งตรงกับช่วงที่เขื่อนจิ่งหงเปิดใช้งานนั้น เป็นช่วงเวลาที่ตลิ่งริมแม่น้ำโขงพังทลายมากที่สุด

“ถ้าไม่มีการสร้างเขื่อน...ก็คงเหมือนเดิม ก็จะเป็นวิถีดั้งเดิม เพราะว่ามันไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนมาก จะมีเพิ่มเข้ามาก็คือการท่องเที่ยว”

ในขณะที่การทับถมของตลิ่งแม่น้ำโขงในช่วงเวลาเดียวกันนั้น มีสัดส่วนน้อยกว่าการกัดเซาะ จากการศึกษาของ สนทช. พบว่าตั้งแต่ปี 2535-2561 พื้นที่ 8 จังหวัดริมโขงของไทย มีการทับถมของตลิ่งรวม 144.68 ตารางกิโลเมตรหรือคิดเป็น 90,420 ไร่ เฉพาะพื้นที่ 5 อำเภอที่ติมแม่น้ำโขงของ จ.อุบลราชธานี นั้น มีการทับถมของตลิ่งเพียง 16.37 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 10,235 ไร่

รายงานฉบับล่าสุดของ สนทช. เรื่องการพังทลายของตลิ่งริมแม่น้ำโขงในพื้นที่ 8 จังหวัดของไทยช่วงปี 2561-2563 พบว่าตลิ่งพังทลายลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงระยะเวลา 3 ปี พบว่าพื้นที่ตลิ่งพังทลายรวม 97.23 ตารางกิโลเมตรหรือกว่า 67,500 ไร่ เฉพาะในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ตลิ่งพังทลายรวมกว่า 12.6 ตารางกิโลเมตร (7,895 ไร่) โดยใน ปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่เขื่อนไซยะบุรีเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ พบว่าการพังทลายของตลิ่งมีตัวเลขสูงกว่าปีก่อนหน้าถึง 2 เท่า ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาการทับถมของตลิ่งแม่น้ำโขงช่วงปี 2561-2563 ของ สนทช. ก็สอดคล้องกับผลการศึกษาฉบับก่อนหน้า ซึ่งตัวเลขแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ทับถมของตลิ่งน้อยกว่าการกัดเซาะ โดยมีพื้นที่ทับถมของตลิ่งรวม 8 จังหวัดอยู่ที่ 55.7 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 10,385 ไร่ เฉพาะใน จ.อุบลราชธานีมีพื้นที่ทับถมของตลิ่งเพียง 3.9 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2,445 ไร่เท่านั้น เห็นได้ชัดว่าช่วง 3 ปีย้อนหลังมานี้ การทับถมของตลิ่งในพื้นที่ริมโขงของ จ.อุบลราชธานีมีสัดส่วนน้อยกว่าการกัดเซาะของตลิ่งถึง 3.2 เท่า

มนตรี จันทวงศ์ และชนาง อำภารักษ์ จากกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) ได้ลงพื้นที่ร่วมกับประชาชนจาก 6 หมู่บ้านริมแม่น้ำโขงใน จ.เชียงราย, เลย, นครพนม, อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เพื่อศึกษาปริมาณตะกอนในแม่น้ำโขงด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แบบง่ายๆ ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเก็บข้อมูลและวิเคราะห์เองในเบื้องต้นได้ โดยพื้นที่เก็บข้อมูลใน จ.อุบลราชธานี คือ พื้นที่บ้านสำโรง ซึ่งเป็นที่อยู่ของแม่สอนนั่นเอง

อุปกรณ์ที่กลุ่มเสรีภาพและน้ำโขงและองค์กรเครือข่ายใช้ตรวจวัดความขุ่นของน้ำโขง คือ กระบอกวัดความขุ่น (เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้ว ยาว 120 เซนติเมตร) และแผ่นวัดความขุ่น โดยทางกลุ่มตั้งสมมติฐานว่าสาเหตุที่ตะกอนน้ำโขงลดลงจนน้ำโขงใสขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนั้น สาเหตุหลักเกิดจากการเปิดใช้งานเขื่อนไซยะบุรี ในเขต สปป.ลาว ซึ่งตั้งอยู่ห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย ไปเพียง 300 กว่ากิโลเมตรเท่านั้น

ผลการเก็บข้อมูลการตรวจวัดความใสของน้ำในช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค. 2564 พบว่าความขุ่นของแม่น้ำโขงมีค่าลดลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่จุดตรวจใน จ.เลย ไปจนถึงบ้านสำโรง จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ท้ายเขื่อนไซยะบุรี รวมระยะทางกว่า 700 กิโลเมตร โดยค่าวัดความขุ่นมีหน่วยเป็นเซนติเมตร ยิ่งอ่านได้ค่ามากแสดงว่าน้ำมีความขุ่นน้อย (ใสมาก) หากอ่านได้ค่าน้อย แสดงว่ามีความขุ่นมาก (ใสน้อย)

กราฟแสดงค่าเฉลี่ยค่าความขุ่นของน้ำในแม่น้ำโขงช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 64 จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง แสดงให้เห็นว่าแม่น้ำโขงตั้งแต่ช่วงท้ายเขื่อนไซยะบุรีลงไปมีความใสมาก
(อ่านรายงานฉบับเต็มที่นี่
คลิก)

การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ กระทบทั้งประมง เกษตรและท่องเที่ยว

ธัญพร บุปผาถา อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน บ้านสองคอน (อกม.) และไกด์ท่องเที่ยวชุมนุมบ้านสองคอน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า นอกเหนือจากปัจจัยอื่นๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้น อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ปลาในแม่น้ำโขงลดลง คือ น้ำท่วมไม่ถึงจุดที่ปลาวางไข่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ปลาแม่น้ำโขงหลายชนิดมักจะเข้ามาวางไข่บริเวณลำห้วยเล็กๆ ที่แตกสาขาเข้ามาในพื้นที่ชุมชน

ธัญพร บุปผาถา
 

ธัญพรเกิดและโตที่บ้านสองคอน เรียกได้ว่าเป็นลูกหลานคนริมโขงตัวจริง หากจะนับรุ่นในครอบครัว เธอถือว่าเป็นรุ่นที่ 3-4 แล้ว ธัญพรทิ้งชีวิตการทำงานในเมืองเพื่อกลับมาทำงานพัฒนาบ้านเกิด โดยตั้งใจว่าจะพัฒนาให้หมู่บ้านสองคอนเป็นสถานที่ท่องเที่ยววิถีชุมชน ทำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชิญชวนนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตริมโขง ทั้งด้านการเกษตร การประมง และวัฒนธรรม ปัจจุบัน ธัญพรกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านการท่องเที่ยวที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ธัญพรกล่าวว่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนปลาในแม่น้ำโขงเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด จับได้แค่พอกิน ไม่พอขาย ไม่สามารถหาปลาเลี้ยงชีพได้เหมือนแต่ก่อน ซึ่งตนในฐานะตัวแทนจากบ้านสองคอนได้เข้าร่วมทำงานพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำโขงกับสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน โดยหนึ่งในโครงการที่ทางสมาคมเตรียมผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม คือ โครงการขยายและอนุรักษ์พันธุ์ปลาน้ำโขง เพื่อช่วยฟื้นฟูวิถีชีวิตและอาชีพประมงริมโขงให้กลับมาอีกครั้ง

นอกจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการสร้างเขื่อนตลอดแนวแม่น้ำโขงแล้ว ธัญพรบอกว่ายังมีปัญหาเรื่องการทำประมงผิดกฎหมายจากคนในและนอกพื้นที่ เช่น การใช้อุปกรณ์จับปลาที่ผิดกฎหมายประมง หรือลักลอบจับปลาข้ามเขตพื้นที่ ซึ่งถ้าหากเป็นคนในหมู่บ้านหรือพื้นที่ใกล้เคียงก็สังเกตและตักเตือนกันได้ แต่ในกรณีที่เป็นนักท่องเที่ยวที่สวมชุดประดาน้ำมายิงปลาในเขตพื้นที่ อาจจะต้องกำชับไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ประมงจังหวัด ให้เข้ามาตรวจสอบและควบคุมดูแล

“ในใจก็อยากให้มันสมบูรณ์เหมือนเดิม เพราะอาหารก็จะดีขึ้น สุขภาพเราก็จะดีขึ้น เพราะได้กินของธรรมชาติที่เราปลูกเอง ไม่ได้ใส่ปุ่ยยา ในน้ำมันก็มีดินตะกอนอุสมบูรณ์ ในใจเราก็อยากให้กลับคืนมาเป็นเหมือนเมื่อก่อนนั่นแหละ ถ้ากลับมาได้ ชุมชนทุกชุมชนไม่ใช่แค่บ้านแม่ ชีวิตคนริมโขงทุกคนก็น่าจะดีขึ้น”

ไม่เพียงแต่อาชีพประมงเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขง แต่อาชีพเกษตรริมโขงก็เช่นเดียวกัน ธัญพรเล่าวว่าการปลูกพืชริมโขงเป็นอาชีพเสริมจากการทำนาของคนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง ไม่ใช่แค่คนในหมู่บ้านสองคอนเท่านั้น พืชที่นิยมปลูกหลักๆ ก็เป็นพืชผักสวนครัวทั่วไป แต่พืชที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรริมโขง คือ คราม ฝ้าย ข้าวโพด ถั่วลิสง มันเทศ มันแถว กระเทียม ต้นหอม และผักชี ซึ่งแม่สอนก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ปลูกพืชริมโขงขายเลี้ยงชีพ โดยแม่สอนบอกว่าในช่วงที่น้ำโขงยังไม่ผันผวนหนัก เคยปลูกผักชีส่งขายเป็นอาชีพเสริม มีรายได้เฉลี่ยจากส่วนนี้ปีละหมื่นกว่าบาท

ธัญพรยืนอยู่บริเวณพื้นที่เกษตรริมโขง บริเวณปากป้อง ซึ่งเป็นจุดที่แคบที่สุดระหว่างฝั่งไทย-ลาว ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้จะถูกน้ำท่วมขังในช่วงฤดูน้ำหลาก แต่ในปัจจุบัน กลายเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง (ถ่ายเมื่อเดือน ก.ย. 2564)
 

ธัญพรเล่าว่าการทำเกษตรริมโขงของคนในพื้นที่นั้นเป็นการปลูกพืชแบบธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี แต่อาศัยแร่ธาตุจากดินตะกอนที่น้ำพัดมา ผลผลิตที่ได้จึงปลอดสารพิษ รสชาติดี ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการทำเกษตรริมโขง คือ หน้าแล้ง ตั้งแต่เดือน พ.ย. เป็นต้นไป โดยปกติแล้ว ในช่วงหน้าฝน ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะเพิ่มสูงขึ้นจนเต็มตลิ่ง กระแสน้ำพัดพาแร่ธาตุและดินตะกอนมาทับถม ส่งผลให้ดินบริเวณที่น้ำท่วมถึงมีความอุดมสมบูรณ์มาก แต่ทุกวันนี้ น้ำโขงไม่เคยเต็มตลิ่ง ทำให้ดินริมโขงขาดความอุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชไม่ได้ผลดีเท่าเมื่อก่อน ทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาตลิ่งทรุดตามมาอีกด้วย

ต้นจามจุรีอายุเก่าแก่บริเวณปากบ้อง ซึ่งเป็นจุดที่แคบที่สุดระหว่างฝั่งไทย-ลาว ตั้งอยู่บริเวณบ้านสองคอน ในอดีต น้ำท่วมถึงจนมิดราก แต่ปัจจุบัน มองเห็นรากชัดเจน เพราะน้ำไม่เคยท่วมถึงฝั่งเป็นเวลาหลายปีแล้ว (ถ่ายเมื่อ ก.ย. 2564)
 

ไม่เพียงแต่อาชีพดั้งเดิมอย่างประมงและเกษตรริมโขงจะค่อยๆ เลือนหายไปเพราะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ผันผวนอย่างหนัก แต่อาชีพเกิดใหม่อย่างการท่องเที่ยวก็กำลังจะเลือนหายไปด้วย ธัญพรเล่าให้ฟังว่าช่วง 2 ทศวรรษก่อนหน้านี้ สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งใน จ.อุบลราชธานี ได้รับการโปรโมตจนมีชื่อเสียง มีนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวชมวัฒธรรมและธรรมชาติ ซึ่งหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่สร้างชื่อให้กับบ้านสองคอน คือ ‘สามพันโบก’ แก่งหินที่อยู่ใต้ลำน้ำโขงซึ่งเกิดจากแรงน้ำที่กัดเซาะในช่วงฤดูน้ำหลาก ลักษณะคล้ายกับแกรนด์แคนยอน สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังในสหรัฐอเมริกา หากนึกไม่ออกว่าสามพันโบกคือสถานที่ท่องเที่ยวใด ก็ขอให้ลองนึกถึง ‘โบกมิกกี้เมาส์’ หรือบ่อน้ำขนาดเล็กที่มีรูปร่างคล้ายตัวการ์ตูนมิกกี้เมาส์ ซึ่งกลายเป็นภาพไวรัลในอินเทอร์เน็ตอยู่พักหนึ่ง จนนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนต้องมีกิจกรรมตามหา ‘โบกมิกกี้เมาส์’ ของจริง สร้างสีสันให้กับการท่องเที่ยวไปอีกรูปแบบ

