ความเห็นต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

คำถามสำคัญคือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นพิทักษ์รัฐธรรมนูญจริงไหม และทำให้สังคมปรองดองหรือขัดแย้งแตกแยกมากขึ้นกว่าเดิมกันแน่ ความผิดพลาดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอาจจะเป็นการตีความรัฐธรรมนูญเอาใจผู้มีอำนาจทางการเมืองมากเกินไป เพราะความเห็นทางการเมืองใดๆ ศาลไม่ควรจะนำมาใส่ในคำวินิจฉัย ซึ่งจะทำให้เกิดความโน้มเอียงทางการเมืองและถุกทำให้เป็นการเมืองในที่สุด (Politicized)  และกลายเป็นผู้สร้างความขัดแย้งเสียเอง ซ้ำร้ายยังตีความรัฐธรรมนูญมาตราเดียวนั้นไปทำลายมาตราอื่นๆ ที่จนเหมือนไม่อาจบังคับใช้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้

ผมสงสัยว่าใครกันที่ร่างแถลงการณ์หรือคำวินิจฉัยแบบนี้ การหยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาประกอบการวินิจฉัยไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน และการกล่าวอ้างประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาดหลายจุดทำให้คำวินิจฉัยถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวางถึงความศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงความโน้มเอียงทางการเมืองในการพิจารณาคดีท่ามกลางความเชื่อที่แตกต่างของประชาชน

การวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 และสั่งการให้ผู้ถูกร้องรวมทั้งองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยนั้น ศาลไม่ได้พิจารณาเลยว่าข้อเสนอทั้ง 10 ข้อนั้นมีข้อใดบ้างที่เป็นการล้มล้าง ข้อเสนอใดบ้างที่เป็นการปฏิรูป และไปขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตราไหนบ้าง แต่ไปพิจารณาพฤติกรรมการปราศรัยแบบเหมารวมสืบเนื่องว่า มีเนื้อหาบิดเบือนจาบจ้วง ล้อเลียน หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นการกระทำที่มีเจตนาล้มล้างการปกครอง ซึ่งข้อหาเหล่านั้นควรเป็นบทบาทการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอาญาทั่วไปอยู่แล้ว เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการบังคับใช้กฎหมายและปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพลเมือง

ไม่ใช่การตีความครอบจักรวาลของศาลรัฐธรรมนูญไปจนถึงสมัยสุโขทัยและรัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี 2475 การพิจารณาภัยคุกคามอันเกิดจากการกระทำซึ่งเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในลักษณะมุ่งหมายให้กลับกลายและคุณค่าของรัฐธรรมนูญที่รองรับการดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีให้ล้มเลิกหรือสูญเสียไปนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยฝ่ายความมั่นคง หรือรัฐสภา หรือสถาบันการศึกษาทั้งหลายในการพิจารณาตีความว่าการใช้เสรีภาพในการพูดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติหรือไม่ 

การล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ในทางปฏิบัติต้องยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งทางอาวุธ และการใช้กองกำลังอาวุธสู้รบกันเพื่อยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเมืองการปกครอง ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะการใช้เสรีภาพในการพูดและการแสดงความเห็น ในเวทีการอภิปรายและการชุมนุมทางการเมืองโดยปราศจากอาวุธในสังคมประชาธิปไตยทั่วไป ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องรับฟังและแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องทางการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์

แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจจะไปสู่จุดนั้นได้ จุดที่เกิดการแบ่งแยกประชาชนและสร้างความขัดแย้งขึ้นจนทำให้คนไทยหันมาฆ่ากันเองหรือเกิดสงครามกลางเมืองเหมือนในอดีต เช่นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ทางการโฆษณาชวนเชื่อว่านักศึกษาเป็นญวน เป็นต่างชาติเข้ามาทำลายความมั่นคง ซึ่งศาลอ้างการใช้สิทธิ์ปกป้องรัฐธรรมนูญถือเป็นกลไกหนึ่งของระบบยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญ โดยไปขยายข้อเท็จจริงว่าการกระทำของผู้ถูกร้อง มีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะเป็นองค์กรเครือข่าย มีการใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

ถ้ามองอย่างเป็นกระบวนการ เรื่องนี้ชงต่อให้ฝ่ายความมั่นคงไปเขียนแผนผังล้มเจ้า ยุบพรรคการเมืองที่เห็นต่างและต่อต้านรัฐบาล เขียนแผนแบ่งแยกแล้วปกครองประชาชน และอาจขยายเวลาเลือกตั้งออกไปอีก ดูเหมือนว่ายุทธการนี้รัฐบาลจะพยายามขุดหลุมพรางให้แกนนำนักศึกษาเดินและพร้อมกระโจนไปด้วยกัน โดยการขีดวงและอาจจะมีการปราบปรามครั้งใหญ่ แทนที่รัฐจะมองพวกเขาเป็นพลเมือง เป็นทุนมนุษย์ที่ควรร่วมมือกันพัฒนาประเทศ ผมมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์บ้านเมืองว่าถ้าหากเป็นเกมการเมืองที่เหี้ยมโหดแบบนั้น จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ และพวกจะต้องรับผิดชอบทางการเมืองในที่สุด

แม้ว่ามาตรา 49 กำหนดให้การดำเนินการตามมาตราดังกล่าวไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำการก็ตาม แต่ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 211 และคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวงตามมาตรา 212 สำหรับคดีอาญาที่ยังไม่สิ้นสุด

จริงๆ แล้วแผนผังเครือข่ายล้มเจ้าที่ฝ่ายความมั่นคงกำลังทำอยู่นั้น ควรใส่ชื่อพล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และพล.อ.อนุพงษ์ ไปด้วย เพราะน่าจะเป็นผู้เล่นอันดับบนสุดที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความขัดแย้งในสังคมไทยอย่างชัดเจนที่สุด และเข้ามาด้วยกองกำลังอาวุธแต่แรกเพื่อรัฐประหารเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย กลายเป็นรูปแบบคณาธิปไตยในปัจจุบัน และการที่นายกรัฐมนตรีไปพูดในที่สัมมนาหลักสูตร วปอ. ก็ไม่เหมาะสมในตำแหน่งหน้าที่ เพราะเป็นการพูดที่สร้างความขัดแย้งในหมู่ประชาขน คนเป็นนายกรัฐมนตรีจะแบ่งแยกประชาชนไม่ได้ 

โดยสรุป คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ทำลายคุณค่ารัฐธรรมนูญไปในตัวเอง เพราะไปขัดหรือแย้งกับมาตราอื่นๆ โดยเฉพาะ 3, 4, 5, 34, 43, 44 หรือ 50 ซึ่งไม่ได้พิจารณาควบคู่กันทั้งหมดว่าสิ่งใดไปรอนสิทธิพลเมืองตามมาตราอื่นหรือไม่ คำวินิจฉัยทางการเมืองในครั้งนี้ยังดูขัดหรือแย้งกับการตัดสินในอดีตที่ผ่านมา เมื่อเดือนมีนาคมก็พึ่งตัดสินว่าประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการทำประชามติก่อน และก็ดูเหมือนจงใจใช้ถ้อยคำให้เข้าใจผิดหลายเรื่อง เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 3 บัญญัติว่า อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  โดยรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม

มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน มาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ มาตรา 44 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
 
นอกจากนี้ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะขัดแย้งกันเองกับมาตรา 5 เสียเองด้วยซ้ำที่ว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้" ซึ่งผู้ถูกร้องที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้อาจยื่นคำร้องใหม่ไปยังศาลรัฐธรรมนูญลองได้ตามมาตรา 213 เพื่อมีคําวินิจฉัยว่าการกระทํานั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆ ซึ่งกลายเป็นเหมือนลิงแก้แหในที่สุด

แต่เรื่องที่ประชาชนไทยได้ความรู้เพิ่มเติมจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากประวัติศาสตร์นิยมตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว คือการอธิบายระบอบประชาธิปไตยที่ก้าวหน้ามากขึ้นว่ามีหลักการสำคัญ 3 ประการ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ แม้ว่าจริงๆ แล้วคำนี้มีที่มาในยุคสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งได้เกิดคำขวัญขึ้นมาว่า "เสรีภาพ เสมอภาพ ภราดรภาพ หรือความตาย"

ขณะที่มีการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมกันว่า "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ไม่ได้มีที่มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี 2475 แต่เป็นมรดกของการรัฐประหาร รสช. ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 นี่เองที่บัญญัติไว้ชัดเจนครั้งแรก หรือจะเชื่อมโยงให้ยาวขึ้นหน่อยก็มาจากรัฐธรรมนูญปี 2492 ผลพวงจากการรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2490 ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เขียนเรื่องนี้ไว้โดยบัญญัติว่า ‘ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย’ ตามด้วยคำว่า ‘มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 จึงจับสองประโยคมาติดกัน และเติมคำว่า ‘อัน’ ในรัฐธรรมนูญ 2534 มาจนถึงทุกวันนี้ 

ความจริงหากจะพูดให้ถูกต้องเข้าใจง่ายก็คือ ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยระบบรัฐสภา มีกษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ประธานรัฐสภาเป็นหัวหน้าฝ่ายนิติบัญญัติ ประธานศาลฎีกาเป็นหัวหน้าฝ่ายตุลาการ แต่การฉ้อฉลอำนาจที่ผ่านมาทำให้ระบบรัฐสภาไร้ทางออก 3 อธิปไตยไม่สมดุลและไม่สามารถตรวจสอบกันได้ กลายเป็นระบบทรราชย์และเผด็จการรัฐสภาในที่สุด ที่สำคัญก็คือกองทัพเข้าแทรกแซงการเมืองจนการเมืองแบบประชาธิปไตยไม่ถูกพัฒนาขึ้น

ผมอยากชวนให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมหน่อยว่า ที่ผ่านมาทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 44, 47, 55, 56, 60, 61, 62, 160, 164, 182, 258-261 หรือไม่ เพราะดูเหมือนทำผิดรัฐธรรมนูญตั้งหลายข้อแต่ทำไมยังได้เป็นนายกรัฐมนตรีได้อยู่ หรือเป็นนายกรัฐมนตรีโดยมิชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ได้โปรดพิพากษาด้วย

ไม่เช่นนั้นสังคมไทยก็ไม่อาจคาดหวังต่อศาลรัฐธรรมนูญได้อีกต่อไป ว่าจะทำหน้าที่ได้เที่ยงตรงสมบูรณ์ เพราะแม้แต่เรื่องมาตรา 161 ที่นายกรัฐมนตรีเคยถวายสัตย์ไม่ครบ ขาดข้อความคำว่า ‘ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ’ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็เคยวินิจฉัยผิดพลาดมาแล้ว รวมถึงความอื้อฉาวของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีหลักสูตร หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) ที่มีการเอื้อผลประโยชน์และสร้างคอนเนคชั่นระหว่างข้าราชการ นักธุรกิจและการเมือง จนฝรั่งนำไปเขียนบทความเรื่อง Coloured Judgements? The Work of the Thai Constitutional Court, 1998–2016 (Björn Dressel & Khemthong Tonsakulrungruang)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท