Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สรุปคดีการเมืองช่วง 23 ต.ค.-7 พ.ย. 2564 มีคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมืองในภาคกลางและภาคใต้ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง รวมทั้งหมด 10 คดี ทั้งม็อบทะลุแก๊ส – ทะลุฟ้า พบบางคดีย้อนตั้งแต่ชุมนุมปี 2563

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.-7 พ.ย. 2564 มีคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมืองในภาคกลางและภาคใต้ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง รวมทั้งหมด 10 คดี ได้แก่ คดีการชุมนุม #ม็อบ20ตุลา ตรงข้ามห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ตั้งแต่ ต.ค. 2563 มีจำเลยทั้งหมด 7 ราย หนึ่งในนั้นคือ “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, นอกจากนั้น ยังมีคดีของ “จ่านิว” อีก 2 คดี สืบเนื่องจากการร่วมชุมนุม 2 วัน คือ #ม็อบ29ตุลา – #ม็อบ1พฤศจิกา ตั้งแต่ปี 2563

ส่วนคดีในช่วงปี 2564 ได้แก่ คดีของผู้ชุมนุม #ทะลุแก๊ส 2 คดี จำเลย 2 ราย สืบเนื่องจากการถูกกล่าวหาว่าพกพาระเบิดปิงปองระหว่างชุมนุม #ม็อบ10สิงหา, คดีของผู้ชุมนุมกลุ่ม #ทะลุฟ้า – ป้าเป้า รวม 8 ราย เหตุร่วม #ม็อบ11สิงหา ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, คดีของนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า 4 ราย ถูกกล่าวหาว่าขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ใน #ม็อบ3กันยา โดยมีจำเลย 1 ราย คือ “อาทิตย์ ทะลุฟ้า” ที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำ เนื่องจากศาลไม่ให้ประกัน รวมทั้งคดีข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) ของ ‘วัชรากร’ พนักงานขายเสื้อผ้า ที่โพสต์ว่าในการชุมนุม #ม็อบ8กันยา ที่ดินแดง มีคนตายจากการสลายการชุมนุม

ส่วนคดีในภาคใต้ ได้แก่ คดีคาร์ม็อบจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 มีจำเลยรวม 5 ราย, และท้ายสุด เป็นคดีของนักกิจกรรมรวม 20 ราย หนึ่งในนั้นคือป้าเป้า ถูกดำเนินคดีจากการร่วมม็อบขับไล่ประยุทธ์ที่ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มได้ในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ศาลพิพากษาคดี ‘วิ่งไล่ลุงพังงา’ ว่าผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุม แม้สู้ว่าไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม ให้รอกำหนดโทษ 4 เดือน

11 พ.ย. 2564 ศาลจังหวัดตะกั่วป่า จังหวัดพังงา นัดอ่านคำพิพากษาในคดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดตะกั่วป่า กับนายประเสริฐ กาหรีมการ อดีตเจ้าหน้าที่พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จากกรณีการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563

คดีนี้ ประเสริฐถูกแจ้งข้อหาที่ สภ.ตะกั่วป่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 ก่อนอัยการจะมีคำสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 โดยกล่าวหาว่าเขาได้สร้างกลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “วิ่ง ไล่ ลุง พังงา” และใส่ภาพปกของกลุ่ม พร้อมกับเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมแสดงออกทางการเมือง ในวันที่ 12 มกราคม 2563 เวลา 7.00 น. ณ ลานพระนารายณ์ ถึง บขส.ตะกั่วป่า และวิ่งรวมระยะทาง 1.5 กิโลเมตร โจทก์กล่าวหาว่าประเสริฐเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะดังกล่าว โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งข้อกล่าวหามีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ศาลจังหวัดตะกั่วป่าได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง เนื้อหาโดยสรุประบุศาลพิเคราะห์ว่า การทำกิจกรรมวิ่งไล่ลุงเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563 เป็นการโจมตีการทำงานของรัฐบาล ถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะ ที่ผู้จัดการชุมนุมจะต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ในเขตท้องที่รับผิดชอบ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ

การที่จำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม ไม่สามารถรับฟังได้ เนื่องจากเมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ รับฟังได้ว่า ก่อนวันที่ 12 มกราคม 2563 จำเลยได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยแชร์ข้อความเชิญชวนร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุง และมีการสร้างเฟซบุ๊กชื่อ “วิ่งไล่ลุงพังงา” ซึ่งจำเลยเป็นผู้ดูแล ต่อมาจำเลยได้ออกจากการเป็นผู้ดูแลเฟซบุ๊คดังกล่าว เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามคุกคาม จากนั้นมีบุคคลอื่นเป็นผู้ดูแลเฟซบุ๊กต่อจากจำเลย ซึ่งข้อกล่าวอ้างของจำเลยประเด็นนี้ไม่อาจรับฟังได้ เเม้จำเลยจะออกจากการเป็นผู้ดูแลเฟซบุ๊กดังกล่าว แต่ไม่อาจเชื่อได้ว่าจำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องแล้วแต่อย่างใด เพราะบุคคลอื่นที่จำเลยกล่าวอ้างไม่มีตัวตนมาเเสดงและจำเลยอาจอยู่เบื้องหลังในการใช้เฟซบุ๊ก “วิ่งไล่ลุงพังงา” ประกอบกับจำเลยเอง ก็ไม่ได้นำประเด็นดังกล่าวยกเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การชั้นพนักงานสอบสวนมาก่อน

พยานโจทก์ยังได้เบิกความว่าในวันเกิดเหตุคดีนี้ พยานเห็นจำเลยนำแผนกระดาษจำนวนหลายแผ่น และปากกาจำนวนหลายด้ามมาวางไว้ และได้ตะโกนเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมมาเขียนข้อความลงในแผ่นกระดาษ จากนั้นผู้เข้าร่วมการชุมนุมก็ได้ทยอยเข้ามาเขียนกระดาษ

ในส่วนของบทนิยามของผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 นั้น ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยต้องโทษทางคดีอาญามาก่อน และไม่ปรากฏว่าการทำกิจกรรมในวันเกิดเหตุมีความรุนแรงเกิดขึ้น จึงให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้ 4 เดือน

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มได้ในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net