แก่งสามพันโบก (ภาพโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)
 

สามพันโบกถือได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวชูโรงของบ้านสองคอน และทำให้แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เป็นที่รู้จักตามมา หนึ่งในนั้น คือ ‘หาดสลึง’ หาดทรายสีขาวทอดยาวไปตลอดริมแม่น้ำโขง ระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ปรากฎให้เห็นทุกปีในช่วงหน้าแล้ง เพราะน้ำโขงลด หาดสลึงจึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมช่วงสงกรานต์ ทำรายได้สะพัดให้คนในพื้นที่ปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท แต่ภาพความครื้นเครงของนักท่องเที่ยวที่หาดสลึงได้อันตรธานหายไปกว่า 10 ปีแล้ว เพราะระดับน้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงผิดธรรมชาตินับตั้งแต่เขื่อนจิ่งหงในประเทศจีน ซึ่งเป็นเขื่อนสุดท้ายที่กั้นแม่น้ำโขง หรือที่จีนเรียกว่าแม่น้ำหลานซาง เปิดใช้งาน

หาดสลึง (ภาพโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)
 

ธัญพรบอกว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงทุกวันนี้ คือ “ท่วมหน้าแล้ง แห้งหน้าฝน” ระดับผันผวนหลงฤดูเสียจนหาดสลึงกลายเป็นสถานที่รกร้าง ไร้นักท่องเที่ยว เพราะน้ำโขงหลงฤดู ธัญพรบอกว่านับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา น้ำจะขึ้นจนท่วมหาดในช่วง มี.ค.-เม.ย. ซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยวของที่นี่ และลดลงในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ซึ่งไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยวหลักของหาดสลึง เมื่อไร้นักท่องเที่ยว บ้านเรือนที่เคยเปิดเป็นร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ท ก็ต้องปิดกิจการลง ซ้ำร้าย เมื่อมาเจอการระบาดของโควิด-19 บ้านเรือนแถวนั้นกลับกลายเป็นบ้านร้างไปบ้างก็มี

“เท่าที่จำได้ เห็นทรายที่หาดสลึงครั้งสุดท้ายก็คือปี 2556” ธัญพรกล่าว พร้อมชี้ให้ดูพื้นที่หาดสลึงซึ่งปัจจุบันเต็มไปด้วยน้ำ

หาดสลึงในเดือน ก.ย. 2564 ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลากและมีฝนตกต่อเนื่อง แต่ระดับน้ำในฤดูแล้งก็ลดลงไปจากนี้ไม่มากนัก
 

ธัญพรเล่าให้ฟังว่าในอดีต หาดสลึงเป็นท่าเรือที่พ่อค้าชาวจีน เวียดนาม และไทย เข้ามาติดต่อค้าขายกัน ประชาชนจากฝั่งลาวก็ร่องเรือข้ามมาซื้อสินค้าฝั่งไทย ฝั่งไทยก็ล่องเรือไปมาหาสู่กับฝั่งลาวเป็นปกติ ส่วนที่มาของชื่อ ‘หาดสลึง’ นั้น ธัญพรเล่าว่าตั้งชื่อตามการละเล่นช่วงหน้าร้อนของพ่อค้าในยุคก่อนที่ท้าทายกันว่าหาดใครสามารถถอดรองเท้าวิ่งไปจนสุดหาดได้ก่อน จะได้รางวัลเป็นเงิน 1 สลึง แต่ก็ไม่มีใครสามารถทำได้ เพราะไม่อาจทนความร้อนของทรายในช่วงหน้าร้อนได้

ธัญพรพาเดินชมร่องรอยอดีตสถานที่ท่องเที่ยวรอบๆ หาดสลึง ที่ตอนนี้เหลือเพียงความทรงจำ เช่น ศาลาขายตั๋วล่องเรือชมแม่น้ำโขง เที่ยวละ 500-1,000 บาท ตามระยะทางและจุดหมายปลายทาง เรือ 1 ลำรับนักท่องเที่ยวได้ 10-12 คน ล่องชมโขงได้อย่างน้อย 4-5 รอบ/วัน นอกจากนี้ ที่หาดสลึงยังมีบริการมัคคุเทศน์น้อยนำเที่ยว ซึ่งเป็นการฝึกอาชีพให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ มีรายได้เฉลี่ยวันละ 500-1,000 บาท ธัญพรบอกว่าช่วงที่การท่องเที่ยวยังเฟื่องฟู เด็กๆ ในหมู่บ้านมีเงินเก็บถึงหลักหมื่น ไปโรงเรียนได้โดยไม่ต้องขอเงินพ่อแม่

