เทียบปมข้อเรียกร้อง รธน.ม.6 เมื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ตรงกับข้อเรียกร้องผู้ชุมนุม

ผิดตรงไหนเอาปากกามาวง เปรียบเทียบข้อเรียกร้องเกี่ยวกับ รัฐธรรมนูญ ม.6 ของกลุ่มผู้ชุมนุมวันที่ 10 ส.ค.63 กับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่อ้างว่าหลักฐานเพียงพอพิจารณาวินิจฉัยได้จนไม่อนุญาตให้มีการไต่สวนฝ่ายผู้ถูกร้อง

 

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการปราศรัยของอานนท์ นำภา หรือทนายอานนท์, ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ในการชุมนุม #ม็อบ3สิงหา เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการชุมนุม #ม็อบ10สิงหา ธรรมศาสตร์จะไม่ทน 10 ส.ค. 2563 จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ว่า เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ทั้ง 3 รวมถึงกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา นั้น 

ประการหนึ่งที่ถูกมองว่ากระบวนการมีปัญหาเพราะก่อนอ่านคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านรายการพิจารณาคดีและพิจารณาคำร้องของผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน ที่ขอให้แก้ไขคำสั่งที่ผิดพลาด และมีคำสั่งให้ไต่สวน ลงวันที่ 29 ต.ค. 2564 โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลมีคำสั่งให้ยุติการไต่สวน โดยอ้างว่า เพราะพยานหลักฐานเพียงพอพิจารณาวินิจฉัยได้ และกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติกันในวันนี้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ทำให้กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากอานนท์ นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก ภาณุพงศ์ และ ปนัสยา ได้ขออนุญาตไม่ฟังการพิจารณา และขอออกจากห้องพิจารณาคดี โดยทั้ง 3 ราย กล่าวต่อศาลทำนองเดียวกันว่า ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเปิดการไต่สวน และได้พาตัวพยานคือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) ปัญญาชนสยาม มาเพื่อทำการไต่สวน แต่เมื่อศาลไม่อนุญาตให้มีการไต่สวน จึงได้รับคำขอมาจากอานนท์ และภาณุพงศ์ว่า ขอไม่ฟังการพิจารณาคดีนี้

เทียบข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมกับข้ออ้างในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

สิ่งนี้สะท้อนผ่านข้อเท็จจริงที่ศาลนำมาอ้างที่ดูเหมือนเป็นหัวใจในคำวินิจฉัย เนื่องจากมีการอ้างถึงข้อเรียกร้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ในหลายครั้งโดยเฉพาะครั้งสำคัญที่ศาลชี้ว่า "เป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง"

คือท่อนที่ว่า

"ข้อเรียกร้องเรื่องการยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้รับรองพระราชฐานะขององค์พระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นประมุขของรัฐ ซึ่งผู้ใดจะกล่าวหาละเมิดไม่ได้นั้นจึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง" ศาลรัฐธรรมนูญ 10 พ.ย.2564 (อ้างอิง iLaw ถอดทุกคำ จากการอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดีล้มล้างการปกครองฯ)

แต่หากดูข้อเท็จจริงตามข้อเรียกร้องในการชุมนุมวันที่ 10 ส.ค. 2563 ซึ่งเป็นเหตุที่ฟ้องร้องในครั้งนี้ พบว่า 1 ใน 10 ข้อเรียกร้องดังกล่าวระบุว่า 

"1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร"

ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า

"องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้

ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้"

ส่วนมาตรา 6 รัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิ.ย.2475 ตามที่กลุ่ผู้ชุมนุมวันที่ 10 ส.ค. 2563 อ้างถึงนั้น บัญญัติไว้ว่า "กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย" 

จากคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่าพยานหลักฐานเพียงพอพิจารณาวินิจฉัยได้ทำให้ไม่อนุญาตให้มีการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้องนั้น ดูเหมือนว่าข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญยกมานั้นจะไม่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของผู้ถูกร้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท