Skip to main content
sharethis

'นิธิ เอียวศรีวงศ์' ชวนมองดูทั้งโลก ย้ำต้องทำให้ 'สถาบันกษัตริย์' มีประโยชน์มีคุณค่าอยู่ในระบบประชาธิปไตยให้ได้ ชี้หลักของศาลรัฐธรรมนูญคือการตีความสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เป็นไปได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่กระเทือนต่อประโยชน์ของสังคม ประโยชน์ของบุคคลอื่น

 

ภายหลังจากเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการปราศรัยของอานนท์ นำภา หรือทนายอานนท์, ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ในการชุมนุม #ม็อบ3สิงหา เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการชุมนุม #ม็อบ10สิงหา ธรรมศาสตร์จะไม่ทน 10 ส.ค. 2563 จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ว่า เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ทั้ง 3 รวมถึงกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสองนั้น ต่อมาเกิดกระแสการคัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าว ทั้งออกในรูปของแถลงการณ์และการปิดป้ายข้อความประท้วงในหลายพื้นที่

วานนี้ (11 พ.ย. 64) บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดกิจกรรม “ยืนหยุดทรราช” ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นวันที่ 84 โดยใช้เวลายืนเป็นเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที ครั้งนี้มีป้ายข้อความเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยนี้ด้วย หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้คือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ ในโอกาสนี้จึงสนทนาในประเด็นคำวินิจฉัย ผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในอนาคต

ดังนี้

คิดเห็นอย่างไรกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่บอกว่าการปฏิรูปเท่ากับเป็นการล้มล้างการปกครอง?

นิธิ: ผมก็ไม่ทราบว่าคนเหล่านี้ขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร เพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญหน้าที่หลักของเขาคือการตีความเพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อความในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญทุกฉบับในโลกนี้มีบางส่วนที่คุณจำเป็นต้องใช้มาตรฐานเข้ามาวัดและตีความให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ทีนี้คุณจะตีความอย่างไร คำตอบคือคุณเป็นศาลรัฐธรรมนูญคุณต้องตีความให้เอื้อต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ถ้าคุณจะตีความเพื่อไม่เอื้อต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน คุณก็ไม่ใช่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คุณอาจจะเป็นรามัล (หรือ เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำโทษคน) อาจจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ที่คุณอยากจะเป็น แต่ไม่ใช่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหน้าที่หลักของศาลรัฐธรรมนูญคือการตีความสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เป็นไปได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่กระเทือนต่อประโยชน์ของสังคม ประโยชน์ของบุคคลอื่น

ถ้าคุณไม่ทำสิ่งเหล่านั้นคุณใช้มาตรฐานอะไรในการตีความ ถ้าเช่นนั้นใครๆ ก็เป็นศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็ตีความตามที่คุณมีคติค่านิยมส่วนตัวของคุณ และผมคิดว่าทั้งหมดของคำตัดสินที่ผมฟังเมื่อวานนี้ หรือคำตัดสินแม้แต่ก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อรับใช้อุดมคติของประชาธิปไตย

นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์

คิดว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญกรณี “ล้มล้างการปกครอง” ที่ผ่านมาจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวหรือการเรียกร้องในอนาคตอย่างไร?

ผมดูมาหนึ่งวันกว่าๆ จากโซเชียลมีเดียผมคิดว่าไม่เกิดผลเลย จะเกิดผลตรงกันข้ามกับที่เราตั้งใจด้วยซ้ำ คนรู้สึกโกรธเอามากๆ และรู้สึกว่าจำเป็นต้องออกมาแสดงออกมากขึ้น มีกลุ่มคนที่นัดชุมนุมกันแล้ว ยิ่งทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่รุนแรงขึ้น

พอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเช่นนี้ คิดว่าเรายังมีความหวังกับการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้อยู่หรือไม่?

ไม่มี ผมคิดว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานเป็นการบอกให้รู้ว่าเรื่องทั้งหมดจะจบลงอย่างไร เป็นการบัญญัติหรือกำหนดเลยว่าเรื่องจะจบลงอย่างไร จนถึงก่อนเมื่อวานนี้ผมยังมีความหวังอย่างมากเลยว่าเราอาจจะจบมันได้โดยทำลายล้างกันและกันน้อยหน่อย

แต่คำตัดสินเมื่อวานทำให้คุณไม่มีทางจบเป็นอย่างอื่น

การเปรียบเทียบว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นเหมือน Kangaroo Court อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร?

นิธิ: คำว่า Kangaroo Court มันแปลว่าศาลเตี้ย ไม่ต้องอาศัยกฎหมายใช้แต่อำนาจอย่างเดียว ถามว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานวางอยู่บนฐานของกฎหมายไหม ผมคิดว่าไม่วาง

ถ้าประชาธิไตยรอด สถาบันกษัตริย์ก็รอด คิดเห็นอย่างไร?

ผมคงเห็นด้วย สถาบันพระมหากษัตริย์พูดกันทั้งโลกไม่เฉพาะของไทยมันเป็นสถาบันที่ล้าสมัยแล้ว ที่ไหนๆ ก็อยู่ไม่ได้ เมื่อก่อนทั้งโลกก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ปัจจุบันเหลืออยู่แค่ประมาณ 30 ประเทศ และนับวันจะร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ แต่จะอยู่รอดได้อย่างไร คำตอบอย่างเดียวคือคุณต้องปรับตัวเองให้ทันกับยุคสมัย เช่นเป็นต้นว่าในระบบประชาธิปไตยที่ดูเหมือนคนไม่ต้องการสถาบันพระมหากษัตริย์เลย คุณจะทำอย่างไรให้กลายเป็นส่วนที่มีประโยชน์มีคุณค่าอยู่ในระบบประชาธิปไตยให้ได้ ก็อยู่ร่วมกันได้ เช่นในญี่ปุ่น อังกฤษ สแกนดิเนเวียน เป็นต้น

ความคิดเห็นกับนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คนที่เคยเขียนในคำนำหนังสือ 'การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475' ของเขาว่า 'เป็นหนังสือที่วางไม่ลง' ตอนนี้เขากลายเป็นคนที่ลืมไม่ลงสำหรับคุณแน่ คุณมีคความคิดเห็นอย่างไรกับนครินทร์ ในเวอร์ชั่นนี้?

เท่าที่ผมรู้จักเขา เขาเป็นคนฉลาด เมื่อตอนที่คุณรับตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่ามกลางสภาวะที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คุณได้ตัดสินใจแล้วว่าคุณจะต้องเดินต่อไปอย่างไรในชีวิตคุณ ไม่ใช่แค่เมื่อวาน มันตั้งแต่วันที่คุณรับตำแหน่งแล้ว อยู่ๆ เขามาชี้ให้คุณเป็น มันไม่ใช่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องสมัคร ต้องผ่านการคัดเลือก จนได้รับการอนุมัติผ่านวุฒิสภา ในท่ามกลางสภาวะการรัฐประหารและวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แล้วคุณไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคุณได้ตัดสินใจเลือกแล้วตั้งแต่ตอนนั้น  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net