“นักท่องเที่ยวที่มาก็มาจากทั้งกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ เที่ยวมาตั้งแต่ อ.โขงเจียม สามพันโบก แล้วต่อด้วยถนนคนเดิน อ.เขมราฐ เรื่องรายได้นี่ก็เยอะเลยแหละในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว เป็นล้านเลย อย่างอาชีพรับจ้างขับเรือพาเที่ยวนี่ก็รายได้ดีจนไม่ต้องทำอาชีพอื่นเลยก็ได้ แต่ตอนนี้ก็...ไม่เหลืออะไรเลย”

จุดขายบัตรล่องเรือนำเที่ยวริมหาดสลึงที่ซบเซาเพราะฤดูกาลท่องเที่ยวเปลี่ยน เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ผันผวน ปัจจุบัน ธุรกิจล่งอเรือนำเที่ยวร้างนักท่องเที่ยวมาเกือบ 2 ปี เพราะมาตรการล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19
 
ศาลาริมโขงบริเวณหาดสลึง
 

ห้องอาหารสองคอน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ใกล้กับหาดสลึง ซึ่งตอนนี้เงียบเหงา ไร้เงานักท่องเที่ยว

นอกจากอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยตรงแล้ว อาชีพอื่นๆ ในห่วงโซ่การท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตสินค้า OTOP ก็ขายของไม่ได้ เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือน

“ผลิตภัณฑ์ OTOP ของเราก็มีผ้าฝ้าย ผ้าย้อมครามจากสีธรรมชาติ มีอาหารแปรรูปจากปลาแม่น้ำโขง ปลาแห้ง ปลาส้ม ปลาร้า รวมถึงมีงานฝีมือและงานจักสาน เช่น แห ซ้อน (ช้อนตักปลา) ตะกร้า กระบุง กระจาด กระด้ง กระติบข้าว”

พื้นที่ริมน้ำโขงใน อ.โพธิ์ไทร ยังมีหลายจุดที่เมื่อน้ำลดจะกลายเป็นทรายทรายหรือหาดหิน ให้นักท่องเที่ยวได้ลงไปเดินเล่นชมธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นตามฤดูกาล อย่างบริดวณบ้านสำโรง ซึ่งเป็นถิ่นของแม่สอนก็จะมี ‘หาดหิน 100 ไร่’ ซึ่งเป็นหาดหินยาวลงไปเกือบถึงกลางแม่น้ำ แม่สอนเล่าว่าหาดหิน 100 ไร่ของบ้านสำโรงได้รับผลกระทบจากระดับน้ำโขงที่สูงขึ้นในช่วงฤดูท่องเที่ยวเหมือนกับหาดสลึงที่บ้านสองคอน แต่ยังไม่หนักเท่า ยังพอมีช่วงที่น้ำลดจนเห็นเนินหินและลงไปเที่ยวชมได้อยู่ แต่สิ่งที่ได้รับผลกระทบในบริเวณนี้ คือ แปลงเกษตรริมโขง เพราะต่อให้เป็นช่วงฤดูน้ำหลาก ระดับน้ำในแม่น้ำโขงกลับไม่เคยเพิ่มสูงขึ้นจนท่วมตลิ่งแบบเมื่อก่อน ทำให้พื้นที่ปลูกพืชริมโขงบริเวณหาดหิน 100 ไร่ ขาดความอุดมสมบูรณ์จากดินตะกอนที่ถูกกระแสน้ำพัดมาทับถม

บริเวณหาดหิน 100 ไร่ในเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก แต่ระดับน้ำกลับไม่สูงท่วมตลิ่งแบบในอดีต
 
แม่สอนชี้ให้ดูว่าช่วงฤดูน้ำหลากในอดีต น้ำเคยท่วมสูงเต็มตลิ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตรริมโขง
แต่ในปัจจุบัน น้ำท่วมไม่ถึงที่ดินเพาะปลูก ทำให้ตะกอนไม่พัดขึ้นมาทับถม จนดินขาดความอุดมสมบูรณ์
ปลูกพืชไม่งาม และมีวัชพืชขึ้นแทนจำนวนมาก
 

“ถ้าไม่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน ทุกอย่างก็เป็นปกติ ชาวบ้านเราจะมีความมั่นคงทางอาหาร มีอาหารเพียงพอ เหลือก็ได้ขาย มีอาชีพเสริมนอกเหนือจากการทำนา พืชผลทางการเกษตรริมโขงก็ได้ขาย ต้นทุนก็ไม่สูงมาก แต่พอมีผลกระทบนี่ต้นทุนสูง รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย ชีวิตติดลบเลยแหละ ทำให้ต้องออกไปทำงานต่างถิ่น ออกไปรับจ้าง ไปทำงานที่กรุงเทพฯ กัน คนที่หนีโควิดกลับมาบ้านตอนนี้ไม่มีงานทำ นอกจากทำนา ก็อยู่บ้านกันเฉยๆ เพราะทำอะไรไม่ได้ การเกษตรก็ปลูกไม่ได้” ธัญพรกล่าว

ธัญพรบอกว่าสภาพเศรษฐกิจชุมชนที่เผชิญภาวะวิกฤติอยู่แล้วเพราะระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงกลับยิ่งแย่ลงเมื่อเจอโควิด-19 คนในพื้นที่ที่ออกไปทำงานต่างถิ่นต้องกลับมาอยู่บ้านเพราะโรงงานปิดบ้าง กลับมากักตัวรักษาโควิด-19 บ้าง ซึ่งพอกลับมาแล้วก็ไม่มีงานให้ทำ ทรัพยากรธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์ พอมีพอกินในหมู่บ้านก็แทบไม่หลงเหลือ ต้องควักเงินเก็บออกมาใช้ บางคนที่ไม่มีเงินเก็บก็ต้องรอสวัสดิการรัฐ ซึ่งก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก คนในพื้นที่ก็มีหนี้สินเพิ่มขึ้น ทุกครัวเรือนล้วนมีหนี้สินเพราะต้องกู้เงินมาแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลาน ค่ากินค่าอยู่ รวมถึงค่าทำการเกษตร

ข้อมูลของรายงานการติดตามผลกระทบทางสังคมและการประเมินความเปราะบางปี 2561 (Social Impact Monitoring and Vulnerability Assessment: SIMVA 2018) จัดทำโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2564 เปิดเผยผลการเปรียบเทียบรายได้ของประชาชน 2,800 ครัวเรือนใน 200 หมู่บ้านริมโขง 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ในปี 2561 กับปี 2559 โดยพบว่าประชาชน 35% จากจำนวนทั้งหมดนี้มีรายได้ลดลง ขณะที่ 32% ของประชาชนกลุ่มตัวอย่างระบุว่ามีรายได้เท่าเดิม มีเพียง 26% เท่านั้นที่บอกว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่อีก 6% ระบุว่ารายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“ถ้าโควิดซาก็คงจะยังพอมีการท่องเที่ยวได้อยู่ แต่ก็ต้องมีวัคซีนที่ดีด้วย ถ้ามีวัคซีนที่ดีและเพียงพอแล้ว [การท่องเที่ยว]น่าจะกลับมาฟื้นฟูได้เหมือนเดิม คิดว่าใช้เวลาประมาณอย่างน้อย 1-2 ปีกว่าการท่องเที่ยวจะกลับมา ปี 2564 นี่ถือว่าเราตั้งรับโรคเต็มๆ ส่วนปี 2565 วัคซีนที่ดีน่าจะมา สถานการณ์น่าจะเริ่มเป็นปกติในปี 2566” ธัญพรกล่าว

ธัญพรบอกว่าหากจะคิดในแง่ดี ในช่วงที่การท่องเที่ยวหดตัวลงคงเป็นช่วงที่ธรรมชาติบริเวณนี้ได้ฟื้นตัว เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธรรมชาติเสื่อมโทรม การทิ้งขยะลงในแม่น้ำโขงก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อไปถึงระบบนิเวศทางทะเล แต่ปัจจัยที่ใหญ่กว่านั้นก็คงเป็นปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง จนส่งผลถึงระบบนิเวศโดยรวม อย่างไรก็ตาม ปัญหาเฉพาะหน้าที่ส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดกับวิถีชีวิตริมโขง คงหนีไม่พ้นการที่ระดับน้ำผันผวนจากการปล่อยน้ำในเขื่อนโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า

“ฝนไม่ตกตามฤดูกาล น้ำท่วม มันก็เป็นภัยธรรมชาติ ซึ่งรุ่นปูย่าตายายเราก็พอเข้าใจ เขาก็คิดว่ามันคือภัยธรรมชาติ แต่ทุกวันนี้เขาไม่รู้หรอกว่าน้ำมันจะขึ้นจะลงอย่างไร” ธัญพรกล่าว

ขอเพียงระบบแจ้งเตือนน้ำที่มีประสิทธิภาพ จีนต้องเปิดแผนการจัดการน้ำล่วงหน้าเป็นอย่างน้อย 3 เดือน

แม่สอน ธัญพร รวมถึงคนริมโขงในพื้นที่อื่นๆ ทราบดีว่าแม่น้ำโขงไม่มีทางกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีกแล้ว ทั้งในแง่ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ และวิถีชีวิตของผู้คนที่ผูกพันกับน้ำโขงจากรุ่นสู่รุ่น เราไม่อาจเรียกร้องให้ทุบทิ้งเขื่อนที่สร้างขึ้นจำนวนมากตั้งแต่บริเวณต้นน้ำในจีน ยาวลงมาจนถึงเขื่อนไซยะบุรี ทั้งยังมีเขื่อนกั้นลำน้ำสาขาอีกจำนวนมากใน สปป.ลาว แต่สิ่งเดียวที่คนริมโขงฝั่งไทยพอจะเรียกร้องได้ และเรียกร้องมาตลอด คือ การแจ้งเตือนการปล่อยน้ำจากเขื่อน และระบบแจ้งเตือนน้ำขึ้นน้ำลงที่มีประสิทธิภาพ เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินใดๆ ประชาชนจะได้เตรียมรับมือทัน อย่างน้อยๆ ก็จะได้ช่วยรักษาทรัพย์สิน เช่น เรือ อุปกรณ์หาปลา หรือบ้านเรือน ไว้ได้

“ถ้ามีระบบการเตือนน้ำขึ้นน้ำลงก็คงจะดี เราต้องอยู่กันอย่างหวาดระแวง กังวล และหวาดผวา เพราะน้ำมันมาเร็วและแรงมาก” ธัญพรกล่าว

ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่เพิ่มขึ้นและลดลงอย่างเฉียบพลันอันเนื่องมาจากการปล่อยน้ำอย่างกะทันหันของเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงนั้น ไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินและแปลงเกษตรของประชาชนที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำโขงเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายให้กับระบบประปาหมู่บ้าน เพราะกระแสน้ำที่รุนแรงได้พัดพาเอาดินโคลนหรือเศษไม้มาด้วย ซึ่งงบประมาณในการซ่อมแซมระบบประปาเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วก็มาจากน้ำพักน้ำแรงของคนในหมู่บ้านเองทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม แม้คนที่อยู่อาศัยบริเวณริมแม่น้ำโขงจะเรียกร้องให้มีการแจ้งเตือนการปล่อยน้ำจากเขื่อนล่วงหน้า แต่มนตรี จันทวงศ์ จากกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) บอกว่าการแจ้งเตือนการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีนยังถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะระยะเวลาการแจ้งเตือนเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนการเปลี่ยนแผนการระบายน้ำนั้นสั้นเกินไป เมื่อเทียบกับการลงทุนประกอบอาชีพต่างๆ ของประชาชน ทั้งการเลี้ยงปลากระชัง หรือการปลูกพืชริมโขง ซึ่งทุกคนล้วนลงทุนลงแรงเป็นระยะเวลาหลายเดือน แต่ยังไม่ทันได้เก็บเกี่ยวผลผลิต ทางการจีนก็แจ้งเตือน กระแสน้ำก็พัดมา สร้างความเสียหายให้กับอาชีพและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่อยู่ดี

“แจ้งเตือนล่วงหน้ามา 1 อาทิตย์ ถามว่าต้นไม้ปลูกไปแล้ว แจ้งเตือนมา 1 อาทิตย์ ถามว่าจะแก้ไขอะไรทันไหม ไม่ทัน ปลาในกระชังเลี้ยงไปแล้ว บอกว่าจะลดระดับน้ำ แก้ไขอะไรได้ไหม ก็ไม่ทัน คนที่ทำประมง น้ำขึ้นน้ำลงจนปลาตื่นน้ำหรือปลาหลบน้ำ เขาก็จับปลาไม่ได้ การแจ้งเตือนแบบนี้ไม่มีประโยชน์ มีประโยชน์แค่การรักษาหน้าของ MRC  (คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง) หรือทางการไทยเท่านั้น ว่าฉันได้พยายามที่จะแก้ปัญหานี้แล้วนะ ด้วยการเรียกร้องไปที่ทางการจีน” มนตรี กล่าว

เดือน ม.ค. 2562 ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง แต่ระดับน้ำโขงกลับสูงขึ้นอย่างกะทันหันจนท่วมแปลงเกษตรริมโขง
ของประชาชนในพื้นที่ริมโขง จ.อุบลราชธานี (ภาพโดยกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง)
 

มนตรี กล่าวว่า สิ่งที่ทางการไทยและคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะต้องทำมากไปกว่าเรียกร้องให้จีนแจ้งเตือนก่อนเพิ่ม-ลดระดับน้ำ คือ การเรียกร้องให้จีนเปิดเผยแผนการบริหารจัดการน้ำล่วงหน้าเป็นอย่างน้อย 3 เดือน เช่น ช่วงสิ้นเดือน ต.ค. ทางการจีนต้องแจ้งแผนการจัดการน้ำของเดือน พ.ย.-ม.ค. แล้ว เพื่อที่อย่างน้อย คนปลายน้ำจะได้วางแผนชีวิตถูกว่าจะต้องปลูกพืชอย่างไร ต้องเลี้ยงปลาอย่างไร จึงจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

4 ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ต้องต่อรองจีนให้เปลี่ยน 2 เขื่อนสุดท้ายเป็น 'เขื่อนทดน้ำ'

นอกจากนี้ มนตรี ยังเสนออีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยแก้ไขปัญหาระดับน้ำในแม่น้ำโขงผันผวน คือ 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ต้องผนึกกำลังกันเป็น ‘4 เกลอหัวแข็ง’ และเรียกร้องไปยังจีนให้เปลี่ยนวัตถุประสงค์ของเขื่อนนัวจาตู้ และเขื่อนจิ่งหง ซึ่งเป็น 2 ปราการสุดท้ายของเขื่อนจีน โดยให้เปลี่ยนจากเขื่อนผลิตไฟไฟ้าเป็นหลัก ให้กลายเป็นเขื่อนทดน้ำ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาระดับน้ำในแม่น้ำโขงให้เป็นปกติเหมือนการไหลเวียนของน้ำก่อน พ.ศ.2536 ซึ่งเป็นปีก่อนที่เขื่อนจีนทั้งหมดจะสร้างเสร็จ จึงจะช่วยรักษาเสถียรภาพการไหลของน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างให้ใกล้เคียงกับระบบธรรมชาติได้มากที่สุด

“แต่ว่าการทำแบบนี้ ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างต้องกล้าเอาหัวชนกับจีนนะ ซึ่งผมก็ยังมองว่าไม่ค่อยมีความเป็นไปได้ในขณะนี้ ท่าจีนไม่ได้พูดแต่ปากว่าเป็นพี่เป็นน้องกินน้ำโขงสายเดียวกัน เขาต้องจัดการเขื่อน 2 ตัวนี้” มนตรี กล่าว

ทั้งแม่สอนและธัญพรตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าถ้าหากเลือกได้ก็คงเลือกให้แม่น้ำโขงเป็นกลับคืนสู่สภาพเดิม ระดับน้ำขึ้นลงตามฤดูกาลธรรมชาติ น้ำขุ่นมีดินตะกอน ไม่ใช่น้ำใสไร้ตะกอน เพราะการที่น้ำโขงใสจนเห็นท้องน้ำนั้นเท่ากับว่าวิถีชีวิตของคนและปลาได้ตายจากไปด้วย

“ถ้าไม่มีการสร้างเขื่อน...ก็คงเหมือนเดิม ก็จะเป็นวิถีดั้งเดิม เพราะว่ามันไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนมาก จะมีเพิ่มเข้ามาก็คือการท่องเที่ยว” ธัญพรกล่าว

“ในใจก็อยากให้มันสมบูรณ์เหมือนเดิม เพราะอาหารก็จะดีขึ้น สุขภาพเราก็จะดีขึ้น เพราะได้กินของธรรมชาติที่เราปลูกเอง ไม่ได้ใส่ปุ่ยยา ในน้ำมันก็มีดินตะกอนอุสมบูรณ์ ในใจเราก็อยากให้กลับคืนมาเป็นเหมือนเมื่อก่อนนั่นแหละ ถ้ากลับมาได้ ชุมชนทุกชุมชนไม่ใช่แค่บ้านแม่ ชีวิตคนริมโขงทุกคนก็น่าจะดีขึ้น” แม่สอนกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net